สถานีสนามไชย ท้องพระโรงใต้ดิน ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

สถานีรถไฟหลายแห่งในโลกนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงสถานที่ขายตั๋วและเป็นจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเท่านั้น แต่ด้วยความสวยงามทำให้มันพ่วงหน้าที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นเดสติเนชั่นที่ดึงดูดผู้คนมากมายให้ไปเยือน อย่างที่เห็นกันชัดเจนก็คือสถานีรถไฟใต้ดินในมอสโก เมืองหลวงของประเทศรัสเซีย ที่วิจิตรตระการตา เป็นหนึ่งในลิสต์ที่นักท่องเที่ยวจะต้อง “ตามเก็บ” ให้ครบทุกสถานีเมื่อไปถึงมอสโก

ในบ้านเรา สถานีรถไฟหัวลำโพงก็ดูจะใกล้เคียงจุดนั้นอยู่บ้าง เพราะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมักจะไปถ่ายภาพสวย ๆ เก็บบันทึกความทรงจำกัน

นอกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงแล้ว นับถอยหลังอีกไม่นาน เราจะได้เห็นสถานีรถไฟสวย ๆ เพิ่มมาอีก 4 สถานี ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่ที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว นั่นก็คือสถานีวัดมังกร สถานีสามยอด สถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟใต้ดินในเส้นทางรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการให้บริการ โดยจะเปิดให้บริการช่วงทดลองในเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้ ก่อนจะเปิดให้บริการจริงในเดือนกันยายน 2562

 

สถานีที่สวยงามเป็นไฮไลต์ที่สุดในบรรดา 4 สถานีที่กล่าวมาก็คือ สถานีสนามไชย ซึ่งเป็นเพียงสถานีเดียวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นสถานีสุดท้ายของฝั่งรัตนโกสินทร์ (ฝั่งกรุงเทพฯ) ก่อนที่รถไฟสายนี้จะมุดอุโมงค์ลอดใต้ท้องแม่น้ำเจ้าพระยาพาผู้โดยสารไปโผล่ที่สถานีแรกของฝั่งธนบุรีคือ สถานีอิสรภาพ

ก่อนที่รถไฟฟ้าใต้ดินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคจะทดลองเปิดให้บริการ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะพาคุณผู้อ่านไปชมความงามของสถานีสนามไชย อย่างไรก็ตาม เราอธิบายให้เห็นภาพได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ความเป็นจริงจะสวยงามขนาดไหน ทุกคนต้องอดใจรอไปชมด้วยตาตัวเองในอีกไม่นาน

ในตัวสถานีสนามไชยได้รับการออกแบบตกแต่งภายในอย่างวิจิตรบรรจง โดยมีคอนเซ็ปต์จำลองให้เหมือนท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนำเสนอผ่านการวางผังแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณ สีสันและการตกแต่งเสา ฝ้าเพดาน โคมไฟลวดลายกระเบื้องปูพื้น และผนังสถานีที่ออกแบบให้เหมือนกำแพงพระบรมมหาราชวัง โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไทยเป็นผู้ออกแบบตกแต่งภายในและควบคุมดูแลการตกแต่งเองทุกรายละเอียด

ที่ตั้งสถานีสนามไชยตั้งอยู่ใต้ถนนสนามไชย บริเวณหน้าโรงเรียนวัดราชบพิธ และมิวเซียมสยาม (พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้) อยู่ห่างจากพระบรมมหาราชวังเพียงไม่กี่ร้อยเมตร พื้นที่สถานียาว 270 เมตร มีทางเข้า-ออก 5 ทาง ใกล้กับสถานที่โดยรอบ ได้แก่ 1.มิวเซียมสยาม 2.โรงเรียนวัดราชบพิธ 3.สถานีตำรวจพระราชวัง 4.ปากคลองตลาด 5.ท่าเรือราชินี

 

ทำเลที่ตั้งของสถานีเรียกได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครเลยก็ว่าได้ เพราะอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากมาย ทั้งพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้วสนามหลวง มิวเซียมสยาม วัดโพธิ์ ท่าเตียน จุดชมวิววัดอรุณฯ ปากคลองตลาด ยอดพิมานริเวอร์วอล์ค แม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ ซึ่งทางเข้า-ออกของสถานีทั้ง 5 ทางนั้นก็ครอบคลุมพื้นที่จุดสำคัญในย่านนั้นแทบทั้งหมด

 

ก่อนหน้านี้การจะเดินทางไปเที่ยวหรือสรรหาอาหารอร่อย ๆ ในโซนนั้นติดปัญหาตรงที่ว่าการเดินทางไม่สะดวก รถเมล์เข้าถึงไม่กี่สาย จะไปรถส่วนตัวก็หาที่จอดรถยาก ดังนั้น เมื่อรถไฟฟ้าสายนี้เปิดให้บริการก็น่าจะช่วยลดปัญหาตรงนี้ และเป็นปัจจัยหนุนอันสำคัญที่จะนำคนเข้าสู่พื้นที่ได้มากขึ้น ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้คึกคักกว่าเดิม เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอีก

นอกจากความสวยงามของสถานีและผลดีในด้านความสะดวกสบายในการเข้าถึงพื้นที่แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในสถานีสนามไชยก็คือ เรื่องราวทางโบราณคดีในพื้นที่ ด้วยความที่ทำเลที่ตั้งสถานีอยู่ในพื้นที่ชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์ ก่อนจะก่อสร้างสถานีจึงต้องทำการสำรวจทางโบราณคดี โดยความร่วมมือของผู้รับเหมา คือ บริษัท ช.การช่าง และกรมศิลปากร ซึ่งใช้เวลาขุดสำรวจถึง 9 เดือน

 

จากการขุดสำรวจพบว่าใต้ดินบริเวณสถานีมีโบราณสถานลักษณะฐานรากของวังเดิมในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์การใช้พื้นที่พบว่าเป็นที่ตั้งวังของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช นอกจากนั้นยังขุดพบโบราณวัตถุอีกจำนวนมาก ทั้งเปลือกหอยมุก กระดูกโครงม้าสภาพสมบูรณ์ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบ เมื่อรถไฟใต้ดินสายนี้เปิดให้บริการ วัตถุโบราณที่ขุดค้นพบส่วนหนึ่งจะถูกนำมาจัดแสดงภายในสถานีนี้ โดยความร่วมมือของกรมศิลปากรและมิวเซียมสยาม ซึ่งจะจัดแสดงไว้ ณ พิกัดที่ขุดพบวัตถุแต่ละชิ้นด้วย

ได้เห็นภาพและรับรู้ถึงเรื่องราวความสวยงามกันไปแล้ว ยังไม่พอ เราจะพาไปรับทราบข้อมูลเบื้องหลังการทำงานกว่าจะออกมาเป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่สวยงามอย่างที่เห็น

นายอรรถพล นิลละออ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการ จากบริษัท ช.การช่าง ให้ข้อมูลว่า การดำเนินการก่อสร้างที่สถานีนี้มีข้อแตกต่างและมีรายละเอียดมากกว่าการก่อสร้างสถานีอื่น เนื่องจากเป็นพื้นที่ชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์ อยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง จึงมีข้อควรระวังที่การดำเนินการก่อสร้างจะต้องไม่กระทบพื้นที่ เช่น มีข้อกำหนดว่าห้ามเปิดผิวถนน ทำให้ไม่สามารถขุดเจาะแนวดิ่งจากบนลงล่างได้ปกติ จึงต้องใช้เทคนิคพิเศษที่ชื่อเทคนิค “pipe roof” เข้ามาช่วยให้ขุดเจาะใต้ดินได้โดยที่ไม่ต้องเปิดผิวถนนด้านบน ซึ่งสถานีนี้เป็นสถานีรถไฟแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้เทคนิคพิเศษที่ว่านี้

ส่วนการขุดเจาะช่วงอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยานั้นทำการขุดอุโมงค์เชื่อมจากสถานีทั้งสองฝั่ง ระดับความลึกของอุโมงค์อยู่ลึกลงไปจากท้องแม่น้ำ 10 เมตร ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่ขุดนั้นลึก 20 เมตร เท่ากับว่าระดับการขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ลึกกว่าระดับผิวน้ำ 30 เมตร

นอกจากนั้นระหว่างสถานียังมีการสร้างปล่องระบายอากาศหรือปล่องอพยพตรงกลางอุโมงค์ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า หากระยะห่างระหว่างทางเข้า-ออกที่ใกล้ที่สุดของสองสถานีห่างกันเกิน 760 เมตร จะต้องสร้างปล่องระบายอากาศไว้ตรงกลางอุโมงค์ เพื่อลดระยะทางในการอพยพฉุกเฉิน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้น

ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินต้องหยุดเดินรถและอพยพคนออกจากอุโมงค์ ซึ่งปล่องระบายอากาศหรือปล่องอพยพแบบนี้มีอยู่หลายจุดตามเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่คนไม่ค่อยรู้ว่ามีอยู่ หรือมีไว้เพื่ออะไร เพราะบ้านเรายังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่ต้องอพยพคนออกจากรถไฟฟ้าใต้ดิน

นอกจากพาไปชมความงามและมีข้อมูลเบื้องหลังมาเล่าสู่กันฟังแล้ว เรายังมีข่าวดีมาบอกอีกว่า ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 16-42 บาทเท่าเดิม ไม่มีการเพิ่มค่าโดยสารสำหรับระยะทางในส่วนต่อขยายช่วงสถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง ที่เพิ่มขึ้นถึง 14 กม. กับจำนวน 11 สถานี

จากการประเมินหลาย ๆ ด้าน สามารถพูดได้ว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่ว่านี้มาพร้อมความสะดวกสบาย เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ใช้บริการ และส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวให้พื้นที่ใกล้เคียงได้อีกมาก