อำลางานหนังสือศูนย์สิริกิติ์ กับ 6 เล่มน่าอ่าน ในสถานการณ์ปัจจุบัน

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 17 เปิดงานแล้วตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม และจะมีไปจนถึงวันที่ 7 เมษายน งานหนังสือครั้งนี้จะเป็นงานหนังสือครั้งสุดท้ายที่จัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เนื่องจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ ใช้เวลานานถึง 3 ปี

งานหนังสือครั้งนี้จัดขึ้นในธีม “รักคนอ่าน” เป็นนัยซึ้ง ๆ สร้างความผูกพันและดึงดูดให้คนอ่านตามไปงานครั้งใหม่ที่จะจัดขึ้นในสถานที่ใหม่ เพราะในฝั่งผู้จัดงานคงมีหวั่น ๆ กันอยู่บ้างว่าลูกค้าส่วนหนึ่งจะไม่ตามไปงานที่สถานที่ใหม่ เนื่องจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีข้อเด่นตรงที่ความสะดวกในการเดินทางที่มีรถไฟฟ้าใต้ดินโผล่ที่หน้าอาคารเลย ในขณะที่สถานที่จัดงานแห่งใหม่ เมืองทองธานีนั้น ขึ้นชื่อเหลือเกินเรื่องการเดินทางยากลำบาก แค่ได้ข่าวว่าย้าย บรรดานักอ่านก็โอดครวญกันแล้ว

ในงานครั้งนี้มีสำนักพิมพ์เข้าร่วม 400 สำนักพิมพ์ รวมจำนวนบูท 924 บูท มีนิทรรศการ และกิจกรรมเสวนาน่าสนใจมากมายเช่นเคย

พูดถึงงานไปแล้ว มาพูดถึงหนังสือออกใหม่ที่น่าอ่านกันบ้าง ในช่วงงานหนังสือเป็นฤดูกาลออกหนังสือใหม่ของทุกสำนักพิมพ์ ในงานจึงมีหนังสือใหม่ให้เลือกสรรมากมาย แต่ในที่นี้เราจะแนะนำหนังสือน่าอ่านจากสำนักพิมพ์มติชนที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ณ ห้วงเวลานี้

สถานการณ์ปัจจุบันของเมืองไทยตอนนี้ คือ เราอยู่ในห้วงเวลาที่มีสถานการณ์สำคัญคาบเกี่ยวกันอยู่สองด้าน หนึ่งคือ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนนี้ สถานการณ์อีกด้านหนึ่งก็คือ ด้านการเมืองที่เราเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง กำลังรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งสถานการณ์กำลังดุเดือดร้อนแรงสุด ๆ ดังนั้น หนังสือที่เราแนะนำจึงเป็นหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับหมวดประวัติศาสตร์ราชสำนัก ราชประเพณีต่าง ๆ และหมวดเกี่ยวเนื่องกับการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน

เสวยราชสมบัติกษัตรา

ดร.นนทพร อยู่มั่งมี และ ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ : เขียน

เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก ว่าด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เขียนโดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี เป็นการอธิบายเกี่ยวกับความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่ามีประวัติอย่างไร ความหมายของพระราชพิธีคืออะไร หลักฐานที่กล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในดินแดนไทยมีอะไรบ้าง ขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีมีอะไรบ้าง พร้อมภาพประกอบ

ส่วนที่ 2 กับ 3 เขียนโดย ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ส่วนที่ 2 ว่าด้วยเครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ อาจารย์พัสวีสิริได้อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้ ว่าเครื่องประกอบพระราชพิธีประกอบด้วยอะไรบ้าง และแต่ละชิ้นมีความสำคัญและมีความหมายอย่างไร

ส่วนที่ 3 ว่าด้วยสถาปัตยกรรมเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ อธิบายถึงสถานที่ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งคือหมู่พระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วยพระที่นั่งหลายองค์ อาจารย์พัสวีสิริจะอธิบายว่า พระที่นั่งแต่ละองค์มีความสำคัญอย่างไร รวมถึงประวัติการก่อสร้าง และลักษณะสถาปัตยกรรม

จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย

เอนก มากอนันต์ : เขียน

คติจักรพรรดิราช อุดมคติสูงสุดของชนชั้นนำไทยที่รับมาปรับใช้ในการปกครองโดยแฝงเร้นอยู่ภายใต้กิจกรรมทางการเมืองของชนชั้นนำไทย

นับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2172-2394) คติจักรพรรดิราชได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากชนชั้นนำไทยมีการปรับเปลี่ยนความรู้และมองโลกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางการค้า การทูต และการสงคราม จนทำให้แต่เดิมที่การเป็นพระจักรพรรดิราชคือการเป็นเจ้าผู้ปกครองโลกมนุษย์ ได้แปรเปลี่ยนเป็นพระจักรพรรดิราชในปริมณฑลอันจำกัด ก่อนที่แนวคิดการเป็นจักรพรรดิราชจะค่อย ๆ มลายหายไปเหลือเพียงร่องรอยที่ปรากฏให้เห็นในพิธีกรรมของชนชั้นนำเท่านั้น

ผ้าเขียนทอง จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย: พระภูษาทรงบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์สยาม

ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ : เขียน

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยคติความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนองค์อวตารของมหาเทพเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อปกครองแผ่นดิน บำบัดทุกข์บำรุงสุขอาณาประชาราษฎร์ จึงเลือกสรรผ้าเขียนทองสำหรับนำมาใช้เป็นเครื่องทรงขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ในวาระหรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ รวมทั้งใช้เป็นพระภูษาทรงขององค์พระมหากษัตริย์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมภาพประกอบและคำอธิบายจากหอจดหมายเหตุและแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ

ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น

จิราภรณ์ ดำจันทร์ : เขียน

แค่ชื่อก็แซบซี้ดแล้วสำหรับหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แต่กลับประสบความล้มเหลวซ้ำ ๆ ปรากฏการณ์ความล้มเหลวของการทำให้เป็นประชาธิปไตยมีข้อบ่งชี้หลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือ การรัฐประหาร ซึ่งหลัง พ.ศ. 2475 เกิดการรัฐประหารถึง 13 ครั้ง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งเช่นกัน รัฐธรรมนูญไทยไม่อาจสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกป้องรักษารัฐธรรมนูญร่วมกัน รวมถึงเป็นเครื่องมือให้กับคณะบุคคลในการใช้อำนาจมิชอบบางประการ มากกว่าการมุ่งเน้นการใช้หลักนิติธรรม

ความล้มเหลวดังกล่าว เกิดจากการที่ชนชั้นนำไม่มีเจตนาจะสถาปนาและจรรโลงประชาธิปไตยให้ยั่งยืน รัฐธรรมนูญไม่ได้ฉันทามติและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ตัวแสดงทางการเมืองเหนี่ยวรั้งมากกว่าจรรโลงประชาธิปไตย อีกทั้งสังคมกลับยอมรับบทบาทของกองทัพในการแทรกแซงทางการเมือง

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ มีการศึกษาการทำให้เป็นประชาธิปไตยทั้ง 4 ช่วงเวลา ได้แก่ 2475-2490, 2516-2519, 2540-2549 และ 2550-2557 การศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวครอบคลุมบริบทของการเมืองไทยทั้งหมด ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่มีผู้ศึกษาภาพรวมครอบคลุมได้เช่นนี้

มาคิอาเวลลี การเมืองไทยของเจ้าผู้ปกครอง

กานต์ บุณยะกาญจน : เขียน

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา การศึกษาทางรัฐศาสตร์ในไทยได้เปลี่ยนไปจากการเรียนรัฐศาสตร์เพื่อเป็นนักปกครองไปเป็นรัฐศาสตร์เชิงทฤษฎีและปรัชญา นักปรัชญาการเมืองอย่างมาคิอาเวลลีจึงเริ่มถูกศึกษาในเวลานั้น แต่กานต์ บุณยะกาญจน ค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่ที่สามารถอธิบายจุดเริ่มต้นของมาคิอาเวลลีในไทย ที่อาจสืบสาวย้อนกลับไปได้ไกลถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย และปรากฏขึ้นใหม่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านนายทหารชาวอิตาเลียนชื่อเยรินี และถูกต่อยอดโดยชนชั้นนำสยาม เช่น เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

หนังสือเล่มนี้จะเผยให้เห็นว่า ที่จริงแล้วคนไทยรู้จักมาคิอาเวลลีอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ถูกศึกษาในเชิงปรัชญาเท่านั้น ซึ่งการศึกษารัฐศาสตร์ในเชิงปรัชญาและสถานการณ์การเมืองไทยในยุคสงครามเย็นนั่นเองที่มีส่วนช่วยให้มาคิอาเวลลีเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากขึ้น

We the People ปฏิวัติภาษีเงินได้ฯ ให้เท่าเทียม

ผาสุก พงษ์ไพจิตร : เขียน

หนังสือเล่มนี้ต้องการตีแผ่ระบบภาษีเงินได้ฯ ของไทย ว่ามีความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันหรือไม่ โดยทีมนักวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง นำโดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ได้นำ “ชุดข้อมูลของกรมสรรพากร” มาวิเคราะห์ปัญหาของระบบภาษีเงินได้ฯ

ทีมวิจัยพบว่า ปัญหาของระบบภาษีเงินได้ฯ ของไทย เกิดจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ การจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ที่มีช่องโหว่และไม่มีมาตรฐาน ก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน และทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม อีกทั้งรัฐเองยังเสียประโยชน์จากการที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ในอัตราตามจริง

ด้วยปัญหาต่าง ๆ ทางทีมวิจัยได้เสนอแนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้ฯ ไทย เพื่อกระตุ้นเตือนให้ภาคประชาชนและภาครัฐตระหนักถึงปัญหาของระบบภาษีเงินได้ฯ ที่ต้องได้รับการดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสายเกินไป

ดังนั้น We the People ปฏิวัติภาษีเงินได้ฯ ให้เท่าเทียม จึงไม่ใช่งานวิจัยที่แตะต้องไม่ได้ แต่เป็นงานวิจัยที่เขียนขึ้นเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาสังคม เป็นหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่เรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ นอกจากประชาชนคนไทยควรได้อ่านแล้ว ตัวแทนประชาชนในรัฐสภานั้นควรได้อ่านอย่างยิ่ง