เดชอุดมเธียเตอร์ โรงหนังสแตนด์อะโลนภูธร ผ่านร้อนผ่านหนาว 60 ปี

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

เมื่อ 50-70 ปีที่แล้ว ในด้านวัฒนธรรมการดูหนังในเมืองไทย เป็นยุคของโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อะโลน (stand alone) หรือโรงภาพยนตร์เดี่ยวที่ตั้งอยู่โดด ๆ บนตัวอาคารที่ใช้เป็นโรงภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเวลาผ่าน ยุคสมัยเปลี่ยน มีการพัฒนาโรงภาพยนตร์แบบซีนีเพล็กซ์ หรือมัลติเพล็กซ์ขึ้นมา เมื่อสิ่งใหม่ได้รับความนิยมมากกว่า สิ่งเก่าก็ถดถอยผันแปรไปตามสมการ

โรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนทั่วประเทศที่มีการสำรวจในภายหลังว่า ในยุครุ่งเรืองนั้นน่าจะเคยมีอยู่ประมาณ 700 แห่ง ได้ทยอยเลิกกิจการไปเกือบหมด บ้างก็รื้อทุบตัวอาคารทิ้ง บ้างก็ยังเหลือตัวอาคารไว้ในสภาพปิดตาย บ้างก็ปรับเปลี่ยนตัวอาคารไปใช้ประโยชน์อื่น เหลือโรงภาพยนตร์ที่ยังเปิดให้บริการอยู่ก็คงราว ๆ 10 แห่งเท่านั้น …ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

ปีที่แล้ว การเลิกกิจการของโรงภาพยนตร์ลิโด โรงหนังชื่อดังกลางสยามสแควร์ที่เป็นที่พึ่งพิงของคนรักการดูหนังมานานกว่า 50 ปี ทำให้คนดูหนังรู้สึกโศกเศร้า อาลัย และพ่วงมาพร้อมกับความเป็นห่วงเป็นใยโรงภาพยนตร์สกาลา ที่เกรงว่าจะต้องปิดกิจการตามกันไปหรือไม่ หรือจะอยู่ต่อได้อีกนานแค่ไหน

ตอนนี้การได้พบเจอโรงหนังสแตนด์อะโลนที่ยังมีชีวิต หรือยังเปิดดำเนินการอยู่ จึงประหนึ่งว่าได้ค้นพบดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เป็นความชุ่มชื้นใจของคนที่เห็นคุณค่าของโรงหนังแบบเดิมและกลุ่มคนที่คิดถึง-โหยหาอดีต

ณ พื้นที่ห่างไกลเมืองหลวง จังหวัดชายแดนแม่น้ำโขง มีโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนแห่งหนึ่งอยู่ยืนยงผ่านร้อนผ่านหนาวมา 6 ทศวรรษ ที่นี่เป็นสถานที่ที่คนสนใจเรื่องโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนเคยได้เห็นภาพผ่านโซเชียลมีเดียไปบ้างแล้ว แต่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปทำความรู้จักโรงหนังเล็กอายุยืนแห่งนี้ให้มากกว่าที่เห็นในภาพถ่าย

โรงหนังที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ มีชื่อว่า “เดชอุดมเธียเตอร์”

สาย ๆ วันเสาร์ในช่วงวันหยุดเทศกาลหนึ่ง ผู้เขียนไปนั่งสังเกตการณ์หน้าโรงหนังแห่งนี้ ซึ่งจะฉายหนังรอบแรกเวลา 10.00 น. สิ่งที่เห็นคือในช่วงระหว่าง 9 โมง ก่อนจะถึง 10 โมงนั้น มีคนที่สนใจจะดูหนังขับขี่รถแวะเวียนเข้ามาดูป้ายโปรแกรมฉายแล้วกลับออกไป พอใกล้ถึงเวลาค่อยกลับมาใหม่ บ้างเป็นวัยรุ่นมัธยม บ้างเป็นกลุ่มครอบครัวที่จูงมือลูกน้อยมา

หน้าตาของโรงหนังแห่งนี้เป็นแบบบ้าน ๆ ไม่ทันสมัยแบบโรงหนังแบรนด์ใหญ่ แต่ก็ได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่ เพราะมีจุดเด่นมาทดแทน นั่นก็คือ อยู่ใกล้บ้าน ราคาย่อมเยา ทั้งราคาตั๋วที่ขาย 70-80 บาท และราคาขนม-เครื่องดื่มที่ขายราคาปกติทั่วไป เท่ากันกับร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายของชำ

สิ่งหนึ่งที่เห็นที่หน้าโรงหนังเดชอุดมเธียเตอร์แห่งนี้ ซึ่งจะมองว่าเป็นความเฉิ่มเชยล้าสมัยก็ได้ หรือจะมองว่าเป็นความคลาสสิกมีเสน่ห์ก็ได้ นั่นคือที่นี่ยังคงใช้ป้ายโปรแกรมฉายหนังแบบเขียนด้วยมือ

เดชอุดมเธียเตอร์อยู่ยงมา 60 ปี กับการบริหารงานของ 2 เจเนอเรชั่นตระกูล “เทียมสุวรรณ” ตระกูลผู้ประกอบการและนักการเมืองในอำเภอเดชอุดม คนที่บริหารดูแลโรงหนังอยู่ในปัจจุบัน คือ กิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ ซึ่งยังคงเล่นการเมืองและลงสมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาด้วย

ถ้าประเมินจุดแข็งของโรงหนังแห่งนี้ว่าทำไมจึงอยู่ยงคงกระพันฝ่ากระแสการล้มตายของโรงหนังสแตนด์อะโลนมาได้ ผู้เขียนฟันธงไปที่ “การอยู่ถูกที่”

เดชอุดมเธียเตอร์ ตั้งอยู่ในทำเลใจกลางอำเภอเดชอุดม หรือ “เมืองเดช” เมืองใหญ่อันดับ 3 ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 50 กิโลเมตร และมีอำเภอข้างเคียงอีกหลายอำเภอ ดังนั้น จึงมีประชากรจำนวนหลายแสนคนที่มีโอกาสจะเป็นลูกค้าของโรงหนังนี้ คนมากมายเลือกดูหนังที่นี่ เพราะไม่ต้องเดินทางไกลเข้าไปในอำเภอเมือง ซึ่งอยู่ห่างไกลกว่า 50 กิโลเมตร

กิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ เจ้าของเดชอุดมเธียเตอร์

กิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ เจ้าของและผู้บริหารเดชอุดมเธียเตอร์เองก็เห็นตรงกันว่า ทำเลที่ตั้งตรงนี้ คือ จุดแข็งมาก ๆ เขาบอกว่าทำเลทองตรงนี้ เป็นที่ดินมีราคาหลายล้าน และยังสามารถพัฒนาทำอะไรได้อีกเยอะ แต่ตอนนี้เขาเลือกจะคงโรงหนังเอาไว้ด้วยความรักและผูกพัน

เจ้าของโรงหนังวัยใกล้ 60 เล่าความเป็นมาของโรงหนังว่า นายชวน เทียมสุวรรณ พ่อของเขาซึ่งประกอบกิจการค้าขายผลผลิตทางการเกษตร สร้างโรงหนังเดชอุดมเธียเตอร์เมื่อปี 2502 แรกเริ่มชื่อ “เดชอุดมภาพยนตร์” โดยมีสภาพเป็นเพียงโรงหนังล้อมสังกะสี ขนาดใหญ่ความจุ 800 ที่นั่ง ในยุคนั้นราคาตั๋วเพียง 1 บาทเท่านั้น

 

เขาบอกว่าในยุคที่พ่อของเขาสร้างโรงหนังในอำเภอเดชอุดม มีคู่แข่งหลายเจ้า แต่โรงอื่น ๆ ก็ทยอยเลิกกิจการไป เพราะทำต่อไม่ไหว จึงเหลือเพียงโรงนี้โรงเดียวที่อยู่ต่อมาอีกหลายทศวรรษ

โรงหนังเดชอุดมฯได้รับการปรับปรุงพัฒนามาเรื่อย ๆ ทั้งตัวโครงสร้างและเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบการฉายที่แม้จะเป็นโรงหนังภูธร แต่ก็ทุ่มทุนกับเรื่องคุณภาพเต็มที่ ควบคู่กันมากับการปรับราคาตั๋วให้เหมาะสม และได้ปรับตัวโดยใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับลูกค้าตามยุคสมัยนิยมด้วย โดยปัจจุบันเฟซบุ๊กแฟนเพจของเดชอุดมเธียเตอร์ มีผู้ติดตามอยู่ 7 พันกว่าคน

กิตติพงษ์เข้ามารับช่วงบริหารโรงหนังต่อจากพ่อเมื่อปี 2530 และได้ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในปี 2540 โดยรื้อของเดิม และสร้างใหม่เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น แล้วทำเป็นโรงเล็ก เนื่องจากเห็นว่าในยุคหลัง ไม่ได้มีคนจำนวนมาก ๆ อยากดูภาพยนตร์เรื่องเดียวกันเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ด้วยขนาดพื้นที่ใช้งานของอาคารใหญ่พอสมควร จึงยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่แบ่งเอาไว้เผื่อการต่อเติมในอนาคต ซึ่งในช่วงการปรับใหญ่นี้เอง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เดชอุดมมินิเธียเตอร์” และใช้ชื่อนี้มานานหลายปี

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เขาตัดสินใจเปิดโรงหนังเพิ่มอีกหนึ่งโรงบนพื้นที่ที่เหลือ ตอนนี้เดชอุดมเธียเตอร์จึงมีโรงหนังในนั้น 2 โรง คือ โรง A กับ B และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นที่มาของการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “เดชอุดมเธียเตอร์” แต่ป้ายชื่อยังคงเป็น “เดชอุดมมินิเธียเตอร์” แบบเดิมที่คนในท้องที่คุ้นตากันมานาน

นอกจากจุดเด่นเรื่องทำเลที่ตั้งแล้ว เจ้าของมองว่าโรงหนังแห่งนี้มีจุดเด่นอีก 2 อย่างที่ทำให้อยู่ยงมาได้นาน ซึ่งจุดเด่นข้อที่สอง คือ ความผูกพันของคนในพื้นที่ กิตติพงษ์บอกว่า ตั้งแต่รุ่นพ่อมาจนถึงรุ่นเขานั้นคลุกคลีกับคนในพื้นที่แบบคนกันเอง และการได้สร้างประโยชน์ให้ท้องถิ่นระหว่างทำงานการเมืองก็มีส่วนทำให้เกิดความผูกพันอีกทางหนึ่ง

ส่วนจุดเด่นที่สาม คือ ต้นทุนต่ำ เนื่องจากจ้างพนักงานเพียง 3-4 คนเท่านั้น งานหลาย ๆ ส่วนจะใช้คนในครอบครัวช่วยกันทำ อย่างเช่น การขายตั๋ว ขายขนมเครื่องดื่ม การบริหารจัดการ และอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนต่ำ คือ ไม่ต้องซื้อหรือเช่าหนัง เนื่องจากยังใช้ระบบการรับหนังจาก “สายหนัง” หรือผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ซึ่งมีคอนเน็กชั่นเหนียวแน่นกันมาตั้งแต่ยุคแรก โดยเป็นระบบรับหนังมาฉายโดยไม่ต้องจ่ายตังค์แล้วแบ่งรายได้กัน 50 : 50 เจ้าของโรงหนังเปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำโรงหนังแห่งนี้มีต้นทุนเดือนละ 1 แสนบาท ส่วนรายได้ ไม่ได้กำไรมากมายนัก บางเดือนอาจจะขาดทุน แต่เฉลี่ยทั้งปียังพอเลี้ยงดูตัวเองได้

เจ้าของโรงหนังวัยใกล้ 60 บอกว่า ในอนาคตเขาตั้งใจจะทำให้โรงหนังแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์กของอำเภอเดชอุดม คิดว่าจะทำคาเฟ่บนชั้น 2 ที่ยังมีพื้นที่ว่าง เขาคิดว่าที่นี่น่าจะเป็นจุดชมวิวที่ดี มองเห็นพระใหญ่ประจำเมืองตั้งตระหง่านอยู่ไม่ไกล และอีกความตั้งใจหนึ่ง คือ อยากทำพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ ซึ่งที่นี่ยังเก็บรักษาอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือเก่า ๆ ไว้อย่างดี พร้อมที่จะจัดแสดงหากได้ทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาจริง ๆ

…แต่ความตั้งใจทั้งสองนี้ยังไม่สามารถทำได้ตอนนี้ “หลังเลิกเล่นการเมือง ซึ่งคิดว่าจะเกษียณตัวเองจากการเมืองตอนอายุ 60 จึงจะลุยกับโรงหนังอย่างเต็มที่” เขาว่า

นอกจากจุดเด่นทั้ง 3 แล้ว สิ่งที่ทำให้โรงหนังแห่งนี้ยังคงอยู่ก็คือ ความรักและความผูกพันของเจ้าของนั่นเอง แต่เจ้าตัวบอกว่า ในอนาคตไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ได้คาดหวังว่าลูก ๆ จะต้องมาทำต่อ เพราะลูก 3 คนมีหน้าที่การงานที่ดีอยู่แล้ว ถ้าลูกคนไหนรู้สึกว่าอยากทำก็ให้ทำ แต่ถ้าไม่มีใครอยากทำก็ไม่เป็นไร อาจจะต้องปิดไป หรือยกให้คนอื่นทำต่อก็ได้

“ใครก็ตามที่รักโรงหนังและอยากทำจริง ๆ ผมให้มาทำต่อได้เลย” กิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ เจ้าของโรงหนังบอกแบบทีเล่นทีจริง

หลังจากจบการสนทนา เจ้าของโรงหนังและเราก็หันไปคุยกับลูกค้าที่จูงลูกน้อยมานั่งรอชมภาพยนตร์ พี่สาวคนนั้นบอกว่า เธอดูหนังที่นี่มานานราว 20 ปี ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม จนถึงตอนนี้เป็นผู้ใหญ่สามารถเดินทางเข้าเมืองเองได้แล้ว แต่เธอก็ยังเลือกดูที่นี่ เธอยังให้ข้อมูลอีกว่า ได้ข่าวว่าโรงหนังเครือใหญ่กำลังจะมาเปิดที่ห้างสรรพสินค้าเจ้าดังที่อยู่ห่างออกไปราวกิโลเมตรกว่า ๆ แต่เธอก็ยังจะดูที่นี่ต่อไป เพราะความผูกพันและราคาเป็นมิตรกับผู้บริโภค

พอประตูโรงหนังเปิด ผู้ชมหลายสิบคนในโรงหนังเดินออกมา เจ้าของโรงหนังกำลังจะไปเทกแคร์ลูกค้า พี่สาวคนนั้นและลูกชายตัวน้อยของเธอกำลังจะเข้าไปดูหนังรอบต่อไป เราร่ำลากันด้วยรอยยิ้ม ทั้งรอยยิ้มของผู้เขียนเอง รอยยิ้มของคนดูหนังที่กำลังจะจูงมือลูกเข้าโรงหนัง และรอยยิ้มของเจ้าของโรงหนังที่ได้คุยกับลูกค้าระดับแฟนพันธุ์แท้ที่น่าจะเติมกำลังใจให้เจ้าของโรงหนังภูธรแห่งนี้ได้อีกมาก