มองอนาคต วงการศิลปะในไทย เมื่อรัฐไม่สนับสนุน-ประชาชนต้องพึ่งตัวเอง

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

 

นอกจากปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องปากท้องที่รอวันแก้ไขจากรัฐบาล เรื่องศิลปะก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องการการดูแลไม่ต่างกัน ทว่างานศิลปะกลับถูกให้น้ำหนักเป็นลำดับท้าย ๆ มาตลอด ทั้งที่ในความเป็นจริงงานศิลปะสามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศได้ไม่ต่างจากสินค้าส่งออก หรืองานด้านนวัตกรรมที่หลายฝ่ายมุ่งพัฒนาอย่างเห็นพ้องต้องกัน

ในงานเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการเสวนาหัวข้อ “พิพิธภัณฑ์เอกชน อนาคต และทางแยก ?” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศิลปะเข้าร่วมพูดคุยแสดงความเห็นกันอย่างเข้มข้น

ทั้งศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2554, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2552 และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิตสาขาวิชานาฏกรรม ราชบัณฑิตยสภา

รัฐไม่เหลียวแล-คนเข้าไม่ถึง : ปัญหาสำคัญของวงการศิลปะ

หลายคนเห็นตรงกันว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้วงการศิลปะของไทยเดินไปข้างหน้าได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเป็นผลมาจากการขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่า จริงอยู่ที่ประเทศมีปัญหาด้านอื่นที่ต้องเร่งแก้ไข แต่รัฐบาลอาจจะหลงลืมไปว่า วัฒนธรรมและงานศิลปะของไทยก็สามารถสร้างรายได้ และชูภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศได้มากเช่นกัน

อาจารย์ปรีชามองเห็นช่องโหว่ที่ว่าจึงเข้าไปนั่งในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อผลักดันบทบัญญัติเกี่ยวกับศิลปะให้เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญให้ได้ แต่ปรากฏว่าข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกลับถูกจัดประเภทให้ไปอยู่ในหมวดอื่น ๆ โดยไม่มีกฎหมายลูกรองรับ แสดงให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้มองเห็นความสำคัญของศิลปะต่อการสร้างชาติอย่างที่ควรจะเกิดขึ้น

“ปัญหาพื้นฐานของไทยคือเราจะทำอย่างไรให้คนรู้คุณค่าของงานศิลปะ เราต้องทำให้งานสายศิลปะขึ้นไปยืนทัดเทียมกับงานวิจัยด้านนวัตกรรมให้ได้ ปัจจุบันเขาให้งบฯเรามาทีก็เป็นแค่เศษเงิน เพราะมันไม่ได้อยู่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ต้นตอของปัญหาคือความไม่รู้ องค์ความรู้มี โปรดักต์มี แต่ไม่มีการจัดระเบียบ”

ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิตสาขาวิชานาฏกรรม ราชบัณฑิตยสภา เสริมว่าไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่มองไม่เห็นคุณค่า แต่ผู้คนในสังคมก็ยังขาดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ด้วย

“เราควรจะบอกสาธารณชนและผู้บริหารประเทศว่าไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้ ถ้าจะพูดเรื่องมั่งคั่งยั่งยืนนี่คือสิ่งที่เรามี มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถอยออกมาจากโรงงานราคาเหลือครึ่งหนึ่ง แต่ภาพเขียนออกจากมือศิลปินแล้วราคาเพิ่มขึ้นทุกวัน ของเก่าต้องอนุรักษ์ ของใหม่ต้องพัฒนา ต้องมีการจัดการที่เป็นระบบ ภาครัฐควรจะมีกฎหมายหรือมาตรการที่ให้พื้นที่กับศิลปินทำงานได้อย่างเต็มที่”

“เชียงรายโมเดล” ตัวอย่างเมืองศิลปินพึ่งพาตนเอง 

เมื่อรัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ การผนึกกำลังร่วมมือกันของศิลปิน และภาคประชาชนจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับวงการศิลปะ

ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หัวเรือใหญ่ในการเปลี่ยนแปลง จ.เชียงรายสู่เมืองแห่งศิลปะอย่างเต็มขั้น ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นกว่าเชียงรายจะมีความรุ่งเรืองทางศิลปะอย่างทุกวันนี้ว่า อาจารย์เคยไปแสดงผลงานที่ต่างประเทศ แต่สิ่งที่ได้รับคือไม่มีใครสนใจผลงาน “เราก็เหมือนหมาตัวหนึ่ง ไม่มีคนดู ไม่มีคนสนใจคุณด้วยซ้ำ” สิ่งที่เขาฉุกคิดได้ในเวลาต่อมา คือไม่ต้องไปแสดงที่ไหน หันกลับมาพัฒนาที่บ้านเกิด กลับมาสร้างตัวเองให้ร่ำรวย

“เราไม่สามารถสร้างพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ในบ้านแล้วให้ฝรั่งหรือคนทั้งโลกเดินเข้ามาดูได้ เราเลยกลับบ้านแล้วมาสร้างวัด เพราะสิ่งที่จะดึงดูดให้คนทั้งโลกเดินเข้ามาดูผลงานได้ไม่ใช่จิตรกรรม แต่คือสถาปัตยกรรม” อาจารย์เฉลิมชัยเล่าถึงไอเดียการสร้างวัดร่องขุ่น หรือที่รู้จักกันในหมู่ชาวต่างชาติในชื่อ “White Temple”

“เราต้องทำสิ่งที่ยั่งยืนกว่า คือการทำให้ศิลปินเชียงรายทุกคนมีที่ยืน วิธีการคือบอกเขาว่าอย่าเป็นศิลปินโบราณแต่จงเป็นผู้สร้าง ในจังหวัดเราต้องไม่มีศิลปินยากจน เมื่อทุกคนมีเงินมันจะทรงพาวเวอร์โดยไม่ต้องง้อเงินจากรัฐบาล เรามีงบประมาณในการจัดการทุกอย่าง เรามีกระบวนการจัดการให้ส่วนราชการทั้งหมดเข้าใจงานศิลปะของเรา”

อาจารย์เฉลิมชัยบอกว่า สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การดีลกับส่วนราชการ แต่เป็นการแก้ไขอัตตาหรืออีโก้ของศิลปินเอง เวลาจัดสรรศิลปินเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐต้องมีการปรับวิสัยทัศน์ของศิลปินเพื่อให้สื่อสารเข้าใจกันมากขึ้น กระบวนการทั้งหมดกว่าจะออกมาเป็น “เชียงรายโมเดล” ใช้เวลา 20 ปี

“จงพึ่งพาตัวเอง และทำตัวเองให้ดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราจะช่วยศิลปินด้วยกันได้ แต่สิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับศิลปินคือ มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน มันคืออัตตาที่ไปทำลายการเติบโตในวงการศิลปะ”

ศิลปะยุคใหม่ต้องเชื่อมต่อโลกดิจิทัลให้มากที่สุด

สำหรับการดำรงอยู่ของศิลปะและพิพิธภัณฑ์ในอนาคต ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล ให้มุมมองในแง่การขยายองค์ความรู้ในรูปแบบ content market ว่า สินค้าในประเทศญี่ปุ่นทุกตัวจะมีคำอธิบาย หรือคิวอาร์โค้ดประกอบการตัดสินใจเสมอ เช่นเดียวกันกับงานศิลปะ หากเดินผ่านแล้วมองเฉย ๆ จะไม่สามารถเข้าใจความหมายที่ศิลปินต้องการจะสื่อได้เท่าที่ควร อาจารย์จึงเสนอให้มีคิวอาร์โค้ดเพื่ออธิบายอย่างละเอียด เพราะสังคมสมัยใหม่ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบ content based หากจะขายศิลปะต้องเอาตรงนี้มาเป็นตัวจุดไฟรวมถึงพิพิธภัณฑ์ก็ต้องปรับให้รับกับยุคมากขึ้น ต้องเพิ่มเติมส่วนผสมของการเรียนรู้แบบใหม่เข้าไปด้วย

“มิวเซียมไม่ใช่จะมีแต่ของตาย ต้องมีของเป็น มีเพอร์ฟอร์มิ่งอาร์ต มีมิวสิก มีคัลเลอร์ มีกลิ่น มิวเซียมอีกประเภทที่ผมไปพบที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เป็นมิวเซียมเด็กที่เน้นคณิตศาสตร์ นำแบงก์ปลอมให้เด็กไปช็อปปิ้ง กำหนดรายการสินค้าให้เด็กนำเงินไปซื้อของให้ครบ เด็กต้องช่วยกันนั่งคำนวณว่าจะซื้อของอย่างไร นี่คือมิวเซียมอีกลักษณะหนึ่ง การจัดสรรมิวเซียมมีหลายรูปแบบ ถ้าเราคิดว่าพิพิธภัณฑ์เป็นการเรียนนอกห้องเรียนก็ต้องมีการวัดผล มี Q&A มีบทเรียน”

อาจารย์สุรพลยังยกตัวอย่าง “พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก” จ.ยโสธร ด้วยว่า บางครั้งรัฐก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์จากเงินทุนของ อบจ. นำตำนานพื้นบ้านมาพัฒนาเป็นมิวเซียม ชั้นล่างทำเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่น ชั้นบนเป็นหอวิทยาศาสตร์ แจกแจงอธิบายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ว่าคางคกมีกี่สายพันธุ์ ขึ้นไปบนสุดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งนโยบายของยโสธรให้เด็กได้เรียนรู้ภายในสถานที่เดียว

“เราต้องพึ่งตัวเอง” คือ ประโยคที่อาจารย์ทุกท่านพูดภายในงานเกินสิบครั้งเห็นจะได้ จริงอยู่ที่การพึ่งพาตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐที่มีหน้าที่สนับสนุนโดยตรงก็ควรจะตระหนักตรงนี้ให้มากขึ้น เหมือนกับที่อาจารย์ทุกท่านมองว่า มรดกทางศิลปะของบ้านเรามีคุณค่ามากพอที่จะขึ้นไปมีบทบาทในการสร้างชาติ และพัฒนาประเทศต่อไปข้างหน้าได้