ICONCRAFT เวทีนำเสนองานฝีมือไทย สู่สายตาชาวโลก

ประเทศไทยของเรารุ่มรวยไปด้วยงานหัตถศิลป์ หรืองานฝีมือ เพราะ เมืองไทยอุดมด้วยช่างฝีมือมากมายที่ผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน ส่งต่อองค์ความรู้กันมารุ่นต่อรุ่น และยังมีชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็นช่างฝีมือ แต่มีความสามารถสร้างสรรค์งานฝีมือออกมาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ล้วนแต่มีคุณค่าไม่แพ้กัน

ด้วยเล็งเห็นศักยภาพงานฝีมือของไทย อยากจะเชิดชูงานฝีมือและเรื่องราวอันมีคุณค่า พร้อมทั้งสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ไอคอนสยาม ศูนย์การค้าที่ตั้งเป้าจะเป็นเดสติเนชั่นดึงนักท่องเที่ยว จึงได้สร้างโซนพิเศษ ไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) บนชั้น 4 และชั้น 5 ของศูนย์การค้า เป็นพื้นที่นำเสนอคุณค่างานหัตถศิลป์ไทยร่วมสมัยสู่สายตาคนทั่วโลก ภายใต้แนวคิด “Local Craft Hero to Global Icon” เพื่อเชิดชูและเป็นเวทีผลักดันช่างฝีมือไทยให้ก้าวไกลไปสู่เวทีโลก โดยคัดเลือก เสาะหา และเปิดรับงานฝีมือ งานนวัตศิลป์ จากทั่วประเทศเข้ามาวางขายในโซนนี้

วรางคณา สุเมธาศร ผู้บริหารสายงานธุรกิจค้าปลีก 1 บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ให้ข้อมูลว่า ไอคอนคราฟต์มีพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร แบ่งการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 7 สาขา ได้แก่ The Smith งานช่างทอง ช่างโลหะต่าง ๆ, The Painter งานลงสีลงยา งานเขียน วาดลวดลาย งานลงรักปิดทอง, The Sculptor งานปั้น, The Carpenter งานช่างไม้ ช่างแกะสลัก, The Weaver งานช่างทอ ช่างจักสาน, The Gastronomer งานปรุง งานสร้างสรรค์อาหาร, The Therapist งานแพทย์แผนไทยและผลิตภัณฑ์สำหรับการบำบัดและดูแลสุขภาพ ซึ่งการจัดหมวดหมู่ 7 สาขานี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสาขาวิชาชีพช่างสิบหมู่ของไทย แต่เลือกมาเพียง 7 สาขา ให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์หลักของศูนย์การค้าที่มี 7 วันเดอร์ส

นอกจากพื้นที่วางขายสินค้าแล้ว ยังมีพื้นที่อีเวนต์ สเปซ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิต ศิลปิน หรือคนที่อยากนำเสนอสินค้าเข้ามาวางขาย มานำเสนอบอกเล่าเรื่องราวเป็นครั้งคราว ซึ่งจะจัดเป็นธีมแต่ละเดือน และในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ จะเริ่มขายสินค้าทางออนไลน์ เมื่อเปิดขายออนไลน์แล้วจะเพิ่มบริการจัดส่งสินค้าสำหรับลูกค้าที่มาซื้อในศูนย์การค้าด้วย

สำหรับกระบวนการสรรหาโปรดักต์เข้ามาวางขาย ไอคอนคราฟต์มีทีมงานออกไปเป็นแมวมองตามงานแฟร์ มีทีมเข้าไปเป็นกรรมการการประกวดต่าง ๆ ของกระทรวง หรือหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงส่งทีมงานเข้าไปในชุมชนตามต่างจังหวัด

เกณฑ์สำคัญในการคัดเลือก คือ ต้องเป็นงานฝีมือที่พัฒนาให้ร่วมสมัย ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ต้องมีกำลังการผลิตเพียงพอ สามารถผลิตสินค้าได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ และต้องมีการผลิตสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับไอคอนคราฟต์ตามกำหนดขั้นต่ำ

ปัจจุบันในไอคอนคราฟต์มีสินค้า 250 แบรนด์ และยังเปิดรับอยู่เรื่อย ๆ ใครมีงานฝีมือที่มั่นใจว่าอยู่ในเกณฑ์ ก็สามารถนำเสนอเข้าไปที่ไอคอนคราฟต์ได้โดยตรง

ได้เห็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจแล้ว เราจะพาไปดูตัวอย่างสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ที่ขายในไอคอนคราฟต์กันบ้างว่ามีความน่าสนใจขนาดไหน

เริ่มจาก Fat Cat (แฟต แคต) แบรนด์คิตเช่นแวร์ไม้เพนต์ลวดลายสีสันสดใส ที่เกิดจากไอเดียและฝีมือของ ศิศีร เที่ยงธรรมเจริญ สาวหน้าหมวยที่เรียนจบศิลปกรรม จุฬาฯ เธอเป็นทายาทโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่ปิดตัวไป ด้วยความเสียดาย เธอจึงเข้าไปทำต่อเมื่อปี 2012 ในตอนแรกเธอทำเฟอร์นิเจอร์ตามเฟรมเดิมที่มีอยู่ และเอาสีสันลายผ้าที่เธอดีไซน์เข้าไปผสาน ตั้งชื่อแบรนด์ Fat Cat ที่มีสไตล์ขี้เล่น สนุกสนาน แต่ทำไปสักพักเห็นว่าต้นทุนสูง แข่งขันราคาในตลาดไม่ได้ จึงแตกไลน์มาทำคิตเช่นแวร์ไม้อย่าง ถาดอาหาร จาน ช้อน ส้อม

ในด้านงานออกแบบและขั้นตอนการเพนต์ลาย ศิศีรทำเองทุกชิ้น ส่วนงานไม้ การขึ้นรูปทรงนั้นสามี ซึ่งเป็นช่างทำกีตาร์เป็นคนทำให้ และมีลูกน้องอีกหนึ่งคนคอยช่วยในส่วนงานไม้

จุดเด่นของ Fat Cat แบ่งเป็นสองด้าน คือ ด้านเทคนิค ที่เธอบอกว่าเป็นแบรนด์เดียวที่ใช้เทคนิคการลงยาเย็น ซึ่งทดลองมาหลากหลายเทคนิคกว่าจะลงตัวที่เทคนิคนี้ และด้านดีไซน์ คือ ลวดลายที่เน้นสีสันสดใสและความคอนทราสต์ เช่น ลายหมีแยกเขี้ยวน่ากลัว แต่รายล้อมด้วยดอกไม้สดใส สวยงาม ด้วยจุดเด่นที่ว่า ทำให้ได้รับคัดเลือกเข้ามาวางขายในศูนย์การค้า เริ่มจากสยามดิสคัฟเวอรี่ แล้วมาที่ไอคอนสยาม ใน The Selected ตามด้วยไอคอนคราฟต์ และยังได้รับเลือกให้เข้าไปขายในเว็บไซต์ต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกันทางแบรนด์ยังขายเองผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ด้วย

ปัจจุบัน Fat Cat มียอดขายเดือนละประมาณ 20-30 ชิ้น สินค้าที่ขายดีที่สุด คือ ถาดไม้ เจ้าตัวบอกว่าพอใจกับผลตอบรับระดับนี้ รายได้ตอนนี้สามารถอยู่ได้ ยอดขายสอดคล้องกับฝั่งผลิตที่ทำกันเต็มกำลังการผลิตแล้ว ไม่สามารถเพิ่มได้มากกว่านี้ ถ้าในอนาคตมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จึงจะคิดเรื่องหาช่างไม้เพิ่ม แต่ด้วยความที่เป็นงานฝีมือที่ละเอียด การหาช่างฝีมือที่อยู่ในมาตรฐานที่พอใจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก อีกทั้งเธอมองว่าเสน่ห์ของงานฝีมือคือมันมีจำนวนไม่เยอะ จึงไม่อยากขยายไปเป็นแมสโปรดักต์

อีกแบรนด์ คือ Pilantha (พิลันธา) แบรนด์เครื่องประดับสไตล์ไทย ๆ ที่เกิดจากความชอบศิลปะและวัฒนธรรมไทยของ จุฑาพัชร์ นิเวศรัตน์ อดีตสาวศิลปากรที่เดินผ่านวัดพระแก้วทุกวัน จึงอยากเอาความสวยงามในวัดมาไว้บนเครื่องประดับ

จุฑาพัชร์เริ่มทำแบรนด์นี้เมื่อปี 2008 เริ่มจากความชอบศิลปะไทย แต่คิดว่าศิลปะไทยเป็นความสวยที่อยู่บนหิ้ง เธออยากเอาความสวยงามนั้นลงมาอยู่ในชีวิตประจำวัน เธอจึงนำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนด้านการออกแบบเครื่องประดับจากรั้ววังท่าพระมาเริ่มต้นทำเครื่องประดับของตัวเอง ออกแบบเอง ขึ้นรูปเอง ตกแต่งเอง ทำเองทุกขั้นตอน ต่อมาเมื่อมียอดขายมากขึ้นจึงหาช่างมาช่วย

ความไทย ๆ ที่เธอนำมาไว้ในเครื่องประดับก็มีตั้งแต่ ลายไทย ดอกไม้ไหว ขนมไทย รูปทรงสถาปัตยกรรมต่าง ๆ

จุดเด่นของ Pilantha คือ แคแร็กเตอร์แบบไทย และมีความประณีต เป็นงานคราฟต์ล้วน ๆ ทำด้วยมือทุกชิ้น ทุกขั้นตอน

เจ้าของแบรนด์บอกว่า เมื่อตอนที่เริ่มทำแบรนด์นั้นขายได้น้อยมาก เพราะคนไทยยังไม่นิยมดีไซน์ไทย ๆ ปัจจุบัน
คนไทยนิยมเครื่องประดับดีไซน์ไทยมากขึ้น มีแบรนด์อื่นที่ทำดีไซน์ไทยเหมือนกัน แต่ Pilantha มีความแตกต่างตรงที่ เป็นดีไซน์ไทยแบบ “เยอะ ๆ” หรูหรา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือ เป็นเครื่องประดับที่เหมาะสำหรับใส่ออกงาน ขณะที่แบรนด์ส่วนมากเป็นมินิมอลสำหรับใส่ในชีวิตประจำวัน

ส่วนแบรนด์สุดท้ายที่จะพูดถึง คือ Hom Doi (หอม ดอย) แบรนด์น้ำพริกหมูคั่วสูตรออร์แกนิก ฝีมือการสร้างสรรค์ของ กฤตพิสิษฐ์ จันทร์วาววาม และพิมพ์มาดา เสารางทอย สาวลูกครึ่งขมุ-ลาว ที่พัฒนาโปรดักต์จากความทรงจำในวัยเด็กของพิมพ์มาดาที่เติบโตในพื้นที่ชายขอบจังหวัดน่าน

น้ำพริกหมูคั่วสูตร Hom Doi สร้างสรรค์รสชาติแบบฉบับชาวขมุแท้ ๆ ที่สืบทอดมากว่า 100 ปี แต่มีการพัฒนาให้เหมาะกับคนรักสุขภาพ เป็นน้ำพริกแบบแห้ง เผ็ดร้อนนิด ๆ กลมกล่อมกำลังดี กลิ่นสมุนไพรหอมเตะจมูกตั้งแต่เปิดขวด ใช้เนื้อหมูมากถึง 75% โดยใช้หมูจากฟาร์มหมูหลุมที่เลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ คัดเฉพาะเนื้อล้วนไม่ติดมันมาสับและคั่วจนแห้งสนิท จากนั้นเติมสมุนไพรที่ปลูกแบบอินทรีย์ และเติมซีอิ๊วขาวออร์แกนิกคั่วพร้อมกันจนได้น้ำพริกหอมกรุ่น นำมาทานคู่กับอะไรก็เข้ากันได้ดี

นอกจากแบรนด์น้ำพริก ทั้งสองยังได้ทำเครื่องดื่มน้ำลำไยอินทรีย์อบแห้งแบรนด์ Lanna Selected ที่มีรสชาติหอมหวานจากเนื้อลำไยพันธุ์สีทองแท้ ๆ ที่คัดสรรจากสวนผลไม้ออร์แกนิกใน จ.น่าน

ทั้งสองแบรนด์ช่วยสร้างอาชีพ รายได้ และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนสองแควใน จ.น่านด้วย โดยชาวเผ่าขมุที่สามารถสร้างรายได้จากการผลิตน้ำพริกหมูคั่ว Hom Doi

นอกจากนั้น ทั้งสองคนยังมอบรายได้จากการจำหน่ายน้ำพริก 10 บาทต่อขวด และ 30 บาทต่อกล่อง ให้เป็นทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียนแก่เด็ก ๆ ชาวขมุ ส่วนรายได้ 10% จากการจำหน่ายน้ำลำไย หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้วิสาหกิจชุมชน อ.สองแคว

นอกจากที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างในครั้งนี้ ก็อย่างที่บอกไปว่า ในไอคอนคราฟต์มีงานฝีมือหลากหลายหมวดหมู่จากทั่วประเทศรวมกันอยู่ในที่เดียวมากถึง 250 แบรนด์ คนที่ชื่นชอบงานคราฟต์น่าจะลองไปเดินชมกันสักครั้ง เชื่อว่าต้องเจอชิ้นที่ถูกใจ และจะมีครั้งต่อ ๆ ไปตามมา