คลี่ปมมาตรการลดความเร็วรถพยาบาล ปลอดภัยหรือไม่ทันการ?

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

 

เป็นประเด็นสุดร้อนแรงบนโลกโซเชียลในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อทางกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการควบคุมความเร็วรถพยาบาลวิ่งได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และห้ามขับรถฝ่าไฟแดงในทุกกรณี เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ภายหลังมีการนำเสนอข่าวออกไป กระแสตอบรับก็มีด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝั่งหนึ่งเห็นด้วยเพราะคิดว่าเรื่องความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนอีกฝั่งก็มองว่า หากมาตรการนี้ถูกบังคับใช้ออกไปจะเกิดผลเสียกับผู้ป่วยหรือคนไข้ในกรณีเร่งด่วนเอาได้ ทั้งยังมองว่านี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดเสียทีเดียว ซึ่งในโลกโซเชียลหรือความเห็นของประชาชนส่วนมากก็ดูจะเอนเอียงไปทางอย่างหลังเสียมากกว่า แม้กระแสข่าวจากกรณีนี้จะเงียบลงไปได้สักพักแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสรุปแล้วผู้ป่วยจะได้หรือเสียประโยชน์จากมาตรการที่ว่านี้มากน้อยแค่ไหน “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปหาคำตอบกัน

สถิติอุบัติเหตุรถพยาบาลนำไปสู่มาตรการลดความเร็ว

หลังจากที่มีข่าวและมีการตั้งคำถาม มีการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าวให้ข้อมูลถึงกรณีการลดความเร็วรถพยาบาลว่า หลักการสำคัญของสถานพยาบาลต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย และมาตรฐานในการรักษาพยาบาลเป็นสำคัญ การลดความเร็วลงจึงเป็นการเพิ่มมาตรการคุ้มครองรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งนี้ มาตรการจำกัดความเร็วรถพยาบาลบังคับใช้กับรถพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ได้บังคับใช้กับรถพยาบาลฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นที่ต้องรับ-ส่งผู้ป่วยระยะทางไกล ๆ ข้ามอำเภอข้ามจังหวัด

“เมื่อผู้ป่วยอยู่ในรถแล้วแพทย์จะทำการประเมินว่า ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่หรืออยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ หรือหากผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤตจริง ๆ รถพยาบาลจะเปิดไซเรนขอทางกับผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่แล้ว รถพยาบาลเองต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด เพราะหากใช้ความเร็วสูงแรงปะทะขณะเกิดอุบัติเหตุจะรุนแรง ทำให้เกิดโอกาสเสียชีวิตได้มาก” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

จากคำแถลงของรองปลัด สธ. สอดคล้องกับ สถิติการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลของทางกระทรวงสาธารณสุขระหว่างปี 2559-2562 ที่ผ่านมาพบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึง 110 ครั้ง เสียชีวิตมากถึง 318 ราย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งผู้ป่วยถึงร้อยละ 80 และเป็นพื้นที่ต่างจังหวัดเสียส่วนใหญ่ ซึ่งในประกาศการดำเนินการความปลอดภัยรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2559 เองก็เคยระบุถึงวินัยการขับรถไว้เช่นกันว่า หากมีผู้ป่วยบนรถพยาบาลแล้วขอความร่วมมือให้มีการจำกัดความเร็วที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และให้ยึดกฎจราจรเป็นหลัก โดยต้องไม่มีการฝ่าไฟแดงเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ผลการสำรวจล่าสุดของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2562 ที่ผ่านมายังพบด้วยว่า ในการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่รถฉุกเฉินเป็นฝ่ายชนรถคันอื่นก่อนมากถึงร้อยละ 67.8 จากความเร่งรีบในการส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลให้ทันท่วงที ทว่า ในความเป็นจริงแล้วการขับรถด้วยความเร็วในระดับ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นจำนวนตัวเลขที่เสี่ยงและสูงจนเกินไป

ด้าน ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลกับเราเช่นกันว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลส่วนใหญ่มาจากความเร็วที่ขับจริง ๆ ซึ่งบางกรณีพุ่งสูงถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อมีการขับขี่ยวดยานบนทางด่วนด้วยความเร็วในระดับนี้ หากเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ความเสียหายรุนแรงกว่าการขับขี่ด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงค่อนข้างมาก ซึ่งในส่วนของทางโรงพยาบาลรามาธิบดีเองก็ได้ตอบรับมาตรการนี้เช่นเดียวกัน เพราะมองว่าต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรในรถพยาบาล และผู้ป่วยมาเป็นอันดับแรก

ปัญหาไม่ใช่ความเร็ว แต่เป็นบริบทรอบข้าง

สำหรับคำถามหรือความสงสัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า การลดความเร็วจะยิ่งเป็นการลดทอนประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยหรือไม่ เพราะเป้าหมายในการรับ-ส่งผู้ป่วยทุกครั้งน่าจะเป็นการพาผู้ป่วยไปให้ถึงโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อการรักษาและอุปกรณ์ที่ครบถ้วนกว่าการทำหัตถการบนรถพยาบาล

ศ.นพ.ปิยะมิตรได้ฉายภาพให้ฟังว่า ปัญหาที่แท้จริงของการรับ-ส่งผู้ป่วยไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถพยาบาล แต่เกิดจากปัจจัยรอบข้างอย่างการจราจรที่ติดขัด และการที่ผู้ใช้ถนนไม่หลบหลีกเส้นทาง ซึ่งหลายครั้งเกิดอุบัติเหตุ และหลายครั้งมีผู้เสียชีวิตจากกรณีดังกล่าว

“จริง ๆ แล้วปัญหาใหญ่ของรถพยาบาลที่ไปถึงที่รักษาช้าไม่ได้มาจากความเร็วที่จะถูกลดลงมาจาก 100 เหลือ 80 ส่วนใหญ่มาจากการจราจรที่ติดขัด และการไม่ให้ทางของคนใช้ถนน จริง ๆ การลดความเร็วลง เช่น จาก 120 ลงมาเหลือ 80 มันกลับจะทำให้ปลอดภัยมากกว่า เพราะถ้าเราไปย้อนดูสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลมีสูงมาก ความเร็วที่แตกต่างกันระหว่าง 80 กับ 120 ผมไม่คิดว่ามีมากขนาดนั้น ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญกว่าไม่ใช่กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่รวมถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่เป็นคนดี ๆ ที่กำลังไปช่วยชีวิตคนด้วย”

คุณหมอยังชี้ให้เห็นอีกว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งก็คือ การจัดสรรแบ่งเวรการขับขี่ของคนขับรถ เพราะหลายครั้งที่อุบัติเหตุเกิดจากความอ่อนล้าของบุคลากรที่เป็นพนักงานขับรถเอง ฉะนั้น ต้องมีการตรวจสอบตรงนี้ให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนว่า คนที่มาทำหน้าที่ได้รับการพักผ่อนมาเพียงพอแล้วหรือไม่ หรืออาจจะมีการเพิ่มจำนวนคนขับสลับกะกันระหว่างทางเมื่อต้องมีการขนส่งผู้ป่วยในระยะทางไกล ตรงนี้สอดคล้องกับผลการสำรวจของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯในปี 2562 ที่ว่า คนขับรถพยาบาลส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และมีพฤติกรรมการดื่มสุราเป็นประจำถึงร้อยละ 33.2 และนอนหลับน้อยกว่าหกชั่วโมงต่อวันร้อยละ 10.1

ศ.นพ.ปิยะมิตรบอกด้วยว่า หลังจากมีมติของ สธ.ในเรื่องนี้ออกมา และมีเสียงสะท้อนจากประชาชนทั่วไปแล้ว ตอนนี้มีการเพิ่มตัวช่วยอย่างการตีเส้น “เลนสีแดง” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่รถพยาบาลยิ่งขึ้น เลนสีแดงที่ว่าจะเป็นเลนกลางในช่องทางการจราจรเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถหลบรถไปยังสองข้างทางได้ เพราะหลายครั้งเมื่อมีการส่งสัญญาณขอทางจากรถพยาบาล รถคันอื่นไม่สามารถเบี่ยงออกได้อย่างสะดวก ถนนบางแห่งสามารถเบี่ยงออกได้แค่ทางเดียว หรือมีพื้นผิวการจราจรที่แคบจนเกินไป มาตรการนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี


ต้องพิจารณาแบบ Case by Case?

จากที่ได้ให้ข้อมูลไปตอนต้นว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากรถพยาบาลส่วนใหญ่เกิดขึ้น ณ โรงพยาบาลต่างจังหวัดมากกว่าโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะระยะทางจากโรงพยาบาลถึงเขตชุมชนที่ค่อนข้างไกลกัน นี่จึงเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่หลายฝ่ายออกมาท้วงติงว่า สธ.ควรจะพิจารณาเฉพาะกรณีดีกว่าหรือไม่ เพราะระยะเวลาโดยทั่วไปที่รถพยาบาลต้องขนส่งผู้ป่วย หรือที่เรียกว่า “response time” จะอยู่ที่ 8 นาทีโดยประมาณ หรืออย่างช้าที่สุดที่ 10-15 นาที ผู้ป่วยต้องถูกนำส่งถึงโรงพยาบาล มาตรการจำกัดความเร็วและห้ามฝ่าไฟแดงทุกกรณีจึงอาจจะไม่เหมาะสมกับทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเขตพื้นที่ต่างจังหวัดที่บางพื้นที่มีระยะทางขนส่งกว่า 60-70 กิโลเมตร

นอกจากจะมีผลเสียด้านกายภาพแล้ว เจ้าหน้าที่บางท่านยังออกมาให้ข้อมูลด้วยว่า การจำกัดความเร็ว บวกกับปัญหาการจราจรที่ติดขัด อาจจะทำให้ผู้ป่วยหนักเจ็บหนักขึ้น หรือเสียชีวิตกะทันหันได้ นำมาซึ่งบาดแผลทางจิตใจของทีมแพทย์พยาบาลที่ไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที หรือหากในกรณีที่ญาติเกิดข้อสงสัยจนมีเหตุแห่งการฟ้องร้องทีมแพทย์พยาบาลขึ้น ตรงนี้จะมีมาตรการรองรับอย่างไรได้บ้าง

แม้จะมีข้อท้วงติงมากมายสักเพียงใด แต่ทาง สธ.ก็ได้เคาะมติมาตรการที่ว่าออกมาบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความปลอดภัยคือเรื่องสำคัญที่หน่วยงานแพทย์ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก แต่การจะบังคับใช้ข้อบังคับใด ๆ ก็ตามสิ่งที่ควรจะมีการพิจารณาร่วมด้วยอย่างยิ่งก็คือ บริบทแวดล้อมของสถานที่นั้น ๆ เป็นสำคัญ ในกรณีนี้ก็คงต้องมองแยกทั้งข้อดีและข้อเสีย ชั่งน้ำหนักทั้งสองทางให้ดีว่าแบบไหนจะตอบโจทย์ทั้งบุคลากรและคนไข้ได้มากที่สุด