ทีม “เลือดข้น คนจาง” เผยรหัสการเล่าเรื่องสร้างละครสุดปัง ต่อยอดสู่นิยาย ให้มุมมองใหม่เข้าใจตัวละครมากขึ้น

“เลือดข้น คนจาง” เป็นละครที่สร้างปรากฏการณ์ละครยอดนิยมแห่งปี และเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาละครไทยอย่างไม่มีข้อกังขา ทั้งความสร้างสรรค์และความซับซ้อนของบทละคร คุณภาพการแสดงของนักแสดงทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก รายละเอียดและความสมจริง ซึ่งการันตีคุณภาพด้วยกระแสความนิยม เรตติ้ง และรางวัลจากเวทีมอบรางวัลต่าง ๆ

จากความน่าสนใจและความสร้างสรรค์ของบทละครเรื่องนี้ ทางสำนักพิมพ์มติชนจึงมีโปรเจ็กต์นำบทละครมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ “เลือดข้น คนจาง” โดยมีฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ หัวหน้าทีมเขียนบทละครเป็นผู้ดัดแปลงบทละครเป็นนวนิยายเล่มใหม่ ซึ่งได้เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้

ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักพิมพ์มติชนได้จัดกิจกรรมทอล์ก “Storyteller ถอดรหัสเรื่องเล่าของนักเล่าเรื่อง” โดยมี ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับ “เลือดข้น คนจาง” ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ หัวหน้าทีมเขียนบทละคร และผู้เขียนหนังสือ “เลือดข้น คนจาง” แท่ง-ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง นักแสดงผู้รับบท “เมธ” นาน่า-ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์ นักแสดงผู้รับบท “เหม่เหม” และจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนซีไรต์ ปี 2560 ร่วมพูดคุย ณ Open House Bookshop by Hardcover ชั้น 6 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

ทีม “เลือดข้น คนจาง” กับผู้บริหาร-ทีมงานมติชน และนักเขียนซีไรต์ร่วมเวทีทอล์ก

 

เริ่มต้นจากโปรเจ็กต์ปั้นเด็กวัยรุ่น สู่ละครครอบครัวจีนขนาดใหญ่

ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับการแสดงและทีมเขียนบทบอกเล่าความเป็นมาของละคร “เลือดข้น คนจาง” ว่า เป็นโปรเจ็กต์ร่วมกับค่าย 4Nologue ที่ทำบิ๊วท์นักแสดงวัยรุ่นกลุ่ม 9×9 (ไนน์บายไนน์) ให้เป็นที่รู้จัก แต่ไม่อยากทำซีรีส์วัยรุ่น พยายามหาสิ่งท้าทายที่เป็นงานทีวีจริง ๆ ก็คือ “ละคร” ที่ออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์ จึงไปขอผู้บริหารช่อง One เมื่อได้เวลามาแล้วเขาและทีมงานได้ศึกษาทำการบ้านว่าคนดูละครช่วงไพรม์ไทม์เป็นผู้ใหญ่ และได้ศึกษาละครของแต่ละช่องว่ามีองค์ประกอบอะไรที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

ส่วนเหตุผลที่ทำเรื่องครอบครัวคนจีน ผู้กำกับคนดังอธิบายว่า เริ่มจากโจทย์ที่กลุ่มคนดูเป็นผู้ใหญ่ การทำเรื่องวัยรุ่นไม่น่าจะดึงดูดความสนใจของผู้ใหญ่ได้ จึงต้องทำเรื่องที่โตขึ้น แต่ก็ไม่อยากโฟกัสเฉพาะช่วงวัยใดวัยหนึ่ง อยากทำละครที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย จึงเลือกทำเรื่องครอบครัว ซึ่งโดยส่วนตัวเขาเองเป็นคนอินกับเรื่องครอบครัวอยู่แล้ว และด้วยความที่ที่บ้านเป็นครอบครัวคนจีน เขามีประสบการณ์ในวัยเด็กที่อยากเอามาพูดมาแชร์ลงในละครเรื่องนี้ จึงสรุปออกมาเป็นการทำเรื่องครอบครัวคนจีน

 

กว่าจะเป็นบทละครเรื่องเยี่ยม

เมื่อได้ข้อสรุปว่าจะทำละครอบครัวคนจีนขนาดใหญ่ที่มีตัวละคร 3 เจเนอเรชั่น ย้ง-ทรงยศได้ไปชวน ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ มาเป็นหัวหน้าทีมเขียนบท เพราะเรื่องนี้ต้องการผู้มีประสบการณ์และวัยวุฒิ

ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ หัวหน้าทีมเขียนบทและผู้เขียนหนังสือ “เลือดข้น คนจาง” เล่าเบื้องหลังการสร้างสรรค์บทละครว่า ทีมงานเขียนบททุกคนที่มีความเกี่ยวพันกับครอบครัวจีนนำประสบการณ์มาแชร์กัน และทำการบ้านเยอะมาก ถึงขนาดขอนัดสัมภาษณ์พูดคุยกับครอบครัวจีนหลายครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจกงสี ซึ่งผลที่พบก็ออกมาคล้ายกันคือ มีเรื่องความรู้สึก “ไม่เป็นธรรม” ที่คนรุ่นลูกรู้สึกต่อขนบความเป็นลูกผู้ชายกับลูกผู้หญิง ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของบทละครเรื่องนี้

ผู้กำกับย้งเล่าต่อว่า การทำบทไมได้เริ่มจากการมีพล็อตเรื่องหรือมีตัวละครชัด ๆ แต่เป็นการคลำไปเรื่อย ๆ จากจุดเริ่มต้นที่อยากทำเรื่องครอบครัว และมีคำถามว่าทำไมคนในครอบครัวซึ่งควรจะรักกัน แต่กลับทำร้ายกันเอง จากจุดเริ่มต้นที่ว่านี้ ทีมงานก็ยังไม่รู้ว่าจะเล่าเรื่องอะไรก็เลยมาแชร์ประสบการณ์ในครอบครัวตัวเอง เพราะคิดว่า “ก่อนที่จะเล่าเรื่องอะไร เราต้องเข้าใจ เราไม่อยากเล่าเรื่องที่พล็อตสนุกแต่เราไม่ได้เข้าใจตัวละคร ไม่ได้เข้าใจมนุษย์ หรือที่มาที่ไปในการตัดสินใจทำแบบนั้น เราอยากลงไปหาคำตอบให้กับตัวละครในเรื่องของเราว่าอะไรมันนำพาให้คนในครอบครัวเดียวกันไปถึงจุดที่ทำร้ายกันได้”

 

นักแสดงคือคนสำคัญในการพัฒนาบท

แท่ง-ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง นักแสดงผู้รับบท “กู๋เมธ” ตัวละครที่สำคัญที่สุดของเรื่อง เล่าว่า ตอนที่ได้อ่านบทคิดว่าบทจะยากแค่ฉากที่ยิงพี่ชาย แต่กลับไม่ใช่อย่างที่คิด ในความเป็นจริงคือบทยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้กำกับและทีมเขียนบทเขียนบทไม่จบ มีการสังเกตตลอดการถ่ายทำว่าตัวละครแสดงความรู้สึกแบบไหน เมื่อตัวละครแสดงความรู้สึกไปไกลกว่าที่บทเขียนไว้ ทีมเขียนบทก็แก้และพัฒนาบทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“การถ่ายทำฉากแรกของผม เขาให้ไปยิงพี่กบเลย ผมก็ตกใจ แล้วกลายเป็นฉากที่รางวัลประกวดต่าง ๆ ให้คะแนนฉากนี้ ผมเล่นยิงพี่กบแล้วร้องไห้ฟูมฟายอยู่ประมาณ 7 ชั่วโมง เราก็คิดว่าเต็มที่เลยเพราะมันคือฉากยากฉากเดียว ที่เหลือสบายแล้ว”

ฝั่งย้ง-ทรงยศ ผู้กำกับของเรื่องอธิบายว่า ตอนที่ทีมงานวางเบรกดาวน์ว่าจะถ่ายซีนนี้ก่อน ตัวเขาเองในฐานะผู้กำกับได้ค้านแล้วว่าไม่ควรถ่ายซีนที่ยากขนาดนี้ก่อน ซึ่งโดยปกติแล้วทีมงานจะเชื่อผู้กำกับ แต่เคสนี้เป็นครั้งแรกที่ทีมงานทุกคนค้านผู้กำกับ โดยให้เหตุผลว่า อยากถ่ายซีนนี้ก่อนเพราะว่าเรื่องราวในละครมันเป็นเหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากที่ประเสริฐโดนยิง ดังนั้นทั้งทีมงานและตัวละครต้องเห็นฉากนี้ก่อนว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นด้วยอารมณ์แบบไหน เมธอยู่ในความรู้สึกความเศร้าแบบไหน ด้วยเหตุผลที่ทีมงานอธิบาย ผู้กำกับถึงได้เข้าใจและยอมให้ถ่ายซีนนี้ก่อน

ส่วนประเด็นการปรับแก้บทตลอดเวลา ย้งบอกว่า หลายครั้งเป็นการปรับแก้ตามสถานการณ์หรือตามสถานที่ซึ่งมีผลต่อความสมเหตุสมผลของเรื่อง

“ระหว่างทางที่เราทำไปเรื่อย ๆ เราก็ค้นพบว่าเรื่องราวในครอบครัวจิระอนันต์มันซับซ้อนมาก เหตุการณ์ในอดีตเราควรทำเป็นภาพในการเล่าทั้งหมด อย่าเป็นแค่การพูดเล่าเรื่อง เพราะคนดูอาจจะไม่เข้าใจอารมณ์หรือไม่อินกับเรื่อง อย่างเหตุการณ์ที่เมธคุยกับอี้ก่อนที่จะไปถึงท่าเรือ ในบทมันมีหลายอันที่ไม่ถูกเล่าเป็นภาพ แต่พอถ่ายแล้วผมรู้สึกว่า ถ้าไม่ให้คนดูเห็นภาพมันไม่พอ ก็เลยมีการเขียนแทรกไปเรื่อย ๆ แทรกแฟลชแบ็กเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ครบ เพราะเรากลัวว่าสารที่เราจะส่งไปถึงคนดูมันจะไปไม่ถึง”

หลายครั้งเป็นการปรับแก้บทไปตามการแสดงของนักแสดงจากที่เห็นว่าอารมณ์ของนักแสดงออกมาประมาณนี้แล้ว บทที่เขียนไว้น่าจะไม่พอก็ต้องปรับแก้ให้ระดับอารมณ์มันเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก

“พี่แท่งเล่นแล้วพาตัวละครไปไกลกว่าที่เราคิด เราก็จะแก้บทตามพี่แท่ง นักแสดงผู้ใหญ่ให้สิ่งนี้กับเราเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพี่แท่ง พี่แหม่ม พี่อุ๋ม ครูเล็ก เจี๊ยบ เขาให้สิ่งเหล่านี้กับเราจนเรารู้สึกว่าเราต้องแก้บทตามสิ่งที่เขาแสดงเพิ่มมากขึ้น หลายครั้งที่พี่แท่งเล่นมันเกินไปแล้ว ตอนเราเขียนเป็นตัวหนังสือมันไม่รุนแรงขนาดนี้ แต่เวลาเล่นมันรุนแรงมาก เราก็รู้สึกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันเบาไม่ได้ ก็ต้องไปแก้สิ่งที่ตามมา หรือบางทีบางซีนที่เราเขียนไป เรารู้สึกว่ามันน่าจะรุนแรงมาก แต่กลายเป็นว่าจริง ๆ แล้วมันเบา มันไม่ convince เราก็ต้องไปเติมสิ่งที่ตามมา เรื่องอารมณ์ตัวละคร”

นอกจากนั้นยังมีการปล่อยให้นักแสดงเขียนบทเองด้วย

ความสนุกของเรื่องนี้คือมันไม่มีความกลัวใด ๆ เลยในการจะปล่อยให้ละครหรือตัวละครมันมีชีวิตเพิ่มขึ้นในการถ่ายทำ ยกตัวอย่างนักแสดงที่ผมพึ่งมันบ่อย ๆ ในการปรับแก้บทหลัก ๆ เลยก็คืออี้ (ต่อ-ธนภพ) และพีท (เจเจ-กฤษณภูมิ) และเวกัส (เจมส์-ธีรดนย์) ด้วยความที่น้องมันมีประสบการณ์การแสดงเยอะ จำได้ว่ามีช่วงหนึ่งที่ประมาณ 10 คิวสุดท้าย มันมีคอมเมนต์จากห้องตัดต่อว่า รู้สึกว่ากระดูกหลักของการเล่าเรื่องนี้คือพีทกับอี้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพีทกับอี้ในตอนเริ่มต้นทำไมมันไม่เยอะ มันปูมานิดหนึ่งว่าเป็นพี่น้องที่สนิทกัน แต่เราไม่เห็นมันปฏิสัมพันธ์กันในปัจจุบันเลย ผมมานั่งเปิดบทดู ก็จริงว่ะ เราตกหล่นการเล่าคู่ความสัมพันธ์นี้ไป ก็เพิ่มบทเลย แทรกจังหวะที่เปิดพินัยกรรมมาแล้วภัสสรไม่ได้ ซึ่งเราไม่เห็นว่าท่าทีของอี้กับพีทที่มีต่อกันเป็นยังไง ถ้าเขาเป็นพี่น้องที่สนิทกันเขาน่าจะคุยอะไรกันหน่อย ก็เลยเพิ่มอีกหนึ่งซีน ผมคิดโครงในหัวคร่าว ๆ แต่ไม่มีเวลาเขียนบท ก็บรีฟกันสามคนแล้วปล่อยให้น้องสองคนเขียนบทกันในรถตู้ พอกำกับเสร็จสองสามซีนผมก็ขึ้นมาอ่านบท แล้วถามว่านี่คิดอะไรทำไมถึงพูดประโยคแบบนี้ แล้วก็ช่วยน้องตบ ๆ จริง ๆ ไดอะล็อกมันมาจากเขาหมดเลย แต่มันมาทำได้ตอนที่ถ่ายไปหลายซีนแล้ว เพราะว่าทั้งสองคนมันเข้าใจตัวละครแล้ว มันก็เลยอิน”

 

เรียกร้องความยุติธรรม “เหม่เหม” คือผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่ #นังงูพิษ

ในขณะที่ละครออกอากาศมาถึงช่วงกลาง ๆ เรื่อง กระแสหนึ่งที่มาแรงมากรองลงมาจาก #ใครฆ่าประเสริฐ ก็คือ #เหม่เหมนังงูพิษ ที่คนดูเกลียดบทน้องเหม่เหมจนอยากตามตบ แต่ในฝั่งทีมงานทุกคนบนเวทีเห็นตรงข้ามกับคนดู และ defend แทนตัวละครเหม่เหม

เริ่มจากแท่ง-ศักดิ์สิทธิ์ผู้รับบทพ่อของเหม่เหม เป็นผู้เปิดประเด็นนี้ว่า “ผมงงกับปฏิกิริยาของคนดูที่จะตามตบเหม่เหม เพราะในมุมของเรา เรามองว่าคนดูน่าจะชอบเด็กคนนี้ที่เป็นคนรักพ่อ ทำทุกอย่างเพื่อพ่อ แต่ผลกลับเป็นตรงกันข้าม ซึ่งผมก็งงคนดูมากเลยว่าคนดูไปเชียร์เต้ยได้ยังไง เขาเอากล้องมาแอบดูลูกสาวผมแก้ผ้า ผมงงมาก”

ส่วนฤทัยวรรณ หัวหน้าทีมเขียนบทอธิบายเสริมว่า ฟังก์ชั่นของเหม่เหมคือ “เป็นแม่ของพ่อที่พัง” คอยดูแลพ่อ เขารักพ่อมาก อะไรที่เขาทำเพื่อปกป้องพ่อได้ เขาจะทำ เขาไม่คิดมากไปกว่านั้น แต่ขณะเดียวกัน คนดูอินไปกับความหล่อของเต้ย จึงทำให้เกิดกระแสว่าเหม่เหมเป็นนังงูพิษ

ตรงกันกับผู้กำกับย้ง-ทรงยศที่บอกว่า “ผมก็เห็นด้วยครับ ตอนนั้นพยายามจะเถียงแทนเหม่เหม ถูกแล้วที่เหม่เหมโบ้ยไปที่เต้ย คือกูไม่ได้เรียกมึงเข้ามาในห้องนอนกูนะ มึงปีนเข้ามาเอง กูจะเอาปืนไปทิ้ง ด้วยเจตนาที่ไม่ดีของเต้ยที่จะมาเปลี่ยนถ่านส่องกล้องเขาต่อ จนกระทั่งมาเจอเขาอยู่กับปืนก็กลายเป็นว่าเขาทำอะไรไม่ได้ เขาก็เลยต้องส่งต่อปืนนี้ให้มัน คนดูลืมจุดนี้ไปหมดเลยว่าคนที่พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากนั้นคือตัวเต้ยเอง ไม่ใช่เหม่เหมที่ทำให้เขาเจอสิ่งนั้น เต้ยมันสมควรโดนครับ”

“เหม่เหมเป็นตัวละครที่น่าสงสารที่สุด เพราะเป็นตัวละครที่ถูกกระทำ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาคือพ่อไม่เล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟัง ชีวิตเขามีแต่พ่อและพ่อในวันนี้ก็ passive มาก ๆ จนลูกสาวต้องขึ้นมาเป็นผู้นำ พอวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ไม่ได้รับคำอธิบายจากพ่อว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าเขารักพ่อ ปล่อยให้พ่อไปเข้าคุกไม่ได้ มันจะช่วยพ่อปกปิด ไอ้เต้ยก็เข้ามาส่องกล้องมองมัน แล้วมาเอาปืนไปทิ้งให้ มันเป็นตัวละครที่ถูกกระทำตลอด”

“จำได้ว่าตอนที่ผมจะถ่ายฉากที่จะต้องแฟลชแบ็กเหตุการณ์วันเกิดฆาตกรรมว่าพอกู๋เมธยิงประเสริฐแล้วกลับมาที่บ้าน เหม่เหมมันช่วยพ่อยังไง มีหลายครั้งมากที่ทีมงานถามว่า มันจำเป็นต้องมีฉากนี้ไหม เพราะว่าเรื่องราวถูกเฉลยไปแล้ว เหตุการณ์นี้มันดูเป็นส่วนเกินของเรื่อง แต่ผมบอกว่าไม่มีไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีเราจะไม่เข้าใจเหม่เหมว่ามันรู้สึกอะไร ทำไมมันต้องทำเหตุการณ์เหล่านั้น แล้วมันช่วยพ่อได้ในระดับไหน มันเลยมีเหตุการณ์ตอนที่เหม่เหมขึ้นไปสารภาพต่อศาล แล้วมีแฟลชแบ็กช่วงนั้น ก็จะเห็นเลยว่ามันทำไปเพราะรักพ่อ แต่ในความรักพ่อนั้นมันมีความกลัวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ด้วย” ผู้กำกับของเรื่องแสดงความเห็นซึ่งน่าจะเป็นการชวนคนดูปรับมุมมองที่มีต่อตัวละครเหม่เหม

ขณะที่นาน่า-ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์ นักแสดงวัยรุ่นที่รับบทเหม่เหมบอกว่า “มองตัวละครเหม่เหมแล้วรู้สึกสงสารมาก เพราะว่าไม่มีใคร ไม่มีแม่ อยู่กับพ่อสองคน ตอนแรกตอนที่หนูอ่านบทแคสติ้ง หนูก็รู้สึกว่าทำไมเขาร้ายขนาดนี้ เด็กอะไรทำไมเขาคิดขนาดนี้ แต่ว่าพอมาเข้าใจจริง ๆ แล้วเขารักพ่อเขามาก เขาอยู่กับพ่อสองคน เขาดูแลพ่อตลอด และเขารู้สึกว่าชีวิตนี้เขามีแต่พ่อ แม่ก็ทิ้งเขาไปแล้ว เขาก็ไม่อยากให้พ่อเขาไปไหน”

ส่วนจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรางวัลซีไรต์เสริมว่า “เรื่องนี้มีเรื่องความเป็นผู้หญิงสูง ทั้งบทของภัสสร และเหม่เหม อย่างบทผู้ชายมีปัญหาก็ทะเลาะกันต่อยกันได้ แต่เหม่เหมเป็นผู้หญิงและเป็นเด็ก เป็น 2 adjective ของ minority แล้วคุณจะแสดงออกทางอำนาจด้วยวิธีไหน คือสังคมโดยเฉพาะสังคมจีนที่ผู้ชายเป็นใหญ่มันผลักดันให้ผู้หญิงแสดงอำนาจด้วยความเป็นอีงูพิษเท่านั้น”

 

ชิงเฉลยแล้วสร้างคำถามใหม่ ก่อนคนดูรู้ทันแล้วหมดสนุก

ละคร “เลือดข้น คนจาง” เป็นละครที่บทต่างจากบทละครและนวนิยายแบบเดิมที่เคยมีมาตรงที่ไม่รอเฉลยในตอนจบ แต่เฉลยตั้งแต่กลางเรื่อง แล้วปล่อยให้คนดูมีคำถามใหม่ตามมาจากคำเฉลยนั้น

ย้งอธิบายเหตุผลที่ไม่เก็บคำตอบไว้ตอนจบว่า ทีมงานของเขาเคยทำเรื่องแบบนี้ในเรื่อง I Love You, I Hate You ที่สร้างกระแส #ใครฆ่านานะ แล้วเฉลยตอนสุดท้าย ถ้าจะเก็บไว้เฉลยตอนท้ายเหมือนเดิมก็เลยกลัวว่าคนดูจะจับทางได้และคนดูจะไม่สนุก

“เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่คนดูดูไปสักพักแล้วจะคาดเดาไม่ได้ว่าตัวละครตัวไหนจะมีโอกาสเป็นคนกระทำสิ่งนั้น เราเลยคิดว่าถ้าจะรอให้คนดูดูไปจนถึงช่วงท้าย ๆ มันจะกลายเป็นว่าคนดูนำหน้าละครไปก่อน ถ้าเป็นอย่างนั้นคนดูจะเริ่มไม่สนุก ก็เลยคิดว่าจะถึงจุดไหนที่คนดูจะเริ่มมองเห็นภาพตัวละครที่เป็นคนกระทำ เราต้องรีบเฉลยก่อน ก็เลยคิดว่าแถวกลาง ๆ เรื่องนี่แหละ พอเจอเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ของเต้ยกับเหม่เหมที่มาเบี่ยงเบนประเด็นของเรื่อง เราก็อาศัยจังหวะนั้นเฉลยตัวละครไปเลย”

สำหรับเทคนิคการเขียนบทแบบชิงเฉลยกลางทางแบบนี้แล้วจะต้องทำอย่างไรให้คนดู-คนอ่านยังสนใจเรื่องต่อไป จิดานันท์ นักเขียนซีไรต์แสดงความเห็นในมุมของคนทำงานวรรณกรรมว่า การที่เฉลยแล้วยังทำให้คนอ่านสนใจอยู่จะต้องไม่ใช่การเฉลยจนหมด เหมือนที่ละครเรื่องนี้ทำและประสบความสำเร็จนั่นเอง

“เหมือนในละครที่ไม่ได้บอกว่ากูเมธฆ่าเพราะอะไร เฉลยออกมาแค่ตัวละคร แต่คนดูคนอ่านก็ยังต้องดูต่อเพราะว่ายังได้จิ๊กซอว์ไม่ครบ ยังอยากรู้ว่าเขาทำเพราะอะไร ยังจะต้องมีอะไรบางอย่างที่ปิดเอาไว้อยู่ แล้วหลังจากนั้นจะมีช่วงที่เอาเรื่องลง ทั้งหนังสือและละครมันจะไม่ได้จบที่ตรงจุดพีกแล้วค้างไว้ มันจะต้องมีจุดเอาเรื่องลง อย่างใน ‘เลือดข้น คนจาง’ ก็คือจะทำยังไงให้ครอบครัวที่แตกสลายแล้วมันไปได้อีกครั้ง มันอาจจะไม่ได้ไปในลักษณะที่สวยงามสมบูรณ์เหมือนเดิม มันอาจจะไปในลักษณะที่บิ่นไปแล้ว แต่มันก็ยังไปต่อได้”

 

จากละครยอดนิยมพัฒนาเกิดเป็น “ชีวิตใหม่” ในนวนิยาย

สำหรับการดัดแปลงบทละครมาเป็นหนังสือนวนิยาย ย้งบอกว่า ตอนที่สำนักพิมพ์มติชนมาคุยกับเราว่าอยากทำหนังสือ ผมคิดอย่างเดียวเลยว่า ‘เลือดข้น คนจาง’ มันกำลังจะมีชีวิตเป็นนวนิยายขึ้นมา และผมอยากให้มันมีชีวิตต่อไปแบบนี้”

ด้วยความที่ไม่รู้ว่าจะมีคนเข้าใจตัวละครลึกซึ้งขนาดไหน ย้งจึงฝากงานดัดแปลงบทละครเป็นนวนิยายไว้ที่ฤทัยวรรณ หัวหน้าทีมเขียนบทอีกครั้ง เพราะเป็นคนที่อยู่กับบทละครนี้มาตั้งแต่แรก โดยที่ตัวเขาไม่ได้เข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ ดังนั้นจึงเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะมีมุมมองต่อการทำความเข้าใจตัวละครหรือเข้าใจมนุษย์ในอีกแบบหนึ่งน่าจะเป็นหนังสือที่ให้มุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับตัวละคร

ด้านฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ บอกว่า การทำงานเขียนบทกับเขียนหนังสือต่างกันตรงที่วิธีการ แต่การอยู่กับตัวละครทั้งสองงานเหมือนกัน ส่วนการปรับเปลี่ยน ไม่ได้อยากเปลี่ยนเหตุการณ์เรื่องราว มีเพียงความลังเลสองจิตสองใจว่าจะเปลี่ยนบทสนทนาหรือจะเอาแบบเดิมในละคร ซึ่งก็มีทั้งที่เปลี่ยนและที่คงเดิม และมีการเลือกว่าจะเก็บอะไรไว้ จะเก็บอะไรออก ซึ่งสิ่งที่ตัดออกคือ action ของตัวละคร แต่สิ่งที่ในหนังสือมีเพิ่มขึ้นมาจากที่ไม่มีในละครก็คือพาร์ตความรู้สึก การที่ตัวละครพูดอย่างหนึ่งแต่คิดอีกอย่างหนึ่ง ส่วนการเล่าเรื่องเป็นการเล่าผ่านตัวละครทีละคนไม่ซ้ำกัน

“การทำงานย้อนศรเนี่ย วิธีที่ง่ายก็คือเก็บทุกอย่างไว้ แต่พี่อยากลองทำแบบยาก ถ้าเป็นหนังมันจะถามว่าหนังเรื่องนี้เล่าจากมุมมองของใคร คนดูจะเกาะไปกับตัวละครไหน แต่เรื่องนี้ตัวละครเยอะมาก เราอยากทดลองเกาะไปกับตัวละครทีละ ตัวโดยเรียงไทม์ไลน์เดิมของเรื่อง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่ตัวละครทุกตัวจะอยู่ในเหตุการณ์นั้นตลอด แต่มันมีสาระในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวละครคนนั้นที่ไม่ได้อยู่ในฉาก อย่างการตัดสินใจของภัสสรที่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน แล้วภัสสรรู้สึกยังไงต่อการที่ครอบครัวเดือดร้อน อันนั้นเป็นหนึ่งสิ่งที่พี่เลือกจะเก็บ ส่วนที่เลือกจะทิ้งคืออะไรที่มันเป็น action อย่างพี่น้องต่อยกันในห้องเก็บของ พี่เลือกโฟกัสไปที่ความรู้สึกของตัวละคร ซึ่งเป็นตัวละครที่รู้สึกอย่างหนึ่งแล้วก็พูดอีกอย่างหนึ่ง พี่สนใจสิ่งนี้มาก ในฐานะที่พี่ก็อายุเยอะขึ้นและเป็นสัตว์สังคม หลายครั้งที่เราอยากจะพูดว่าไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ เราก็พูดว่า ค่ะ ถ้าใครได้อ่านจะเห็นว่าพี่ใช้เทคนิคแบบนี้ อย่าง อาม่าเป็นคนอยู่ในขนบเก่า ถึงอาม่าจะไม่ชอบสะใภ้ อาม่าก็จะไม่พูดว่า อั๊วไม่ชอบลื๊อ ออกไปเดี๋ยวนี้ อาม่าก็จะต้องเล่นละครแม่ผัวดี ๆ ไป”

ฤทัยวรรณบอกอีกว่า ในหนังสือ เธอต้องให้ความเป็นธรรมกับตัวละคร เพราะอยากให้คนอ่านเข้าใจตัวละครมากขึ้น ก็เลยเลือกใช้เทคนิคแบบนี้และโฟกัสที่ความรู้สึกตัวละคร “ก็ไม่รู้ว่ามันเวิร์กหรือเปล่า อย่างตอนเหม่เหม ถ้าใครได้อ่านก็อาจจะรักเหม่เหมมากขึ้นไหมจากเดิมที่รักแต่ไอ้เต้ย”

ด้านจิดานันท์ ในมุมของคนวงการหนังสือแสดงความเห็นต่อการนำบทละครมาทำหนังสือว่า เมื่อก่อนบทประพันธ์ที่เป็นนิยายจะมาก่อนแล้วทีมทำละครมาซื้อไปทำ แต่ตอนนี้กลับกัน เป็นการทำละครก่อนแล้วเอาบทละครมาทำเป็นหนังสือ ซึ่งตัวเธอเองก็เคยเอาบทหนัง “ฉลาดเกมส์โกง” มาทำเป็นหนังสือเช่นกัน เธอคิดว่าการทำงานลักษณะนี้เป็นมุมมองใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งน่าจะดีต่อวงการหนังสือ เพราะวงการหนังสือซบเซาอยู่ การมีกระแสจากฝั่งละครมาช่วยน่าจะเป็นการส่งเสริมกระตุ้นยอดขายหนังสือได้อีกทางหนึ่ง