อัญรัตน์ พรประกฤต ซีอีโออันลิมิต แห่ง JUBILEE ทายาทที่ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย KPI

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ยูบิลลี่ ไดมอนด์ (Jubilee Diamond) ผู้นำธุรกิจเพชรพันล้านเพิ่งฉลองครบรอบ 90 ปี ไปอย่างยิ่งใหญ่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประวัติศาสตร์ 90 ปีของยูบิลลี่ เริ่มนับมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเปิดร้านขายเพชรที่ย่านสะพานเหล็ก และตกทอดสู่ทายาทรุ่นต่อมา ก่อนที่รุ่นที่ 3 จะแยกออกมาตั้งชื่อใหม่เป็น บริษัท ยูบิลลี่ เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด สร้างแบรนด์ Jubilee Diamond เมื่อปี พ.ศ. 2536

นับจากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันเป็นการสืบทอดกิจการมาถึงเจเนอเรชั่นที่ 4 ภายใต้การนำของประธานเจ้าหน้าที่บริหารรุ่นใหม่ อัญ-อัญรัตน์ พรประกฤต ลูกสาวคนโตวัย 39 ปี ของ วิโรจน์ พรประกฤต และ สุวัฒนา ตุลยาพิศิษฐ์ชัย ที่ทำงานหนักและสร้างผลงานพิสูจน์ตัวเองมานาน 17 ปี และเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เธอคนนี้เพิ่งคว้ารางวัล Young Rising Star CEO Award จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งรางวัลการันตีฝีมือการบริหารของเธอ

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยหลากหลายประเด็นกับ อัญรัตน์ พรประกฤต ซีอีโอคนเก่งที่พ่วงคุณสมบัติ “ขยัน ถึก และอดทน” ผู้ที่จะพา ยูบิลลี่ ไดมอนด์ ก้าวสู่ตำนาน 100 ปี ในยุคสมัยแห่งความท้าทาย

ก่อนอื่น อัญรัตน์เล่าประวัติการศึกษาและการทำงานของเธอว่า เธอเรียนจบปริญญาตรีด้านบัญชี จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แล้วทำงานผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีที่บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส 2 ปี จากนั้นระหว่างรอเรียนต่อปริญญาโท เธอเริ่มเข้าทำงานที่ยูบิลลี่ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายต้นทุน แล้วไปเรียนการดูเกรดเพชรควบกับทำงานในบริษัท และเรียนปริญญาโทด้านการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เส้นทางการทำงานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายต้นทุน เธอขยับไปทำหลายส่วนในบริษัท ทั้งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเพชร แล้วไปดูสเปเชียลโปรเจ็กต์บุกเบิกการขายเพชรเม็ด แล้วไปช่วยพ่อทำโปรเจ็กต์นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ พอดีกับช่วงที่เรียนจบปริญญาโทเป็นช่วงที่โปรเจ็กต์เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังจะสำเร็จแล้ว คุณพ่อซึ่งตอนนั้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารจึงได้แต่งตั้งลูกสาวคนเก่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO)

ผลงานต่าง ๆ พิสูจน์ความตั้งใจและศักยภาพของอัญรัตน์ได้เป็นอย่างดี เมื่อ 3-4 ปีก่อน วิโรจน์ พรประกฤต จึงถอยไปเป็นประธานบริษัท และมอบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ให้ลูกสาวดูแลต่อไป

ลูกเจ้าของบริษัทรับตำแหน่งผู้บริหาร อาจจะเป็นเรื่องปกติไม่มีอะไรน่าแปลกใจ เพราะโดยส่วนใหญ่มันถูกวางไว้ให้เป็นอย่างนั้น แต่สำหรับยูบิลลี่ไม่ใช่อย่างนั้น อัญรัตน์บอกว่า การที่ลูกมาบริหารบริษัท เป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในแพลนของพ่อเลย เพราะว่าพ่ออยากให้บริษัทขับเคลื่อนอย่างมืออาชีพ ไม่อยากให้ลูกเข้ามาเกี่ยวเลยด้วยซ้ำ

“คุณพ่อไม่ได้กะให้ลูกเข้ามา เขาวางระบบฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ฝ่ายต่าง ๆ ไว้หมดแล้ว มีเฮดแต่ละทีมอยู่แล้ว ไม่ได้กะให้ลูกเข้ามาเกี่ยว แต่อัญจับพลัดจับผลูเข้ามาเกี่ยวคนแรก น้องชายกับน้องสาวก็เลยตามมา เพราะเห็นว่าทำแล้วมีพัฒนาการที่ดี”

“สไตล์พ่ออัญจะไม่โยนตำแหน่งให้ลูกเลย จะต้องสเต็ปบายสเต็ป คุณพ่ออยากให้รูปแบบธุรกิจเดินไปแบบ professional ไม่อยากให้เป็น family ดังนั้นเราก็พยายามอย่างมากที่สุดให้มันเป็นระบบบริหาร ถึงแม้ว่าจะมีคนในครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทุกคนต้องมี authorization ตามขั้นตอน มีการเลื่อนตำแหน่งตาม performance based ทุกคนมี KPI แม้แต่อัญเอง” อัญรัตน์เล่า

อัญบอกว่าพ่อของเธอเป็นคนละเอียด มีวิสัยทัศน์ มองทุกอย่างเป็นโอกาส แต่คุณพ่อคนเก่งไม่เคยสอนงานลูกตรง ๆ เธอต้องเรียนรู้เอง และต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อไม่ให้ใครครหาได้ว่าไม่คู่ควรกับตำแหน่ง

“คุณพ่อไม่ได้สอนตรง ๆ แต่ให้ทำ ให้เรียนรู้จากประสบการณ์ สิ่งหนึ่งที่อัญได้มาจากท่านคือ การลงรายละเอียดในทุกอย่าง คุณพ่อเป็นคนละเอียดและมองทุกอย่างให้เป็นโอกาส การที่คุณพ่อสอนแบบธรรมชาติ เราก็เลยซึมซับแบบออโตเมติก เราไม่เคยทำงานด้วยความโชคช่วย ทุกอย่างมันต้องมาจากความพยายาม ถึก อึด และอดทน แล้วมันจะได้ผลลัพธ์ ยกตัวอย่าง ตอนอัญเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายต้นทุน คุณแม่บอกตลอดเลยว่า “ทำงานน่ะอย่าให้ใครมาว่านะว่าเป็นลูกเจ้าของแล้วเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” เราก็กลัวมากกับคำนี้ จัดเต็ม ทำเต็มที่”

จากนั้นเราคุยกันลงไปในรายละเอียดการทำงาน เริ่มจากอัญเล่าย้อนไปถึงยุคเริ่มต้นการสร้างชื่อ “ยูบิลลี่” ว่า จากร้านดั้งเดิมของครอบครัวที่สะพานเหล็ก พ่อของเธอตั้งบริษัทใหม่ปี 2536 และเริ่มขยายตอนปี 2537 เนื่องจากเห็นว่าสังคมน่าจะเปลี่ยนไปเยอะ มีการเปิดห้างมากขึ้น หมู่บ้านขยายออกไปชานเมือง จึงเริ่มเข้าไปขายในห้าง เป็นผู้บุกเบิกการขายเพชรแบบเคาน์เตอร์ในห้าง ซึ่งเป็นการสร้างช่องทางใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านั้น

“การเข้าไปบุกเบิกช่องทางนี้ยาก สามปีแรกขาดทุน แต่คุณพ่อมองโลกในทางบวกเสมอ เขาคิดว่า เรามีร้านค้าเดี่ยวเต็มที่เราก็มีลูกค้าหลักร้อย แต่พอขยายช่องทาง ปีแรกเปิดสิบจุด แม้มันขาดทุน แต่ลูกค้าเพิ่มเป็นหลักพัน มันมีโอกาส คุณพ่อก็เลยคิดไปต่อ คุณพ่อเขาไม่ค่อยคิดว่าทำไม่ได้ เขาจะคิดว่าทำได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบยังไงเท่านั้นเอง”

ส่วนความยากที่สุดในยุคที่เธอเข้ามาทำงานคือ การทำให้นักลงทุน-ผู้ถือหุ้น (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) เข้าใจว่า คนที่ซื้อเพชรเป็นใคร ดีมานด์มาจากไหน ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีอนาคตหรือไม่ อย่างไร และอีกอย่างคือ ความท้าทายที่จะทำให้เครื่องประดับเพชรเข้าถึงคนได้มากขึ้น

“จากเดิมที่เพชรจำกัดอยู่เฉพาะคนรวย ๆ เท่านั้น ในอดีตคนคิดว่าถ้าฉันต้องการเพชรสีที่ดีที่สุดมันต้องแพงมากแน่เลย แต่ยูบิลลี่ทำให้เพชรน้ำร้อยที่ขาวที่สุด เจียระไนดีที่สุดอยู่ในเครื่องประดับราคาหลักหมื่นได้ ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

ถามถึงความแตกต่างระหว่างการแข่งขันในอดีตกับปัจจุบัน ผู้บริหารคนเก่งบอกว่า การแข่งขันทุกวันนี้ต่างจากในอดีต ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลเองได้ และผู้ประกอบการก็สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้นด้วยวิธีที่ต่างจากในอดีต ด้วยความที่ดิจิทัลมีบทบาทมากในทุกอุตสาหกรรม การทำการตลาดของธุรกิจเพชรก็ต้องทำทางดิจิทัลด้วย

“แต่เพชรยังเป็นสินค้าที่คนต้องซื้อจากเจ้าที่เชื่อถือได้ ความเชื่อถือได้ของแบรนด์สำคัญมาก แบรนด์ยังต้องสื่อสารให้ข้อมูลเอง เราเป็นผู้รู้ที่ดีสุด เพราะการจะเข้าถึงข้อมูลระดับโลกของธุรกิจนี้ก็ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ทำงานร่วมกับแหล่งเจียระไนโดยตรง”

ด้วยพลังของยุคดิจิทัล ทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวไปได้หลากหลายแนวทาง เมื่อปีที่แล้วยูบิลลี่เป็นเจ้าแรกในโลกที่เปิดตัวเครื่องประดับที่มีนวัตกรรมใหม่เก็บบันทึกความทรงจำไว้ในแหวน เพียงเข้าแอปพลิเคชั่น Jubilee iMOMENT ที่ออกแบบมาคู่กัน แล้วนำโทรศัพท์มือถือส่องไปที่โลโก้ยูบิลลี่บนแหวน ภาพและคลิปวิดีโอที่บันทึกไว้ก็จะขึ้นมาหน้าจอโทรศัพท์

“ความท้าทาย ณ เวลานี้ ไม่ใช่เฉพาะตลาดเพชรนะคะ แต่เป็นในทุกธุรกิจคือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการจะต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนไป”

สำหรับเป้าหมายในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของยูบิลลี่ในการก้าวสู่ 100 ปี อัญรัตน์บอกว่า ในมุมของการบริหารจัดการองค์กรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แน่นอนว่ามุ่งเป้าไปที่การเติบโตทั้งรายได้และกำไร แต่ก่อนจะไปสู่จุดนั้นได้ สิ่งที่ต้องการโฟกัสคือ ต้องการเป็นผู้บุกเบิกในหลากหลายมิติ ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ การสร้างนวัตกรรม สร้างช่องทางการจำหน่ายใหม่ ๆ เพื่อจะเสิร์ฟกลุ่มลูกค้าหลากหลายเซ็กเมนต์กว่าเดิม และกำลังมองเรื่องการขยายไปต่างประเทศ ส่วนภายในองค์กรตั้งเป้าที่การดูแลพนักงานให้มีความมั่นคงในอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างดี

จากพาร์ตการทำงานแล้ว มาคุยเรื่องนอกเหนือเวลางาน ซึ่งก็ยังเกี่ยวโยงกับงานมากอยู่ดี อัญบอกว่าตอนนี้ยังทำงานหนักเหมือนเดิม เรียกว่าโหดกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะตำแหน่งสูงขึ้น ความรับผิดชอบก็เพิ่มมากขึ้น แต่เจ้าตัวก็ไม่หวั่น เพราะสะสมความอึด ความถึกไว้มากแล้ว

“ชั่วโมงทำงานไม่ต้องนับ อันลิมิตค่ะ อัญเป็นคนตื่นเช้า ออกกำลังกายตั้งแต่ตีห้ากว่า ไปยิมสัปดาห์ละสี่ห้าวันค่ะ อัญวิเคราะห์แล้วว่าตัวเองเป็นมนุษย์ประเภทที่ถ้าได้เคลื่อนไหวแล้วจะอะเลิร์ต จะแอ็กทีฟมาก ถ้าวันไหนไม่ไปออกกำลังกาย มาถึงออฟฟิศจะมีความเหนื่อย หนืด หน่วง อัญมองว่าการออกกำลังกายมันช่วยส่งเสริมการทำงานด้วย”

นอกจากทำงานและออกกำลังกายแล้ว ซีอีโอสาวคนนี้บอกว่า ไม่มีอย่างอื่นที่ชอบเลย การช็อปปิ้งที่สาว ๆ ชอบกัน เธอก็ไม่ชอบ

“เป็นคนชอบทำงาน ถ้าไม่ทำงานก็ไปออกกำลังกาย วีกเอนด์ตื่นมาปุ๊บก็ไปออกกำลังกายช่วงสาย ๆ และเล่นนานหน่อย ออกกำลังกายเสร็จก็ไม่มีอะไรแล้ว ก็คิดเรื่องงานหรือมาทำงาน อัญไม่รู้สึกว่าการมาทำงานเสาร์-อาทิตย์เป็นการมาทำงาน มันกลายเป็นไลฟ์สไตล์”

ชีวิตส่วนตัว-ครอบครัว อัญบอกว่าแต่งงานมา 7 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีลูก เธอบอกว่าได้พยายามแล้ว แต่ยังไม่มี ก็ไม่เป็นไร คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้คาดหวังอยากให้มี ส่วนสามีบอกว่า “เราเอาชีวิตเราให้มีความสุข อย่าเพิ่งไปคาดหวังอะไรกับสิ่งที่ยังไม่เกิด อย่าเอาใจเราไปกังวลกับเรื่องนั้น เธอเอ็นจอยการออกกำลังกาย เธอก็ออกไป”

จากที่เล่ามาทั้งหมด เราเห็นถึงความแฮปปี้ของผู้หญิงคนนี้ ทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัว แต่แน่นอน ทุกการทำงานย่อมมีอุปสรรคมีปัญหาให้แก้ แล้วปัญหาของเธอล่ะ… มีมากน้อยแค่ไหน ทำไมเธอดูไม่เครียดเลย


“ในทุกการทำงานมันมีอุปสรรคอยู่แล้วค่ะ แต่อัญว่าทุกอย่างมันอยู่ที่ทัศนคติของเรา การที่เรายังทำงานอยู่ได้ก็เพราะเรามีความสุขมากกว่าไม่มีความสุข ในวันที่เราไม่ค่อยแฮปปี้ หรือเรามีเรื่องกังวลใจ ทัศนคติที่เป็นบวกจะช่วยให้เราผ่านพ้นไปได้ อัญเชื่อว่าทุกครั้งที่ปัญหาเกิดขึ้นมา เวลาจะช่วยเราแก้ปัญหา สมมติว่าเราแก้ปัญหาไม่ได้ เดี๋ยวเวลามันก็ช่วย คือทุกอย่างตอนที่มันเพิ่งเกิด เราจะรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ เดี๋ยวผ่านไปสักหนึ่งชั่วโมง หนึ่งวัน สองวัน ปัญหานั้นมันจะเล็กลงไปเอง อัญทำอยู่ตรงนี้ 17 ปี มันผ่านมาหลายจุดแล้ว และมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ” ซีอีโอคนเก่งแห่ง Jubilee Diamond เผยทัศนคติที่ทำให้แฮปปี้กับการทำงาน