ทำความเข้าใจปัญหาและทางออก “วิกฤตขยะพลาสติก”

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

วิกฤตสิ่งแวดล้อม และผลพวงจากปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้ง หลังการจากไปของ “มาเรียม” ลูกพะยูนน้อยขวัญใจคนไทย ซึ่งเมื่อผลการชันสูตรมาเรียมออกมาก็ทำให้เราทราบถึงสาเหตุการตายสุดสะเทือนใจในครั้งนี้ว่า เกิดจากเศษพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ตกค้างอยู่ในลำไส้จำนวนมาก ส่งผลให้ลำไส้อุดตัน-อักเสบ ลุกลามไปเป็นอาการติดเชื้อในกระแสเลือด และปอดเป็นหนองในที่สุด

ข่าวการเสียชีวิตของมาเรียมได้รับความสนใจทั้งในและต่างประเทศ ทำให้หลายฝ่ายต่างออกมาแสดงความวิตกกังวลกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขยะพลาสติกที่แม้จะมีการรณรงค์ลดการใช้มาหลายปีแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าสถิติการใช้ และจัดการกับขยะพลาสติกในบ้านเรายังไม่มีวี่แววจะดีขึ้นในระดับที่น่าพึงพอใจมากนัก ซ้ำร้ายขยะที่อยู่บนบกยังทยอยกระจัดกระจายสู่แม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และค่อย ๆ ทำลายระบบนิเวศไปทีละเล็กทีละน้อย

ไทยกับมาตรการลดขยะพลาสติก

จากสถานการณ์ทั้งหมดที่ว่ามา มีองค์กรในประเทศออกมาแสดงจุดยืนในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกหลายแห่งด้วยกัน อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่า จะขับเคลื่อน “circle economy” หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเอาจริงเอาจัง โดยการเสนอให้รัฐประกาศการลดขยะพลาสติกเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทางหอการค้าได้สรุปแผนออกมาทั้งหมด 4 หัวข้อใหญ่ ๆ ได้แก่ ต้องรณรงค์ให้ความรู้ และปรับแนวคิดใหม่ โดยเน้น 2 กลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก คือ นักเรียน-นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สอง คือ การแยกขยะ จัดตั้งถังขยะในที่ทางที่เหมาะสม ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเครือข่ายของทางหอการค้าฯ

สาม คือ การลดขยะอาหารในภาคการค้าและบริการ นำอาหารเหลือที่สามารถบริโภคได้บริจาคผู้ขาดแคลน เสนอแนะให้ภาครัฐร่วมกันป้องกัน และแก้ไขปัญหาขยะทะเลให้มากยิ่งขึ้น และส่วนสุดท้าย การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะ เช่น การเลิกใช้โฟม การเก็บเงินหากผู้บริโภคต้องการรับถุงพลาสติก ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันรณรงค์ลดการสร้างขยะ และส่งเสริมการแยกขยะ ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาขยะทะเลในประเทศไทยลดน้อยลง

ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีการหารือกับภาครัฐ เกี่ยวกับการออกมาตรการบังคับทางกฎหมายที่จะกำหนดให้ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีของภาครัฐนำร่อง จำหน่ายถุงพลาสติกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ เบื้องต้นเสนอไว้ที่ 2 บาทต่อถุง และจะนำรายได้ดังกล่าวมาจัดสรรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 25 สตางค์ให้ห้างสรรพสินค้านำไปทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 50 สตางค์ส่งเข้ากองทุนพลาสติกที่บริหารโดยสถาบันพลาสติก สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอีก 1.25 บาท มอบให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินำไปบริหารจัดการขยะ ทั้งหมดมีการวางแผนไว้ว่าจะดำเนินการให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2563

แนวทางจัดการจากนานาชาติ

ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม แต่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ต้องพบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ยากจะรับมือได้ทันท่วงที จนมีการบรรจุปัญหาการจัดการขยะพลาสติกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในวาระแห่งชาติที่ต้องมีการเร่งแก้ไขโดยด่วน

จิม ซีวอร์ด รองประธานบริหารด้านความยั่งยืน เทคโนโลยี และกิจการร่วมค้า บริษัท ลีอองเดลบาเซิล ในฐานะตัวแทนของภาคีเครือข่ายจัดการขยะระดับโลก “Alliance to End of Plastic Waste” (AEPW) ที่เพิ่งแถลงเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ให้ข้อมูลว่า สิ่งที่ทำให้สมดุลระบบนิเวศเสื่อมโทรมไม่ได้มาจากการใช้พลาสติก แต่เป็นการจัดการกับขยะพลาสติกที่ไม่ถูกต้อง สิ่งสำคัญ คือ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ทำให้พลาสติกเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการ “circle economy” หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนได้ทั้งหมด รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

นอกจากการจัดตั้งองค์กรภาคีเครือข่ายระดับโลกแล้ว ฟากอุตสาหกรรมเสื้อผ้า-แมสโปรดักชั่นก็แสดงท่าทีเกี่ยวกับข้อกังวลเหล่านี้เช่นกัน ทั้ง Gucci (กุชชี่), H&M (เอชแอนด์เอ็ม) และ ZARA (ซาร่า) ก็นำประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้าที่ประชุม G7 เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมไปแล้ว โดยหลัก ๆ เป็นการวางกรอบการผลิตตั้งแต่วัสดุ การขนส่ง รวมถึงการจัดแฟชั่นโชว์ ที่เคยตกเป็นประเด็นการสร้างมลพิษมาแล้ว

ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคเองก็ตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกไว้เป็นวาระองค์กรอยู่หลายแบรนด์ อาทิ Nestle (เนสท์เล่) ประกาศว่าจะไม่แจกหลอดพลาสติก และจะมีการจัดตั้งสถาบันวิทยาการด้านบรรจุภัณฑ์ (Nestle Institute of Pack-aging Sciences) เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ Unilever (ยูนิลีเวอร์) บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดขายสูงสุดอันดับหนึ่งของโลกก็ตั้งเป้าว่า จะใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิล และย่อยสลายได้ภายในปี 2025 ด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิลเพียงบรรจุภัณฑ์ 25% และพัฒนา “CreaSolv” เทคโนโลยีผลิตซองบรรจุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ด้วย

มองสถานการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ

อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมอย่างฉับพลัน นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศและสัตว์แล้ว สิ่งที่เราพบบ่อยขึ้นในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ก็คือ ภัยธรรมชาติ ที่ผันผวนจนยากแก่การประเมินสถานการณ์

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน อธิบายให้ฟังคร่าว ๆ ว่า ภาพรวมทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โลกร้อนเร็วขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ ภัยแล้งเร็วกว่ากำหนด พายุรุนแรงขึ้น ปะการังฟอกขาวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโดยปกติลักษณะแบบนี้จะมีลูปการเกิดประมาณ 8-9 ปีต่อ 1 ครั้ง แต่ปัจจุบันเกิดขึ้นทุกปี โลกจึงอยู่ในสถานะของการตั้งรับ และเตรียมตัวหาวิธีลดผลกระทบ

“วิกฤตเหล่านี้เริ่มออกมาสู่เขต กทม.แล้ว ทั้งพายุหรือปะการังฟอกขาวเองก็ดี ทั้งหมดนี้เกิดผลกระทบกับทุกภาคส่วน แม้แต่ในภาคธุรกิจเองก็เช่นกัน อย่างออสเตรเลียเจอกับปะการังฟอกขาว 2 ครั้ง ที่อื่นในโลกก็ต้องเจอกับวิกฤตแบบนี้ ลักษณะที่เกิดก็จะทำให้แต่ละประเทศมีการออกกฎระเบียบใหม่ ๆ ตามมา สร้างมาเพื่อรับมือกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ดูจากลูปแล้วรุนแรงขึ้นแน่นอน เอสเคิร์ฟในแง่สิ่งแวดล้อมเราตอนนี้อยู่ต้นเอสเคิร์ฟเลยนะ ยังไม่เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนแปลงเลย ภาคธุรกิจจะลงทุนตอนนี้ต้องมองถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ไม่ใช่เน้นแต่เมกะโปรเจ็กต์ ต้องรอบคอบ และเข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย”

อาจารย์ยังให้ข้อมูลต่อด้วยว่า ต้นตอที่แท้จริงไม่ใช่การใช้พลาสติก แต่เป็นการจัดการกับขยะพลาสติก มีคนบางกลุ่มพยายามยกโมเดลประเทศอื่น ๆ มาเปรียบเทียบกับไทย อาทิ ประเทศเคนยามีการแบนการนำเข้าพลาสติก ซึ่งหากดูบริบทจริง ๆ แล้วไม่สามารถยกมาเทียบเคียงกับไทยได้ ไทยมีฐานการผลิตปิโตรเลียมซึ่งต้องพึ่งพาพลาสติกอยู่ ในขณะที่เคนยาไม่มีฐานการผลิต และต้องนำเข้าวัตถุดิบแทบทุกอย่างจากต่างชาติ ส่วนประเทศที่จัดการได้ดีเยี่ยมและมีบริบทคล้ายคลึงกับไทย คือ นอร์เวย์ ถูกยกให้เป็นประเทศที่มีการจัดการกับขยะพลาสติกดีที่สุด มีการผลิตน้ำมันเยอะกว่าไทยมาก มีรถไฟฟ้าอัตราความเร็วสูงที่สุดในโลก แต่สามารถนำขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ 99%

นอกจากนี้สิ่งที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุดอีกอย่าง คือ ขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งจะนำไปสู่ลูปที่น่ากลัวสุด คือ ภาวะโลกร้อน รวมถึงปัญหาน้ำเสียที่อาจารย์มองว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการจัดการอย่างชัดเจนแม้แต่น้อย เพราะการจัดการน้ำเสียในบ้านเราเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน หากให้ลองประเมินระยะเวลาในการจัดการคร่าว ๆ คงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยราว ๆ 20 ปี

ทิศทางในอนาคต และการจัดการที่ยั่งยืน

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลก ทุกองค์กร และทุกแบรนด์ให้ความสนใจกันเป็นวงกว้าง อาจารย์มองว่า ต่อไปเทรนด์โลกที่จะเกิดขึ้นแน่นอน คือ ลักษณะการดำเนินธุรกิจแบบ “green fund” คือ การจัดการองค์กรที่มีการชูประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นอันดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น หากในอนาคตประเทศไทยต้องการกู้เงินจากองค์กรต่างชาติ เขาจะไม่ได้มองเพียงกำลังจ่ายของเรา แต่ยังรวมไปถึงภาพรวมการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศด้วย หากมีขยะพลาสติกในทะเลมาก ก็อาจจะเสียดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งการแมเนจองค์กรลักษณะนี้นอกจากจะช่วยบีบให้อีกฝ่ายต้องเร่งมือในการดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไปในตัวด้วย

ในส่วนของการจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรมนั้น อาจารย์แจกแจงออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ๆ ได้แก่ ข้อแรก ต้องเร่งรัดลดการใช้พลาสติกอย่างไม่จำเป็นให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักดูผลกระทบกับผู้ผลิต และผู้ค้าปลีกรายย่อยด้วย ต่อมาต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งร้านกาแฟและร้านอาหาร ไม่ช้าก็เร็วการแบนถุงพลาสติกต้องเกิดขึ้นแน่นอน จากมติคณะรัฐมนตรีที่เร่งรัดให้เร็วขึ้น โดยขีดเส้นตายไว้ที่ปี 2563

สาม คือ บรรจุภัณฑ์พลาสติก เป็นส่วนที่อาจารย์มองว่ายากที่สุด ต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันไป ไม่ใช่หวังพึ่งรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ภาคเอกชนก็ต้องว่องไวในการปรับตัวด้วย และสุดท้าย คือ การรีไซเคิล ปัจจุบันไทยทำได้เพียง 25% ต่อปี ฉะนั้นระบบรีไซเคิลต้องพัฒนา

“คนที่ผมอยากให้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือภาคธุรกิจ โรงงานหลาย ๆ แห่งที่เจ๊งไป ตอนน้ำท่วมปี”54 ก็มีบทเรียนกันแล้ว มัวแต่นั่งลดต้นทุน คิดค้นเอไอ จริง ๆ สิ่งที่ควรใส่ใจมากที่สุด คือ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ในอนาคตจะเกิดบ่อยขึ้นกว่านี้อีก ไม่ใช่คุ้มทุน 5 ปีพอ จากเดิมที่เราโทษว่าเป็นสาเหตุทางธรรมชาติ-แก้ไขไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ มันคาดการณ์ได้แต่ภาคธุรกิจต้องหันมาใส่ใจให้มากขึ้น”