สร้าง Beyond Experience ให้โดนใจวัยรุ่น ส่งธุรกิจรุ่งพุ่งพรวดสไตล์ ZAAP Party

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

ถ้าให้นึกถึงออร์แกไนเซอร์จัดงานปาร์ตี้คอนเสิร์ตในหมู่วัยรุ่นจนถึงวัย first jobber คือ อายุราว ๆ ตั้งแต่ 18-25 ปี เชื่อว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งน่าจะนึกถึง ZAAP Party มาเป็นชื่อแรก ๆ ตลอดระยะเวลา 7-8 ปีที่ บาส-เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง ZAAP Party คร่ำหวอดอยู่ในวงการคอนเสิร์ตออร์แกไนเซอร์มา เขาและทีมงานเนรมิตโชว์มาแล้วมากกว่า 600 เวที โดยมีจุดเริ่มต้นจากงาน Single Festival อันโด่งดังในหมู่วัยรุ่นยุคนี้เป็นอย่างมาก พูดได้เลยว่ากลุ่มเป้าหมายของ ZAAP นั้นเน้นจับตลาดที่วัยรุ่น หรือหากไม่ใช่วัยรุ่น งานของเขาก็มักจะดีไซน์ออกมาในรูปแบบที่สามารถดึงความเป็นวัยรุ่น-วัยหนุ่มสาวของผู้เข้าร่วมงานได้ออกมาอย่างสนุกสนาน-เป็นธรรมชาติ

ความสำเร็จอันก้าวกระโดด และเป็นที่น่าจับตามองของ ZAAP Party ทำให้ บาส-เทพวรรณ ได้ร่วมขึ้นเวทีสัมมนาที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา “Beyond Experience พลิกประสบการณ์ พลิกเกมธุรกิจ” คือ สัมมนาที่บาสได้ร่วมพูดคุย-แชร์ประสบการณ์ในครั้งนี้ โดยมี เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ คอยซักถามให้เทพวรรณบอกเล่าประสบการณ์การทำธุรกิจอย่างลงลึก

จากเนื้อหาที่บาสบอกเล่าบนเวทีนี้ หลัก ๆ แล้วหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจของ ZAAP Party คือ การสร้างประสบการณ์-เข้าใจเข้าถึงตัวตนความเป็นวัยรุ่น และนำสิ่งเหล่านี้มาออกแบบโชว์ที่ตอบโจทย์ผู้เข้าร่วมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุวิกรม : จากงานปาร์ตี้คนโสดสำหรับเด็ก ต่อยอดไปเป็นงานปาร์ตี้รูปแบบอื่น ๆ ได้อย่างไร มีวิธีคิดแตกต่างกันมั้ย

เทพวรรณ : เวลาสร้างแต่ละงานผมจะหาคนที่รู้เรื่องนั้นจริง ๆ มาช่วย อย่างหมอลำ ผมอยากไปเรียนรู้ว่า เขาทำกันยังไง เขาชอบดนตรีแบบไหน ผมเห็นยามหน้าออฟฟิศชอบฟังเพลงหมอลำ ก็เลยไปชวนเขามาเป็น head project จนทำให้เกิดงานหมอลำขึ้น ผมมองว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ต้องอาศัยความเข้าใจมาผสมกับคนที่เขารู้เรื่องอยู่แล้ว มันก็เกิดสิ่งนั้นได้รวดเร็วขึ้น จากที่ผมลองผิดลองถูกก็ลดลง ผิดพลาดน้อยลง ถูกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ใส่ใจ-รู้ใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จะเห็นว่า ผมมีงานหลายแนวมาก ไม่ว่าจะเป็นหมอลำ BNK48 เกาหลีก็กำลังจะทำ ดนตรีร็อก EDM ความหลากหลายมันเกิดจากการที่เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เราต้องอาศัยผู้ที่รู้แต่ละเรื่องมาช่วยเรา แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ เราต้องใส่ใจ พอเราใส่ใจมันจะทำให้เกิดเรื่องต่าง ๆ ได้ถูกทาง

สุวิกรม : อะไรทำให้คลื่นลูกใหม่อย่าง ZAAP ดึงดูดลูกค้าได้มากมาย และทำไมพวกเขาต้องมาใช้บริการที่ ZAAP

เทพวรรณ : จุดที่ผมเรียนรู้อย่างเดียวจากตอนที่ล้มเหลวเลย คือ การที่เราไม่เข้าใจกลุ่มลูกค้า ผมเลยพลิกตรงนั้นมาเป็นจุดแข็ง ในการสร้างงาน เราต้องรู้ target โดยเฉพาะการเริ่มจากวัยรุ่น หรือ first jobber พอเราจับทางได้ทุกอย่างที่เราสร้างขึ้นมันจะเกิดจากเทรนด์ที่ตอบสนองความต้องการของวัยรุ่น

สุวิกรม : คุณกำลังจะบอกว่า คุณพรางตัวเป็นกูรูที่เข้าใจวัยรุ่นในเรื่อง entertainment ว่าถ้าเขาต้องการความสนุก ทำอย่างไรเขาถึงจะสนุก

เทพวรรณ : ใช่ครับ เราเริ่มจากใส่ใจวัยรุ่น เข้าใจวัยรุ่น หาน้องทีมงานใหม่ ๆ ตลอด ทุกวันนี้ทีมงานผมอายุเฉลี่ยประมาณ 21-22 ยิ่งเราโตขึ้น เราฟังเพลงไม่เหมือนเขาแล้วนะ ผมมีโอกาสไปร้านเหล้าข้างมหา’ลัย ไม่มีเพลงที่วัยเราฟังกันแล้ว กลายเป็นเกาหลี ฮิปฮอป ฉะนั้นต้องสร้างความเข้าใจ ใส่ใจความเป็นวัยรุ่น วัยรุ่นเกิดจากอะไร เกิดจากเทรนด์ เราต้องตามเทรนด์ให้ทัน ไม่ใช่แค่เรื่องของเพลงนะครับ เราทำ “ZAAP ON SALE” ด้วย เป็นงานที่รวมร้านค้าออนไลน์มาเป็นออฟไลน์ เกิดจากเทรนด์ซื้อของออนไลน์ของวัยรุ่น จากการที่เราสังเกตเห็นพฤติกรรมของเขาแล้วหยิบมาต่อยอด

สุวิกรม : ถ้าเราอยาก participate กับคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรถึงจะสามารถซื้อใจเขาได้ หรือทำอย่างไรให้เขามาเป็นลูกค้าเรา

เทพวรรณ : อย่างแรกต้องฟังเขาเยอะ ๆ ผมเริ่มรีเสิร์ชวัยรุ่นมากขึ้น เริ่มเรียกมาพูดคุยมาฟังมากขึ้น ผมว่าการพูดคุยมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของทุก ๆ อย่าง ซึ่งจริง ๆ มิติของวัยรุ่นมันอยู่ในเรื่องเหล่านี้ คือ การคุยกัน แค่ได้คุยกับเขา ฟังเยอะ ๆ คุยเยอะ ๆ

สุวิกรม : ยกตัวอย่างบทสนทนาที่คุณถาม-ตอบกับน้อง ๆ วัยรุ่นให้ฟังหน่อย

เทพวรรณ : อย่างผมจะถามน้อง ๆ ว่า ตอนนี้ชอบอะไรกัน เที่ยวที่ไหน ทำไมถึงไปเที่ยวที่นี่ ตอนนี้ไปกินร้านอาหารไหนกัน แล้วเราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ก็จะรู้แล้วว่า ต้องสร้างงานแบบนี้ จะจัดงานยังไงดี สำคัญนะครับ สมมุติผมจะจัดงานให้วัยรุ่นในรอยัล พารากอน ฮอลล์ ก็ต้องดีไซน์กันใหม่หมด อาจจะต้องทำเป็นปาร์ตี้เพื่อให้มันสนุกขึ้น ถ้าเราฟังเขาเยอะ ๆ คุยเยอะ ๆ มันสามารถทำให้เราต่อยอดได้จริง ๆ ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่มีสกิลหนึ่งที่เด็ก ๆ ไม่มี คือ ประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เมื่อพี่ ๆ คุยกับน้อง ๆ วัยรุ่นแล้วก็สามารถเอามาต่อยอดเป็นธุรกิจกับสิ่งที่พี่คิดอยู่ได้อย่างรวดเร็วขึ้น

สุวิกรม : คุยกับเขาให้มากขึ้น แล้วจำเป็นต้องลองใช้ชีวิตแบบเดียวกับเขาด้วยมั้ย

เทพวรรณ : ผมว่า มีวิธีหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องไปลองใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นเพื่อให้เข้าใจ แต่ลองให้เขาทำแทนเรา อย่างผมลองให้เขารันโปรเจ็กต์แทนแล้วมันดีกว่าที่เราคาดไว้ด้วย เมื่อก่อนเราอาจจะเป็นคนพูดก่อนแล้วค่อยฟัง เดี๋ยวนี้ลองโยนคำถามไปก่อนแล้วให้เขาพูด ให้เขานำเสนอก่อนแล้วตัดสินใจร่วมกัน มันจะเปลี่ยน จะเห็นมิติมุมมองที่เป็นปัจจุบัน

สุวิกรม : นอกจากฟังและให้ลองทำ มีวิธีอื่น ๆ ในการสร้างประสบการณ์แบบ ZAAP อีกมั้ย

เทพวรรณ : ผมว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุด คือ ความแปลกใหม่ ผมว่าทุกคนต้องเจอโจทย์นี้ “พี่ต้องการอะไรใหม่ ๆ” คือคำที่โดนบรีฟจากลูกค้าตลอด อยากได้ซาวนด์ใหม่ ไลติ้งใหม่ วิชวลใหม่ กราฟิกใหม่ ผมว่าสิ่งนี้เป็นความท้าทายของทุกองค์กร ผมมองว่าถ้าเราจับจุดผิด เราจะตอบโจทย์ความใหม่ไม่ได้ ถ้าเราจะโฟกัสถึงคำว่าใหม่ ในโลกนี้มันแทบไม่มีแล้วนะ เวลาลูกค้าบอกว่าอยากได้อะไรใหม่ ๆ เราจะคิดในใจตลอดว่า มันไม่มีสิ่งใหม่ในโลกแล้ว อาจจะมีที่ประเทศอื่นแล้วก็ได้ลองเสิร์ชดูสิ มีคนทำหรือยัง สุดท้ายก็เจอจริง ๆ ว่ามีคนทำไปแล้ว ยกตัวอย่าง ผมเคยต้องคิดงานให้กับผลิตภัณฑ์หนึ่ง นอกจากงานให้มีความเป็นเทศกาลดนตรีแล้ว เราจะทำยังไงให้ใหม่ ซึ่งความใหม่ที่ว่ามันเกิดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว และเอามาผสมให้ลงตัวในอันเดียวกัน เช่น ในงานมีโซนอาหารปกติ ผมก็คิดว่าทำไมไม่ยกเยาวราชมาไว้ในงานล่ะ เพราะปกติเวลาไปเยาวราชเสียเวลาตั้งหลายชั่วโมงกว่าจะกินครบ เราก็ทำงานเทศกาลดนตรีงานเดียวที่ยกเยาวราชมาไว้ในงาน กลายเป็นงานเทศกาลดนตรี+อาหารเยาวราช คนมากินอาหารตั้งแต่ 4 โมงเย็น เป็นงานดนตรีงานเดียวที่คนมากันตั้งแต่ 4 โมงเพื่อมากินอาหาร ทุกอย่างคือสิ่งที่มีอยู่แล้ว เราเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมารวมกัน ที่มันใหม่เพราะเราไปงานเทศกาลดนตรีอื่นแล้วไม่มีแบบนี้ ผมเชื่อมาตลอดว่า เวลาคิดงานอะไรเราคุยกันแค่นี้นะ อย่าคิดเยอะ อย่าคิดให้มันยาก ถ้ามันยากเราทำไม่ได้

สุวิกรม : มีวัยรุ่นติดตามคุณเป็นล้านคน ทุกวันนี้คุณหาวิธีที่จะบริการเขามากกว่า entertainment มีเรื่องอะไรอีกบ้าง

เทพวรรณ : ตอนนี้มันไปถึงขั้น e-Sports แล้วนะ ZAAP ไปเป็นส่วนหนึ่งของวงการนี้ด้วย อย่างเวทีใหญ่ ๆ เวทีระดับโลกที่มาจัดที่ประเทศไทย ZAAP ก็เป็นออร์แกไนเซอร์ เวที ROV เราก็เป็นคนทำ ตอนนี้เรากำลังหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในวัยรุ่นหนึ่งคนมีความชอบไม่ใช่แค่อย่างเดียว วันนี้เราแข็งแรงในเรื่องคอนเสิร์ตปาร์ตี้ มิวสิกเฟสติวัล เราก็ต่อยอดไปถึงช็อปปิ้ง กีฬา งานวิ่งที่มีดนตรีมาเกี่ยวข้อง รวมถึง e-Sports เราเป็นพาร์ตเนอร์กับ Garena เราเริ่มขยายไปเรื่อย ๆ ZAAP จะไปอยู่กับทุก ๆ คนในทุกมิติ เรามีคอนเซ็ปต์ว่า “ZAAP is your friend.” เทรนด์ตอนนี้ชอบ BNK ชอบเกาหลี เราต้องไปอยู่ตรงนั้น ต้องมีส่วนร่วมกับทุกเทรนด์ที่เพื่อนเราชื่นชอบ

สุวิกรม : ในเมื่อวัยรุ่นมีความหลากหลายมาก ๆ เราจะเข้าใจพฤติกรรมของวัยรุ่นได้ยังไง วัยรุ่นที่มีความชอบต่าง ๆ กัน เขามีบางอย่างที่เป็นจุดร่วม หรือมีพฤติกรรมอะไรที่เหมือนกันหรือเปล่า

เทพวรรณ : ผมเชื่อว่า เราไม่จำเป็นต้องเอาความหลากหลายทุกอย่างมา connect กัน ผมเคยเอามาผสมแล้วเจ๊งเละเทะ อย่าง ZAAP ON SALE ครั้งแรกผมยกเวที ดีเจ.มาตั้งกลางงาน ดีเจ.เล่นเสียงดัง แม่ค้าขายของไม่ได้ เหล้าขายไม่ออก คือ เราจัดงานให้เหมือนปาร์ตี้ไม่ได้ เพราะคนที่มาเดิน ZAAP ON SALE ไม่ใช่คนที่ไป ZAAP Party นี่คือจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้เรารู้เลยว่า ไม่จำเป็นต้องเอาทุกอย่างมา connect กัน เวลาคิดงานแต่ละงานเราก็คิดตอบโจทย์แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

สุวิกรม : คุณทำมาแล้ว 600 กว่าเวที และเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ อนาคตคุณวาง positioning ของบริษัทไว้อย่างไรบ้าง

เทพวรรณ : หัวใจของเราคือวัยรุ่นอยู่แล้ว โครงสร้างที่ตอบสนองความต้องการของวัยรุ่น ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นแพสชั่นสำคัญมาก ๆ คือ เราเริ่มองค์กรจากการที่ไม่ได้คิดว่าเป็นบริษัท เริ่มทำตอนเรียนปีสาม จากตอนที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ลองผิดลองถูก เราอยากเห็นบริษัทนี้เป็นทีมที่มั่นคง เรามีความเชื่อว่า ถ้าวันหนึ่งสามารถนำบริษัทที่สร้างมาตั้งแต่ตอนเรียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ก็คงจะดี ซึ่งอันนี้เป็น goal ที่ทีมเราเริ่มนับหนึ่งในปีนี้ว่า อยากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯนะ อยากพิสูจน์ให้เห็นว่า บริษัทวัยรุ่นที่ทำกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ กันก็สามารถสร้างชื่อเสียงได้ และเชื่อว่าจะทำให้วัยรุ่นทั้งประเทศสนใจได้ เดินไปด้วยกันได้