เปิดลายแทง “หนังสือน่าอ่าน” ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24

ฤดูกาลของคนรักการอ่านกลับมาอีกครั้งกับมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ที่เปิดงานแล้วในวันที่ 2 ตุลาคม ในช่วงงานมหกรรมหนังสือซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทองประจำปี หลายสำนักพิมพ์ก็ออกหนังสือใหม่กันอย่างพร้อมเพรียง เพื่อนำไปเปิดตัวและส่งถึงมือคนอ่านในงานนี้ ในฉบับนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจข้อมูลหนังสือออกใหม่หลากหลายสไตล์ ทั้งการเมือง ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และวาไรตี้ แล้วคัดเล่มเด็ด ๆ จากหลายสำนักพิมพ์มาเป็นตัวเลือกให้คุณผู้อ่านได้ลองเลือกกัน

เมื่อสยามพลิกผัน

ธงชัย วินิจจะกูล : เขียน/สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ผลงานล่าสุดของศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ก่อนหน้านี้มีผลงานรวมเล่มบทความวิชาการกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันมาแล้ว 5 เล่ม แต่ละเล่มล้วนติดอันดับหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์ทั้งสิ้น และผลงานเล่มล่าสุดผลงานลำดับที่ 6 “เมื่อสยามพลิกผัน”

เมื่อสยามพลิกผัน จะพูดถึงกรอบมโนทัศน์ว่าด้วยเรื่องพื้นฐานของสยามยุคใหม่ หากใครที่ไม่เคยอ่าน 5 เล่มก่อนหน้านี้ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะอ่านเล่มนี้ไม่รู้เรื่อง เพราะบทที่ 1 จะเป็นการปูพื้นการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคใหม่สไตล์สำนักธงชัย ให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจประเทศไทยกันตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งสาระโดยตรงของแต่ละบท และสาระโดยนัยว่าเกี่ยวพันกับภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสมัยใหม่ของสยามประเทศได้อย่างไร

เถื่อน 100

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล : เขียน/สำนักพิมพ์ a book

จาก เถื่อนเจ็ด เถื่อนแปด สู่ เถื่อน 100 หนังสือที่รวบรวมภาพถ่าย และความเรียงสองภาษา มีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จากประสบการณ์ตลอดระยะเวลา 11 ปี 38 ประเทศทั่วโลก ของ สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ในเล่มนี้บรรจุเรื่องราวมากถึง 100 เรื่อง แบ่งออกมาเป็น 4 หมวด คือ Human (มนุษย์) Nature (พิภพ) War (สงคราม) และ Civilization (อารยธรรม)

วรรณสิงห์จะพาผู้อ่านโลดแล่นสู่ใจกลางผืนป่าดิบสุดลึกลับ สู่ประเทศที่ซ่อนตัวเองจากโลกภายนอก ประเทศเขตสงคราม ไปจนถึงถ้ำลี้ลับใต้พิภพ ผ่านภาพถ่าย และตัวอักษร โดยเป็นการเล่าเรื่องเชิงสารคดีสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ทำให้ภาพถ่ายกลายเป็นเรื่องเล่าที่กระตุ้นจินตนาการ ทั้งความตื่นตา ตื่นเต้น หดหู่ และสิ้นหวังไปพร้อม ๆ กัน

ผู้คนในภาพฝัน

อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ : เขียน/สำนักพิมพ์สมมติ

รวม 13 เรื่องสั้นแนว soft sci-fi และ satire สังคม ว่าด้วยเรื่องราวระหว่างรัฐบาลและประชาชน ในโลกที่ประชาชนได้รับแจกกล่องภาพฝันจากรัฐบาล ความหนาไม่กี่เซนติเมตร มีขนาดพอเหมาะพอดี กล่องภาพฝันเหล่านั้นถูกฉาบหน้าด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถเปลี่ยนสิ่งที่คิดให้ปรากฏเป็นภาพสมจริงต่อทุกสายตาที่อยู่รอบข้างเจ้าของความคิดได้

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่เราคิดไม่ได้เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่ยังถูกส่งต่อสู่สาธารณะ และอาจนำมาซึ่งความวิบัติวุ่นวายของเจ้าของความคิดได้ หากผู้ครอบครองกล่องภาพฝันไม่สามารถควบคุมความคิดของตนได้ดีพอ นอกจากจะเป็นของวิเศษแล้ว มันจึงไม่ต่างจากเครื่องสอดส่อง ล่วงละเมิดอัตลักษณ์ และเสรีภาพทางจิตวิญญาณที่รัฐบาลต้องการเข้าไปอยู่ในทุกซอกหลืบของชีวิตประชาชนของเขาด้วย

เมื่อใดจึงเป็นชาติ

แดเนียล คอนแวร์ซี, วอล์กเกอร์ คอนเนอร์, แอนโทนี ดี. สมิธ และ จอห์น เบรยยี่ : เขียน/เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี, พิพัฒน์ พสุธารชาติ, ธรรมชาติ กรีอักษร และทศพล ศรีชุม : แปล/สำนักพิมพ์ ILLUMINATIONS EDITIONS

“ชาติคืออะไร” เป็นคำถามที่ถูกให้ความสำคัญมากในโลกสมัยใหม่ การกำเนิดขึ้นของรัฐชาติได้สร้างความสับสนแก่ผู้ที่พยายามทำความเข้าใจว่า “รัฐ” หรือ “ชาติ” คืออะไร รัฐและชาติดำรงอยู่คู่กันมายาวนาน มีความทรงจำร่วม รากเหง้า และภาษาร่วมกันของชาติ ทุกคนภายในรัฐชาติต่างโกรธและเกลียดศัตรูร่วมกัน เทิดทูนและยกย่องวีรบุรุษร่วมกัน

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความ-ข้อเสนอว่าด้วยเรื่องการกำเนิดขึ้นของชาติ รัฐ และรัฐชาติ จากนักคิดทั้ง 4 คน ที่จะช่วยให้เราหาคำตอบและคลายข้อสงสัยได้ว่า แท้จริงแล้ว “ชาติ” คืออะไรกันแน่

เศรษฐศาสตร์ : ความรู้ฉบับพกพา

(Economics : A Very Short Introduction)

พาร์ธา ดาสคุปตะ : เขียน/ฉัตร คำแสง : แปล/สำนักพิมพ์ Bookscape

พาร์ธา ดาสคุปตะ จะพาผู้อ่านสำรวจโลกของเศรษฐศาสตร์ที่มีขอบเขตกว้างไกลกว่าศาสตร์แห่งการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ร่วมหาคำตอบว่า ความไว้วางใจ บรรทัดฐานทางสังคม นิติรัฐ ประชาธิปไตย วัฒนธรรม ธรรมาภิบาล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ สัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างไร กับวิถีเศรษฐกิจและสวัสดิภาพของปัจเจกบุคคล ครัวเรือน ธุรกิจ และประเทศอย่างไร

จีน-อเมริกา : จากสงครามการค้า

สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0

อาร์ม ตั้งนิรันดร : เขียน/สำนักพิมพ์ Bookscape

ท่าทีของสองประเทศยักษ์ใหญ่สะท้อนการปะทะ และแยกตัวจากเดิมที่เคยเป็นมิตรพึ่งพากัน วันนี้ทั้งสองประเทศหันมาห้ำหั่นกันรอบด้าน การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจเริ่มต้นจากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี และกำลังขยายผลเป็นสงครามเย็น 2.0 ที่แตกต่างจากสงครามเย็นครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ฝั่งทรัมป์ใช้กลยุทธ์ธุรกิจสไตล์ลูกทุ่งอเมริกัน ส่วนฝั่งสี จิ้นผิง ก็งัดเอาพิชัยสงครามซุนวูออกมากางสู้

ในขณะที่สองยักษ์ปะทะกันอย่างดุเดือด ประเทศไทยทั้งในระดับบุคคล ธุรกิจ และประเทศ จะต้องปรับตัวอย่างไรในโลกใบใหม่ที่แตกออกเป็น 2 แกนแบบนี้

 

WHY SO DEMOCRACY ประชาธิปไตยมีดีอะไร

พริษฐ์ วัชรสินธุ : เขียน/สำนักพิมพ์ บันลือบุ๊คส์

หนังสือที่จะบอกเล่าเรื่องประชาธิปไตย และการเมืองไทย โดยยกตัวอย่างจากชีวิตประจำวันให้ได้เห็นภาพ เพื่อให้เข้าใจกระบวนการ และความสำคัญได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่อง ส.ส., ส.ว. จำเป็นต้องมีไหม ?, ต้องเคารพกฎหมายหรือไม่ ถ้าเราไม่เคยตกลง, ถ้าเรามีเงินเท่ากันทุกคนจะดีหรือไม่ ? และอีกหลากหลายประเด็นที่นำเอาเรื่องรอบตัวมาเป็นเคสตัวอย่างให้เข้าใจระบอบประชาธิปไตยได้อย่างง่ายดาย รวมไปถึงเรื่องเล่าจากประสบการณ์ด้านการเมืองของผู้เขียน ให้ได้คิดและลองวิเคราะห์ตามเพื่อทำความเข้าใจกันว่า “ประชาธิปไตยคืออะไร”