หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ การแพทย์พระราชทาน จากมหาราชาสู่ปวงชนชาวไทย

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

13 ตุลาคมปีนี้ นับเป็นเวลา 3 ปีแล้วที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัย แม้พระองค์จะจากไป แต่พระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ที่ทรงงานมาอย่างหนักและทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในหลาย ๆ ด้าน ตลอดการครองสิริราชสมบัติ 70 ปี ยังคงเป็นภาพจำอันสวยงามในใจคนไทยอยู่เสมอ ไม่ได้จางหายไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด หากยังคงไว้ซึ่งประโยชน์สุขแก่อาณาราษฎรทั่วทุกหัวระแหงจวบจนถึงปัจจุบัน

พสกนิกรชาวไทยต่างทราบเป็นอย่างดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีโครงการในพระราชดำริหลายพันโครงการ ซึ่งหนึ่งในโครงการในพระราชดำริที่มีมายาวนานเกือบ 50 ปี จนปัจจุบันยังได้รับการสานต่อพระราชปณิธานโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือโครงการในพระราชดำริที่มีชื่อว่า หน่วยทันตกรรมพระราชทาน หรือที่เรียกกันอย่างย่อ ๆ ว่า “หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่” โครงการในพระราชดำริที่สร้างความปลื้มปีติให้กับเหล่าพสกนิกรทั่วประเทศมานานถึง 49 ปี

ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ดูแลหน่วยทันตกรรมพระราชทาน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 7 ปีเต็มแล้ว คุณหมอเล่าด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ว่า หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่มีจุดเริ่มต้นหลังจากที่ ศาสตราจารย์พันโทสี สิริสิงห อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้ทำการรักษาพระทนต์ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง

ด้วยความที่คุณหมอท่านนี้ต้องเดินทางไปตรวจดูแลพระทนต์ รัชกาลที่ 9 ที่พระราชวังไกลกังวลเป็นประจำ วันหนึ่งพระองค์ท่านตรัสรับสั่งกับคุณหมอว่า พระองค์ท่านมีทันตแพทย์ดูแลพระทนต์เป็นประจำ แต่ประชาชนไม่มีแพทย์คอยดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนตามถิ่นทุรกันดารที่การแพทย์ยังไปไม่ถึง ความว่า “เวลาเรามีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือไม่”

กระทั่งพระองค์ทราบว่า ตามพื้นที่ห่างไกล-ถิ่นทุรกันดารหลายพื้นที่ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์ได้ ทำให้มีปัญหาสุขภาพช่องปากค่อนข้างมาก พระองค์จึงพระราชทานคำแนะนำให้แก่ศาสตราจารย์พันโทสี ความว่า “การจะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟันหยุดการทำนา ทำไร่ เดินทางไปหาหมอนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงข้ามหากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง” จากพระราชดำรัสนี้จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ โดยพระองค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้นำไปจัดซื้อรถทันตกรรมเคลื่อนที่ พร้อมเก้าอี้ทำฟันอีกจำนวน 2 ที่นั่งในช่วงเริ่มต้น

หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่จึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2513 เบื้องต้นเป็นการตรวจรักษาฟันประชาชนในพื้นที่แถบ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพระราชวังไกลกังวล จากนั้นจึงขยายออกตรวจให้ประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ปัจจุบันหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเก้าอี้ทำฟันให้บริการทั้งสิ้น 100 ตัว ในช่วงเริ่มต้นการรักษาจะมีบริการเฉพาะถอนฟันและอุดฟันเท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถให้บริการประชาชนได้ทุกอย่าง แม้แต่การรักษาที่ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงอุปกรณ์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างการรักษารากฟันและการใส่ฟันเทียม

“ปี ๆ หนึ่งหน่วยทันตแพทย์เคลื่อนที่ออกทำฟันประมาณ 20 กว่าครั้ง อันนี้พูดถึงเฉพาะหน่วยงานของทางจุฬาฯนะ แต่เรามีเครือข่ายอีก 6 แห่งที่มาช่วยกัน ทั้งจุฬาฯ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ ม.ธรรมศาสตร์ ต่างคนต่างทำแต่ละพื้นที่ แล้วแต่ว่าใครรีเควสต์มาด้วย อย่างกรมสมเด็จพระเทพฯท่านอยากให้หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่จุฬาฯไปตรวจดูที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พระองค์ตรัสว่า ฝากดูแลพระกับเณรที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย ส่วนใหญ่กรมสมเด็จพระเทพฯจะให้ดูแลโรงเรียนในราชินูปถัมภ์ ทำให้ทางแม่ฟ้าหลวง โครงการปิดทองหลังพระ วัดพระรามเก้า วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร วัดญาณเวศกวัน วัดปทุมฯ เป็นต้น”

ลักษณะการแบ่งแผนงานของหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ จุฬาฯ จะวางแผนกันปีต่อปี จำนวนเก้าอี้ทำฟันที่ให้บริการครั้งหนึ่ง 30-50 ตัว ซึ่งถือเป็นจำนวนเก้าอี้เยอะที่สุดในบรรดาเครือข่ายหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ คุณหมอสุชิต เล่าว่า การออกให้บริการแต่ละครั้งจะมีทันตแพทย์ไปด้วยจำนวนมาก ทำให้การบริการครั้งหนึ่งหากในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนคนไข้น้อยก็จะได้รับการบริการที่เพิ่มขึ้น เช่น อุดฟัน 1 ซี่ แต่กับบางรายหากเห็นว่าต้องอุด 4 ซี่ ก็จะทำการอุดให้เลยโดยที่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่มีใจอยากไปให้บริการชาวบ้านและเด็ก ๆ ตามต่างจังหวัด เพราะเห็นว่าเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ และได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการในพระราชดำริ

หลังจากเสร็จภารกิจออกตรวจรักษาฟัน คณะทันตแพทย์จะต้องเข้ากราบบังคมทูลรายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทุกครั้งว่า แต่ละพื้นที่ที่ไปมาสุขภาพช่องปากของประชาชนเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งนอกจากเรื่องของช่องปากแล้ว พระองค์ยังทรงเน้นกำชับให้คณะทันตแพทย์ดูแล-สังเกตการณ์ถึงอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ใช่เฉพาะความผิดปกติในช่องปากเท่านั้น เพราะทันตแพทย์ก็นับว่าเป็นแพทย์เช่นกัน หากเกินความสามารถในการรักษาก็อาจเป็นการแนะนำผู้ป่วย หรือส่งต่อการรักษาให้แพทย์เฉพาะทางต่อไป

คุณหมอสุชิต เล่าต่อว่า หลังจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระอาการประชวร ภายหลังคณะทันตแพทย์จึงกราบบังคมทูลรายงานกรมสมเด็จพระเทพฯ มีครั้งหนึ่งที่ จ.สระแก้ว คณะแพทย์ทูลรายงานและพบว่ามีเด็กฟันผุจำนวนมาก พระองค์ได้ตรัสถามคณะแพทย์ว่า เป็นเพราะนมสวนจิตรลดาหรือเปล่าที่ทำให้เด็ก ๆ ฟันผุเยอะขึ้น เนื่องจากพระองค์ท่านมีความกังวลถึงแนวโน้มอาการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการลงพื้นที่ จ.ราชบุรี ที่คณะแพทย์พบปัญหาเด็ก ๆ ฟันตกกระเป็นจำนวนมาก กระทั่งทราบถึงสาเหตุอันเนื่องมาจากบริเวณใกล้เคียงเคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่มาก่อน ทำให้มีปริมาณสารฟลูออไรด์มาก ซึ่งเมื่อกรมสมเด็จพระเทพฯทราบเรื่องจึงทรงมีพระราชดำรัสแก่สาธารณสุขจังหวัดให้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน

ส่วนประชาชนที่อยู่ติดพื้นที่ริมแม่น้ำ หรือพื้นที่ที่ไม่มีถนนเชื่อมต่อ และมีความจำเป็นต้องสัญจรทางน้ำเท่านั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯให้สภากาชาดไทยใช้เรือเวชพาหน์เข้าไปให้การรักษาพยาบาลและทันตกรรมแก่ชาวบ้าน โดยปัจจุบันเรือเวชพาหน์ก็ยังคงออกให้บริการทางการแพทย์อยู่ แม้ปัจจุบันจะมีโรงพยาบาลอำเภอ และสถานีอนามัยทั่วถึงแล้ว แต่ทางสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯยังคงนำเรือพระราชทานเวชพาหน์ออกให้บริการประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำในจังหวัดที่สามารถไปได้ปีละ 1 ครั้ง หรือในยามเกิดภัยพิบัติอุทกภัยนับตั้งแต่วันแรกที่เรือพระราชทานเวชพาหน์ให้บริการแก่ประชาชนเป็นเวลากว่า 62 ปี


นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่เหล่าพสกนิกรชาวไทยได้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์นักพัฒนา ซึ่งนอกจากหน่วยทันตกรรมพระราชทานแล้ว ยังมีโครงการต่าง ๆ อีกมากมายที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวทางไว้ และได้ถูกสานต่อเพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่ราษฎรชาวไทยตลอดไป