ไอติม พริษฐ์ กับหนังสือ ประชาธิปไตย และฟุตบอล “ผมพยายามถอดบทเรียนของลิเวอร์พูลมาใช้กับการเมือง”

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง ธนะศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นคนการเมืองรุ่นใหม่ที่คงความฮอตอันดับต้น ๆ อยู่ในความสนใจอย่างต่อเนื่องเสมอมา นับตั้งแต่ก้าวเข้ามามีชื่ออยู่ในพื้นที่ข่าวการเมืองเมื่อหลายปีก่อน พร้อมกับโปรไฟล์เป็นหลานชายของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ่วงดีกรีนักศึกษาออกซ์ฟอร์ดที่สนใจอยากเข้าสู่การเมือง เรียกว่าดึงดูดความสนใจทั้งชาติตระกูล การศึกษา ยังไม่นับหน้าตาที่หล่อเหลาไม่แพ้น้าชาย

หลังเรียนจบกลับมาไทย ไอติมสมัครเป็นทหารเกณฑ์ หลังออกจากกรมเขาก็เข้ามาทำงานการเมืองจริงจัง เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม New Dem ที่หวังจะเป็นสะพานเชื่อมคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าของประชาธิปัตย์ อุดมการณ์ทางการเมืองของไอติมได้รับความชื่นชมจากหลายฝ่าย ไม่เฉพาะแฟนคลับพรรคสีฟ้าเท่านั้น เขาถูกมองว่าเป็นหนึ่งในความหวังการสร้าง “การเมืองสร้างสรรค์” ในอนาคต

การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อต้นปี พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นหนึ่งในผู้สมัคร ส.ส. ระบบแบ่งเขตของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เขายื่นหนังสือลาออกจากพรรคที่ผูกพันมาเกือบ 10 ปีอย่างไม่ลังเล เพื่อรักษาอุดมการณ์ที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของไอติมคือการเขียนหนังสือ “WHY SO DEMOCRACY ประชาธิปไตยมีดีอะไร?” หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเขาที่ชวนตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับประชาธิปไตย ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า อาจไม่จำเป็นว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้ทุกคนได้คำตอบ แต่หนังสือเล่มนี้จะทำให้ตั้งคำถามใหม่ ๆ

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสที่เขากำลังเปิดตัวหนังสือนัดพูดคุยกับหนุ่มฮอตคนนี้ แม้จะอยากชวนคุยเรื่องเบา ๆ แต่เมื่อเริ่มคิดคำถามก็พบว่า เราหลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองไม่ได้จริง ๆ เพราะตัวตนและดีเอ็นเอของเขาคือคนการเมือง อย่างที่เจ้าตัวบอกว่า มีความสนใจมาก ๆ อยู่เพียงสองอย่าง คือการเมืองและฟุตบอล

Q : คุณเรียนจบปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ จากที่ร่ำเรียนมากับที่ได้มาสัมผัสการเมืองจริง ๆ มันมีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ถามว่าเหมือนหรือต่างกันไหม สิ่งที่ผมอาจจะไม่แปลกใจก็คืองานการเมืองมันเป็นงานที่ซับซ้อน แต่สิ่งที่เป็นอะไรที่แปลกใหม่ก็คือ ก่อนเข้ามาทำงานการเมืองเรานึกมาตลอดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้ความสามารถ แต่พอเข้ามาทำจริง ๆ แล้วผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดกลับไม่ใช่ความรู้ความสามารถ แน่นอนเราก็อยากให้นักการเมืองทุกคนมีความรู้ความสามารถ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความหนักแน่นในความเชื่อของตัวเอง เพราะเวลาเราพูดอะไรออกไปมันมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ถ้าคุณหวั่นไหวกับความคิดเห็น ท้ายที่สุดแล้วมันยากที่คุณจะทำอะไรให้ถูกใจคนทุกคน อย่างที่สาม ผมคิดว่าพอเข้ามาทำงานการเมืองมันก็ยังมีหลายมิติที่ยังไม่สะอาดอย่างที่เราต้องการ เราก็ต้องขีดเส้นจริยธรรมของเราให้ชัดเจน ว่าอันนี้คือสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง เราก็จะไม่หวั่นไหวเพียงแค่จะนำไปสู่ทางลัดในเชิงผลลัพธ์ ผมคิดว่าความหนักแน่นในความคิดของเราเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ตื่นขึ้นมาทุกเช้าเราต้องตอบได้ว่า เราเข้ามาตรงนี้เพื่ออะไร เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างไร เพราะถ้าเราเริ่มเสื่อมศรัทธาในความเชื่อตรงนั้นเราจะไม่มีพลังที่จะทำงาน

Q : แต่เราจะยึดมั่นรักษาอุดมการณ์เอาไว้ยากไหม ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อและในกติกาที่ไม่แฟร์อย่างเช่นรัฐธรรมนูญตอนนี้

ถึงแม้ว่าเราเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว แต่ผมก็ยังพูดไม่เต็มปากว่าประเทศเราเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว เพราะความเป็นประชาธิปไตยส่วนหนึ่งมันถูกกำหนดโดยกฎกติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาหลายมิติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงสำคัญมากในการพัฒนาระบบประชาธิปไตย อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า การพัฒนาประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบอย่างเดียว แต่เราต้องพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมให้เป็นประชาธิปไตยด้วย ทำยังไงให้ความเป็นประชาธิปไตยถูกซึมซับในทุกมิติของสังคม

Q : ตอนนี้จะพูดยังไงกับคนที่หมดหวังหรือคิดว่าอุดมการณ์ที่ยึดถือไว้มันผลักดันไม่ได้

ต้องยอมรับว่าคนรุ่นผมผิดหวังมากกับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา และหลายคนผิดหวังกับพฤติกรรมหลายอย่างที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยหรือขัดกับหลักจริยธรรมขั้นพื้นฐาน แต่สิ่งที่ผมพยายามจะสื่อมาตลอดก็คือว่า ความเป็นประชาธิปไตยมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ระบบ ไม่ว่าระบบมันจะถดถอยตกต่ำแค่ไหน ประชาธิปไตยมันไปข้างหน้าได้ตราบใดที่สังคมยังเชื่อมั่นและศรัทธาในประชาธิปไตยอยู่ ถ้าเราลองมองย้อนไปจุดที่ประชาธิปไตยตกต่ำที่สุด คือจุดที่มีการทำรัฐประหาร ผมคิดว่ารัฐประหารเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธาในประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถ้าทุกคนในประเทศออกมาบอกว่า เราจะไม่ยอมรับกับเรื่องนี้ ผมเลยมองว่ามันต้องพัฒนาอย่างคู่ขนานกัน

Q : ขอถามย้อนไปหลายเดือนหน่อย ตอนที่ออกจากพรรคประชาธิปัตย์มันเป็นความรู้สึกผิดหวังมากขนาดไหน หรือเป็นความรู้สึกยังไง

บนพื้นฐานของเหตุผลและอุดมการณ์ มันเป็นการตัดสินใจที่ชัดเจนมากด้วยสองเหตุผล อย่างแรก ผมมองว่าเป็นการรักษาสัจจะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศไว้ชัดก่อนเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ผมคิดว่านักการเมืองทุกคนควรจะรักษาคำพูดที่พูดไว้กับประชาชน ส่วนเหตุผลที่สอง ถึงแม้ว่าหัวหน้าพรรคไม่ได้ประกาศไว้อย่างนั้น ผมก็ยังมองว่าการเข้าร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐเป็นอะไรที่ขัดกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย มันมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ผมไม่มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐและพลเอกประยุทธ์เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยที่มีกติกาเป็นกลางและเป็นธรรมจริง

ในเชิงอุดมการณ์ผมคิดว่าผมตัดสินใจค่อนข้างชัดเจน แต่การลงมือลาออกจริงมันมีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะผมก็มีความผูกพันกับพรรคระดับหนึ่ง ผมเข้ามาสัมผัสกับพรรคประชาธิปัตย์ตอนอายุ 16 ตอนที่ผมเข้ามาฝึกงาน ฉะนั้นประชาธิปัตย์ก็เหมือนเป็นครูทางการเมืองที่ให้ความรู้กับผมว่างานการเมืองมันเกี่ยวข้องกับอะไร และมันก็มีความผูกพันกับตัวบุคคล แน่นอนการลาออกมาผมก็ไม่อยากให้มันทำลายความสัมพันธ์ส่วนตัว

Q : เศร้าไหม

ก็สะเทือนจิตใจเล็กน้อย คือเราคิดแล้วแหละว่าผลมติจะออกมาเป็นยังไง เราก็นั่งรอพร้อมกับจดหมายลาออกอยู่ที่ร้านกาแฟข้างพรรค พอผลออกมาเราก็เข้าไปเรียนกับหัวหน้าพรรค ผมได้โทรหาทุกคนที่ผมรู้สึกว่าผมต้องแจ้งให้ทราบ ก่อนที่จะโพสต์ประกาศกับสาธารณะในวันรุ่งขึ้น สะเทือนใจที่สุดน่าจะเป็นตอนที่ผมยื่นใบลาออกให้กับทีมงานในพรรค แล้วพี่เขาพูดว่า พี่ไม่รับได้ไหม มันก็เศร้าเหมือนกัน หลังจากออกมาก็ไม่ได้กลับเข้าไปอีกเลย

Q : คุณเป็นคนให้ความสำคัญกับอุดมการณ์มาก มีคนมากมายมองคุณด้วยความหวัง แต่ขณะเดียวกันก็มีคนจับตามองว่าอาจจะเหมือนคนอื่น ๆ ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ก็มีคนรุ่นใหม่ที่อุดมการณ์ดีแต่อยู่ ๆ ไปก็เปลี่ยน มันเป็นสไตล์ประชาธิปัตย์

ผมก็เลยไม่อยู่ไงครับ (หัวเราะเบา ๆ)

Q : คำถามคือว่า จะมีปัจจัยอะไรไหมที่ทำให้คุณทบทวนอุดมการณ์ของตัวเอง หรือมีผลต่อการที่คุณจะยืดหยุ่นอุดมการณ์ของคุณ

ผมคิดว่านักการเมืองทุกคนต้องทำงานอย่างมีอุดมการณ์ พรรคการเมืองเหมือนเป็นเมนูที่ประชาชนจะเลือกว่าอาหารประเภทไหน หรืออุดมการณ์แบบไหนที่เขาคิดว่าจะมาแก้ไขปัญหาของเขาได้ดีที่สุด ฉะนั้นหน้าที่ของพรรคการเมืองอย่างเราคือการทำการบ้าน พูดคุยกับประชาชนให้เยอะที่สุด ศึกษานโยบายที่ถูกใช้ในอดีตทั้งในประเทศและต่างประเทศ แล้วเรียบเรียงความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ที่เราคิดว่า ถ้าเราพาประเทศไปในทิศทางนี้ คุณภาพชีวิตของประชาชนจะดีขึ้น แล้วประชาชนจะเป็นคนตัดสินว่าอุดมการณ์หรือเมนูไหนที่ตรงใจของเขามากที่สุด

Q : ความต้องการของประชาชนในช่วงที่คุณหาข้อมูลจะมีผลให้ทบทวนอุดมการณ์หรือมีผลต่อการเปลี่ยนอุดมการณ์ไหม มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้คุณทบทวนอุดมการณ์หรือเปล่า

ผมคิดว่าพอเราตกผลึกแล้วว่าอุดมการณ์ของเราคืออะไร มันควรเป็นอะไรที่ยากที่จะเปลี่ยน มันไม่ควรจะเปลี่ยน กว่าเราจะมาตกผลึกเป็นอุดมการณ์ผมว่ามันต้องผ่านการทำการบ้านมายาวนานพอสมควร มันเหมือนเป็นวิทยานิพนธ์ที่ผ่านการทำวิจัยมายาวนาน ถ้าเราจะเปลี่ยนบทสรุปของวิทยานิพนธ์นั้นแสดงว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น ปัญหาประเทศมันเปลี่ยนไปจากเมื่อ 20-30 ปีก่อนเยอะมากจนเราต้องมาปรับหรือมาถกเถียงอุดมการณ์นั้น มันต้องเป็นจุดเปลี่ยนที่มีเหตุผลอยู่บนพื้นฐานของปัญหาของประชาชน ไม่ใช่ว่าเราเปลี่ยนความเชื่อเพราะเราต้องการก้าวหน้า เพราะเราต้องการไปรับตำแหน่ง

Q : หลังจากที่เรามีรัฐบาลมาสักพักแล้ว มองการทำงานของรัฐบาลชุดนี้เป็นยังไงบ้าง

ผมคิดว่าถึงแม้เรายังไม่กลับเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบ แต่อย่างน้อยพอมันมีสภา มีฝ่ายค้าน การตรวจสอบถ่วงดุลก็เข้มแข็งขึ้น การที่รัฐบาลจะเคาะโต๊ะทำอะไรแล้วไม่มีคนคัดค้านเลยมันก็ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ตอนนี้สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมี ซึ่งไม่มีเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาก็คือ เรามีตัวแทนของเราไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นกลไกการรับฟังปัญหา กลไกการสื่อสารปัญหาของเรา กลไกการแสดงความไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลทำมันมีมากขึ้น

Q : การเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองใช่ไหม

ย้อนกลับไปที่บอกว่าการพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็งแบ่งเป็นระบบกับสังคม ไม่ว่าระบบจะเป็นอย่างไร ผมอยากให้หนังสือเล่มนี้ทำให้คนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ใครที่ศรัทธาอยู่แล้วหวังว่าอ่านแล้วก็อาจจะไปกระตุกเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับประชาธิปไตย ใครที่ไม่ศรัทธาเลยก็หวังว่าอ่านแล้วจะคิดว่าประชาธิปไตยมันก็มีหลายอย่างที่ดีเหมือนกัน

Q : มีความคิดอยากเขียนหนังสือมาก่อนหน้านี้อยู่แล้วหรือเปล่า

ผมคิดว่าการเขียนหนังสือเป็นกระบวนการที่ล้ำค่ามากสำหรับคนเขียน เพราะมันเหมือนกับทำให้เราได้ทบทวนไตร่ตรองความคิดของตัวเอง ได้เห็นจุดบอด ได้เห็นจุดแข็งของความคิดเรามากขึ้น

Q : เช่นประเด็นไหนที่เอามาเขียนแล้วเราได้ไตร่ตรอง

อย่างคำถามที่ว่า ถ้าคนทั้งประเทศโหวตว่าไม่เอาประชาธิปไตย ประเทศเราจะยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ไหม เพราะว่าในมุมหนึ่งคุณบอกว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งและเคารพเสียงส่วนมาก ทีนี้ถ้าเสียงส่วนมากบอกว่า ไม่ต้องการประชาธิปไตย เราก็ไม่ควรเป็นประชาธิปไตยใช่ไหม หรือว่าเราควรจะยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยอยู่ อันนี้มันก็เปิดมุมมองใหม่ ๆ ว่าประชาธิปไตยมันน่าจะมีคุณค่าในตัวมันเองที่มากกว่าแค่กระบวนการเลือกตั้ง คือถ้าเรามองว่าประชาธิปไตยเป็นแค่กระบวนการ เราก็จะบอกว่าถ้างั้นประเทศเราก็ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ผมคิดว่าคุณค่าของประชาธิปไตยมาจากการที่มันเป็นระบบการปกครองที่เคารพความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และมันเคารพเสรีภาพ ฉะนั้นเราจะเข้าใจว่าการที่เรามาโหวตไม่เอาประชาธิปไตยมันขัดกับหลักการนี้ เพราะมันคือการโหวตเพื่อผลลัพธ์ที่ทำให้คนไม่มีเสรีภาพ ทำให้คนไม่มีความเท่าเทียมกัน

Q : ที่พูดมาสามารถตอบคำถามได้ทั้งหมดหรือยังว่าประชาธิปไตยดียังไง เราถึงต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา

อีกมุมหนึ่งที่ผมพยายามจะนำเสนอในหนังสือก็คือว่า เวลาพูดว่าประชาธิปไตยมีดีอะไร บางคนจะเชื่อมโยงข้อดีของประชาธิปไตยกับผลลัพธ์ ถ้าเราไปผูกมัดคุณค่าของประชาธิปไตยกับแค่ผลลัพธ์ ในวันที่ผลลัพธ์มันไม่ดี เราจะเสื่อมศรัทธาในประชาธิปไตยอย่างรวดเร็วมาก แต่ถ้าเราเชื่อว่าประชาธิปไตยมีดีจากคุณค่าในตัวมันเองในเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค เราจะยังเชื่อมั่นในประชาธิปไตยอยู่ แม้ในวันที่ผลลัพธ์มันออกมาไม่ดีอย่างที่เราคาดหวัง ฉะนั้นการเชื่อว่าประชาธิปไตยมีดีมันเป็นขั้นหนึ่ง แต่การตั้งคำถามกับตัวเองว่า ประชาธิปไตยมันมีดีเพราะอะไร ผมคิดว่าสำคัญในการเรียกความศรัทธาในประชาธิปไตย

จริง ๆ ในหนังสือมีหลายประเด็น เราก็พยายามสกัดเอาประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมปัจจุบัน บางประเด็นอาจจะละเอียดอ่อน ซึ่งผมคิดว่าคุณสมบัติหนึ่งของประชาธิปไตยคือเราต้องกล้าแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ละเอียดอ่อน ก็อยากชวนตั้งคำถาม ไม่ได้บอกว่า คำตอบของผมจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องสำหรับทุกคน แต่อย่างน้อยเป็นการตั้งคำถามให้ทุกคนมาคิดแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นใหม่ ๆ

Q : ชีวิตตอนนี้เป็นยังไง แบ่งเวลาชีวิตยังไงบ้าง

ส่วนตัวผมก็กำลังจะกลับเข้าสู่การทำงานประจำ ซึ่งยังไม่อยากเปิดเผย น่าจะเป็นการทำสตาร์ตอัพเพื่อสังคม และผมก็ยังจัดสรรเวลาเพื่อทำงานทางการเมืองอยู่ นั่นคือกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ที่พยายามรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังมีการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็น ทำงานเชิงความคิด มีการลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชน เพื่อที่เราจะได้อัพเดตตัวเองอยู่เสมอว่าประชาชนประสบปัญหาอะไรบ้าง ถ้าสักวันหนึ่งเราจะกลับเข้ามาทำงานการเมือง เราจะเสนอทางออกแบบไหนที่มันตอบโจทย์ปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่ เรื่องการแบ่งเวลาผมก็คุ้นเคยกับการทำงานสัปดาห์ละ 7 วันอยู่แล้วครับ ก็ต้องบริหารจัดการเวลาให้ครอบคลุมครับ

Q : กลับมาแน่ ๆ ใช่ไหม

ในที่สุดคงอยากกลับมาทำงานการเมืองครับ เพราะผมเชื่อว่าการพัฒนาประเทศที่รวดเร็วที่สุดและตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุดคือการทำงานทางการเมืองในระบบรัฐสภา

Q : ทำงาน 7 วันแล้วจะมีเวลาสำหรับส่วนตัวบ้างไหม

มีครับ ก็ต้องจัดสรรเวลาให้ดี ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำได้ดีกว่านี้คือการหา work-life balance เพราะผมเห็นเลยว่า ถ้าวันไหนที่เรานอนเพียงพอ 8 ชั่วโมงแล้ววันรุ่งขึ้นเรามีงานบรรยาย งานสัมภาษณ์ เรารู้สึกว่าประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น เราอธิบายความคิดเราชัดขึ้น เราให้สัมภาษณ์เป็นระบบมากขึ้น ฉะนั้นอยากให้มองว่าการจัดสรรเวลาพักผ่อนเป็นอะไรที่สำคัญ และมันนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ไม่ใช่ว่าพักผ่อนแล้วทำให้ทำงานได้ไม่เยอะ

Q : มีงานอดิเรก มีความชอบส่วนตัวเรื่องอะไรบ้าง

ฟุตบอลครับ ถ้ามีเวลาจะดูลิเวอร์พูลทุกนัดครับ กำลังเครียดอยู่คืนนี้ มีเตะตีสองถึงตีสี่ (แข่ง UCL กับเร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก นัดที่สอง) แล้วพรุ่งนี้ผมมีบรรยาย ผมจะดูยังไงให้ไปบรรยายรู้เรื่อง

Q : สถานการณ์ลิเวอร์พูลกำลังโชติช่วงเลยนะ

ดีในบ้านครับ แต่ว่าในยุโรปยังไม่ดีครับ ผมก็พยายามจะถอดบทเรียนจากความสำเร็จของลิเวอร์พูลมาใช้กับการเมืองเหมือนกัน ทีมลิเวอร์พูลตอนนี้ไม่มีใครที่ใหญ่กว่าสโมสร เราไม่สามารถบอกได้ว่าลิเวอร์พูลเล่นดีเพราะซาลาห์หรือเพราะมาเน่ คือเขาเล่นดีเพราะระบบ ทุกคนเข้าใจระบบ ทุกคนเชื่อในปรัชญาในสไตล์การเล่นของเจอร์เกน คลอปป์

Q : อย่างนี้เราพูดได้ไหมว่าคนที่สำคัญที่สุดคือคลอปป์

ก็พูดได้ แต่อย่างที่คลอปป์พูดตอนที่เขาไปรับรางวัลว่า ผู้จัดการทีมทุกคนก็ดีได้มากที่สุดคือเท่ากับนักเตะ เพราะฉะนั้นทุกคนมีบทบาทของตัวเอง ทุกคนเชื่อมั่นในสไตล์การเล่นที่ถูกถ่ายทอดออกมา ผมคิดว่าอันนี้เป็นอะไรที่สำคัญมากของนักการเมือง คือทำยังไงให้อุดการณ์ของพรรคมันใหญ่กว่าตัวบุคคล แต่ถ้ามีใครที่รู้สึกว่าไม่เชื่อมั่นในอุดมการณ์นั้นแล้วอย่างคูตินโญ่ และซัวเรสที่ย้ายออกไป ก็ต้องอย่าให้ประสิทธิภาพของทีมมันสั่นคลอน ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

Q : คิดว่าปีนี้แชมป์พรีเมียร์ลีกไหม

ไม่อยากพูดก่อนครับ เพราะว่าถ้าไม่ได้คนจะเอาบทสัมภาษณ์นี้มาล้อผม (หัวเราะ อารมณ์ดี)

Q : ฟุตบอลกับการเมืองนี่น่าจะได้มาจากอังกฤษ นอกจากสองย่างนี้มีมิติอื่นอีกไหมที่ซึมซับมา อย่างดนตรีที่นู่นเขาก็เด่น

ใช่ ๆ ถ้าเปิดเฟซบุ๊กผมจะมีแค่สองอย่าง เพื่อนผมยังหัวเราะเลยว่าเฟซบุ๊กผมมีแค่ข่าวการเมืองกับข่าวบอล ส่วนดนตรี ผมเป็นคนที่ไม่ได้อินกับดนตรีมาก ส่วนหนึ่งเพราะว่าตัวผมเองร้องเพลงแย่มาก เคยร้องเพลงได้ 0 หูรับฟังทำนองไม่ค่อยได้ ผมจะเครียดมากเวลาไปหาเสียง เพราะว่ามีบางช่วงที่เขาให้ผู้สมัครขึ้นไปร้องเพลง ผมดีใจมากตอน 2 เดือนก่อนเลือกตั้งเขาออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีกฎว่าห้ามผู้สมัครขึ้นเวทีไปร้องเพลง โอ้โห กฎนี้มีไว้เพื่อผมจริง ๆ (เล่าและหัวเราะอย่างสนุกสนาน) ผมดีใจมาก ต่อไปนี้ผมมีเหตุผลไปอ้างแล้วว่า ทำไมไม่ขึ้นเวทีร้องเพลง

Q : เรื่องสาว ๆ ล่ะ ตอนนี้คุยหรือคบใครอยู่ไหม


ก็… ขอให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ต้องมีการตั้งคำถาม (หัวเราะ) ขอเป็นพื้นที่เดียวของชีวิตผมที่ไม่ต้องมีการตรวจสอบ เพราะว่านักการเมืองควรจะต้องถูกตรวจสอบอยู่แล้ว ก็เลยขอตรงนี้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ถูกตรวจสอบครับ