ดงต้นแปก-ทุ่งไหหิน พลิกโฉมเมืองพวน โพนสะหวัน

ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร : เรื่อง-ภาพ

จากหลวงพระบาง บนถนนหมายเลข 13 เชื่อมต่อถนนหมายเลข 7 ที่สามแยกเมืองพูคูน ระดับความสูงเฉลี่ย 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เส้นทางรถสวนขึ้นเขาลงเขาสลับซับซ้อนด้วยโค้งไม่ต่ำกว่า 2,000 โค้ง กับอีก 6 ชั่วโมงบนรถโดยสารที่กำลังวิ่งเข้าสู่เมืองโพนสะหวัน เมืองเอกของแขวงเชียงขวาง สปป.ลาว สถานที่ตั้งของทุ่งไหหิน แหล่งโบราณสถานอายุไม่ต่ำกว่า 2,500-3,000 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อ 89 ปีก่อน Madeleine Colani นักโบราณคดีฝรั่งเศสได้เข้ามาบุกเบิกขุดค้นที่ทุ่งไหหิน และบริเวณข้างเคียงใน เขตทุ่งภูเพียงเชียงขวาง ผลการขุดค้นของ Colani พบความเกี่ยวพันระหว่างวัฒนธรรมหินตั้งที่แขวงหัวพัน กับวัฒนธรรมไหหิน ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็ก (Iron Age) โดย Colani ได้ทำงานภาคสนามพบหลุมดินหลาย ๆ หลุมรอบเสาหินตั้งและรอบไหหินถูกขุดเป็นแนวตั้งเพื่อเป็นที่เก็บกระดูกและสิ่งของเครื่องใช้อันเนื่องมาจากพิธีศพ สอดคล้องกับรอบ ๆ ไหหินก็พบหม้อดินเผาก้นกลมมีฝาปิด ที่ใช้บรรจุกระดูกมนุษย์เช่นกัน

การค้นพบของ Colani ได้ถูกอธิบายในภายหลังว่า กระดูกที่พบบริเวณเสาหินตั้งกับไหหินนั้น จัดเป็นการฝังศพครั้งที่ 2 (secondary burial) หรือการนำกระดูกจากการฝังศพครั้งแรกมาผ่านพิธีกรรม ระยะแรกอาจขุดหลุมใส่กระดูกไว้ในหม้อดินเผาฝังไว้รอบ ๆ ไหหิน ต่อมาก็เปลี่ยนจากหม้อดินเผามาบรรจุกระดูกคนตายไว้ในไหหินที่มีฝาปิดเลย โดยหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบแตกต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิมของชาวลาวและข่าที่ว่า ไหหินเหล่านี้เป็นไหเหล้าของขุนเจือง วีรบุรุษในตำนานของผู้คน 2 ฝั่งโขงที่ผูกเรื่องเป็นนิยายพื้นบ้านว่า ขุนเจืองทำสงครามชนะพวกแกว (ญวน) ด้วยการตีเมืองแกวปะกันได้สำเร็จ แล้วจึงเฉลิมฉลองชัยชนะและสั่งให้ทำไหเหล้าเจืองมาเลี้ยงผู้คนอยู่นานถึง 7 เดือน

เป็นที่มาในตำนานไหเหล้าเจือง ที่ปัจจุบันพบไหหินกระจัดกระจายอยู่ในเขตทุ่งภูเพียงเชียงขวางถึง 3 ทุ่ง โดยทุ่งแรก ซึ่งจัดเป็นทุ่งที่ใหญ่ที่สุด ระยะทางห่างจากเมืองโพนสะหวันแค่ 7.5 กม. พบไหหินประมาณ 200 ใบ และมีไหยักษ์หนักถึง 15 ตันอยู่ที่ทุ่งนี้ด้วย ส่วนทุ่งที่ 2 อยู่ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ 25 กม. มีไหหินประมาณ 90 ใบ และทุ่งสุดท้ายอยู่ห่างไปอีก 35 กม. พบไหหินอีก 150 ใบ

ไหหินเหล่านี้ได้เดินทางผ่านกาลเวลามาไม่ต่ำกว่า 2,500 ปี ผ่านศึกสงครามมาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ตามพงศาวดารเมืองพวน กองทัพแกวยกเข้าตีเมืองพวนหรือเมืองเชียงขวางในปัจจุบันในปี 2071 ต่อมาในปี 2417 เกิดศึกฮ่อธงแดงในแขวงเชียงขวางและฮ่อธงลายในเขตทุ่งเชียงคำ กลายเป็นชนวนให้สยามส่งกองทัพเข้ามาปราบฮ่อเข้ายึดเมืองพวน-เชียงขวางไว้ได้ ตามมาด้วยกรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในปี 2436 สยามเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ทำให้ฝรั่งเศสสามารถผนวกราชอาณาจักรลาวทั้งหมดเข้าไปไว้ในร่มธงอินโดจีนฝรั่งเศส รวมถึงเมืองเชียงขวางได้ถูก Commissaire ฝรั่งเศสเข้าปกครองจัดตั้งเป็นแขวงพวน อยู่ในเขตลาวภาคเหนือ

อย่างไรก็ตาม สงครามในเขตเมืองพวน-เชียงขวางไม่ได้จบลงในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามระหว่างเวียดนามเหนือกับฝรั่งเศสได้ขยายลงต่อเนื่องเข้าสู่ยุคสงครามเวียดนาม ในระหว่างปี 2507-2516 เชียงขวางและทุ่งไหหินได้กลายเป็นสมรภูมิรบครั้งสำคัญ เมืองคูน ซึ่งเป็นเมืองเอกของแขวงพวน

เชียงขวาง ในสมัยการปกครองของฝรั่งเศส ได้ถูกเครื่องบิน B52 ของสหรัฐระดมทิ้งระเบิดจนถูกทำลายแทบจะหมดทั้งเมืองจนกลายเป็นเมืองร้าง เหลือเพียงเศษซากวัดเก่า ธาตุฝุ่นร้าง และสถานที่ทำการโรงพยาบาลเก่าฝรั่งเศสสมัยอาณานิคมเท่านั้น

นับมาอีก 46 ปีจากวันสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 2516 ชาวพวนที่หนีภัยสงครามได้ย้อนกลับมาพลิกฟื้นเมืองเชียงขวางขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการย้ายที่ตั้งเมืองเอกจากเมืองคูน ที่ถูกระเบิดราบคาบมาตั้งเมืองใหม่ที่เมืองโพนสะหวัน ห่างจากตัวเมืองคูนในอดีตประมาณ 20 กม. สถานที่ตั้งเมืองใหม่อยู่ในแอ่งที่ราบเชียงขวางที่อุดมไปด้วยต้นแปกหรือต้นสนสามใบ ก่อเกิดภาพนาข้าวสลับ ดงต้นแปก ท่ามกลางสายลมหนาวที่พัดผ่าน ไหหิน เปิดแขวงเชียงขวางใหม่เข้าสู่การเป็นเมืองมรดกโลกแห่งใหม่ของ UNESCO ในปี 2562

ดงต้นแปก โปสการ์ดเก่า France indochine แสดงทิวทัศน์ เมืองคูน แขวงเชียงขวางเก่า แต่เรียกกันในภาษาเวียดนามว่า แขวงรัตนนินห์ มองผ่านดงต้นแปก หรือต้นสนสามใบ สัญลักษณ์สำคัญของทุ่งภูเพียงเชียงขวาง ที่ขึ้นอยู่ 1,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เปรียบเทียบกับดงต้นแปกบนถนนหมายเลข 7 ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองโพนสะหวันใหม่ (ภาพล่าง)

(ภาพล่าง) ที่ทำการไปรษณีย์อาณานิคม โปสการ์ดเก่า France Indochine แสดงที่ทำการไปรษณีย์เมืองคูน สมัยอาณานิคมฝรั่งเศส ปัจจุบันถูกระเบิดทำลายหมดสิ้นในสงครามเวียดนาม เปรียบเทียบกับ (ภาพบน) โรงพยาบาลเก่าฝรั่งเศส ที่ยังเหลือซากผนังอาคารบางส่วนรอดจากการทำลายล้างจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบิน B52