ทบทวนพระดำรัส “สมเด็จพระสันตะปาปา” ทรงบอกอะไรกับชาวไทยบ้าง

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนประเทศไทย นำความปลื้มปีติมาสู่คริสตชนคาทอลิกทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในระหว่างเยือนประเทศไทยเป็นเวลา 3 วัน สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัสแก่ผู้เฝ้ารับเสด็จ ซึ่งมีการเผยแพร่แก่สาธารณะ 2 ครั้ง ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ครั้งแรก ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล และครั้งที่สอง ณ สนามศุภชลาศัย


พระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ประทาน ณ ทำเนียบรัฐบาล มีประเด็นสำคัญที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงบอกกับนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต และพวกเราชาวไทย 8 ประเด็น ดังที่สรุปได้ต่อไปนี้

1.แสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้ผ่านการเลือกตั้ง อันเป็นก้าวสำคัญในการกลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย

2.ปัญหาของโลกในปัจจุบันเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อทุกส่วนของโลก ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติ และเรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความตั้งใจจริงและความเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อแก้ปัญหา

3.ปัจจุบันเราให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเงิน โดยมองข้ามมิติด้านจิตวิญญาณและคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่หากเราให้ความเคารพและยอมรับคุณค่าความแตกต่างในตัวเพื่อนมนุษย์ เราก็จะสร้างโลกที่แตกต่างและดีขึ้นเพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปได้

4.ชาวคาทอลิกในประเทศไทยจะพยายามสนับสนุนอัตลักษณ์ความเป็นไทย และจะเผชิญหน้ากับทุกสิ่ง ไม่ปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงเสียงเรียกร้องของพี่น้องที่ปรารถนาจะหลุดพ้นจากความยากจน ความรุนแรง และความอยุติธรรม

5.แผ่นดินไทยคือแผ่นดินแห่งอิสรภาพ ซึ่งอิสรภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถเติมเต็มความรับผิดชอบที่มีต่อกัน เพื่อเอาชนะความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น จำเป็นที่จะต้องพยายามให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการศึกษา อาชีพการงาน และบริการด้านสุขภาพ เพื่อที่จะสามารถบรรลุการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์และยั่งยืน

6.เรื่องผู้อพยพ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การอพยพย้ายถิ่นฐาน แต่อยู่ที่สถานการณ์อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพ ซึ่งเป็นปัญหาด้านจริยธรรมที่สำคัญยิ่งในยุคสมัยของเรา ขอให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินการด้วยความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่ผลักดันให้ประชาชนต้องหลบหนีออกจากประเทศของตน และส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย มีการจัดการและมีการควบคุม

7.ปีนี้ครบรอบ 30 ปี “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” เป็นโอกาสดีที่เราจะไตร่ตรองและดำเนินการด้วยความตั้งใจ และความเร่งด่วน เพื่อปกป้องชีวิต พัฒนาการด้านสังคม สติปัญญา โอกาสทางการศึกษา รวมทั้งการเติบโตทางด้านกายภาพ จิตใจ และจิตวิญญาณของเยาวชน ซึ่งอนาคตของประชากรของเราขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราจะรับประกันให้เยาวชนได้ดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในอนาคต

8.ณ ปัจจุบัน สิ่งที่สังคมของเราต้องการมากกว่ายุคสมัยใด ๆ คือ ผู้ส่งเสริมให้เกิด “ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” ผู้ที่มีความตั้งใจจริงที่จะทำให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อให้มนุษยชาติดำเนินชีวิตในความยุติธรรม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความสมัครสมานสามัคคี

สำหรับพระดำรัสที่สมเด็จพระสันตะปาปาประทาน ณ ทำเนียบรัฐบาล มีเนื้อความว่า

“เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ผู้นำบริหารบ้านเมือง ผู้นำศาสนา สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทุกท่าน ข้าพเจ้าขอขอบคุณที่ท่านได้ให้โอกาสแก่ข้าพเจ้าในการที่ได้มาอยู่ท่ามกลางท่านทั้งหลาย ทั้งยังได้ดำเนินการอำนวยความสะดวกแก่ข้าพเจ้าและคณะ เพื่อให้ได้มาเยือนผืนแผ่นดินไทยอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย และยังเป็นประเทศที่ยังคงรักษามรดกทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม อันได้แก่วัฒนธรรมการให้การต้อนรับ ซึ่งข้าพเจ้าได้ประสบด้วยตัวเอง และปรารถนาที่จะเป็นพยานยืนยันถึงสิ่งนี้ เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างประเทศและประชาชนทั่วโลก

ท่านนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าขอขอบคุณสำหรับการต้อนรับและคำปราศรัยของท่าน ช่วงบ่ายวันนี้ข้าพเจ้าจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เข้าเฝ้าเพื่อกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงเชิญให้ข้าพเจ้ามาเยือนราชอาณาจักรไทย

ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งถึงความปรารถนาดีของข้าพเจ้าที่มีต่อราชอาณาจักร และต่อรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอแสดงความเคารพอย่างสูงต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดียิ่งที่ได้มีโอกาสพบปะท่าน ผู้ซึ่งเป็นผู้ปกครองบริหารประเทศ ผู้นำทางศาสนา และสังคม ผ่านทางท่านทั้งหลายนี้ ข้าพเจ้าขออำนวยพรไปยังบรรดาปวงชนชาวไทยทุกคน ขอแสดงความเคารพนับถือต่อบรรดาทูตานุทูตทุกท่าน และในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้ผ่านการเลือกตั้ง อันเป็นก้าวสำคัญในการกลับมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย

ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ข้าพเจ้าสามารถมาเยือนราชอาณาจักรไทยในครั้งนี้

เราทั้งหลายทราบดีแล้วว่า ปัญหาของโลกในปัจจุบันเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อทุกส่วนของโลก เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวมนุษยชาติ และเรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความตั้งใจจริงและความเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหา

ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งในการที่ประเทศไทยกำลังจะหมดวาระของการเป็นประธานของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการร่วมแรงร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในภูมิภาคนี้ และยังเป็นหนทางในการที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นพหุวัฒนธรรม เป็นประเทศที่ยอมรับถึงความสำคัญในการสร้างความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยแสดงความเคารพและยกย่องต่อวัฒนธรรม ศาสนา และความคิดเห็นที่แตกต่าง

ปัจจุบันเป็นยุคของโลกาภิวัตน์ บ่อยครั้งเราให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเงิน โดยมองข้ามมิติด้านจิตวิญญาณและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของประชาชนของเรา หากเราให้ความเคารพและยอมรับคุณค่าความแตกต่างในตัวเพื่อนมนุษย์ เราก็จะสร้างโลกที่แตกต่างและดีขึ้นเพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปได้

ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจอย่างยิ่งต่อการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งศูนย์จริยธรรมและสังคม ซึ่งได้เชิญผู้แทนจากศาสนาต่าง ๆ
ในประเทศเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเขาเหล่านี้ในการที่จะรักษาความทรงจำทางจิตวิญญาณอันมีชีวิตของประชาชนในแง่มุมมองนี้ ข้าพเจ้าจะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อแสดงถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการสร้างมิตรภาพและการเสวนาระหว่างศาสนา อันจะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของสังคม และการเสริมสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม รู้จักรับฟัง และไม่มีการแบ่งแยก

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ชาวคาทอลิกแม้ว่าเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ในประเทศ จะพยายามอย่างเต็มความสามารถในการที่จะสนับสนุนอัตลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งปรากฏในเพลงชาติของท่าน ‘รักสามัคคี…รักสงบ…ไม่ขลาด…’ และพวกเขาเหล่านี้มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเผชิญหน้ากับทุกสิ่ง ไม่ปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงเสียงเรียกร้องของพี่น้องชายหญิงที่ปรารถนาจะหลุดพ้นจากความเป็นทาสของความยากจน ความรุนแรง และความอยุติธรรม

ผืนแผ่นดินของท่านได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินไทย คือแผ่นดินแห่งอิสรภาพ เราทราบกันดีแล้วว่า อิสรภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถที่จะเติมเต็มความรับผิดชอบที่เรามีต่อกันและกัน เพื่อเอาชนะความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพยายามให้ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา อาชีพการงาน และความช่วยเหลือด้านสุขภาพ เพื่อที่จะสามารถบรรลุถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์และยั่งยืน

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องของผู้อพยพ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การอพยพย้ายถิ่นฐาน แต่อยู่ที่สถานการณ์อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาด้านจริยธรรมที่สำคัญยิ่งในยุคสมัยของเรา เราไม่สามารถปฏิเสธวิกฤตการณ์ปัญหาผู้อพยพ วิกฤตการณ์นี้ไม่สามารถมองข้ามได้ ประเทศไทยเองเคยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่ต้อนรับผู้อพยพ โดยเฉพาะบรรดาผู้ต้องหลบหนีอย่างน่าเศร้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินการด้วยความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่ผลักดันให้ประชาชนต้องหลบหนีออกจากประเทศของตน และส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย มีการจัดการและมีการควบคุม

ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกประเทศจะจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของบรรดาผู้ย้ายถิ่นและผู้อพยพ ผู้ซึ่งต้องเผชิญภยันตราย ความไม่แน่นอน และการถูกเอารัดเอาเปรียบในการที่เขาแสวงหาเสรีภาพและชีวิตที่มีศักดิ์ศรีสำหรับครอบครัวตัวของตน พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงผู้อพยพ หากแต่ยังสะท้อนภาพลักษณ์ของสังคมของเราทุกคนด้วย เรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบรรดาสตรีและเด็กในยุคของเราที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง การถูกเอารัดเอาเปรียบ และการถูกบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาสในหลากหลายรูปแบบ

ข้าพเจ้าขอชื่นชมรัฐบาลไทย รวมทั้งบุคคลและองค์กรที่ได้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อแก้ไขปัญหาอันน่าเศร้าใจ และเปิดหนทางแห่งการดำเนินชีวิตที่มีศักดิ์ศรีแก่บุคคลเหล่านี้

ปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบ 30 ปีของ ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับเราในการที่จะไตร่ตรองและดำเนินการด้วยความตั้งใจแน่วแน่ ความพากเพียรพยายาม และความเร่งด่วน เพื่อปกป้องชีวิต พัฒนาการด้านสังคม สติปัญญา โอกาสทางการศึกษา รวมทั้งการเติบโตทางด้านกายภาพ จิตใจ และจิตวิญญาณของบรรดาเยาวชน อนาคตของประชากรของเราขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราจะสามารถรับประกันต่อเยาวชนของเราถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในอนาคต

สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทุกท่าน ปัจจุบันนี้สิ่งที่สังคมของเราต้องการมากกว่ายุคสมัยใด ๆ คือ ผู้ส่งเสริมให้เกิด ‘ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่’ ชายและหญิงที่มีความตั้งใจจริงในการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อให้ประชากรในครอบครัวมนุษยชาติจะดำเนินชีวิตในความยุติธรรม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความสมัครสมานสามัคคีฉันพี่น้อง ท่านทั้งหลายต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนในการที่จะพยายามให้ผลประโยชน์ร่วมกันไปทั่วถึงทุกหนแห่งของประเทศ นี่คือหนึ่งในภารกิจอันประเสริฐที่บุคคลบุคคลหนึ่งสามารถทำได้ด้วยความรู้สึกเช่นนี้


ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะให้ทุกท่านปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายของตนให้สำเร็จ และข้าพเจ้าวอนขอพระพรอันไพบูลย์จากพระเจ้า สำหรับประเทศ บรรดาผู้นำ และประชาชนชาวไทยทั้งมวล ข้าพเจ้าภาวนาวิงวอนขอให้พระเจ้าทรงนำท่านและครอบครัวของท่านในหนทางแห่งปัญญา ความยุติธรรม และสันติสุข”