ย้อนทบทวน 10 เหตุการณ์สำคัญระดับโลกที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2010

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง


สิ้นปี 2019 มีอีกความหมายหนึ่งนอกจากสิ้นปีก็คือ เป็นการสิ้นสุดทศวรรษ 2010 ซึ่งเป็นทศวรรษแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในช่วงเวลา 10 ปีที่ว่านี้ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี-วิทยาการ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ซึ่งหลาย ๆ เหตุการณ์ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโลกอย่างมาก แม้แต่เรื่องที่อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล่น ๆ อย่างการเปิดตัวภาพยนตร์ แต่กลับกลายเป็นว่าภาพยนตร์บางเรื่องมีส่วนสร้างวัฒนธรรมบางอย่างขึ้นมาเลยทีเดียว

ในโอกาสที่เราก้าวไปสู่ปีใหม่ และทศวรรษใหม่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ขอพาคนอ่านย้อนทบทวนว่า มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้างในทศวรรษที่กำลังจะผ่านไป เหตุการณ์เหล่านี้สำคัญอย่างไรในอดีตที่ผ่านมา และบางเหตุการณ์จะส่งผลอย่างไรต่อไปในอนาคต

(Photo by Jeff Gritchen/Digital First Media/Orange County Register via Getty Images)

2010 : แอปเปิลเปิดตัวไอโฟน 4 จุดเริ่มต้นสมาร์ทโฟนครองโลก

แม้ว่าสมาร์ทโฟนมีกำเนิดมาก่อนนั้น แต่จุดที่ถือว่าเป็นหลักไมล์สำคัญ เป็นการยกระดับสมาร์ทโฟน และทำให้สมาร์ทโฟนครองโลกจริง ๆ คือ วันที่ 24 มิถุนายน 2010 ที่แอปเปิลเปิดตัวไอโฟน 4 ที่มาพร้อมสเป็กใหม่ ๆ ล้ำ ๆ ณ เวลานั้น ทั้งหน้าจอความละเอียดสูง กล้องหลังคุณภาพดีพอที่จะใช้ทดแทนกล้องถ่ายรูปได้ และที่สำคัญ คือ กล้องหน้าคุณภาพดีของไอโฟน 4 นี่เอง ที่ได้สร้างวัฒนธรรม “เซลฟี” ซึ่งปฏิวัติพฤติกรรมการถ่ายรูปของคนทั่วโลกไปตลอดกาล

ผ่านมา 10 ปี สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง มีจอใหญ่กว่า ภาพคมชัดกว่าและเครื่องเร็วกว่า แต่มันก็ถูกพัฒนาขึ้นจากไอโฟน 4 ซึ่งได้รับการจัดอันดับว่า เป็นการออกแบบสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดตลอดกาลของแอปเปิลจนถึงทุกวันนี้

(Photo by PAUL ELLIS / AFP)

2011 : งานแต่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ชมการถ่ายทอดสด 22.8 ล้านคน

วันที่ 29 เมษายน 2011 งานแต่งแห่งทศวรรษของเจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทอันดับที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ กับแคทเธอรีน มิดเดิลตัน ถูกจัดขึ้นอย่างแกรนด์สมพระเกียรติของราชวงศ์ที่โด่งดังที่สุดในโลก ณ วิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และมีการประทับรถม้าพระที่นั่งไปยังพระราชวังบักกิ้งแฮม โดยมีประชาชนเฝ้าชื่นชมพระเกียรติตลอดเส้นทาง งานแต่งครั้งนั้นถือเป็นการแต่งงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมีผู้ชมการถ่ายทอดสดประมาณ 22.8 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ณ เวลานั้น

ระดับความยิ่งใหญ่ของงานนี้น่าจะยังครองสถิติความยิ่งใหญ่มากที่สุดในโลกอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่จำนวนผู้ชมการถ่ายทอดสดถูกทำลายสถิติไปแล้ว โดยงานแต่งงานของเจ้าชายแฮร์รี กับเมแกน มาร์เคิล เมื่อปี 2018 ที่มีผู้ชมการถ่ายทอดสดประมาณ 29 ล้านคน

ในทางหนึ่ง งานแต่งงานอันยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ชั้นสูงนั้นใช้งบประมาณไปมหาศาล แต่ในอีกทางหนึ่ง พิธีที่ว่านี้ก็สร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจอังกฤษได้ไม่น้อยเลย โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งตัวเลขเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่มีพิธีอภิเษกสมรส

2012 : เปิดตัว The Avengers การรวมตัวเหล่าฮีโร่ หนึ่งใน pop culture แห่งยุค 

การรวมตัวของเหล่าฮีโร่มาร์เวลในภาพยนตร์ The Avengers ที่แฟน ๆ รอคอยมาหลายปีได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2012 ด้วยจำนวนแฟนมาร์เวลที่มีจำนวนมากทั่วโลก The Avengers จึงสร้างปรากฏการณ์ความนิยมในทันที และประสบความสำเร็จเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในปีนั้น ด้วยรายได้ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นับจากนั้นมาเรื่องราวของเหล่าฮีโร่ทีมนี้ก็กลายเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในซีนของ pop culture ทั่วโลก โดยมีภาคต่อออกมาสานต่อความสำเร็จและสร้างความผูกพันกับแฟน ๆ ต่อเนื่อง ทั้ง The Avengers: Age of Ultron (2015), The Avengers: Infinity War (2018) และ Avengers: End Game (2019) ซึ่งล้วนแต่สร้างกระแสความนิยม และทำรายได้อย่างสวยงาม โดย Avengers: End Game นั้นขึ้นไปครองอันดับ 1 ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาล ด้วยรายได้ราว 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะเป็นการโค่นแชมป์เก่า Avatar ด้วยวิธีการที่ไม่สง่างามนัก แต่ในทางตัวเลข พวกเขาก็ทำสำเร็จไปแล้ว

2013 : เปิดตัว Frozen เจ้าหญิงดิสนีย์ยุคใหม่ ที่เป็น “ไอดอล” ของเด็กยุคนี้

ในยุคก่อน ๆ เราอาจจะมีเจ้าหญิงดิสนีย์หลายตัวละครที่เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาเด็กหญิงทั่วโลก แต่สำหรับเด็ก ๆ ในทศวรรษ 2010 เจ้าหญิงที่พวกเธอชื่นชอบคลั่งไคล้มากที่สุด ไม่มีใครอื่นนอกจาก เจ้าหญิงเอลซ่ากับเจ้าหญิงอันนา จาก Frozen เท่านั้น

Frozen ภาพยนตร์แอนิเมชั่นลำดับที่ 53 ของดิสนีย์ เปิดตัวในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2013 และกลายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ณ เวลานั้น โดยทำสถิติเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นทำเงินสูงสุดตลอดกาลมาเกือบ 6 ปี ด้วยรายได้ทั่วโลก 1,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะโดน The Lion King เวอร์ชั่น 2019 โค่นลงไปในปีนี้

ไม่เพียงแค่หนังที่ประสบความสำเร็จ อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ก็ประสบความสำเร็จเป็นประวัติการณ์ ยอดขายถล่มทลาย และครองอันดับ 1 ชาร์ตเพลงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอย่างชาร์ต Billboard 200 นานถึง 30 สัปดาห์ (แบบไม่ติดต่อกัน ถูกคั่นช่วงสั้น ๆ) มากกว่าสถิติของนักร้องสาวอะเดล (Adele) กับอัลบั้ม “21” ที่ทำไว้ 24 สัปดาห์ ด้วยสถิตินี้ทำให้อัลบั้ม Frozen เป็นอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ที่อยู่ในชาร์ตนี้นานที่สุด โค่นแชมป์เก่าอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ไททานิก (Titanic) ที่ทำสถิติไว้ 16 สัปดาห์

ความสำเร็จของ Frozen เรียกได้เลยว่าเป็นปรากฏการณ์ “Frozen take over the world” ในช่วงปีสองปีหลังจากหนังเรื่องนี้เข้าฉาย ไม่ว่าจะไปที่ไหน เราก็จะเห็นเด็กผู้หญิงสวมเสื้อผ้า สะพายกระเป๋า หรือใช้ของใช้อะไรสักอย่างที่มีรูปของเจ้าหญิงจาก Frozen จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังได้เห็นภาพเหล่านั้นอยู่ และไม่มีความนิยมสิ่งไหนที่มาแทนที่ได้

จากความสำเร็จในภาคแรก ดิสนีย์จึงสร้างภาพยนตร์ Frozen 2 ออกมาโกยรายได้ปิดท้ายทศวรรษนี้ โดยเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็ทำรายได้ใกล้จะแซงภาคแรกแล้ว

(Photo by VCG/VCG via Getty Images)

2014 : เที่ยวบิน MH370 สูญหายไร้ร่องรอย ปริศนาครั้งใหญ่ในวงการการบิน

วันที่ 8 มีนาคม 2014 เกิดโศกนาฏกรรมเครื่องบินโบอิ้ง 777 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 ที่บรรทุกลูกเรือและผู้โดยสารรวม 239 คน ออกเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ไปกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย

การหายไปของ MH370 เป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก มีความร่วมมือระดับนานาชาติทำการค้นหา โดยเริ่มต้นที่ทะเลจีนใต้ อ้างอิงจากเส้นทางบินปกติของเที่ยวบินนี้ และคำนวณจากระยะเวลาที่กัปตันติดต่อกับหอบังคับการภาคพื้นดินที่เวียดนาม หลังเครื่องออกจากมาเลเซีย 39 นาที

ต่อมามีข้อมูลจาก Inmarsat ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสารซึ่งพบความเคลื่อนไหวของ MH370 ก่อนที่จะหายไปจากเรดาร์ บอกว่า MH370 ไม่ได้บินไปตามเส้นทางปกติ แต่หลังจากเข้าสู่น่านฟ้าเวียดนามไม่นานก็มีการหันหัวเครื่องบินไปทางตะวันตกเฉียงใต้กลับไปทางคาบสมุทรมลายู พิกัดสุดท้ายที่พบ คือ เหนือน่านน้ำทะเลอันดามัน บริเวณที่เชื่อมต่อกับมหาสมุทรอินเดีย

การค้นหาดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกินเวลา 4 ปี จนถึงเดือนพฤษภาคม 2018 จึงยุติลง

กรณีนี้เป็นปริศนาครั้งใหญ่และลึกลับที่สุดในประวัติศาสตร์วงการการบิน หลายฝ่ายเชื่อว่าทางการมาเลเซียไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด จากนั้นมีทฤษฎีสมคบคิดมากมายถูกเสนอออกมาเรื่อย ๆ แต่ความจริงเป็นอย่างไรก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไป

(Photo by Bilgin Sasmaz/Anadolu Agency/Getty Images)

2015 : “ความตกลงปารีส” ก้าวสำคัญของความร่วมมือเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แม้ว่าจะมีการจัดตั้งกลไกภายใต้กรอบสหประชาชาติขึ้นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 1990 แต่ด้วยสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องเจรจาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ จนสามารถตกลงกันได้ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 21 (COP21) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2015 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เกิดเป็นความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า 1.ตั้งเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และกำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่า จะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยลงไปอีก จนถึงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส 2.ความตกลงฯครอบคลุมการดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความโปร่งใสของการดำเนินการ และการให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงทางการเงิน โดยรัฐภาคีต้องมีข้อเสนอการดำเนินการที่เรียกว่า nationally determined contribution (NDC) ของประเทศทุก ๆ 5 ปี

ความตกลงปารีส ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก โดยมีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกราว 195 ประเทศลงนามในความตกลงนี้ รวมถึงประเทศไทยด้วย

(Photo by Neilson Barnard/WireImage)

2016 : โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2016 โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันที่มาพร้อมสโลแกน “Make America Great Again” กับนโยบาย “America First” ชนะ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ได้เป็นประธานาธิบดี คนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา

หลังรับตำแหน่ง ทรัมป์ก็ดำเนินนโยบายหลายนโยบายที่แสดงให้เห็นว่า “อเมริกามาก่อน” ตามที่เขาหาเสียงไว้ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อ “อเมริกามาก่อน” ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อประชากรโลก และธุรกิจที่ไม่ใช่สัญชาติอเมริกัน เช่น สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงการค้า TPP เพราะทรัมป์คิดว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้อเมริกาเสียตำแหน่งงานให้ชาวต่างชาติ เขาต้องการทวงการจ้างงานคืนมาให้ชาวอเมริกัน, กำหนดภาษีนำเข้าจากจีนให้สูงขึ้น นำมาสู่การตอบโต้จากฝั่งจีน กลายเป็นสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ, นโยบายปฏิเสธผู้อพยพ และสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก, ด้านสิ่งแวดล้อม สหรัฐถอนตัวจากความตกลงปารีส เพราะทรัมป์เห็นว่าความตกลงนี้มีข้อจำกัดต่อภาคการผลิตมากเกินไปจนอาจจะทำให้บริษัทของสหรัฐต้องปิดตัวลง

จากนโยบายต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นผู้นำสหรัฐนั้น ส่งผลต่อโลกอย่างมากมายจริง ๆ

ถึงตอนนี้ ทรัมป์อยู่ในตำแหน่งมา 3 ปี เขาถูกสภาผู้แทนราษฎรยื่นชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วย 2 ข้อกล่าวหา คือ ใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภา อย่างไรก็ตามกระบวนการถอดถอนยังอีกไกล และในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกายังไม่มีประธานาธิบดีถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งแม้แต่คนเดียว

(Photo by ZACH GIBSON / AFP)

2017 : ปีที่ผู้หญิงส่งเสียงดังเรียกร้อง-ปกป้องสิทธิผ่าน Women’s March และ #MeToo

ปี 2017 ต้องนับว่าเป็นหลักไมล์ที่สำคัญของพลังหญิงที่ลุกขึ้นมาส่งเสียงดังเรียกร้องและปกป้องสิทธิของตัวเองในหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ในวันที่ 21 มกราคม 2017 เพียงหนึ่งวันหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ กลุ่มผู้หญิงและแนวร่วมทุกเพศในหลายประเทศรวมตัวกันเดินขบวนในชื่อการเคลื่อนไหวว่า Women’s March เพื่อต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อเพศหญิง และเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี สิทธิพลเมือง รวมทั้งเพื่อผลักดันสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในประเด็นต่าง ๆ

Women’s March เป็นการประท้วงระยะเวลา 1 วัน ที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา โดยมีการรวมตัวประท้วง 600 กว่าขบวนทั่วโลก มีผู้เข้าร่วมรวมกว่า 5 ล้านคน เฉพาะขบวนหลักที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีผู้เข้าร่วมกว่า 5 แสนคน นับแต่นั้นมาก็มีการนัดเดินขบวน Women’s March อย่างต่อเนื่องทุกปี ในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม

ต่อมาที่การเคลื่อนไหว #MeToo ซึ่งอันที่จริงแคมเปญ Me Too เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ก่อนจะเป็นกระแสแพร่หลายในเดือนตุลาคม 2017 หลังจากที่ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์หนังชื่อดังแห่งฮอลลีวู้ดโดนแฉว่า เขาล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงหญิงและผู้หญิงจำนวนมาก แล้วใช้อิทธิพลของตัวเองบีบบังคับผู้หญิงให้ปิดปากเงียบ

หลังจากเรื่องนี้ถูกเปิดเผย นักแสดงหญิงชื่อ อลิสสา มิลาโน (Alyssa Milano) ได้ทวีตข้อความชวนคนที่เคยโดนล่วงละเมิดทางเพศ หรือเคยโดนทำร้ายร่างกาย โพสต์คำว่า “Me Too” ในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้สังคมหันมาสนใจปัญหานี้มากขึ้น และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ #Me Too เป็นไวรัลแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว นับแต่นั้นมา #MeToo นำไปสู่ความตระหนักและการแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นการล่วงละเมิด และกลายเป็นขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์

REUTERS/Kai Pfaffenbach

2018 : ฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นใน 2 ทวีป และเป็นฟุตบอลโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องเหนือคาด

ในทศวรรษ 2010 มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 3 ครั้ง แต่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 เป็นฟุตบอลโลกที่น่าจับตามองที่สุดแห่งทศวรรษ เพราะเป็นฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายของซูเปอร์สตาร์แห่งยุคอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ และ คริสเตียโน โรนัลโด้ ที่ยังไม่เคยได้ชูถ้วยเวิลด์คัพ

ฟุตบอลโลก 2018 มีสถิติแปลกใหม่ มีความน่าสนใจหลายด้าน ตั้งแต่ก่อนแข่งจนกระทั่งปิดสนาม ทั้งเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นใน 2 ทวีป เนื่องจากว่า รัสเซีย ประเทศเจ้าภาพนั้นมีพื้นที่อยู่ในทั้งทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย อีกทั้งเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่มีการนำคะแนนแฟร์เพลย์มาใช้ตัดสินทีมที่จะได้เข้ารอบ ซึ่งทีมนั้นก็คือ ญี่ปุ่น

ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ ฟุตบอลโลก 2018 เป็นฟุตบอลโลกที่มีเรื่องผิดคาดมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ ทีมใหญ่ ๆ ต่างพากันตกรอบกลับบ้านก่อนเวลาอันควร ไล่มาตั้งแต่เยอรมนีที่ตกรอบแบ่งกลุ่ม อาร์เจนตินา สเปน โปรตุเกส ไปได้ไกลสุดแค่รอบ 16 ทีม ส่วนบราซิล แชมป์โลก 5 สมัย จอดป้ายที่รอบ 8 ทีม ในทางตรงกันข้าม ทีมที่อยู่นอกสายตากลับไปได้ไกลเกินคาด อย่างอังกฤษ ที่คว้าอันดับ 4 เบลเยียมไปถึงอันดับ 3 โครเอเชีย ทีมยอดนักสู้แห่งทัวร์นาเมนต์ คว้าอันดับ 2 ไปครองแบบชนะใจคนดูสุด ๆ ขณะที่แชมป์ตกเป็นของทีมชาติฝรั่งเศส ซึ่งเต็มไปด้วยนักเตะเชื้อชาติอื่นที่อพยพเข้ามาอาศัยในฝรั่งเศส ในยุคที่ประเด็นเรื่องผู้อพยพกำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน ฝรั่งเศสต้องยอมรับว่าความสำเร็จครั้งนี้ของพวกเขามาจากสายเลือดของผู้อพยพ ซึ่งคนในสังคมยังตั้งคำถามอยู่ว่า ควรเปิดรับมากหรือน้อยแค่ไหน

นอกจากประเด็นที่ยกตัวอย่างไปแล้ว ฟุตบอลโลก 2018 ยังเป็นโมเมนต์ความสนุกระดับโลกครั้งล่าสุดในทศวรรษนี้ ที่น่าจะยังอยู่ในความทรงจำของแฟนฟุตบอลทั่วโลกชัดเจนกว่าครั้งก่อน ๆ

Photo by – / EUROPEAN SOUTHERN OBSERVATORY / AFP

2019 : การถ่ายภาพหลุมดำครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าที่นำไปสู่การอธิบายความซับซ้อนของจักรวาล

เวลา 20.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) วันที่ 10 เมษายน 2019 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา เปิดเผยภาพหลุมดำที่ถ่ายได้โดยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุความถี่สูงของโครงการความร่วมมือทางดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ ชื่อโครงการ Event Horizon Telescope ที่มีเครือข่ายหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุ 8 แห่งทั่วโลก

ภาพหลุมดำภาพแรกเป็นหลุมดำกลางแกแล็กซี Messier 87 หรือ M87 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 53 ล้านปีแสง ส่วนอีกภาพเป็นภาพหลุมดำที่อยู่บริเวณ Sagittarius A* ใจกลางแกแล็กซีทางช้างเผือกที่โลกและระบบสุริยจักรวาลตั้งอยู่ หลุมดำนี้อยู่ห่างจากโลก 26,000 ปีแสง หรือราว 245 ล้านล้านกิโลเมตร

นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์เชื่อกันมานานแล้วว่า หลุมดำมีอยู่จริง แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงการมีอยู่ของมัน เมื่อมีการถ่ายภาพหลุมดำได้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นี่จึงเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่แสดงถึงการมีอยู่ของหลุมดำ และจะนำไปสู่การศึกษาค้นหาคำตอบที่สามารถอธิบายเกี่ยวกับจักรวาลและเอกภพได้ละเอียดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม 10 เหตุการณ์ระดับโลกที่ว่ามา ยังไม่มีเหตุการณ์ไหนที่เป็น “เรื่องใหญ่” สำหรับคนไทยมากเท่าการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) พระมหากษัตริย์นักพัฒนา ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2016 (พ.ศ. 2559) ซึ่งนั่นคือความสูญเสียครั้งใหญ่ที่ทำให้น้ำตาหลั่งไหลและเสียงร่ำไห้ดังขึ้นทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย

การสวรรคตของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 นำมาสู่การขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และนำมาสู่การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ซึ่งชาวไทยได้เห็นความยิ่งใหญ่และสวยงามของราชประเพณีนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนธันวาคมปีนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ใหญ่ของเมืองไทยในทศวรรษนี้