แนวคิดและหลักปฏิบัติที่น่าสนใจของ 3 บุคคลที่รวยที่สุดในโลก

AUSTIN, TX - MARCH 07: Bill Gates presents the keynote address during South By Southwest edu at the Austin Convention Center on March 7, 2013 in Austin, Texas. (Photo by Gary Miller/FilmMagic)

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (2017-2019) ลิสต์ 3 อันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจะวนเวียนอยู่ที่ เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) บิล เกตส์ (Bill Gates) และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet) ซึ่งหากเรานับจากสถิติตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ชื่อของเกตส์และบัฟเฟตต์ติดอันดับ 1-4 อย่างสม่ำเสมอ โดยเกตส์จะอยู่ที่อันดับ 1 และ 2 มีแค่ปีเดียวเท่านั้นคือในปี 2008 ที่ชื่อของเขาร่วงไปอยู่อันดับ 3 ส่วนบัฟเฟตต์นั้นก็จะวนเวียนอยู่ที่ 2-4 เคียงคู่มากับเกตส์เสมอ ขณะที่ชื่อของเบโซส์เพิ่งโผล่ขึ้นมาติดอันดับ 5 ในปี 2016 ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในปี 2017 และแซงหน้าทั้งบัฟเฟตต์และเกตส์ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในปี 2018 และ 2019

ความน่าสนใจแรกคือ อะไรทำให้ชื่อของทั้งเกตส์และบัฟเฟตต์ติดอยู่บน 4 อันดับแรกมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี และอีกความน่าสนใจคือ อะไรทำให้เบโซส์ก้าวกระโดดขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในเวลาเพียงไม่กี่ปี

ด้วยความน่าสนใจที่ว่า “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงหยิบยกแนวคิดและหลักปฏิบัติที่น่าสนใจบางประการ ที่มีส่วนทำให้มหาเศรษฐีระดับโลกทั้ง 3 คนมายืนอยู่ในจุดนี้ มาเล่าสู่กันฟัง

Warren Buffett (Photo by Paul Morigi/Getty Images for Fortune/Time Inc)

วอร์เรน บัฟเฟตต์ (ชาวอเมริกัน วัย 89 ปี)

ถึงแม้ว่า “ปราญช์แห่งโอมาฮา” จะประสบความสำเร็จจากการลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย แต่เมื่อมีคนถามเขาว่า การลงทุนในอะไรให้ความคุ้มค่ามากที่สุด เขาตอบว่า “ลงทุนกับตัวเอง”

บัฟเฟตต์ในวัยหนุ่มมีปัญหาในการสื่อสาร เขาลงทุนกับตัวเองด้วยการจ่ายเงิน 100 เหรียญสหรัฐ ลงเรียนในหลักสูตรการพูดของเดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) เขาบอกว่าการลงทุนกับตัวเองในครั้งนั้นเป็นหนึ่งในการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะช่วยให้เขามีความมั่นใจในการซื้อ-ขายหุ้น และกระทั่งขอภรรยาแต่งงาน

การอ่านก็นับเป็นการลงทุนกับตัวเอง และเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จ มีข้อมูลระบุว่า เขาใช้เวลาราว 5-6 ชั่วโมง หรือ 80% ของเวลางานไปกับการอ่าน บัฟเฟตต์อ่านหนังสือพิมพ์วันละ 5 ฉบับ (The Journal, The Financial Times, The New York Times, USA Today และ The Omaha World-Herald) และเอกสารรวมถึงหนังสืออื่นตามความเหมาะสม เขาบอกว่าการอ่านเป็นการเพิ่มพูนความรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นเหมือนดอกเบี้ยทบต้นที่อาจจะยังไม่เห็นผลในวันนี้ แต่จะคุ้มค่าอย่างแน่นอนในระยะยาว

นอกจากการลงทุนกับตัวเองแล้ว ความอดทนเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญต่อความสำเร็จของเขา ประสบการณ์ครั้งแรกคือ เมื่อเขาอายุ 11 ขวบ เขาซื้อหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่งในราคา 38 เหรียญ/หุ้น ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ราคาของหุ้นร่วงลงมาอยู่ที่ 28 เหรียญ/หุ้น แต่เมื่อมันถีบตัวขึ้นไปอยู่ที่ 40 เหรียญ/หุ้น เขารีบเทขาย เพราะเห็นว่าเริ่มทำกำไรได้ อย่างไรก็ดี หุ้นตัวดังกล่าวกลับพุ่งทะยานขึ้นไปถึง 200 เหรียญ/หุ้น ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดของโลกรายนี้เคยกล่าวว่า “ไม่ว่าคุณจะเก่ง มีความพยายาม หรือมีความสามารถสักแค่ไหน แต่บางสิ่งบางอย่างต้องใช้เวลา คุณไม่สามารถมีลูกได้ภายใน 1 เดือนโดยการให้ผู้หญิง 9 คนมาช่วยกันท้องได้หรอก”

ที่สำคัญ เป้าหมายในการลงทุนของเขาไม่ใช่เพียงจำนวนเงินที่เขาจะได้มาเท่านั้น แต่เขาลงทุนเหมือนการเล่นเกมที่เขาสนุกไปกับมันในชั่วขณะนั้น คล้ายปรัชญาเซนที่บอกว่า เราเดิน เพื่อที่จะเดิน หรือเราล้างจาน เพื่อที่จะล้างจาน เราไม่ได้หวังผลว่าเมื่อเราล้างจานเสร็จแล้วเราจะได้ไปดูทีวีหรือทำอย่างอื่นต่อ แต่ในขณะที่เราล้างจาน เราอยู่ในห้วงขณะของการล้างจานที่มีความหมายจริง ๆ เช่นเดียวกับบัฟเฟตต์ เขาลงทุน ไม่ใช่เพื่อคาดหวังว่าเมื่อเขาลงทุนในหุ้นตัวนี้ แล้วเขาจะต้องได้กำไรเท่าไร แต่เขาลงทุนเพราะเขาชื่นชอบในการลงทุนเท่านั้นเอง

Bill Gates (Photo by Christian Marquardt/Getty Images)

บิล เกตส์ (ชาวอเมริกัน วัย 64 ปี)

ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์รายนี้ เป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการจัดสรรเวลามากที่สุด หลักปฏิบัติที่น่าสนใจที่เขาทำเป็นประจำทุกปีคือ “สัปดาห์แห่งการคิด” (Think Week) เขาจะนั่งเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว เพื่อปลีกวิเวกอาศัยอยู่ในกระท่อมกลางป่าแห่งหนึ่งในโซนตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ตัดการติดต่อสื่อสารทั้งหมด (ยกเว้นกับผู้ดูแลที่จะยกอาหารมาให้ 2 มื้อ/วัน) และใช้เวลาตลอดสัปดาห์นั้นในการอ่านรายงานที่ได้มาจากทีมงานไมโครซอฟท์ ซึ่งส่วนมากจะเป็นแนวคิดของนวัตกรรมหรือการลงทุนที่น่าสนใจ เพื่อจดบันทึกและขบคิดถึงความเป็นไปได้ของไอเดียใหม่ ๆ หนึ่งในความสำเร็จของสัปดาห์แห่งการคิดคือ โปรแกรม Internet Explorer ในปี 1995 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคอินเทอร์เน็ต

นอกจากการใช้เวลา 1 สัปดาห์ที่ว่าในการ “โฟกัส” กับแนวคิดต่าง ๆ แล้ว ในชีวิตประจำวัน เกตส์ยังพกหนังสือไว้กับตัวเสมอ ซึ่งเขามักจะอ่านในช่วง “เศษเสี้ยวเวลา” ที่มี ระหว่างรอเข้าประชุม หรือระหว่างเดินทาง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด

สิ่งหนึ่งที่เกตส์และบัฟเฟตต์รวมถึงบุคคลที่ประสบความสำเร็จแทบจะทุกคนให้ความเห็นตรงกันคือ “จงทำในสิ่งที่ตนเองถนัดและสนใจ” ในขณะที่บัฟเฟตต์มีความหลงใหลในตัวเลข และเห็นประโยชน์ในการใช้ความสนใจและความสามารถของตัวเองไปกับการลงทุน เกตส์ในวัย 13 ปีก็ค้นพบว่าตนเองหลงรักคอมพิวเตอร์ตั้งแต่แรกพบ ถึงแม้ว่าอาจจะมีเรื่องของโชคอยู่บ้างที่ทำให้เขามีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ แต่เมื่อเขาพบและรู้ตัวว่านี่คือสิ่งที่เขารัก เขาจึงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับมัน ยอมโดดเรียนในวิชาที่ตัวเองเคยชอบ หรือแม้กระทั่งลาออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก และออกมาเปิดบริษัทไมโครซอฟท์ร่วมกับเพื่อนสนิทของเขาตอนอายุ 18 ปี จนค่อย ๆ กลายมาเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกอย่างทุกวันนี้

ในปัจจุบัน เขาปล่อยไมโครซอฟท์ให้ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) บริหาร ส่วนตัวเขาหันมาอุทิศชีวิตให้กับการกุศล เขาและเพื่อนนักลงทุนบัฟเฟตต์ ร่วมกันก่อตั้งโครงการ “The Giving Pledge” เพื่อรณรงค์ให้เหล่ามหาเศรษฐีร่วมบริจาคทรัพย์สินเพื่อการกุศล

เกตส์ระบุว่า “พวกเรา (เขาและภรรยา) คิดว่าความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานของคนที่มีเงินมาก ๆ คือ เมื่อคุณสามารถดูแลตัวเองและลูก ๆ ได้แล้ว คุณควรจะใช้เงินส่วนที่เหลือให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย”

Jeff Bezos (photo by Brent Lewis/The Denver Post via Getty Images)

เจฟฟ์ เบโซส์ (ชาวอเมริกัน วัย 55 ปี)

ในปี 1994 ก่อนที่จะก่อตั้งบริษัทแอมะซอน บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่คนนี้มีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานลำดับที่ 4 ของบริษัทเงินทุนชื่อดังอย่าง D.E. Shaw & Co. แต่เขารู้ดีว่าสิ่งที่ตอบโจทย์ในชีวิตเขาไม่ใช่การงานที่มั่นคง แต่คือโอกาสทางธุรกิจที่เขามองเห็นจากการขายหนังสือออนไลน์ เขาจึงตัดสินใจลาออกมา และอย่างที่เห็น วันนี้แอมะซอนเป็นบริษัทขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีข้อมูลระบุว่าบริษัทแอมะซอนใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากแอปเปิลและไมโครซอฟท์เท่านั้น

การลาออกทั้ง ๆ ที่มีหน้าที่การงานที่มั่นคงขนาดนั้น เรียกว่าเป็นการตัดสินใจแบบที่จะเสียดายน้อยที่สุดเมื่อมองกลับมา (The Regret Minimization Framework) เบโซส์กล่าวว่า “เมื่อคุณอายุ 80 คุณจะเสียใจในสิ่งที่อยากทำและไม่ได้ทำ มากกว่าเสียใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องงานหรือธุรกิจเท่านั้น คุณอาจจะรักใครสักคนหนึ่ง แต่คุณไม่กล้าบอก เมื่อเวลาผ่านไป คุณอาจจะกลับมานั่งเสียใจว่าทำไมวันนั้นถึงไม่กล้าบอกไป”

อีกหนึ่งแนวคิดของเบโซส์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ “วันแรก” (Day 1) ที่เขานำมาปรับใช้กับบริษัทตั้งแต่ช่วงก่อตั้ง (แถมยังนำมาตั้งเป็นชื่อตึกด้วย) เขาเปิดเผยที่มาที่ไปของแนวคิดนี้ไว้ในหนังสือถึงผู้ถือหุ้นในปี 2016 ว่าวันแรก เปรียบเสมือนไฟที่ลุกโชน เรามีความตื่นตาตื่นใจ เราทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า แต่สิ่งเหล่านี้มักจะค่อยเจือจางไปกลายเป็น “วันที่ 2” (Day 2) เมื่อเกิดความคุ้นชิน กลายเป็นความซ้ำซากจำเจ ซึ่งทำให้ธุรกิจอ่อนแอ เขารู้ว่าการจะทำให้ทุกวันเป็นวันแรกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็พอจะบอกถึงพื้นฐานของการรักษาวันแรกว่าจะต้องมีความเข้าใจลูกค้า ความสงสัยใคร่รู้ การปรับตัว และการตัดสินใจที่รวดเร็ว

นอกจากสองแนวคิดข้างต้นแล้ว เบโซส์ยังมีคติพจน์ที่นำมาปรับใช้กับแอมะซอนคือ “ทำงานให้หนัก ทำงานให้สนุก และร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์” (Work hard. Have fun. Make history.) มีคนเคยถามเขาว่า เราจำเป็นต้องทำงานหนักในสิ่งที่เราถนัดอยู่แล้วหรือไม่ เจ้าของแอมะซอนตอบว่า ลองคิดตาม สมมุติว่าคุณเก่งเลขมาก การคิดเลขเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ คุณก็จะเก่งเลขอยู่แค่นั้น แต่การฝึกฝนตัวเลขเหล่านั้นเพื่อมุ่งไปสู่จุดที่สูงขึ้นต่างหากคือความท้าทายและความยากที่แท้จริง”

ทั้งหมดทั้งมวลที่นำมาเล่าสู่กันฟัง อาจจะไม่ได้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า เหตุใดทั้งบัฟเฟตต์และเกตส์ถึงติดอันดับ 1 ใน 4 บุคคลที่รวยที่สุดในโลกมาโดยตลอด และอาจจะไม่ได้ให้คำตอบว่า ทำไมแอมะซอนของเบโซส์ถึงเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนทำให้เขามีทรัพย์สินแซงหน้าสองคนแรกไปได้ภายในเวลาไม่กี่ปี เพราะแน่นอนว่าความสำเร็จไม่มีสูตรตายตัว แต่ถึงอย่างนั้น ข้อมูลเหล่านี้อาจจะทำให้เราเห็นใจความสำคัญบางอย่างว่าอะไรเป็นแนวคิดและเส้นทางที่พวกเขาเลือกเดินจนไปถึงจุดที่พวกเขาอยู่ได้