หยุดความสูญเสีย… Metallica นำทีมศิลปินดังต่อต้านการฆ่าตัวตาย

ท้องฟ้าสีเทา : เรื่อง

วงการเพลงสากลได้สูญเสียบุคลากรคนสำคัญด้วยสาเหตุจากการฆ่าตัวตายไปแล้วหลายคน ยกตัวอย่างเฉพาะในปีนี้มีนักร้องดังถึงสองคนที่ฆ่าตัวตายเป็นข่าวช็อกโลก คือ คริส คอร์เนลล์ (Chris Cornell) นักร้องนำวงซาวนด์การ์เดน (Sound Garden) ในเดือนพฤษภาคม และเชสเตอร์ เบนนิงตัน (Chester Benning-ton) นักร้องนำวงลินคินพาร์ก (Linkin Park) ในเดือนกรกฎาคม

ถ้าย้อนไปนานกว่านั้น เมื่อ 26 ปีที่แล้ว เคิร์ท โคเบน (Kurt Cobain) นักร้องนำวงเนอร์วานา (Nirvana) ได้จบชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์ของตัวเองในวัยเพียง 27 ปีเท่านั้น

สิ่งที่เหมือนกันคือปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้พวกเขาฆ่าตัวตายคือพวกเขาอยู่ในภาวะ Depression ซึ่งบ้านเราเรียกว่าโรคซึมเศร้า

Depression หรือโรคซึมเศร้านั้นเป็นละอย่างกับอารมณ์โศกเศร้า เสียใจ ในทางการแพทย์อธิบายไว้ว่า โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติของสมอง เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน แต่คนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นผลมาจากความผิดปกติของจิตใจ

จากสถิติ ปี 2016 ในสหรัฐอเมริกามีการฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 121 ครั้ง ส่วนสถิติทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึงเกือบ 800,000 คน

เพราะการฆ่าตัวตายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จึงทำให้ศิลปินนักดนตรีดังหลายคนตระหนักว่าพวกเขาควรจะทำอะไรสักอย่าง

เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันต่อต้านการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) ศิลปินดังในวงการเพลงจึงได้เข้าร่วมแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสุขภาพจิตที่ชื่อว่า I’m Listening ที่เพิ่งเปิดตัวในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา

ศิลปินที่เข้าร่วมแคมเปญนี้มีหลายรุ่นหลายสไตล์ ไล่มาตั้งแต่วงเมทัลเบอร์หนึ่ง เมทัลลิกา (Metallica), คริสต์ โนโวเซลิก (Krist Novoselic) มือเบสวงเนอร์วานาที่สูญเสียเพื่อนร่วมวงไปเพราะโรคซึมเศร้า, ฮาลซีย์ (Halsey) นักร้องสาวอิเล็กโทรพ็อปสุดเปรี้ยว, ลอจิก (Logic) แรปเปอร์หนุ่มเจ้าของเพลงที่เอาเบอร์โทรศัพท์สายด่วนป้องกันการฆ่าตัวตายมาตั้งชื่อเพลง, ไมเคิล แองเจลาคอส (Michael Angelakos) นักร้องนำวงแพสชั่นพิต (Passion Pit) และวงนูเมทัล (Dis-terbed)

แคมเปญ I’m Listening ทำรายการพิเศษออกอากาศทางวิทยุทุกสถานีของ Entercom บริษัทบรอดแคสต์รายใหญ่ที่เป็นเจ้าของสถานีวิทยุในอเมริกามากกว่าร้อยสถานี ในช่วงสายวันที่ 10 กันยายน

ในรายการพิเศษนี้ เหล่าศิลปินได้แชร์ประสบการณ์เรื่องราวส่วนตัวของตัวเองในการต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิต และพูดคุยแนะนำแนวทางแก้ปัญหาให้ผู้ฟังที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงแนะนำวิธีพูดคุยดูแลเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่มีปัญหาสุขภาพจิต จะทำอย่างไรหากคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรู้จักกำลังประสบปัญหาภาวะซึมเศร้า และจะเข้าไปมีส่วนช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างไร นอกจากศิลปินดังแล้วก็ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเข้าร่วมพูดคุยด้วย

ก่อนหน้าจะถึงวันต่อต้านการฆ่าตัวตายโลกไม่กี่วัน เดฟ โกรห์ล (Dave Grohl) นักร้องนำวงฟู ไฟเตอร์ส (Foo Fighters) ซึ่งในอดีตเขาเป็นสมาชิกวงเนอร์วานาที่สูญเสียเพื่อนร่วมวงไปก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องภาวะซึมเศร้าด้วยเช่นกัน

เดฟบอกว่า “ภาวะซึมเศร้าคือโรคภัย ทุกคนมีวิธีข้ามผ่านมันในแบบของตัวเอง”

“สิ่งที่ยากที่สุดคือเมื่อต้องสูญเสียเพื่อนไป ผมคิดถึงครอบครัวและเพื่อนร่วมวงของพวกเขาทันที การทำใจกับความสูญเสียมันต้องใช้เวลานาน”

เขาบอกอีกว่า “สุขภาพจิตและภาวะซึมเศร้าคือสิ่งที่ผู้คนต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง”

แอ็กชั่นเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัว ความตระหนัก และความพยายามของคนดนตรีที่อยากช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทรมานของผู้ที่เผชิญโรคซึมเศร้า เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย

นอกจากการช่วยเหลือให้คำปรึกษาในแคมเปญนี้แล้ว ความตื่นตัวของศิลปินดังที่มีอิทธิพลต่อคนหมู่มากในครั้งนี้คงจะสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตระหนักและทำความเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของตัวเองหรือของคนอื่น

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการตื่นตัวเรื่องโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา สวนทางกับสถิติของ WHO ที่บอกว่า 78 เปอร์เซ็นต์ของการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง