เจ้าชายแฮร์รี่-เมแกน ลดบทบาท สั่นสะเทือนราชวงศ์อังกฤษแค่ไหน

Photo by Chris Jackson/Getty Images

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

เรื่องราวในราชสำนักอังกฤษได้รับความสนใจจากผู้คนทั้งโลกเสมอมา ยิ่งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ช็อกวงการที่คู่รักคู่ขวัญแห่งราชวงศ์อังกฤษ เจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ และเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ ประกาศผ่านทางอินสตาแกรม sussexroyal เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2563 ว่า ทั้งสองจะทรงลดบทบาทการเป็นสมาชิกชั้นสูงของราชวงศ์อังกฤษ สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก จนเกิดเป็นแฮชแท็ก Megxit ที่ล้อมาจาก Brexit

หลังจากที่เจ้าชายแฮร์รี่และพระชายาออกแถลงการณ์ที่มีนัยว่าต้องการแยกตัวออกจากราชวงศ์ ต่อมาวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2563 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็มีรับสั่งให้พระราชวงศ์ชั้นสูงมาเข้าเฝ้าฯและหารือกันเพื่อหาทางออกของเรื่องนี้ ก่อนจะออกแถลงการณ์ว่า ทั้งพระองค์เองและพระบรมวงศานุวงศ์ต่างต้องการให้เจ้าชายแฮร์รี่และพระชายาปฏิบัติพระกรณียกิจเต็มเวลาในฐานะพระบรมวงศานุวงศ์ตามเดิม แต่ก็ทรงเคารพและเข้าพระทัยในความปรารถนาของทั้งสองที่อยากสร้างชีวิตใหม่ในฐานะครอบครัว

ต่อมา ในวันที่ 18 มกราคม 2563 สมเด็จพระราชินีนาถทรงออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ สรุปใจความได้ว่า พระองค์สนับสนุนความประสงค์ของหลานชายที่อยากมีชีวิตอิสระมากขึ้น พระองค์เห็นถึงความท้าทายที่ทั้งสองต้องเจอตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พระองค์ขอบคุณที่ทั้งสองปฏิบัติงานทั้งในประเทศและประเทศเครือจักรภพอื่น ๆ และมีข้อความซึ้ง ๆ อย่าง “ทั้งสองยังคงเป็นสมาชิกอันเป็นที่รักของครอบครัวอยู่เสมอ” และ “เป็นความหวังของทุกคนในครอบครัวที่ว่า ข้อตกลงในวันนี้จะอนุญาตให้พวกเขาเริ่มสร้างชีวิตใหม่ที่มีความสุขและสงบสุข”

พร้อมกันนั้น สำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมออกแถลงการณ์บทสรุปของเรื่องดังกล่าว สรุปได้ว่า เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนจะไม่มีบทบาทในการประกอบพระกรณียกิจในฐานะราชวงศ์ รวมถึงต้องสละยศทหาร และจะไม่รับการถวายเงินสาธารณะในการประกอบพระกรณียกิจอีกต่อไป แต่ยังคงฐานะองค์อุปถัมภ์ขององค์กรและสมาคมต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนส่วนพระองค์ ซึ่งจะไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติพระกรณียกิจในฐานะผู้แทนองค์สมเด็จพระราชินีนาถอีกต่อไป ทั้งสองจะไม่ได้ใช้คำนำหน้าพระเกียรติเป็น His/Her Royal Highness (HRH) และจะทรงคืนเงินภาษีที่นำมาใช้ปรับปรุงพระตำหนักฟร็อกมอร์ ซึ่งจะยังคงใช้เป็นที่ประทับในสหราชอาณาจักรต่อไป ส่วนเรื่องการอารักขาถวายความปลอดภัย ซึ่งมีกระบวนการเสรีในการจัดการถวายความปลอดภัยโดยภาษีประชาชนนั้น สำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมไม่มีความเห็น ทั้งนี้ ข้อสรุปทั้งหมดจะมีผลในฤดูใบไม้ผลิปีนี้

วันที่ 19 มกราคม 2563 เจ้าชายแฮร์รี่ กล่าวว่า พระองค์เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้เรื่องมาถึงจุดนี้ การตัดสินใจลดบทบาทในราชวงศ์นั้นผ่านการพูดคุยกันมาหลายเดือนหลังจากพิจารณาถึงอุปสรรคและความท้าทายที่เผชิญมาหลายปี พระองค์ตระหนักว่าไม่ได้แก้ปัญหาอย่างถูกต้องเท่าไรนัก แต่จนถึงขณะนี้มันไม่มีทางเลือกเป็นอื่นได้

ในสถานการณ์ร้อนที่คนทั่วโลกกำลังจับจ้องและยังมีความเคลื่อนไหวออกมารายวัน “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” อยากชวนไปย้อนดูว่าอะไรที่เป็นปัญหาสาเหตุที่ทำให้เรื่องเดินมาถึงจุดนี้ และชวนหาคำตอบว่า การที่เจ้าชายแฮร์รี่และพระชายาลดบทบาท ถอยหลังออกจากการเป็นสมาชิกชั้นสูงในราชวงศ์ ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือเป็นการถอยห่างจากครอบครัวที่เคยรักใคร่สนิทสนมกัน จะส่งผลกระทบสั่นสะเทือนต่อราชวงศ์อังกฤษมากหรือน้อยแค่ไหน

Photo by Chris Jackson/Getty Images

ปมปัญหาที่ทำให้เจ้าชายแฮร์รี่ต้องบอกลาราชวงศ์

แม้ในแถลงการณ์ระบุแต่เพียงว่า จะทรงลดบทบาทเพื่ออิสระทางด้านการเงินที่มากขึ้น แต่ก็เป็นที่คาดเดาได้ว่ามีสาเหตุมากกว่านั้น เพราะล่าสุดก็ทรงเปิดเผยว่า ทรงมีปัญหามาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ลองย้อนดูความเคลื่อนไหวในหน้าสื่อมวลชนนับตั้งแต่เจ้าชายแฮร์รี่เสกสมรสกับเมแกนเมื่อดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 เริ่มมีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวในทางลบของเมแกนออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น แหล่งข่าวใกล้ชิดราชวงศ์อังกฤษ ระบุว่า สมเด็จพระราชินีนาถทรงตักเตือนเจ้าชายแฮร์รี่เกี่ยวกับความยุ่งยากเรื่องเยอะของเมแกน ทำให้สื่อเริ่มขุดคุ้ยเรื่องราวต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนพิธีเสกสมรส ซึ่งประเด็นความเรื่องเยอะก็ถูกตอกย้ำด้วยการที่ผู้ช่วยส่วนตัวของเมแกนลาออกหลายคนติดต่อกัน ไปจนถึงมีข่าวว่าเมแกนเคยทำให้เจ้าหญิงเคต พระชายาเจ้าชายวิลเลียมร้องไห้ เพราะถูกกดดันเกี่ยวกับชุดเพื่อนเจ้าสาว ฯลฯ

แต่ข่าวใด ๆ ก็ไม่ทำให้ประชาชนอึดอัดใจเท่ากับการใช้เงินภาษีอย่างไม่ระมัดระวัง สำนักข่าวเดลี่เมล์ (Daily Mail) รายงานว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 เมแกนพร้อมเพื่อนคนดังจัดงานเบบี้ชาวเวอร์ในห้องแกรนด์เพนต์เฮาส์สวีต ราคาคืนละ 75,000 ดอลลาร์ ซึ่งตลอดทริปรวมเป็นค่าใช้จ่ายราว 500,000 ดอลลาร์ (กว่า 15 ล้านบาท)

ในช่วงกลางปี 2562 เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนใช้เงินภาษีประชาชนราว 2.4 ล้านปอนด์ (ราว 94 ล้านบาท) เพื่อซ่อมบำรุงพระตำหนักฟร็อกมอร์ที่จะใช้เป็นที่ประทับ

ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ที่สร้างความไม่พึงพอใจให้ทั้งสื่อและประชาชนในประเทศอังกฤษเป็นอย่างมาก จนทั้งสองพระองค์ได้รับการขนานนามว่าเป็น “คนหน้าซื่อใจคด” (hypocrites) ก็คือกรณีที่ทั้งสองใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวบินไปเที่ยวที่อีบีซา ซึ่งก่อนหน้าเจ้าชายแฮร์รี่ก็ทรงนั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเพื่อไปร่วมงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่จัดโดยบริษัทกูเกิล ทั้งที่ก่อนหน้านั้นทั้งคู่ทรงวางแผนว่าจะไม่มีบุตรเกินสองคนเพื่อ “ช่วยเหลือโลก” หรือการรณรงค์ให้ผู้คนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมผ่าน “การกระทำ” แต่การกระทำของทั้งสองพระองค์กลับขัดต่อสิ่งที่เคยพูดไว้

ดิ เอ็กซ์เพรส (The Express) สำรวจความเห็นประชาชนชาวอังกฤษจำนวน 6,226 คน ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 76 (4,721 คน) เห็นด้วยว่าราชวงศ์ใช้เงินภาษีของประชาชนมากเกินไป

นอกจากนั้น สื่อหลายสำนักในอังกฤษยังรายงานถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างเจ้าชายวิลเลี่ยมและเจ้าชายแฮร์รี่ สองพี่น้องที่เคยรักใคร่กันมาก โดยเริ่มเห็นถึงความไม่ลงรอยกันจากการที่เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนทรงย้ายที่ประทับออกจากวังเคนซิงตันที่เคยประทับร่วมกับเจ้าชายวิลเลี่ยมและเคต และล่าสุดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าชายแฮร์รี่ ระบุว่า ทั้งสองกำลังเดินอยู่บนคนละเส้นทาง

Photo by Joe Giddens/PA Images via Getty Images


เหตุการณ์นี้กระทบต่อราชวงศ์อังกฤษมากน้อยแค่ไหน?

เหตุการณ์นี้อาจจะส่งผลกระทบต่อราชวงศ์อังกฤษน้อยกว่าที่สื่อประโคมข่าว เพราะในความเป็นจริงแล้วการที่เจ้าชายแฮร์รี่ผู้เป็นรัชทายาทลำดับที่ 6 ทรงสละฐานันดรนั้นแทบจะไม่มีผลต่อความมั่นคงของราชวงศ์ แต่หากลองนึกภาพว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเจ้าชายวิลเลี่ยม รัชทายาทลำดับที่ 2 ซึ่งเป็นสายตรงที่จะสืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป เรื่องคงไม่จบเร็วแบบนี้ สมเด็จพระราชินีนาถคงจะไม่ยอมเข้าพระทัยและสนับสนุนอย่างที่ทรงออกแถลงการณ์ หรืออย่างวิกฤตการณ์สละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ที่เป็นประเด็นใหญ่โตมากเพราะทรงเป็นถึงกษัตริย์เอง

ไซมอน เจนกินส์ (Simon Jenkins) คอลัมนิสต์จากเดอะการ์เดี้ยน (The Guardian) ระบุถึงเหตุการณ์นี้ว่า ราชวงศ์ไม่ได้อยู่ในวิกฤตแต่อย่างใด ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์จะยังสามารถอยู่ได้อย่างปกติสุข เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แทบจะไม่มีผลอะไรเลย การที่คนในประเทศตื่นตระหนกอาจจะเป็นเพราะสื่อหลักที่ประโคมข่าวเหมารวมถึงภาพเจ้าชายหนุ่มที่ออกไปทำสงคราม แต่งงานกับหญิงสาวสวยและกำลังเขย่าราชบัลลังก์ แต่ไม่นานก็จะจางไป ราชวงศ์อังกฤษเคยจัดการกับเรื่องที่เลวร้ายกว่านี้มาแล้ว ราชวงศ์อยู่รอดได้ เพราะราชวงศ์ไม่มีความสำคัญ ไม่มีอิทธิพลใด เป็นเพียงศูนย์รวมคนในชาติในรูปแบบของตัวบุคคล

ถึงแม้การลดบทบาทของทั้งสองจะไม่กระทบต่อราชวงศ์ในแง่การสืบทอดและความอยู่รอดของราชวงศ์แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกและความเป็นครอบครัวแน่นอน เราพอจะเห็นข้อมูลที่สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานนี้จากที่สื่อรายงานข่าวว่า เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนไม่ได้กราบทูลให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงทราบถึงการตัดสินพระทัยครั้งนี้ อีกทั้งไม่ได้มีการหารือกับพระบิดาและพระเชษฐา ซึ่งการทำเช่นนี้อาจทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์ได้

ฟิล แดมเปียร์ (Phil Dampier) จากสำนักข่าวเดลี่เอ็กซ์เพรส (Daily Express) วิเคราะห์ว่า ลึก ๆ แล้ว สมเด็จพระราชินีนาถทรงเสียพระทัยอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะทรงเอ็นดูเจ้าชายแฮร์รี่มาก ถึงแม้พระองค์บอกว่า ทรงสนับสนุนการตัดสินพระทัยของทั้งสองอย่างเต็มที่ แต่ทุกคนรู้ดีว่าความจริงพระองค์ก็ทรงเสียพระทัยมิใช่น้อย


นอกจากสมเด็จพระราชินีนาถแล้ว เหตุการณ์นี้ทำให้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงผิดหวัง เพราะที่ผ่านมาทุกคนยอมประนีประนอมให้กับข้อเรียกร้องของทั้งคู่มาโดยตลอด โดยเฉพาะทางฝั่งเจ้าชายวิลเลี่ยม พระเชษฐาที่รักกันดีมาตลอดเวลา 30 กว่าปี แต่ล่าสุดเจ้าชายผู้พี่ได้แสดงความเสียพระทัยต่อเรื่องนี้ อ้างอิงที่หนังสือพิมพ์เดอะซันเดย์ไทม์ส (The Sunday Times) นำเสนอข่าวว่า พระองค์ทรงบอกกับพระสหายว่า “ฉันโอบกอดน้องชายของฉันมาตลอดชีวิตของพวกเรา แต่ฉันไม่สามารถทำอย่างนั้นได้อีกแล้ว เราแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง”