จิบกาแฟ อ่านประชาชาติ @สตาร์บัคส์-อเมซอนทั่วกรุง

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง-ภาพ

หากนึกถึงบรรยากาศในร้านกาแฟยอดนิยมอย่าง “สตาร์บัคส์” และ “คาเฟ่ อเมซอน” นอกจากเราจะเห็นรายการเครื่องดื่มที่หลังบาร์ เครื่องทำกาแฟ เหล่าบาริสต้า และผู้คนที่มานั่งดื่มกาแฟ พูดคุย ทำงาน เหล่านักเรียนนักศึกษาที่มาติวหนังสือกันแล้ว อีกโซนหนึ่งที่เห็นในทุกร้านก็คือ ชั้นวางหนังสือ ที่มักจะอยู่ติดกับชั้นวางอุปกรณ์ที่ใช้ในการดื่มกาแฟ ซึ่งตามชั้นวางเหล่านั้น มีทั้งนิตยสารแจกฟรี นิตยสารเล่ม และหนังสือพิมพ์อีกเป็นจำนวนหนึ่ง หากเดินเข้าไปใกล้ ๆ จะเห็นหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” วางอยู่ในนั้นด้วย

หนังสือพิมพ์ นิตยสารวางอยู่ในร้านกาแฟเป็นภาพคุ้นตาที่เห็นมานมนานแล้ว อาจจะคล้ายกันกับที่เราเข้าร้านทำผมหรือร้านเสริมสวยแล้วเจอนิตยสารความงาม แฟชั่น และบันเทิง ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน เราจะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส และในยุคเดียวกันกับที่ผู้คนกำลังง่วนอยู่กับการงานบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ภาพของคนที่นั่งไขว่ห้าง วางโทรศัพท์คว่ำไว้บนโต๊ะ และกางหนังสือพิมพ์อ่านในร้านกาแฟยังคงพบเห็นได้เป็นปกติ ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า สื่อหนังสือพิมพ์ที่ดูเหมือนจะถูกดิสรัปต์และน่าจะเลือนหายไปจากการมาถึงของสื่อออนไลน์ก็ยังคงได้รับความสนใจอยู่

แม้ว่าที่ผ่านมาในประเทศไทยจะมีหนังสือพิมพ์ นิตยสารปิดตัวไปจำนวนมาก และอีกจำนวนมากที่ปรับตัวแปลงร่างเป็นสื่อออนไลน์ 100% เพื่อลดต้นทุน และหวังตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัลมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยโหยหา “หนังสือพิมพ์” ด้วยหลาย ๆ เหตุผล

ด้วยความเชื่อว่ายังมีคนอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ “ประชาชาติธุรกิจ” หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจฉบับแรกของประเทศไทย อยู่เคียงข้างคนอ่านมานานถึง 44 ปี ก้าวข้ามผ่านวิกฤตมาหลายรอบ จึงยังคงยืนหยัดรักษาการนำเสนอคอนเทนต์ผ่านรูปเล่ม “หนังสือพิมพ์” ต่อไป

ขณะเดียวกัน “ประชาชาติธุรกิจ” ก็ปรับตัวเองเพื่อรับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น ด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและบทวิเคราะห์ที่เข้มข้นภายใต้สโลแกน “เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว” เพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงในทุกแพลตฟอร์ม คือ ทั้งหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ (prachachat.net) และโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก (facebook.com/PrachachatOnline), ทวิตเตอร์ (@prachachat) และไลน์ออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์ (@prachachat)

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอ “คอนเทนต์” ที่ให้ผู้อ่านได้ฟังมุมมองข้อเท็จจริงจากกูรูตัวจริงเสียงจริง ในรูปแบบกิจกรรมเวทีสัมมนาทางเศรษฐกิจและเทรนด์ธุรกิจเป็นประจำ ปีละ 4-5 งานอีกด้วย

แม้ว่ายังยืนหยัดที่จะทำ “หนังสือพิมพ์” อยู่ แต่อีกโจทย์ยากที่คนทำหนังสือพิมพ์ต้องเผชิญในกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นอันเชี่ยวกรากก็คือ การขาดพื้นที่นำเสนอออกสู่สายตาผู้อ่าน เนื่องจากว่าสื่อสิ่งพิมพ์เจอปัญหาดิจิทัลดิสรัปชั่นไปพร้อม ๆ กันกับร้านขายหนังสือ ในอดีตร้านขายหนังสือ แผงหนังสือพิมพ์เคยมีอยู่แทบทุกแหล่งชุมชน แต่ตอนนี้ร้านเหล่านั้นต่างปิดตัวกันไปใกล้จะกลายเป็นสิ่งหายากเข้าไปทุกที ส่งผลให้หนังสือพิมพ์เข้าถึงผู้อ่านน้อยลง จากที่เคยวางอยู่บนแผงแล้วมีคนเดินผ่านกวาดสายตามองวันละหลายร้อยหรือหลายพันคนต่อแผง กลับกลายเป็นว่า หนังสือพิมพ์ค่อนข้างหาซื้อยาก หลายครั้งที่ทีมผู้สื่อข่าวของเราได้รับคำถามว่า “เรื่องนี้อยากซื้อเก็บ แต่หาซื้อไม่ได้ จะหาซื้อที่ไหนได้บ้าง”

ในสถานการณ์แบบนี้ หนังสือพิมพ์จะทำอย่างไรให้คนที่ยังอยากอ่านหนังสือพิมพ์หาหนังสือพิมพ์อ่านได้ง่ายขึ้น รวมถึงจะหาคนอ่านรายใหม่ ๆ ได้อย่างไร

คำตอบหนึ่งก็คือ การออกไปหาคนอ่าน ให้คนอ่านได้พบเจอหนังสือพิมพ์ง่ายขึ้น โดยการเอาหนังสือพิมพ์ไปวางในร้านกาแฟ ซึ่งเป็นเทรนด์การใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน และน่าจะยังอยู่ในเทรนด์ไปอีกนาน

จากแนวทางที่ว่านี้ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจึงนำหนังสือพิมพ์เข้าไปวางในร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์” จำนวน 150 สาขาทั่วกรุงเทพฯ โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา และอีก 100 สาขาของร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” ก็ได้เริ่มเข้าไปวางเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้

การที่ “ประชาชาติธุรกิจ” เลือกนำหนังสือพิมพ์เข้าไปวางในร้านกาแฟแบรนด์ดังทั้งสอง เพราะทั้งสตาร์บัคส์และคาเฟ่ อเมซอน นับว่าเป็นร้านกาแฟที่เป็นอันดับ 1 ในตลาดที่แต่ละแบรนด์แข่งขันอยู่ มีสาขาและผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายของร้านกาแฟเหล่านี้ในสาขาที่อยู่กรุงเทพฯ ก็มีความสอดคล้องกับกลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่อาศัยอยู่ในเมือง เป็นคนทำธุรกิจ-ทำกิจการซะส่วนมาก และขณะเดียวกัน นอกจากออกไปหาคนอ่านเดิมของเรา ทางหนังสือพิมพ์ก็คาดหวังจะหาคนอ่านหน้าใหม่ ๆ ด้วย

เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของหนังสือพิมพ์ที่ยังคงได้รับความสนใจจากผู้อ่านอยู่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่ไปที่ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ สาขาใจกลางเมือง และได้พูดคุยกับกลุ่มผู้อ่านจำนวนหนึ่งถึงความเห็นที่มีต่อหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน ซึ่งทุกความเห็นล้วนมีแง่มุมที่น่าสนใจ ย่อยออกมาได้ 6 แง่มุม ดังนี้

1.หนังสือพิมพ์มีความน่าเชื่อถือมากกว่าสื่อออนไลน์ : การอ่านข่าวทางช่องทางออนไลน์ ต้องพิจารณาและตรวจสอบแหล่งที่มา เพราะมีความเสี่ยงที่จะเจอข่าวปลอมมากกว่า เมื่อเทียบกับหนังสือพิมพ์ที่ผู้อ่านสามารถเชื่อมั่นในแบรนด์ได้ ทำให้มั่นใจว่าข่าวสารที่ได้รับมีความถูกต้องและคลาดเคลื่อนน้อยกว่า

2.การอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ทำให้ไขว้เขวน้อยกว่าอ่านข่าวจากทางโทรศัพท์ : การอ่านข่าวบนอุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือทำให้มีแนวโน้วที่จะไขว้เขวไปทำอย่างอื่น เช่น การตอบข้อความ รับ-ส่งอีเมล์ ฯลฯ ได้มากกว่าการอ่านข่าวบนหนังสือพิมพ์ที่เราละสายตาจากอุปกรณ์สื่อสารมาตั้งแต่แรก

3.การอ่านข่าวบนกระดาษสบายตากว่าการอ่านบนหน้าจอ : การอ่านหนังสือพิมพ์กระดาษสบายตากว่าการอ่านบนจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถึงแม้ว่าเทคโนโลยีทางด้านจอภาพในปัจจุบันจะดีขึ้นมาก แต่เมื่อเทียบกับสิ่งพิมพ์แล้ว การอ่านบนจอก็ยังทำให้รู้สึกเมื่อยล้ากว่าอยู่ดี

4.หนังสือพิมพ์เป็นเหมือนจดหมายเหตุ : เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน บางเหตุการณ์ก็เป็นเหตุการณ์ที่ควรค่าแก่การจดจำ การที่ยังคงมีหนังสือพิมพ์เล่มอยู่ทำให้ผู้อ่านตามซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับที่ต้องการ เพื่อเก็บเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าการบันทึกภาพลงในโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์

5.การอ่านหนังสือพิมพ์ให้ความรู้สึกที่มากกว่าการอ่านข่าวบนโลกออนไลน์ : หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่ผู้อ่านคุ้นเคยมาอย่างยาวนาน ทั้งตัวกระดาษ รูปเล่ม กลิ่นหมึกพิมพ์ หรือแม้กระทั่งท่วงท่าที่ใช้ในการนั่งอ่าน ทั้งหมดเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากการอ่านข่าวผ่านทางโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์

6.หนังสือพิมพ์ยังคงเป็นที่นิยมสำหรับคนเจเนอเรชั่นก่อน : แม้ว่าทุกคนที่เราได้มีโอกาสพูดคุยจะเสพข่าวสารผ่านทางช่องทางออนไลน์เป็นหลัก แต่ทุกคนให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า หนังสือพิมพ์ยังคงมีความสำคัญต่อ “ผู้ใหญ่” อยู่ เพราะคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ หรือเจเนอเรชั่นก่อนหน้าก็ยังคงบริโภคข่าวสารผ่านทางหนังสือพิมพ์เป็นหลัก

จากการพูดคุยสอบถามลูกค้าของร้านกาแฟทำให้เราเห็นว่า การอ่านหนังสือพิมพ์ยังคงมีคุณค่าในแบบที่หาไม่ได้จากการอ่านข่าวผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ถึงอย่างนั้น การอ่านข่าวบนอินเทอร์เน็ตก็มีคุณค่าในตัวเองที่หาไม่ได้จากการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ด้วยเหมือนกัน อย่างคุณค่าที่เด่นชัดที่สุดคือความรวดเร็วทันเหตุการณ์ ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากทั้ง 2 ช่องทางให้สมดุล น่าจะดีกว่าการเลือกรับข้อมูลข่าวสารจากเพียงช่องทางใดช่องทางหนึ่ง

เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเอง ที่นอกจากจะให้ความสำคัญต่อการปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้อ่านในโลกออนไลน์ ทั้งการมีเว็บไซต์ (prachachat.net), เฟซบุ๊ก (PrachachatOnline), ทวิตเตอร์ (@prachachat) และไลน์ออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์ (@prachachat) ในขณะเดียวกัน เรายังคงให้คุณค่าต่อหนังสือพิมพ์อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าตอนนี้ผู้อ่านยังสามารถหาซื้อหนังสือประชาชาติธุรกิจได้ตามร้านหนังสือและแผงหนังสือทั่วไป และถ้าใครที่หาซื้อไม่ได้ ก็ลองมองหาเราในร้านกาแฟสตาร์บัคส์และอเมซอนก็ได้ เรามีวางในสตาร์บัคส์ 150 สาขา อเมซอน 100 สาขา น่าจะพบเจอกันได้ง่ายขึ้นมาก ๆ

ลองคิดดูสิว่า การดื่มกาแฟในร้านที่นั่งสบาย แอร์เย็น ๆ แล้วยังมีหนังสือพิมพ์คุณภาพให้อ่านคู่กันไปอีก ชั่วโมงกาแฟของคุณจะอร่อยขึ้นขนาดไหน