พลภัทร์ เตชะหรูวิจิตร ทายาทโรงแรมเอเชีย ผู้หลงใหลงานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง ชลาธิป รุ่งบัว : ภาพ

กลุ่มตระกูล “เตชะหรูวิจิตร” ปลุกปั้น “โรงแรมเอเชีย” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 ด้วยทุนจดทะเบียน 17 ล้านบาท ในปัจจุบัน โรงแรมเอเชียเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท เอเชียโฮเต็ล จำกัด (มหาชน) ที่มีกิจการโรงแรมทั้งหมด 6 แห่งทั่วประเทศ (รวมโรงแรมเอเชีย กรุงเทพ ที่ราชเทวี) และยังดำเนินธุรกิจศูนย์การค้า “เซียร์ รังสิต” ที่เป็นศูนย์การค้าทางด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ และยังมีธุรกิจให้เช่าช่วงพื้นที่และศูนย์การค้า “เซียร์ โอเวอร์ซี” ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

จากวันที่ก่อตั้งจนถึงตอนนี้ เป็นเวลากว่า 50 ปีที่บริษัท เอเชียโฮเต็ล ภายใต้การบริหารของกลุ่มตระกูลเตชะหรูวิจิตรสามารถฟันฝ่าอุปสรรค และเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาเป็นธุรกิจที่มีรายได้ต่อปีระดับ “พันล้าน” จากทั้งธุรกิจโรงแรมและศูนย์การค้า ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้บริหารในตระกูลมาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว

หากจะพูดถึงสมาชิกรุ่นที่ 4 ของตระกูล หนึ่งในนั้นก็จะมีชื่อของ เฟิร์ส-พลภัทร์ เตชะหรูวิจิตร ลูกชายวัย 32 ปี ของ สุรพล เตชะหรูวิจิตร ผู้มีดีกรีการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านการอบรมหลักสูตรกรรมการ “Director Certification Program” (DCP) ซึ่งเข้ามาทำงานในธุรกิจของตระกูลแล้วหลายปี นอกจากนั้นยังเคยได้ยินมาว่าเขามีงานอดิเรกที่ทำเป็นประจำอย่างการเป็นอาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งด้วย

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” เห็นถึงความน่าสนใจของหนุ่มทายาทนักธุรกิจใหญ่คนนี้ จึงได้ขอเข้าไปพูดคุยกับเขา ณ สำนักงานของบริษัท เซียร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ใน “เซียร์ รังสิต” นั่นเอง

พลภัทร์ในวัย 32 ปี มีความรับผิดชอบในธุรกิจครอบครัวที่หลากหลาย ทางด้านธุรกิจศูนย์การค้า เขานั่งตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัท เซียร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเขามีส่วนดูแลทั้งงานบริหาร งานขาย การตลาด งานอีเวนต์ งานโฆษณา อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในงานดูแลงานด้านนโยบาย กำหนด และควบคุมทิศทางของบริษัทด้วย ส่วนงานโรงแรมเอเชีย เขาก็เข้ามาเป็นกรรมการ บริษัท เอเชียโฮเต็ล จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561

นอกจากธุรกิจของครอบครัวแล้ว ผู้บริหารวัยหนุ่มคนนี้ยังมีกิจการส่วนตัวที่เขาดูแลด้วยตัวเอง 100% เป็นกิจการหอพักสำหรับคนงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ชื่อหอพัก “The 1st” ที่มี 4 อาคาร รวมกว่า 200 ห้อง ซึ่งเขาบอกกับเราว่า เมื่อเทียบกับกิจการครอบครัว The 1st เป็นเหมือนลูกเจี๊ยบตัวเล็ก ๆ ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการบริหารงานด้วยตัวเอง

ถึงแม้เจ้าตัวบอกว่า กิจการหอพักของเขาเปรียบเหมือนลูกเจี๊ยบ แต่ก็คงจะเป็นลูกเจี๊ยบที่ตัวใหญ่ไม่ใช่น้อย เพราะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ปีละประมาณ 50% แต่กว่าที่เขาจะทำได้แบบนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เขาบอกกับเราว่าเขาโชคดีที่มีคุณพ่อและคุณปู่ผู้เป็นปรมาจารย์ในแวดวงธุรกิจ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขามาถึงตรงนี้ได้

พลภัทร์เล่าว่า “มีเรื่องหนึ่งที่คุณพ่อเล่าถึงวิธีการบริหารงานให้ฟัง ซึ่งผมจำแล้วนำมาปรับใช้จนถึงทุกวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารคน คือ การบริหารคนให้ได้ประสิทธิภาพ ต้องเกิดจากการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณพ่ออยากเปลี่ยนบรรยากาศโดยการเปลี่ยนที่ประชุม และต้องใช้หลายฝ่ายในการจัดการที่ทาง ในตอนแรก คุณพ่อโทร.เรียกช่างแอร์ คุณพ่อก็เรียกให้เขามาที่เครื่องแอร์หมายเลข 345 พอเป็นฝ่ายบัญชี คุณพ่อก็บอกให้เขามาที่แคชเชียร์หมายเลข 3 พอโทร.หาฝ่ายขายพื้นที่ คุณพ่อก็บอกว่าให้มาที่ร้านยายอิ่ม ซึ่งทั้ง 3 ข้อความมีใจความเดียวกันคือ ให้คนเหล่านั้นมาที่พิกัดที่คุณพ่ออยู่ สิ่งที่คุณพ่อผมจะบอกคือ เราจะต้องสื่อสารในสิ่งที่คนฟังเข้าใจ ไม่ใช่พูดแค่ในสิ่งที่เราเข้าใจอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้ผมสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกอย่าง ทั้งในความรับผิดชอบต่อธุรกิจครอบครัวและธุรกิจส่วนตัว”

นอกจากการทำงานในธุรกิจของตระกูลและธุรกิจส่วนตัวแล้ว เขาก็ให้ความสำคัญกับชีวิตด้านอื่น ๆ ด้วย เขามีงานอดิเรกสุดโปรดที่เขาใช้คำว่าเป็น “อาชีพรอง” เลยทีเดียว นั่นก็คือ การเป็นที่ปรึกษา และอาสาสมัครกิตติมศักดิ์ของแผนกอาสาสมัคร มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ข้อมูลตรงนี้ยิ่งทำให้น่าสนใจว่า อะไรที่ทำให้ทายาทนักธุรกิจระดับพันล้านมาใส่ใจในงานมูลนิธิอาสาสมัคร และทุ่มเทเวลามากขนาดนั้น

พลภัทร์เล่าถึงที่มาที่ไปของความสนใจในงานอาสาสมัครว่า คุณปู่ของเขา (กำพล เตชะหรูวิจิตร มีตำแหน่งเป็นรองประธานและกรรมการเลขาธิการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ก่อนที่จะถึงแก่กรรมในปี 2556) พาไปออกหน่วยแพทย์ชุมชนมาตั้งแต่ 5-6 ขวบ ในระหว่างที่รอคุณปู่ ก็จะมีคนในมูลนิธิมาคอยคุย คอยเล่าให้ฟังว่าแต่ละหน่วยมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ทำให้พอรู้เรื่องราวของมูลนิธิมาตั้งแต่ยังเด็ก จนกระทั่งอายุได้ 17-18 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดเหตุภัยพิบัติสึนามิถล่มทางตอนใต้ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2547 ในตอนนั้น ตัวเขาก็ได้ไปช่วยงานพัสดุ งานรับของบริจาค และมีโอกาสลงพื้นที่จริงเป็นครั้งแรกในชีวิต อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่ในครั้งนั้น เขายังไม่มีประสบการณ์ใด ๆ ทำให้ค่อนข้างเสียดายที่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้เท่าที่ควร

“ตอนภัยพิบัติสึนามิ ผมอยากไปช่วย แต่พอไปถึงสถานที่จริงแล้ว เรารู้สึกว่าเราไปเกะกะพวกพี่ ๆ อาสาสมัคร เรายังไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้คนเลย” เขาเล่าความรู้สึก

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เขามีความตั้งใจจะเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้คน โดยการเข้าไปฝึกร่วมกับหน่วยอาสาสมัครของมูลนิธิ ตั้งแต่การเรียนรู้งานกู้ภัย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การฝึกดับเพลิงในตู้คอนเทนเนอร์จำลองสถานการณ์ เรียนรู้วิธีโรยตัวจากที่สูงเพื่อช่วยผู้ประสบเหตุจากอาคาร รวมถึงการดำน้ำด้วย

เขาเล่าติดตลกว่า “ผมไม่เคยไปดำน้ำดูปะการัง ดูทะเลแบบชาวบ้านเขาเลย ประสบการณ์การดำน้ำที่มีก็มาจากการฝึกและทำงานร่วมกับมูลนิธิทั้งนั้น”

ในปี พ.ศ. 2554 มีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ เขามีความพร้อมด้วยประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้และฝึกปรือมา เขามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ทั้งการย้ายผู้ป่วยจากบ้านในตอนกลางคืน การแจกจ่ายอาหารจากจุดศูนย์กลางบริจาค และกระจายไปยังผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนวันละหลายแสนชุด หรือแม้กระทั่งการเก็บศพหรือการล่าจระเข้ที่หลุดออกมาจากฟาร์ม ซึ่งเขาบอกว่า ความท้าทายของภารกิจเหล่านี้คือ นอกจากจะต้องใช้ความสามารถที่เรียนรู้มาในการช่วยเหลือผู้คนในสถานการณ์จริงแล้ว ยังต้องมีสติในการรักษาระดับน้ำมันของเรือที่ส่งเข้าไปช่วยเหลือให้เพียงพอต่อระยะทางในการไปและกลับออกมาจากพื้นที่ด้วย

มีอีกเหตุการณ์ที่เขาเล่าอย่างตื่นเต้นว่า ในสมัยที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาค่ำที่เขาเลิกเรียนและกำลังขับรถกลับบ้าน มีเหตุเกิดที่บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 7 เขาเห็นอาสาสมัคร “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เขตชานธน” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยที่เขารู้จักกำลังช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอยู่ เขาจึงจอดรถลงไปดู เผื่อมีอะไรที่พอจะช่วยเหลือได้ ซึ่งในวันนั้น เขามีส่วนช่วยเจ้าหน้าที่ในการงัดผู้ประสบเหตุออกจากรถ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าจดจำในการทำงานอาสาสมัครมูลนิธิ

นอกจากการลงพื้นที่ตามแต่เวลาหรือสถานการณ์จะเอื้ออำนวยแล้ว เขายังแวะเวียนไปช่วยฝึกสอนเหล่าอาสาสมัครของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่เป็นกลุ่มอาสาสมัครหน่วยย่อยที่ลงไปตามต่างจังหวัด ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ได้เทียบเท่ากับเหล่าอาสาสมัครในศูนย์ใหญ่ได้

ในปัจจุบัน เขามีส่วนร่วมในการสร้างแอปพลิเคชั่น “ป่อเต็กตึ๊ง” ที่ช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุของเหล่าอาสาสมัคร โดยให้ผู้แจ้งเหตุถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุ เพื่อประเมินสถานการณ์ และใช้แผนที่ออนไลน์ในการเข้าถึงพื้นที่อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากความยากลำบากของเจ้าหน้าที่และจากประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครมานาน ทำให้เขามองเห็นและมีส่วนในการช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น

ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะต้องทำงานแทบจะไม่มีวันหยุด ทั้งธุรกิจครอบครัว ธุรกิจส่วนตัว และงานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง แต่เขาก็ยังสามารถจัดการเวลาให้ตัวเองผ่อนคลายไปทำสิ่งอื่นที่สนใจได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือเป็นแกนนำในการรวมกลุ่มเพื่อนสมัยเรียนมัธยมในฐานะประธานรุ่น (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) ได้อย่างไม่ตกหล่น

เขากล่าวปิดท้ายการสนทนาด้วยรอยยิ้มว่า “ในตอนนี้ ผมเพิ่งอายุเท่านี้ ผมยังสามารถทุ่มเททำอะไรได้เต็มที่ หรือแม้กระทั่งในด้านการบริหารธุรกิจ เวลาผมสงสัยอะไร ผมยังสามารถเดินไปถามผู้ใหญ่ได้ ซึ่งเราก็ต้องทำต้องถามให้เต็มที่ในช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้นี้ เพื่อที่ในอนาคต เราจะมีประสบการณ์ที่มากพอในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างดีที่สุด”