วาเลนไทน์กับกุหลาบที่หายไป เมื่อดอกไม้ส่วนใหญ่ติดปัญหานำเข้าจากจีน

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง-ภาพ

เมื่อถึงวันวาเลนไทน์ คนมีคู่หลายคนคงคาดหวังดอกกุหลาบแทนใจจากคนรัก เพราะเรารับรู้กันมาเนิ่นนานจนเกิดเป็นความเคยชินแล้วว่า ดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความรักในวันวาเลนไทน์ อย่างที่มีผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “วาเลนไทน์ในสไตล์วัยรุ่นไทย” โดยนิด้าโพล ในคำถามที่ว่า “สิ่งที่วัยรุ่นไทยนึกถึง ในวันวาเลนไทน์” พบว่า “ดอกกุหลาบ ดอกไม้” เป็นคำตอบอันดับ 1 ด้วยตัวเลขร้อยละ 30.88 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

แต่วาเลนไทน์ปีนี้ หลายคนอาจจะไม่ได้รับดอกกุหลาบ เพราะดอกกุหลาบที่เคยเป็นสื่อแทนใจในวันวาเลนไทน์ได้หายไปจากตลาดกว่าครึ่ง จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้อ ถึงแม้จะมีเงินมากก็อาจจะหาซื้อไม่ได้ ด้วยเหตุสุดวิสัยบางอย่าง นั่นก็คือการนำเข้าดอกไม้จากจีนมีปัญหา สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั่นเอง

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ขอพาไปดูว่ามันเกิดปัญหาอะไร ยังไงบ้าง

 

จีนปิดตลาดดอกไม้กันไวรัสแพร่ระบาด

อย่างที่มีข่าวมาอย่างต่อเนื่องว่าการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศจีน อยู่ในระดับที่ต้องควบคุม ปิดพื้นที่บางเมือง และงดกิจกรรมที่เป็นการรวมคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งกิจกรรมทางธุรกิจอย่างการค้าขายในตลาด

อุตสาหกรรมค้าดอกไม้ก็เป็นภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสตัวนี้ เพราะทางการจีนมีคำสั่งระงับการให้บริการ หรือ “ปิด” นิคมอุตสาหกรรมดอกไม้นานาชาติโต่วหนาน คุนหมิง (Dounan International Flowers Industrial Park) หรือ “ตลาดดอกไม้โต่วหนาน” ในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน อย่างไม่มีกำหนด

เพื่อเลี่ยงการรวมตัวของผู้คนจำนวนมากซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส โดยมีคำสั่งงดกิจกรรมการให้บริการในตลาดมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมแล้ว แต่มีการบังคับปิดอย่างจริงจังในวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นิคมอุตสาหกรรมดอกไม้นานาชาติโต่วหนาน คุนหมิง เป็นศูนย์การค้าดอกไม้ตัดดอกขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีเนื้อที่ 425 ไร่ ประกอบด้วย ตลาดดอกไม้ และศูนย์ประมูลดอกไม้ ตามการรายงานของสำนักข่าวซินหัวบอกว่า ในปี 2562 ตลาดแห่งนี้มีการค้าไม้ตัดดอกสดคิดเป็นมูลค่า 9.23 พันล้านหยวน (ประมาณ 4.15 หมื่นล้านบาท) และมีผลประกอบการ 7.44 พันล้านหยวน (ประมาณ 3.34 หมื่นล้านบาท)

การปิดตลาดดอกไม้โต่วหนานสัมพันธ์โดยตรงกับธุรกิจ?การค้าดอกไม้ในประเทศไทย เพราะดอกไม้ที่ปากคลองตลาด ศูนย์กลางการค้าดอกไม้ของบ้านเราก็มาจากที่นี่แหละ

มีตัวเลขอ้างอิงข้อมูลจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ว่า ร้อยละ 99 ของการค้าดอกไม้ไทย-จีนเกิดขึ้น ณ ตลาดดอกไม้โต่วหนานแห่งนี้ และเมื่อจีนปิดตลาด ผู้ประกอบการร้านดอกไม้ต่างประเทศในเมืองไทยจึงมีอุปสรรคปัญหาในการนำเข้า

 

รายได้หาย สะเทือนห่วงโซ่ธุรกิจดอกไม้ในเอเชีย

แน่นอนว่าเมื่อปิดตลาดก็ย่อมสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ถ้าอิงจากตัวเลขการค้าขายดอกไม้ในตลาดดอกไม้โต่วหนานที่เป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท/ปี แล้วคิดเทียบบัญญัติไตรยางศ์ง่าย ๆ ว่า หากตลาดปิด 1 เดือน มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะในตลาดนี้ก็ประมาณ 3,333 ล้านบาท ยังไม่ต้องคิดแบบบวกปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่นว่า ช่วงที่ตลาดปิดนี้เป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งปกติแล้วจะมีการใช้ดอกไม้มากกว่าเดือนอื่น ๆ อีก หรือถ้าคำสั่งปิดตลาดกินเวลามากกว่า 1 เดือน เป็นหลาย ๆ เดือน มูลค่าความเสียหายก็คูณขึ้นไป

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่การค้า-ขายที่ตลาดต้นทางเท่านั้น ยังส่งผลกระทบไปทั้งห่วงโซ่ธุรกิจดอกไม้ในเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องพึ่งพาดอกไม้จากจีนมาก อย่างไทย สิงคโปร์ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มีรายงานข่าวจากเว็บไซต์ floraldaily.com ที่กล่าวถึงธุรกิจดอกไม้ในสิงคโปร์ว่า ร้านดอกไม้ในสิงคโปร์ก็กำลังมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก ในขณะที่ 1 สัปดาห์ก่อนถึงวันวาเลนไทน์ ดอกกุหลาบก้านยาวยอดนิยมในสิงคโปร์ ราคาพุ่งสูงขึ้นเป็น 10 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอก (ประมาณ 313 บาท/ดอก) ซึ่งเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปกติที่ราคาอยู่ที่ 2 ดอลลาร์/ดอก ส่วนช่อกุหลาบ 12 ดอก ราคาประมาณ 120 ดอลลาร์ (3,756 บาท)

ในรายงานชิ้นนี้บอกว่า ราคาดอกไม้ที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ได้มีสาเหตุจากการปัญหาการนำเข้าดอกไม้จากจีน แต่สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นผลกระทบที่มาซ้ำให้ธุรกิจดอกไม้ยากขึ้น ในแง่ที่ว่าทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการนำเข้าดอกไม้จากจีน และเพิ่มความกังวลให้กับบรรดานักจัดดอกไม้

โจเซฟ โซห์ (Joseph Soh) กรรมการผู้จัดการของ Xpressflower.com ธุรกิจดอกไม้รายใหญ่ของสิงคโปร์ กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสโคโรน่า ณ ขณะนี้ ทำให้นักจัดดอกไม้จำนวนมากหนีไปหาดอกไม้จากแหล่งอื่น ตัวอย่างเช่น ร้าน Far East Orchid ได้หันไปสั่งดอกไม้จากส่วนอื่น ๆ ของโลก ในขณะที่ Xpressflower.com ได้เปลี่ยนรูปแบบการจัดดอกไม้ให้เรียบง่ายขึ้น ด้วยการใช้ดอกไม้แซมน้อยลง เนื่องจากดอกไม้แซมส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจีน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าดอกไม้จากจีน

 

ไทยนำเข้าไม่ได้ กุหลาบไม่พอขายวาเลนไทน์

จากการที่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจพื้นที่ปากคลองตลาด ศูนย์กลางการค้าส่งดอกไม้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ข้อมูลจากผู้ค้าดอกไม้ว่า ดอกไม้กว่า 40% ของสินค้าทั้งหมดในปากคลองตลาดเป็นดอกไม้นำเข้าจากจีน และถ้านับเฉพาะดอกไม้นำเข้าจากต่างประเทศนั้นเป็นดอกไม้นำเข้าจากจีนราว 90%

ร้านดอกไม้นำเข้าหลายร้านให้ข้อมูลตรงกันว่า วาเลนไทน์นี้ไทยได้รับผลกระทบจากการที่จีนปิดตลาด ทำให้ดอกกุหลาบในปากคลองตลาดหายไปมากกว่าครึ่ง และที่คนในธุรกิจนี้กังวล คือ ไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์จะลากยาวไปแค่ไหน จะนำเข้าได้อีกทีเมื่อไหร่

กุลการ วรัญชลา กิจจา พนักงานบัญชี ร้าน Flower Land เล่าให้ฟังว่า การนำเข้าดอกไม้จากจีนเริ่มมีปัญหาติดขัดมาตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว แต่สัปดาห์นี้ (สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์) ปัญหาเริ่มแรงขึ้น พอรู้ประกาศปิดชัดเจนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ ร้านก็เริ่มสต๊อกของ ลูกค้าเริ่มหาของยาก และผู้ค้าในตลาดก็ปรับราคาดอกไม้เพิ่มขึ้นทันที

เธอบอกว่า ในสถานการณ์นี้ร้านได้รับผลกระทบมาก เพราะจะไม่สามารถนำเข้าได้แล้ว ก่อนจะถึงวันวาเลนไทน์ที่ร้านนี้มีของเข้ามาอีกลอตเดียว เป็นลอตสุดท้าย และไม่มีความชัดเจนแล้วว่าจะนำเข้าได้อีกเมื่อไหร่ ทำให้ช่วงวาเลนไทน์นี้จะมีของไม่เพียงพอต่อออร์เดอร์ที่รับไว้ ตอนนี้จำนวนดอกไม้ที่มีอยู่น้อยกว่าภาวะปกติกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายของร้านลดลง จากที่เคยขายได้วันละหลักล้านบาทในช่วงวาเลนไทน์ เธอประเมินว่าปีนี้ยอดขายจะลดลงราวครึ่งหนึ่งแน่นอน ถึงแม้จะมีการปรับราคาดอกไม้ขึ้น แต่ก็ไม่ครอบคลุมรายได้ในภาวะปกติ เพราะ volume การขายที่หายไปมาก

“ปกติวาเลนไทน์ขายได้ยอดวันละเป็นหลักล้าน ปีนี้ลดลงเกินครึ่งแน่นอน บางออร์เดอร์ต้องถัวเฉลี่ยให้ลูกค้า อาจจะได้ไม่ถึงจำนวนที่สั่ง รู้สึกกังวลมาก เพราะไม่รู้ว่าจะกลับมาได้เมื่อไหร่ ภาระการจ้างงานเราก็มี เรายังต้องจ้างลูกน้องไว้ รายจ่ายเกิด แต่รายได้หาย”

ไม่ต่างกันกับ ร้าน Rose ที่พนักงานขายที่นั่งรับออร์เดอร์ อยู่ที่โต๊ะบอกว่า ร้านนี้ได้รับผลกระทบมาก เพราะที่ร้านไม่ได้สต๊อกดอกไม้ไว้เลย เนื่องจากโดยปกติแล้ว เจ้าของร้านเน้นนำเข้าถี่ ๆ ลอตละไม่เยอะ เพราะไม่อยากให้ดอกไม้ตกค้างเป็นของเก่า พอติดปัญหานำเข้ายาก ทำให้ร้านขาดสินค้า

เขาให้ข้อมูลว่า ที่ร้านมีดอกกุหลาบเข้ามาลอตสุดท้ายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เพียง 85 กำเท่านั้น ซึ่งจำนวนนี้เป็นยอดที่สั่งล่วงหน้าไปหลายวันแล้ว ก่อนจะทราบว่า?มีการปิดตลาด และเมื่อทราบข่าวว่าตลาดปิดก็สั่งเพิ่มไม่ได้แล้ว นั่นเท่ากับว่าเวลาหลายวันนับตั้งแต่ที่ลอตสุดท้ายเข้ามา จนถึงวันวาเลนไทน์ที่ร้านจะไม่มีดอกไม้ขาย

เขาเล่าด้วยความเครียดว่า ขณะที่กุหลาบจะเข้ามาเพียง 85 กำ แต่ออร์เดอร์ที่รับไว้ปาเข้าไปกว่า 1,000 กำแล้ว และขณะที่นั่งคุยกันอยู่ก็มีลูกค้าโทร.เข้ามาสั่งอีกเรื่อย ๆ เราจึงได้เห็นเขาพยายามจะอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจเหตุผลที่จะไม่สามารถรับออร์เดอร์ได้แล้ว แต่ลูกค้าก็ไม่ยอม และใช้คำว่า “ลูกค้าประจำ” เพื่อช่วงชิงโอกาสที่จะได้ของ

“ผมปฏิเสธลูกค้า เขาก็ไม่ยอม บอกให้ลงไว้หน่อย ผมไม่รู้จะทำยังไง ทุกคนโทร.มาก็บอกว่าเป็นลูกค้าประจำ ผมก็ไม่รู้จะแบ่งยังไง”

ส่วนพนักงานร้าน Nana Flora บอกว่า ดอกไม้ที่ร้านนำเข้าจากจีนเป็นหลัก ซึ่งก็มีปัญหาการนำเข้าเช่นกัน เธอเห็นสินค้าเข้ามาน้อยกว่าปกติ รอบการขนส่งเข้ามาห่างขึ้น อนาคตยังไม่ทราบว่าจะได้หรือไม่

แต่ถึงอย่างนั้น ในสถานการณ์เดียวกันนี้ก็มีร้านที่ไม่มีปัญหาเรื่องสินค้าไม่พอขาย ด้วยความที่เตรียมพร้อมและสต๊อกไว้เยอะ

อย่างร้าน World Flower ที่ “หนึ่ง” พนักงานบัญชีของร้านบอกว่า ไม่มีปัญหาเรื่องสินค้าไม่พอขาย แม้จะติดปัญหาการนำเข้าที่จะนำเข้าได้อีกลอตสุดท้ายเช่นกันกับร้านอื่น แต่ก็มีของเพียงพอสำหรับลูกค้า เพราะรับออร์เดอร์จากลูกค้ามาก่อนหน้านี้ และสั่งทางจีนไปตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งอยู่แล้ว นอกจากนั้น เธอบอกอีกปัญหาหนึ่งที่เจอในช่วงนี้ คือ ลูกค้าขาจรมักจะถามว่า จะติดเชื้อโรคมากับดอกไม้หรือเปล่า ส่วนลูกค้าประจำไม่กังวลเรื่องนี้

อีกหนึ่งร้านใกล้ ๆ กัน ชื่อร้าน A (นามสมมติ) บอกว่า ไม่กังวล และไม่มีผลกระทบ เพราะเมื่อรู้ข่าวก็ตุนดอกไม้มาก่อนเยอะ ๆ และเท่าที่ทราบจากเพื่อนชาวจีน คือ การปิดตลาดจะปิดแค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น เนื่องจากช่วงเทศกาลจะมีคนไปซื้อดอกไม้เยอะกว่าปกติ คาดว่าวันที่ 18-19 ก็จะนำเข้ามาได้ปกติ

“ไม่กังวล กังวลเพียงว่าจะขายไม่หมด เพราะคนไม่ค่อยออกจากบ้าน และเศรษฐกิจบ้านเราไม่ดี ไม่กลัวไม่มีขาย แต่กลัวขายไม่หมดมากกว่า” พนักงานร้าน A กล่าว และเธอแสดงความเห็นอีกว่า ที่มีการประโคมข่าวประเด็นนี้ขึ้นมาเยอะ เพราะดอกไม้ในประเทศเตรียมจะขึ้นราคา

 

ดิ้นหาทางนำเข้า เพื่อรับโอกาสใหญ่ในรอบปี

จากการพูดคุยบางร้านเปิดเผยว่า ก็ยังมีความหวังและมีหนทางที่จะนำเข้า เพื่อไม่ให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะในช่วงโอกาสสำคัญอย่างวันวาเลนไทน์

อย่างร้าน A ที่บอกว่า ไม่กังวล เพราะที่ร้านตุนไว้เพียงพอ เธอบอกอีกว่า ถึงแม้ตลาดปิด แต่ผู้ค้าก็หาช่องทางค้าขายกันได้ เธอยกตัวอย่างวิธีการที่เป็นไปได้ว่า ผู้ซื้อก็สั่งจากสวนโดยตรงแล้วให้บริษัทขนส่งไปรับจากสวน หรือนัดรับที่จุดอื่น โดยไม่ต้องเข้าไปที่ตลาดก็ได้

ส่วนข้อมูลจากร้าน Rose ณ วันที่เราเดินเข้าไปที่ร้าน พนักงานบอกว่า ร้านมีดอกไม้เข้ามาลอตสุดท้ายวันที่ 8 กุมภาพันธ์ แต่ทางร้านก็พยายามหาทางนำเข้า หารถมาส่งให้ได้ และเมื่อโทร.ไปสอบถามไปอีกครั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พนักงานของร้านบอกว่า ทางร้านหาทางนำเข้ามาได้อีก โดยสินค้าเข้ามาอีกในวันที่ 11 และ 12 กุมภาพันธ์ แต่ได้จำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางจีนก็การันตียอดให้ไม่ได้ว่าจะได้จำนวนเท่าที่สั่งหรือไม่

ของน้อยแต่ราคาไม่แพง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี

ถึงแม้รูปการณ์ที่สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการจะเปิดโอกาสให้ผู้มีสินค้าโก่งราคาสูง ๆ ได้ แต่ความเป็นจริงกลับไม่ผันแปรตามสมการตรง ๆ เพราะมีตัวแปรอีกหนึ่งตัวเข้ามาเกี่ยว คือ เศรษฐกิจบ้านเราเอง ที่ทำให้บรรยากาศที่ปากคลองตลาดไม่คึกคักมานานแล้ว และราคาดอกกุหลาบในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อน ๆ อยู่แล้ว เมื่อปรับราคาขึ้นจึงไม่ได้สูงเท่าปีก่อน ๆ

กุลการ วรัญชลา กิจจา ร้าน Flower Land ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ราคาดอกกุหลาบจีน 150 บาท/ช่อ 10 ดอก เมื่อทราบข่าวก็มีการปรับราคาขึ้นเป็น 250 บาท/ช่อ

จะเห็นว่า ราคากุหลาบปรับเพิ่มขึ้น 67% ของราคาก่อนที่จีนจะปิดตลาดดอกไม้โต่วหนาน แต่ราคาก็ยังไม่สูงเท่าปีก่อน ๆ เทียบกับข้อมูลที่ร้าน World Flower บอกว่า ราคากุหลาบช่วงวาเลนไทน์ปีก่อน ๆ อยู่ที่ 400-500 บาท/ช่อ

พนักงานร้าน Rose บอกว่า ถึงแม้จะขึ้นราคาช่วงวาเลนไทน์ แต่ฐานราคาเดิมก่อนหน้านี้ต่ำจึงเพิ่มขึ้นได้ไม่สูง ซึ่งก็เป็นไปตามบรรยากาศโดยรวมที่หลายปีก่อนบรรยากาศคึกคักกว่านี้ แต่ปีหลัง ๆ บรรยากาศเงียบลง เป็นเพราะเศรษฐกิจบ้านเราเอง ก่อนจะมาเจอเรื่องไวรัส

“ถ้าจะปรับขึ้นสูงมากจนเกินที่ลูกค้าจะรับได้ ลูกค้าเขาก็จะยกเลิกออร์เดอร์”  เขาแสดงความกังวล

ในสถานการณ์แบบนี้อาจเป็นโอกาสของกุหลาบไทยที่จะขายได้มากขึ้น แต่จากการสอบถามหลายร้านกลับได้ความว่า ลูกค้าไม่นิยมกุหลาบไทย ลูกค้าต้องการกุหลาบจีนเป็นหลัก ถ้าไม่มีกุหลาบจีนจริง ๆ ถึงจะใช้กุหลาบไทยแทน

เห็นอย่างนี้แล้ว…วาเลนไทน์ปีนี้ ถ้าใครที่ไม่ได้รับกุหลาบจากคนรัก ก็อย่าน้อยใจไป เข้าใจกันหน่อยว่ามันมี?ปัญหาใหญ่ที่ทำให้หาซื้อกุหลาบได้ยากขึ้นมากจริง ๆ