อุตสาหกรรมแฟชั่นโลกวิกฤต เพราะปัญหาโควิดและการปิดประเทศอิตาลี

ร้าน Prada ในใจกลางเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ปิดในช่วงไวรัสระบาด (Photo by Fabrizio Di Nucci/NurPhoto via Getty Images)

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังออกฤทธิ์อยู่ในตอนนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นก็ไม่ต่างจากภาคธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบในหลายแง่มุม ด้วยความที่การระบาดกระจายตัวทั่วโลก ส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่ผู้คนต้องระมัดระวังมากขึ้น ทั้งระวังการออกจากบ้านมาช้อปปิ้ง และระวังการใช้เงินมากกว่าในภาวะปกติ

จากคลื่นลูกแรกของการระบาดในจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นได้รับผลกระทบหนักแล้ว เพราะชาวจีนเป็นผู้ซื้อกลุ่มสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่น แล้วคลื่นลูกที่สองที่มาซ้ำให้อ่วมหนักไปอีกก็คือการระบาดหนักในหลายประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งหนึ่งในประเทศที่สถานการณ์หนักที่สุดคือ อิตาลี เมืองหลวงแห่งแฟชั่นซะด้วย

จากปัญหาการระบาดของไวรัสที่ว่านี้ มีการคาดการณ์โดยสำนักข่าว The Business of Fashion ว่า ในปีนี้ธุรกิจภาคสินค้าแฟชั่นแบรนด์หรูอาจสูญรายได้รวมกว่า 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว

บรรยากาศย่านแฟชั่นในปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่บรรดาแบรนด์แฟชั่นต่างปิดร้านหนีไวรัส (Photo by Edward Berthelot/Getty Images)

ท่ามกลางสถานการณ์นี้ นิตยสาร GQ สหราชอาณาจักร เขียนบทความวิเคราะห์ผลกระทบอุตสาหกรรมแฟชั่นจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ดังนี้

1.ฤดูคั่นเวลาถูกยกเลิก ทำรายได้หาย : ฤดูคั่นเวลา (resort season หรือ cruise season) เป็นหนึ่งในฤดูกาลทางแฟชั่นที่สร้างรายได้ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ได้มาก เพราะเป็นการออกคอลเล็กชันที่เหล่าบรรณาธิการแฟชั่น ผู้ทรงอิทธิพลในวงการ และลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ แต่ด้วยสถานการณ์ไวรัส หลายแบรนด์ได้ยกเลิกคอลเลกชั่นฤดูคั่นเวลาเป็นที่เรียบร้อย ทั้ง กุชชี (Gucci), เบอร์เบอร์รี (Burberry) และพราดา (Prada)

ถึงแม้ว่าฤดูคั่นเวลานี้จะไม่ได้มีทิศทางทางแฟชั่นเท่าฤดูกาลปกติ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่บริษัทต่าง ๆ จะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงสามารถเคลียร์ของในสต็อกได้ด้วย ปีนี้แบรนด์ต่าง ๆ ก็ต้องพลาดโอกาสกันไป

ผู้เข้าร่วมงานปารีส แฟชั่น วีก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่นครปารีส ฝรั่งเศส (Photo by Edward Berthelot/Getty Images)

2.อนาคตการจัดแฟชั่นโชว์ ต้องคิดทบทวนหนัก : สถานการณ์ไวรัสทำให้เหล่าดีไซเนอร์ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าจำเป็นต้องจัดงานแสดงแฟชั่นเพื่อขายสินค้าและสร้างแบรนด์หรือไม่ ถึงขณะนี้ มีบางแบรนด์ยกเลิกการแสดงไปแล้ว บางแบรนด์เปลี่ยนมาถ่ายทอดสดการแสดงแฟชั่นทางอินเทอร์เน็ต แต่บางแบรนด์ก็ยืนยันที่จะจัดงานตามเดิม

แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour) บรรณาธิการแห่งนิตยสารโว้ก (Vogue) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ว่า “ในช่วงเวลาวิกฤติ เราต้องคิดใหม่”

3.แฟชั่นสโตร์มีปัญหาในการซื้อสินค้าเข้าร้าน : ในโลกธุรกิจแฟชั่น เหล่าดีไซเนอร์ไม่ได้ไปยุโรปเพียงเพื่อแสดงเสื้อผ้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไปเพื่อขายของให้บรรดาแฟชั่นสโตร์ในยุโรปด้วย แต่นักออกแบบดีไซเนอร์จำนวนหนึ่งค้นพบว่าฤดูกาลนี้พวกเขาสามารถทำยอดขายได้โดยไม่ต้องเจอกับผู้ซื้อตัวต่อตัว แต่สามารถขายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ บรรดาผู้ประกอบการ-นักจัดหาสินค้าเข้าร้านจำนวนหนึ่งก็พยายามสั่งซื้อสินค้าที่พวกเขาไม่ได้สัมผัสของจริง ส่วนฝั่งผู้ค้าส่งก็กำลังคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรในฤดูกาลหน้า

4.การช้อปปิ้งออนไลน์ได้รับผลกระทบ ที่ปรึกษาด้านการจัดการของบริษัท Bain พบว่า หลักจากทางการจีนประกาศปิดประเทศ การซื้อขายทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Tmall เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ยอดซื้อขายสินค้าแฟชั่นกลับลดลง สอดคล้องกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของซาร์ส (SARS) ที่ส่งผลต่อยอดขายสินค้าแบรนด์เนมเช่นเดียวกัน แต่หลังจากสามารถควบคุมเชื้อได้ ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมก็พุ่งสูงขึ้น

บทวิเคราะห์ของ GQ พูดถึงภาพกว้าง ๆ ของอุตสาหกรรมแฟชั่นเท่านั้น แต่ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มเข้ามา และจะมีผลระทบต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นโลกอย่างมากก็คือ สถานการณ์ในอิตาลีที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่องจนต้องปิดประเทศไปแล้ว

บรรยากาศ ถนน Via Montenapoleone ย่านศูนย์กลางแฟชั่นในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ที่ไร้ผู้คน Photo by Mairo Cinquetti/NurPhoto via Getty Images)

ในเมื่อมิลาน มหานครของอิตาลีเป็นหนึ่งในเมืองหลวงแห่งการแฟชั่นโลก ดังนั้นการที่อิตาลีปิดประเทศ อุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งโลกจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่พ้นแน่

มีข้อมูลจาก The Wall Street Journal ระบุว่า เฉพาะประเทศอิตาลีมีมูลค่าธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอมากถึง 107,900 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท)

The Business of Fashion รายงานว่า 60% ของบริษัทแฟชั่น เสื้อผ้า สิ่งทอ ในอิตาลีตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ แบรนด์ดังหลายแบรนด์มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองมิลาน ไม่ว่าจะเป็น พราดา (Prada), อาร์มานี (Armani) และเวอร์ซาเช (Versace) แม้กระทั่งแบรนด์เนมจากต่างแดนอย่าง หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) และสเตลลา แม็กคาร์ตนีย์ (Stella McCartney) ยังต้องพึ่งพาโรงงานที่อยู่ทางตอนเหนือของอิตาลีในการผลิตเสื้อผ้า ฉะนั้นการที่เมืองในทางตอนเหนือถูกปิดไปก่อนจะมีการปิดทั้งประเทศนั้น แบรนด์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ตอนเหนือของอิตาลีนั้นได้รับผลกระทบไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนทางตอนใต้ของประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะมีผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและสายการผลิตจิวเวลรี ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องหนังเป็นส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ให้แบรนด์หรูต่าง ๆ

สถานการณ์การระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้สั่งซื้อทั่วโลกยกเลิกออร์เดอร์ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเสื้อผ้าทั้งระบบ ตั้งแต่บริษัทที่ผลิตผ้า ไปจนถึงบริษัทผลิตเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ยิ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เพิ่งผ่านเดือนแห่งการแสดงแฟชั่นโชว์ Spring/Summer Collection มา ผลกระทบก็ยิ่งหนัก เพราะบรรดาบริษัทแบรนด์เนมต่าง ๆ ต้องหาวิธีการจัดส่งและขายของในคลังที่พวกเขาลงทุนผลิตไปแล้วในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้

บรรยากาศย่านการค้าแฟชั่นในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ก็ร้างไม่ต่างกัน (Photo by David Ramos/Getty Images)

คนในแวดวงแฟชั่นต่างก็เป็นกังวลกับสาถนการณ์ และยอมรับว่านี่คือวิกฤติของอุตสาหกรรมนี้ ในรายงานของ The New York Times มีถ้อยคำของปาสคาล โมแรนด์ (Pascal Morand) ประธานบริหารองค์กรที่จัดงานปารีส แฟชั่น วีก แสดงความกังวลต่อสถานการณ์นี้ว่า “มันเป็นความไม่แน่นอน และไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยาวนานแค่ไหน” ขณะที่ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์หลายคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าออเดอร์ตกลงไปมาก