ติดตามผล 2 เดือนกว่าที่งดแจกถุงพลาสติก เมืองไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

ประมาณ 9,000 ล้านใบ คือจำนวนตัวเลขกลม ๆ ของขยะประเภทถุงพลาสติกที่คาดว่าจะสามารถลดได้ในปีนี้ จากแคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags” ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมใจงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วตามห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าการหักดิบงดแจกถุงในปริมาณมหาศาลขนาดนี้ ย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” อยากอัพเดตว่า เวลา 2 เดือนกว่า ๆ ที่มีการงดแจกถุงพลาสติกจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ลดขยะไปได้มากน้อยแค่ไหน การปรับตัวของภาคประชาชนเป็นอย่างไร ไปจนถึงอยากหาแนวทางจากผู้รู้ว่าเราจะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้สมดุล ให้นโยบายการลดถุงพลาสติกกระทบต่อทุกฝ่ายน้อยที่สุด

ผ่านมา 2 เดือนกว่าเห็นผลลัพธ์อะไรบ้าง

ADVERTISMENT

ก่อนอื่นต้องแสดงให้เห็นภาพรวมก่อนว่า ในเอกสารของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ประเทศไทยมีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกโดยเฉลี่ยมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี แบ่งออกเป็นมาจากตลาดสด 18,000 ล้านใบ จากร้านขายของชำ 13,500 ล้านใบ จากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 13,500 ล้านใบ ซึ่งโครงการ “Everyday Say No to Plastic Bags” เริ่มต้นจากการตั้งเป้าลดถุงพลาสติกจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อลง 9,000 ล้านใบ น่าสนใจว่ากว่า 2 เดือนที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

เพื่อหาคำตอบ เราโทร.ไปสอบถามข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วได้รับคำแนะนำว่าเรื่องนี้มีกรมควบคุมมลพิษดูแลอยู่ จึงโทร.ไปสอบถาม ปรากฏว่าทางกรมไม่มีข้อมูลเชิงสถิติ มีเพียงตัวเลขจำนวนถุงพลาสติก 45,000 ล้านใบตามที่ประชาสัมพันธ์เท่านั้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า หน่วยงานที่น่าจะมีข้อมูลดังกล่าว คือ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อสอบถามกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็ได้รับการโอนสายไปยังกลุ่มสื่อสิ่งแวดล้อมและกิจการพิเศษ ได้รับคำตอบคือ ไม่มีการเก็บข้อมูลที่ว่า จึงให้เบอร์ต่อกลุ่มรณรงค์ในสังกัดกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อต่อสายไปแล้วจะถูกโอนสายมาที่โอเปอเรเตอร์ทุกครั้ง

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนไปดูข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สมาคมผู้ค้าปลีกไทยแสดงข้อมูลจำนวนถุงพลาสติกที่ลดจากแคมเปญนี้ว่า ในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียวสามารถลดปริมาณการแจกถุงพลาสติกไปได้ถึง 3,750 ล้านใบ มากกว่าการรณรงค์ในปี 2562 ทั้งปีที่ลดไปได้เพียง 2,000 ล้านใบเท่านั้น

ADVERTISMENT

จำนวนถุงพลาสติกที่ลดได้ 3,750 ล้านใบในเดือนมกราคม 2563 ต่อให้ทั้งหมดกลายมาเป็นขยะก็จะสามารถลดปริมาณขยะประเภทถุงพลาสติกได้ราว 8.3% ของจำนวนขยะถุงพลาสติกทั้งหมดในประเทศที่มีประมาณ 2 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 0.67% ของจำนวนขยะรวมทั้งประเทศที่มีรวมกันราว 28 ล้านตันต่อปี

ADVERTISMENT

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาเพียง 2 เดือนยังไม่มีนักวิชาการประเมินว่าผลของจำนวนถุงที่ลดลงไปได้จากโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าย้อนไปในปีที่แล้ว ช่วงที่พะยูนมาเรียมตาย ทุกคนเศร้าเสียใจ ถ้าประเมินเป็นมูลค่าความเต็มใจที่คนจะอนุรักษ์พะยูน เมื่อก่อนประชาชนอาจจะบริจาคสัก 5 บาท แต่พอเป็นช่วงที่มีข่าวมาเรียมก็อาจจะเพิ่มเป็น 20 บาท ซึ่งสิ่งนี้มีศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า “ความเต็มใจที่จะจ่าย” (willingness to pay) เรื่องถุงพลาสติกก็เช่นกัน การประเมินต้นทุนสิ่งแวดล้อมของขยะถุงพลาสติก ตีคร่าว ๆ ว่าใบละ 1 บาท จำนวน 9,000 ล้านใบ ก็ 9,000 ล้านบาท นี่คือผลประโยชน์ของมาตรการนี้ที่สิ่งแวดล้อมพึงจะได้

ในเฟซบุ๊กเพจ Waste War Thailand ของสุจิตราระบุถึงสิ่งที่ประเทศจะได้หากสามารถลดปริมาณถุงพลาสติก 9,000 ล้านใบต่อปีได้จริง คือ 1.ลดความเสี่ยงที่ชีวิตสัตว์ป่า สัตว์ทะเลจะต้องตายจากการกลืนกินถุงพลาสติก 2.ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมจากพลาสติกที่อุดตันตามท่อระบายน้ำ 3.ลดความเสี่ยงจากไมโครพลาสติกปนเปื้อนในแหล่งอาหาร

เสียงจากประชาชนต่อการงดแจกถุงพลาสติก

ต้องยอมรับว่าโครงการนี้มีผลต่อความสะดวกสบายของผู้คน จากแต่ก่อนเวลาไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ เราไม่ต้องคำนึงเลยว่าจะต้องเตรียมอะไรไปบ้าง แต่เมื่อมีมาตรการงดแจกถุงพลาสติก เราต้องพกถุงพลาสติกใบเก่าหรือถุงผ้าไปใส่ของที่ซื้อ ดังนั้น โครงการนี้จึงมีทั้งคนเห็นด้วยและต่อต้าน มีเรื่องแปลก ๆ ในช่วงแรกของการปรับตัว ไล่ไปตั้งแต่การนำถังน้ำไปจนถึงรถเข็นปูนไปใส่ของ หรือแม้กระทั่งการขโมยตะกร้าจากร้านสะดวกซื้อที่เกิดเป็นกระแสดราม่าอยู่พักหนึ่ง

ในสื่อโซเชียลมีเดียมีการแสดงความเห็นไปในทิศทางที่หลากหลาย ทั้งการตำหนิรัฐบาลที่งดแจกถุง แต่ยังนำเข้าขยะเพื่อเผาสร้างพลังงานไฟฟ้า บ้างก็แสดงความเห็นว่าการงดแจกถุงพลาสติกทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ เพราะถ้าลืมพกถุงไปเองทำให้ตัดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ บ้างก็ไม่เห็นด้วยเพราะทำให้ลำบากในกรณีที่ซื้อของเยอะ เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคมากจนเกินไป

ส่วนนอกโซเชียลมีเดีย เมื่อลองสังเกตตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า ก็เห็นภาพของประชาชนพกถุงพลาสติกหรือถุงผ้ามาใช้ในการจับจ่ายซื้อของมากขึ้น

ผู้เขียนลองสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8 คน มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ดังนี้

1.การที่ต้องพกถุงผ้าหรือถุงพลาสติกไปเอง ช่วยให้ลดการจับจ่ายใช้สอยที่ไม่จำเป็นลงไปได้เยอะ

2.ต้องจ่ายตังค์ซื้อถุงขยะ จากเดิมที่เคยนำถุงที่ได้จากห้างร้านมาใช้เป็นถุงขยะ

3.อยากให้มีมาตรการบังคับให้ห้างนำวัสดุที่ย่อยสลายได้มาใช้ เพื่อที่ประชาชนจะยังมีความสะดวก ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

4.มาตรการนี้เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค นอกจากประชาชนจะลำบากในการพกถุงไปเองแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ แถมยังสามารถขายถุงผ้าได้เพิ่มเติมอีกด้วย

5.เป็นนิมิตหมายอันดีที่คนไทยจะได้ปรับตัวและตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นักวิจัยจุฬาฯแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการปรับตัวของประชาชน คนไทยเริ่มสร้างค่านิยม สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการพกถุงผ้ามากขึ้น ถ้าสังเกตตามห้างจะเห็นคนพกถุงผ้าเยอะขึ้นมาก การงดแจกถุงพลาสติกพร้อมกันเป็นการส่งสัญญาณมาฝั่งผู้บริโภคว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับพฤติกรรม แน่นอนว่าช่วงแรกจะต้องมีการปรับตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราจะเคยชินกับการพกถุงผ้าไปเอง

แนวทางแก้ปัญหาอย่างสมดุลให้กระทบน้อยที่สุด

โครงการ “Everyday Say No to Plastic Bags” ที่ลดปริมาณขยะพลาสติกลงไปได้ ย่อมส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ได้รับผลกระทบ 3 ประเด็น คือ 1.การผลักภาระให้ประชาชนต้องเตรียมถุงไปเอง 2.กลุ่มที่นำถุงพลาสติกที่แจกมาใช้ (reuse) เป็นถุงขยะอยู่แล้ว ต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อถุงขยะเพิ่ม 3.ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อดูจะเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้น่าขบคิดและนำมาพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้โครงการลดถุงพลาสติกเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

สำหรับประเด็นแรก นักวิชาการจุฬาฯแสดงความเห็นว่า การที่มาตรการงดแจกถุงพลาสติกยังคงได้รับเสียงบ่นจากสังคมอยู่ เป็นเพราะว่าประชาชนจำนวนหนึ่งยังติดความสะดวกสบาย ซึ่งวิธีการแก้ปัญหา คือ การทดแทน (replace) ประเภทวัสดุจากถุงพลาสติกทั่วไป เป็นถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้จริง (compostable plastic) ที่ผลิตจากพืชผลทางการเกษตรที่สามารถปลูกทดแทนได้ในระยะเวลาสั้น เช่น มันสำปะหลัง อ้อย หรือข้าวโพด ถุงพลาสติกประเภทนี้เมื่อนำไปฝังกลบในอุณหภูมิที่เหมาะสม จะสามารถย่อยสลายได้ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อระบบนิเวศ อย่างไรก็ดี การใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้มาทดแทนต้องมาพร้อมกับการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง เพราะหากถุงประเภทนี้ไปลงเอยอยู่ในท้องทะเล ก็ไม่สามารถย่อยสลายได้ เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม

ประเด็นถัดมา ดร.สุจิตราแสดงความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวมีผลเฉพาะกับห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อเท่านั้น ประชาชนยังคงได้รับถุงพลาสติกจากหาบเร่ แผงลอย หรือร้านขายของชำเป็นปกติ ประชาชนจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนการลดผลกระทบตรงนี้ ดร.สุจิตราแนะนำวิธีการลดการใช้ถุงขยะโดยการแยกขยะอาหารไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งถ้าเราสามารถแยกขยะอาหารออกไปได้ ความถี่ในการทิ้งถุงขยะก็จะลดน้อยลง จากที่ต้องทิ้งทุกวัน สามารถขยับเป็น 3 วันครั้ง หรือ 5 วันครั้งได้

ประเด็นสุดท้าย ดร.สุจิตรา มองว่า หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถผลักดันมาตรการงดแจกถุงพลาสติกให้เป็นกฎหมายและบังคับใช้ได้จริง จะสามารถนำเงินส่วนต่างที่ห้างและร้านสะดวกซื้อลดต้นทุนจากการงดแจกถุงพลาสติก และรายได้จากการจำหน่ายถุงพลาสติกมาบังคับใช้ได้ใน 2 รูปแบบหลัก คือ 1.ห้างร้านต้องนำส่งเงินต้นทุนและรายได้จากการงดแจกและขายถุงพลาสติกเข้ากองทุนของรัฐบาล เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการจัดการขยะ และสื่อสารรณรงค์กับประชาชนให้มีความเข้าใจมากขึ้น 2.ในประเทศอังกฤษและประเทศจีน รัฐบาลออกกฎหมายให้ห้างร้านที่มีรายได้จากค่าถุงพลาสติกนำไปบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ ซึ่งรูปแบบนี้แม้ในประเทศไทยยังไม่มีการบังคับเป็นกฎหมาย แต่บางห้างร้านก็นำเงินไปบริจาคแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กรนั้น ๆ เอง

ในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการปรับตัวของภาคประชาชน ความจริงจังของรัฐบาลในการหันมาบังคับใช้กฎหมาย และจัดการแก้ปัญหาที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อันจะย้อนกลับมาเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศเป็นหลัก