สมัยอดีตกาล “โรคระบาด” เคยถูกใช้เป็นอุบายทำสำมะโนประชากร

หมายเหตุ : ภาพประกอบเหตุการณ์โรคระบาด ไม่ใช่เหตุการณ์จริงที่เกาะลอมบ็อก

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วราว 6,000 คน และมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 1 แสนคน ภายในเวลา 3 เดือนกว่านับตั้งแต่เริ่มระบาด สถานการณ์การระบาดและพิษภัยของไวรัสตัวร้ายตัวนี้สร้างความวิตกกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้คนเป็นอย่างมาก ในยุคปัจจุบันที่วิทยาการทางการแพทย์พัฒนาก้าวหน้า เราก็ยังกลัวกันมากขนาดนี้ แล้วลองนึกดูว่าในสมัยก่อน เมื่อครั้งที่วิทยาการยังไม่ก้าวหน้า หากเจ็บป่วยก็รักษากันตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ผู้คนจะกลัวโรคระบาดกันขนาดไหน

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรคระบาดในสมัยอดีตกาลเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ความกลัวโรคระบาดของคนในสมัยก่อนนั้น ทำให้ “โรคระบาด” ถูกนำมาใช้เป็นอุบายหลอกผู้คนเพื่อให้การดำเนินการบางอย่างสำเร็จลุล่วง เป็นไปตามความต้องการของผู้ออกอุบายได้เลย

เรื่องที่ว่านี้ คือ เรื่องที่ราชาแห่งเกาะลอมบ็อก ในหมู่เกาะมาเลย์ กุเรื่องวิธีการจัดการกับโรคระบาดขึ้นมา เพื่อเป็นอุบายในการทำสำมะโนประชากร โดยไม่ให้มีใครรู้ว่ากำลังทำสำมะโนประชากรอยู่

เรื่องเล่านี้ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russel Wallace) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ เขียนไว้ในหนังสือ The Malay Archipelago (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “หมู่เกาะมาเลย์”) ที่เขาเขียนจากบันทึกการเดินทางสำรวจภูมิศาสตร์ และสิ่งมีชีวิตในหมู่เกาะมาเลย์ ในช่วงปี ค.ศ. 1854-1862

ภูเขาไฟรินจานี ในเกาะลอมบ็อก ยุคปัจจุบัน

วอลเลซให้ข้อมูลเกี่ยวกับลอมบ็อกว่า ลอมบ็อกเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะชวา ชนพื้นเมืองของลอมบ็อกมีชื่อเรียกว่า ซัสซักส์ เป็นชนเผ่ามาเลย์ที่ดูแทบไม่แตกต่างจากชาวมะละกา หรือบอร์เนียว พวกที่นับถือพระมะหะหมัดจัดเป็นประชากรส่วนใหญ่ของลอมบ็อก แต่ชนชั้นปกครองเป็นคนพื้นเมืองจากเกาะที่อยู่ติดกันอย่างบาหลี ซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ รัฐบาลปกครองโดยอำนาจสิทธิ์ขาดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การที่ราชาต้องใช้เรื่องโรคระบาดเป็นอุบายในการทำสำมะโนประชากรโดยไม่ให้ใครรู้นั้น มีเหตุมาจากปัญหาการเก็บภาษีข้าวได้น้อยกว่าที่ควร ราชาจึงคิดทำสำมะโนประชากร เพื่อให้ทราบว่าบนเกาะมีประชากรอยู่จำนวนเท่าไหร่ และภาษีข้าวที่จะต้องเก็บได้คือเท่าไหร่

วอลเลซเขียนเล่าไว้ว่า ทุกคนที่อาศัยอยู่บนเกาะต้องจ่ายภาษีข้าวให้ราชา ซึ่งภาษีที่ต้องจ่ายนั้นเป็นปริมาณน้อยมาก ทุกคนจึงยินดีจ่าย แต่เนื่องจากภาษีต้องผ่านหลายมือกว่าจะไปถึงคลังหลวง จึงมีเหตุหลายประการทำให้ภาษีที่ไปถึงคลังหลวงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อย่างเช่น มีปัญหาคอร์รัปชั่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ปกครองมณฑลแอบยักยอกข้าวไว้เอง

ความเจ็บป่วย โรคระบาด และการเพาะปลูกที่ล้มเหลว คือ ข้ออ้างที่ราชาได้รับเป็นการอธิบาย แต่เมื่อราชาออกล่าสัตว์ก็มักจะเห็นว่าชาวบ้านอยู่ดีกินดี และสังเกตเห็นว่ากริชของหัวหน้าเผ่าและเจ้าหน้าที่ดูหรูหราขึ้นเรื่อย ๆ ราชาจึงรู้ว่าข้าวหายไปอยู่ที่ไหน เพียงแต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์เท่านั้น

ชนพื้นเมืองเกาะล็อมบอก

ด้วยปัญหาที่ว่านี้ ราชาจึงตั้งใจจะทำสำมะโนประชากร แต่ยังไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะตัวท่านไม่สามารถไปสำรวจครบทุกหมู่บ้านด้วยตัวเอง ถ้าจะให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้สำรวจ เจ้าหน้าที่ก็จะไหวตัวทัน ท่านจึงต้องคิดหาวิธีที่จะไม่มีใครรู้ว่ากำลังทำสำมะโนประชากร

วันหนึ่งราชาคิดหาวิธีได้ จึงให้เรียกหัวหน้าเผ่า นักบวช และเจ้าครองนครมาประชุมกัน แล้วบอกว่า พระองค์ฝันเห็นกุหนงอากง เจ้าแห่งภูเขาไฟที่ยิ่งใหญ่ ในฝันนั้น กุหนงอากงบอกกับพระองค์ว่า ให้ขึ้นไปบนยอดเขาเพียงลำพัง แล้วจะแจ้งสิ่งที่สำคัญยิ่งกับทุกคนที่อาศัยบนเกาะนี้

เมื่อถึงวันเดินทางขึ้นไปบนยอดเขา ราชาเดินขึ้นไปบนยอดเขากับเด็กรับใช้ 2 คน

หลังจากลงมาจากยอดเขา 3 วัน ราชาก็เรียกนักบวช หัวหน้าเผ่า และเจ้าครองนครมาเข้าเฝ้า แล้วบอกว่า วิญญาณศักดิ์สิทธิ์พูดกับพระองค์ว่า “ดูกร พระราชา ! โรคระบาด ความเจ็บป่วย และโรคภัยไข้เจ็บ กำลังลงมายังโลก มาสู่ผู้คน สู่ม้า สู่วัวควาย แต่เพราะทั้งท่านกับคนของท่านเชื่อฟังเรา และขึ้นมายังภูเขาอันยิ่งใหญ่ของเรานี้ เราจะสอนให้ท่านและคนของท่านในลอมบ็อกให้รอดพ้นจากภัยโรคระบาดครั้งนี้”

ขณะที่ทุกคนฟังอย่างกระวนกระวายใจ ราชาก็บอกต่อไปว่า วิญญาณศักดิ์สิทธิ์สั่งให้จัดทำกริชศักดิ์สิทธิ์ 12 เล่ม ซึ่งทุกหมู่บ้านต้องส่งมัดเข็มที่มีจำนวนเข็มเท่ากับจำนวนคนในหมู่บ้าน หากเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นเมื่อใด กริชศักดิ์สิทธิ์เล่มหนึ่งจะถูกส่งไปยังหมู่บ้านนั้น และหากจำนวนเข็มที่ส่งเข้ามาในตอนแรกนั้นถูกต้อง โรคร้ายจะหยุดหายไปในทันที แต่หากจำนวนเข็มที่ส่งเข้ามาไม่แม่นยำ กริชศักดิ์สิทธิ์ก็จะไร้อานุภาพ

หลังจากนั้น เจ้าครองนครและหัวหน้าเผ่าก็กลับไปยังหมู่บ้านของตน บอกให้เร่งรวบรวมเข็มด้วยความถูกต้องแม่นยำที่สุด แล้วนำไปส่งที่วัง

เมื่อทุกหมู่บ้านส่งเข็มเข้ามาแล้ว ราชาแบ่งเข็มออกเป็น 12 ส่วนเท่า ๆ กัน และสั่งให้ประกอบพิธีสร้างกริชศักดิ์สิทธิ์ 12 ด้าม

ไม่นานหลังจากที่สร้างกริชศักดิ์สิทธิ์ขึ้นก็ได้เวลาเก็บเกี่ยวข้าว หัวหน้าแต่ละจังหวัดและแต่ละหมู่บ้านก็นำภาษีข้าวมาให้ราชา สำหรับผู้ที่ยักยอกข้าวไปเพียงเล็กน้อยนั้น ราชาก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่พวกที่นำข้าวมาส่งเพียงครึ่งเดียว หรือเพียง 1 ใน 4 ของที่ควรจะเป็น ท่านก็กล่าวว่า “เข็มที่เจ้าส่งมาจากหมู่บ้านเหมือนจะมีมากกว่าของหมู่บ้านอีกแห่ง แต่ข้าวที่นำมากลับน้อยกว่าของเขา จงกลับไปดูทีว่ามีใครที่ยังไม่ได้จ่ายภาษีหรือไม่”

ในปีถัดมาจึงเก็บภาษีได้เยอะกว่าเดิมมาก เพราะพวกผู้นำเกรงว่าราชาอาจสั่งประหารคนที่ยังยักยอกข้าวเอาไว้ ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ ราชาจึงรวยขึ้น ไม่มีราชาหรือสุลต่านคนไหนในมาเลย์จะยิ่งใหญ่ หรือมีอำนาจเทียบเท่าราชาแห่งลอมบ็อกได้เลย

เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเนื้อหาที่น่าสนใจมาก ๆ ของหนังสือ “หมู่เกาะมาเลย์” ของอัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ซึ่งเขาได้บันทึกสิ่งที่พบเห็นเอาไว้มากมาย ทั้งเรื่องภูมิศาสตร์ พืชพรรณ สัตว์ มนุษย์ ชาติพันธุ์ ภาษา ชีวิตความเป็นอยู่ การปกครอง พิธีกรรม ฯลฯ แต่ที่เราเลือกหยิบเอาเรื่องที่เป็นมิติการปกครองมาเล่าก็เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโรคระบาดกันอยู่

หนังสือ “หมู่เกาะมาเลย์” เล่มนี้เป็นหนังสือคลาสสิกของโลกที่ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด นับตั้งแต่ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1869 แต่ถึงแม้จะมีชื่อเสียงมานาน หนังสือเล่มนี้ก็ไม่เคยตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยมาก่อนเลย เพิ่งจะได้รับการแปล โดย นำชัย ชีววิรรธน์, ณัฐพล อ่อนปาน, ต่อศักดิ์ สีลานันท์, ศศิวิมล แสวงผล และตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยออกมาเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยสำนักพิมพ์มติชน

ความสำคัญของหนังสือ “หมู่เกาะมาเลย์” คือ เป็นบันทึกการเดินทาง ระหว่างเดินทางมายังหมู่เกาะอินโด-มาเลย์ ของวอลเลซ นักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญของโลก ผู้ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการเช่นเดียวกับชาร์ลส ดาร์วิน (Charles Darwin)

ณ หมู่เกาะมาเลย์อันลึกลับแห่งนี้เองที่วอลเลซได้พบเห็นและสังเกตสิ่งมีชีวิตนานาชนิด จนเขาค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการที่สามารถอธิบายปริศนาลึกลับทางธรรมชาติที่ว่า สปีชีส์ใหม่เกิดขึ้นบนโลกได้อย่างไร เราจึงพูดได้ว่า พื้นที่แถบบ้านใกล้เรือนเคียงของเรามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้นพบทฤษฎีสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาวิทยาการของโลก

สิ่งที่วอลเลซพบเห็น ตั้งข้อสังเกต แล้วนำมาเขียนในหนังสือเล่มนี้ กลายเป็นข้อมูลที่ได้รับการอ้างอิงโดยนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากในเวลาต่อมา

น่าแปลกใจที่วอลเลซ เป็นคนที่ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการเช่นเดียวกับชาร์ลส ดาร์วิน แต่เขากลับมีชื่อเสียงน้อยกว่าดาร์วินมาก ๆ

แม้แต่ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แปล “หมู่เกาะมาเลย์” ก็ตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้คนทั่วโลกมักจำได้ว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นผลงานการค้นพบของดาร์วิน แต่ไม่ค่อยรู้ว่าวอลเลซก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ค้นพบทฤษฎีนี้เช่นกัน เหตุใดวอลเลซจึงตกอยู่ในเงามืดของความยิ่งใหญ่ของดาร์วินตลอดเวลา?

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้คุณูปการที่วอลเลซสร้างไว้มีคุณค่าลดน้อยลงไป

ในฐานะนักวิชาการ-นักวิจัย ดร.นำชัยพูดถึงวอลเลซว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการทำให้ ชาร์ลส ดาร์วิน เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ในแง่ที่การค้นพบของเขามีอิมแพ็กต์ต่อโลก ถูกนำไปต่อยอดมากมาย และส่งผลต่อวิทยาศาสตร์ทุกสาขา ดังนั้น วอลเลซ ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่ค้นพบทฤษฎีนี้ก็มีคุณูปการต่อโลกของเราเทียบเท่ากันกับดาร์วิน

“มีคนยกย่องวอลเลซว่าเป็น ‘เจ้าพ่อแห่งชีวภูมิศาสตร์’ เพราะเขาสามารถจับความสัมพันธ์ของพื้นที่กับสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร”

ดร.นำชัย ผู้เคยแปลหนังสือดังอย่าง “กำเนิดสปีชีส์” และ “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ” พูดถึงหนังสือ “หมู่เกาะมาเลย์” ผลงานแปลเล่มล่าสุดของตัวเองว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือคลาสสิกระดับโลก การที่หนังสือเล่มนี้ไม่เคยหยุดตีพิมพ์เลยตลอดเวลา 150 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถการันตีได้ว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่า ควรค่าแก่การอ่านอย่างมาก

นอกจากนั้น อาจารย์นำชัยแสดงความเห็นอีกว่า เมืองไทยมีการแปลหนังสือคลาสสิกระดับโลกน้อย ยิ่งเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก การตีพิมพ์และการอ่านหนังสือระดับนี้มีผลในระยะยาวต่อคนในประเทศมาก ถ้าสำนักพิมพ์พิมพ์หนังสือที่มีคุณค่าแล้วขายไม่ได้ คนอยากทำก็จะมีน้อยลงเรื่อย ๆ สติปัญญาของคนในประเทศก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ ฉะนั้นการอุดหนุนหนังสือคุณภาพ จึงเป็นวงจรที่ส่งเสริมสนับสนุนพื้นฐานการอ่านของสังคมให้เข้มแข็ง

“หวังว่าหนังสือหมู่เกาะมาเลย์จะเป็นหมุดหมายอันดีในเชิงวิชาการ และในฐานะหนังสือวิทยาศาสตร์ที่เป็นเรื่องจริง ซึ่งเล่าได้อย่างสนุกสนานและเห็นภาพ โดยนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เป็นนักผจญภัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของยุควิกตอเรียน หวังว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น

เพราะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้เราปรับตัวดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามการคัดสรรตามธรรมชาติ อันเป็นหลักการสำคัญของวิวัฒนาการ ตามที่ดาร์วินและวอลเลซเป็นผู้ค้นพบนั่นเอง” ดร.นำชัยเขียนปิดท้ายคำนำเสนอผู้แปล ในหนังสือ “หมู่เกาะมาเลย์” ฉบับตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรก