อัพเดตเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโควิด-19 ในสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลาย

Photo credit should read Feature China/Barcroft Media via Getty Images

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

ถึงแม้ว่าความอันตรายของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะไม่ได้ดูน่ากลัวและสยดสยองเหมือนภาพการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซอมบี้ในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง แต่พอมาเป็นสถานการณ์จริงที่ในปัจจุบันระดับการแพร่ระบาดถูกยกขึ้นมาเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ (pandemic) ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม มียอดผู้ติดเชื้อทะลุ 2 แสนรายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดความตระหนกและกังวลไปทั่วโลก ไม่ต่างจากสถานการณ์เชื้อไวรัสซอมบี้ที่เห็นในหนัง

ณ จุดที่ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 มีออกมารายวัน อาจมีส่วนทำให้เกิดความตระหนกและกังวลมากกว่าที่ควรจะเป็น “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงรวบรวมข้อมูลที่ควรรู้ ทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัสว่าน่ากลัวจริงหรือไม่ การพัฒนาวัคซีนตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ทำไมประเทศต้นทางอย่างจีนถึงก้าวพ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดได้ก่อนใคร รวมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการและความสามารถในการติดต่อของโรคจากองค์กรที่เชื่อถือได้อย่าง WHO ขอเชิญผู้อ่านติดตามไปพร้อมกัน

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการและการติดต่อ

ในปัจจุบัน ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน และการผลิตวัคซีนยังอยู่ในจุดเริ่มต้นทดสอบเท่านั้น การรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จะช่วยให้สามารถเฝ้าระวังและป้องกันตัวเองและผู้อื่นในสถานการณ์ปัจจุบันได้

มีข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (who.int) ให้ข้อมูลว่า โคโรน่าไวรัส คือตระกูลของไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการป่วยในมนุษย์และสัตว์ ไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ มีตั้งแต่อาการไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคที่รุนแรงอย่างโรคเมอร์ส (MERS) และซาร์ส (SARS) รวมถึงโควิด-19 (COVID-19) นี้ด้วย

อาการของโควิด-19 ได้แก่ เป็นไข้ อ่อนเพลีย และไอแห้ง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ หรือท้องร่วง อาการเหล่านี้ส่วนมากจะไม่รุนแรงและค่อย ๆ แสดงอาการ ผู้ที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติ ผู้ป่วยราว 80% สามารถหายจากโรคได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องรับการรักษาใด

อย่างไรก็ดี ราว 1 ใน 6 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการป่วยขั้นรุนแรงและหายใจลำบาก โดยเฉพาะในรายของผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางสุขภาพอยู่แล้ว เช่น เป็นโรคความดัน โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน มีแนวโน้มที่จะมีอาการป่วยที่รุนแรงมากกว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

ส่วนการติดต่อของโรคนั้น สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านละอองน้ำมูกและน้ำลายโดยการไอหรือจาม (ผ่านละอองเสมหะจากผู้ที่มีเชื้อเท่านั้น ไม่สามารถติดต่อผ่านทางอากาศได้) ซึ่งหากละอองเหล่านี้ติดอยู่ตามสิ่งของต่าง ๆ และมีการจับสิ่งของเหล่านี้ ก็จะสามารถติดเชื้อไวรัสผ่านการนำมือไปสัมผัสกับดวงตา จมูก หรือปาก นอกจากนั้นแล้ว โควิด-19 ยังติดต่อผ่านการสูดละอองเหล่านี้จากผู้ที่มีเชื้อที่ไอหรือจามได้

ข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก คือ ควรอยู่ให้ห่างจากผู้ที่มีอาการป่วยไม่ต่ำกว่า 1 เมตร หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา จมูก หรือปาก หากต้องไอหรือจาม ให้ใช้กระดาษทิสชูหรือข้อศอกปิดปากและจมูก ในกรณีที่รู้สึกไม่สบาย ให้เก็บตัวอยู่ในบ้าน และติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ

Photo by Anthony Kwan/Getty Images


การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส

ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) และสถาบันวิทยาศาสตร์ในเซี่ยงไฮ้ (Institut Pasteur of Shanghai) พบการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อให้เกิดโควิด-19 ซึ่งกลายพันธุ์จากสายพันธุ์เอส (S type) เป็นสายพันธุ์แอล (L type) ที่มีความรุนแรงมากขึ้น สามารถติดต่อและแพร่กระจายได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถแพร่กระจายทางอุจจาระและปัสสาวะ นอกเหนือไปจากการแพร่ระบาดทางละอองทางเดินหายใจได้

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เชื้อสายพันธุ์เอสที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของเชื้อไวรัส เริ่มแพร่ระบาดในปลายเดือนธันวาคม 2562 ในเมืองอู่ฮั่น แต่ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 ได้มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์แอลที่มีความรุนแรงมากกว่า และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบัน สัดส่วนระหว่างผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เอสกับสายพันธุ์แอลอยู่ที่ราว 30% ต่อ 70%

อย่างไรก็ดี ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ให้ความเห็นแย้งว่า ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อสรุปที่เชื่อถือได้ เพราะธรรมชาติของไวรัสมีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรุนแรงขึ้นเสมอไป อีกทั้งงานวิจัยดังกล่าวเก็บตัวอย่างเฉพาะผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้เก็บตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง ซึ่งมีอยู่อีกเป็นจำนวนมากในเมืองอู่ฮั่น

มีข้อมูลจากเว็บไซต์ Fred Hutch จากประเทศสหรัฐอเมริกาที่สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.อนันต์ ใจความว่า อัตราการกลายพันธุ์ของไวรัสโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 24 ครั้งต่อปี ซึ่งการกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นแบบสุ่ม และเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตของไวรัส บางการกลายพันธุ์เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ไวรัส (เช่น ดุร้ายขึ้น กระจายได้เร็วขึ้น ติดต่อได้ง่ายขึ้น ฯลฯ) แต่บางการกลายพันธุ์ก็เป็นการทำลายตัวไวรัสเองตามธรรมชาติ ซึ่งการสังเกตการกลายพันธุ์ในส่วนของโปรตีนหนาม (spike protein) ของไวรัสจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาวัคซีนได้

ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน

ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2563 ที่ทางการจีนเผยข้อมูลรหัสพันธุกรรม (RNA sequences) ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ให้แก่ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ นับเป็นจุดเริ่มต้นให้นักวิจัยและสถาบันด้านเภสัชกรรมทั่วโลก สามารถสร้างไวรัสที่มีชีวิต เพื่อการศึกษาและพัฒนาวัคซีนในการป้องกันและการรักษาโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่

อ้างอิงจากสำนักข่าว The Guardian ระบุว่า ในปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 35 บริษัทและสถาบันการศึกษาทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาเพื่อพัฒนาวัคซีน และมีอย่างน้อย 4 องค์กรที่ค้นพบวัคซีนเพื่อการทดลองในสัตว์ได้แล้ว หนึ่งในนั้นคือบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพโมเดอร์นา (Moderna) ที่คาดว่าจะสามารถทดลองวัคซีนในมนุษย์ภายในเดือนเมษายนนี้

อย่างไรก็ดี บริษัทสามารถเริ่มการทดลองได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำนักข่าว BBC รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัทโมเดอร์นา ร่วมมือกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (National Institutes of Health หรือ NIH) เริ่มการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคทางเดินหายใจโควิด-19 ในมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก โดยเริ่มฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับอาสาสมัคร 4 คนแรก จากทั้งหมด 45 คน ที่ศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งในนครซีแอตเทิล โดยการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน และจะมีการทดลองฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ในระยะเวลาห่างกัน 28 วัน จากนั้นผู้วินิจฉัยจะคอยสังเกตอาการ โดยเฝ้าระวังว่าอาสาสมัครจะมีอาการไข้ ปวดระบบ หรือมีอาการแพ้หรือไม่

หากผลการทดสอบในขั้นต้นออกมาว่าวัคซีนนี้ปลอดภัย สามารถใช้ได้กับคนทั่วไป ก็จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 18 เดือน เพื่อดำเนินการผลิตให้พร้อมใช้งานทั่วโลก

ทางฝั่งจีน ประเทศต้นทางของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ก็มีการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน มีรายงานจากหนังสือพิมพ์ Chinese Communist Party People”s Daily ระบุว่านักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ทหาร (Academy of Military Medical Sciences) ได้รับอนุมัติให้สามารถทำการทดลองทางคลินิกได้เร็วขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลจะเริ่มทำการทดสอบในเฟสแรกเพื่อดูว่าการทดลองในครั้งนี้จะปลอดภัยสำหรับมนุษย์หรือไม่

โดยการทดลองนี้จะเกณฑ์อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 108 คนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบวัคซีน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 16 มีนาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563

ส่วนความคืบหน้าในการทดสอบยาต้านไวรัสและวัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ป้องกันเชื้อไวรัสนั้น ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอิสราเอลที่สำเร็จในขั้นต้น ความร่วมมือกันระหว่างบริษัทในประเทศเยอรมนี (BioNTech) และจีน (Fosun Group) เพื่อการพัฒนาวัคซีน ฯลฯ

Photo by Tomohiro Ohsumi/Getty Images

 

ถอดบทเรียนการผ่านพ้นวิกฤตของประเทศจีน

ถึงแม้ว่าในภาพรวมของทั้งโลก ยอดผู้ติดเชื้อจะทวีจำนวนขึ้นรายวัน แต่หากพิจารณาตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีตัวเลขค่อนข้างคงที่ โดยในวันที่ 16 มีนาคม 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนได้แซงหน้าจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนเป็นที่เรียบร้อย น่าสนใจว่าอะไรทำให้ประเทศต้นทางอย่างจีนผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้

เดวิด ไครานอสกี (David Cyranoski) จาก nature วารสารด้านสหวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์ของประเทศอังกฤษ เขียนบทความ What China”s coronavirus response can teach the rest of the world ที่ลำดับข้อมูลการจัดการเชื้อไวรัสของจีน รวมถึงบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการปิดประเทศที่มีส่วนช่วยให้ไวรัสแพร่กระจายอยู่ในขอบเขตที่สามารถควบคุมได้

ในบทความระบุว่า ช่วงกลางเดือนมกราคม ทางการจีนประกาศมาตรการขั้นเด็ดขาดในการควบคุมเชื้อไวรัส โดยการปิดเมืองอู่ฮั่น เมืองศูนย์กลางการแพร่ระบาด และอีก 15 เมืองในมณฑลหูเป่ย์ ประชาชนกว่า 60 ล้านคนต้องอยู่แต่ในบ้าน เที่ยวบินและการเดินรถไฟทั้งหมดถูกระงับ ทางการจีนสั่งปิดถนนทุกสาย และไม่นานหลังจากนั้น จีนประกาศให้ประชากรในหลายเมือง รวมกว่า 760 ล้านคนอยู่แต่ในบ้าน สามารถออกจากบ้านได้ในกรณีซื้อหาอาหารและเพื่อความช่วยเหลือทางการแพทย์เท่านั้น

จนถึงตอนนี้ (17 มีนาคม 2563) เป็นเวลาเกือบสองเดือนภายใต้มาตรการดังกล่าว จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้นเพียงหลักสิบเท่านั้น ลดลงมาจากช่วงพีกที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักพันอย่างมีนัยสำคัญ ไมเคิล ออสเตอร์โฮล์ม (Michael Osterholm) นักวิทยาศาสตร์ด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา (University of Minnesota) กล่าวว่า

“การจำกัดการเดินทางของประชาชนอย่างเข้มงวดของจีนค่อนข้างประสบความสำเร็จเลยทีเดียว”

มีแบบจำลองของ ไหล เฉิงจี้ (Lai Shengjie) และ แอนดรูว์ ทาเท็ม (Andrew Tatem) สองนักวิจัยด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่จากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน (University of Southampton) ที่ประเมินผลได้จากมาตรการที่เข้มงวดของจีนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ว่าสามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้มากถึง 67 เท่า หากไม่แล้ว ยอดผู้ติดเชื้อในปลายเดือนกุมภาพันธ์ทั่วโลกอาจมีจำนวนมากถึง 8 ล้านราย


นอกจากที่ระบุไว้ในบทความแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่น การทุ่มสรรพกำลังสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่จำนวน 1,000 เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยภายในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ ความเด็ดขาดในการยกเลิกงานอีเวนต์ใหญ่ ๆ อย่างการแข่งขันกีฬา การสั่งปิดสถานที่ที่มีการมาพบกันของคนจำนวนมาก เช่น โรงภาพยนตร์ หรือการสั่งปิดโรงงาน และร้านค้า รวมถึงการที่จีนเป็นสังคมไร้เงินสด มีการใช้จ่ายผ่านทางแอปพลิเคชั่น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส