เรียนธรรมชาติวิทยา จากบันทึกการเดินป่าวาดรูปนกของ “หมอหม่อง”

ท้องฟ้าสีเทา : เรื่อง

นกกระจิบ นกกระจอก นกเอี้ยง นกพิราบ คำตอบมีไม่กี่ชนิดเท่านั้นเมื่อฉันถามตัวเองว่า ตั้งแต่เกิดมาเคยเห็นนกอะไรตัวเป็น ๆ แล้วสามารถบอกชื่อมันได้บ้าง ทั้งที่เป็นเด็กต่างจังหวัดแท้ ๆ น่าจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดสัตว์และธรรมชาติมากกว่าคนในเมืองกรุง แต่ก็น่าเสียดายที่ประสบการณ์ชีวิตของฉันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ผ่านมาน่าจะเกือบครึ่งชีวิตแล้ว ฉันก็เพิ่งได้รู้จักและมีความรู้เกี่ยวกับนกนานาชนิดจากการชมนิทรรศการภาพเขียนหมึกและสีน้ำ “Dr.Birdman บันทึกป่าของหมอหม่อง” และภาพยนตร์ชื่อเดียวกันนี้ ซึ่งทั้งนิทรรศการภาพเขียนและภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการนำสมุดบันทึกการดูนก และวาดภาพนก ตลอดระยะเวลา 36 ปี ของ หมอหม่อง-นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ออกมาเผยแพร่สู่สายตาคนทั่วไปครั้งแรก

นิทรรศการที่ว่านี้จัดแสดงอยู่ที่ Gallery Oasis ส่วนภาพยนตร์ก็ฉายที่ Cinema Oasis ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารเดียวกันในซอยสุขุมวิท 43 โดยจะจัดแสดง-ฉายให้ผู้สนใจเข้าชมกันได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้

ภาพจากเฟซบุ๊กหมอหม่อง www.facebook.com/rungsrit.kanjanavanit

หมอหม่อง-นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้หลงใหลการดูนกจนถึงขั้นเคยลาออกจากอาชีพแพทย์ไปทำงานเกี่ยวกับธรรมชาติคนนี้ เริ่มดูนกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 แล้วเพียรพยายามทำเรื่อยมา เมื่อว่างจากการรักษาคนไข้ หมอหม่องเป็นต้องเข้าป่าเสมอ ๆ

สมุดเล่มว่าง ๆ ถูกเขียนภาพและข้อมูลของนกลงไปวันแล้ววันเล่า จนในที่สุดก็เป็นสมุดบันทึกการดูนกจำนวน 15 เล่ม ซึ่งนอกจากเป็นบันทึกรูปและข้อมูลนกนานาชนิดแล้ว ก็ยังเป็นบันทึกความรู้สึกและความทรงจำของผู้บันทึกด้วย อย่างที่คุณหมอพูดในหนังว่า “พอเอาภาพมาดู ความรู้สึก เสียง และกลิ่นที่ได้สัมผัสในตอนนั้นก็กลับมา”

ในนิทรรศการฉันได้เห็นภาพวาดสีน้ำที่สวยงาม ทำให้รู้สึกทึ่งและคิดสงสัยว่า นกมันมาให้เห็นกี่นาทีกันนะ คุณหมอวาดภาพที่เห็นเพียงชั่วคราวออกมาได้ละเอียดและสวยงามขนาดนี้ได้อย่างไร

พอมานั่งดูภาพยนตร์ คุณหมอก็ค่อย ๆ บรรยายแต่ละเหตุการณ์เป็นฉาก ๆ ช่วยตอบคำถามที่สงสัยไปได้ประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังรู้สึกทึ่งอยู่ดี 

คุณหมอเล่าว่า สมัยเป็นหมอใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลด่านซ้าย จังหวัดเลย คุณหมอมีโรงเรียนธรรมชาติวิทยาอยู่ 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

เริ่มต้นเปิดบันทึกเล่มแรก ๆ คุณหมอก็บอกว่า สมัยก่อนเป็นโรค plant blindnessวาดต้นไม้ไม่ได้เรื่อง เพราะชอบนกมาก ก็สังเกตแต่นก จนกระทั่งมีครั้งหนึ่งโดนพี่สาวต่อว่าว่า สนใจแต่นก ไม่สนใจพืชเลย คุณหมอก็ยอมรับว่าจริง และมาคิดต่ออีกว่า จะจบแค่การสังเกตและวาดรูปสัตว์ไม่ได้ เพราะสัตว์ต้องพึ่งพาต้นไม้ ถ้าสนใจนกก็ต้องสนใจด้วยว่าสิ่งแวดล้อมของมันเป็นแบบไหน บวกกับที่คุณแม่ (ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์) ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ เล่าความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับสัตว์ให้ฟัง จึงทำให้คุณหมอสนใจพืชขึ้นมา

หมอหม่องเปิดบันทึกไปทีละหน้า พร้อมกับเล่าประสบการณ์แต่ละครั้ง ซึ่งให้ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาอย่างหลากหลาย

ครั้งหนึ่งคุณหมอขึ้นไปผูกเปลนอนบนต้นไทร เพื่อรอดูนกบินเข้ามากินลูกไทร คุณหมอสังเกตเห็นว่า เมื่อขึ้นไปอยู่บนต้นไทรแล้ว นกไม่รู้สึกตื่นกลัวเหมือนเวลาที่เดินอยู่พื้นข้างล่าง ซึ่งตรงนี้คุณหมอเล่าด้วยความรู้สึกปลื้มปริ่มว่า “เวลาที่สัตว์มันยอมรับเรา มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษมาก”

มีความรู้สึกดีก็มีความรู้สึกเศร้าใจในบางครั้ง คุณหมอเปิดมาถึงภาพหนึ่ง แล้วเล่าว่า ตอนนั้นไปล่องแม่น้ำโขงที่เชียงแสน สมัยนั้นแม่น้ำโขงยังไม่มีเขื่อนในเมืองจีน น้ำก็ขึ้น-ลงตามฤดูกาล มีนกหลายชนิดที่วางไข่ในชายหาดแม่น้ำโขง แต่เศร้ามากที่ตอนนี้แม่น้ำโขงขึ้น-ลงไม่เป็นเวลาแล้ว บางครั้งเขื่อนก็ปล่อยน้ำลงมาในฤดูแล้ง น้ำไหลบ่าลงมาท่วมรังไข่และนกตายเป็นจำนวนมาก

คุณหมอบอกว่า ครั้งหนึ่งที่ประทับใจมาก ๆ ในชีวิตการดูนกก็คือ การได้เห็นนกกระติ๊ดเขียว หรือนกไผ่ ที่อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ซึ่งนกชนิดนี้เป็นนกที่หมอตามหามาตั้งแต่เริ่มดูนก

“ตามหามา 20 ปี ไม่เคยเจอเลย มันเป็นนกกินเมล็ดไผ่ ซึ่งไผ่มันออกเมล็ดไม่เป็นฤดูกาล นกพวกนี้มันก็เลยเร่ร่อน ตรงไหนมีป่าไผ่ที่ออกเมล็ด มันก็จะไปตรงนั้น วันนั้นเป็นจังหวะพอดี ได้เจอทีเดียวเป็นร้อยตัว ความรู้สึกแบบ โอ้ย…สำเร็จซะที ฉันตามหาเธอมานานมากแล้ว”

อีกครั้งหนึ่งที่คุณหมอบอกว่าประทับใจมากก็คือ การได้เห็นไก่ฟ้าหางลายขวาง ที่ดอยหลวงเชียงดาว คุณหมอบอกว่าเป็นไก่ฟ้าที่ชาวตะวันตกลงทุนบินข้ามทวีปมาดูที่เมืองไทย แต่คนไทยกลับไม่ค่อยรู้จัก

“เจ้าตัวนี้เป็นของดีของเชียงใหม่เลยนะครับ มันเป็นมรดกที่เราควรรักษาถ่ายทอดให้ตกถึงลูกหลาน แต่เราไม่รู้ว่ามันมีตัวพิเศษแบบนี้อยู่ เราไม่รู้ว่ามีอะไรบ้างเป็นของแพง ๆ อยู่ในบ้านเรา เวลาขโมยขึ้นบ้านเขาก็คงจะขนไปหมดโดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราสูญเสียอะไรไปบ้าง”

หมอหม่องบอกว่า มีสิ่งหนึ่งที่หมอใช้วัดความเมตตาของคนที่มีต่อสัตว์ นั่นก็คือ ระยะที่นกให้คนเข้าใกล้ได้มากที่สุดแค่ไหน คุณหมอเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ในประเทศไทย นกให้คนเข้าใกล้ได้มากที่สุด 2 ช่วงหนังสติ๊ก ที่ประเทศลาวใกล้ได้แค่ 3-4 ช่วงหนังสติ๊ก เพราะคนที่ลาวยิงนกมากกว่าไทย ส่วนที่อินเดีย และประเทศใกล้เคียง คนสามารถเข้าใกล้นกได้มาก เพราะเขาไม่ยิงหรือจับนก

“มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าประเทศไหนยากจนนะครับ แต่มันเป็นวิธีคิดของคนในชาตินั้นว่าเขามองชีวิตรอบตัวเขาว่ามีศักดิ์ศรีหรือว่ามีสิทธิ์ในการดำรงอยู่เท่าเทียมกันหรือไม่ อย่างไร เขาเคารพทุกชีวิตหรือไม่ เมืองไทยเราน่าเสียดายครับ เราจะเห็นว่านกอยู่ห่างคนมาก ผมเอาระยะอันนี้เป็นตัวชี้วัดความเมตตาของคนในชาตินั้น ๆ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายมันจะสอนลูกสอนหลานและเพิ่มการเรียนรู้มาตลอดว่าเข้าใกล้มนุษย์ได้ระดับไหน”

ในยุคสมัยที่เราสูญเสียสัตว์ป่าและนกไปแล้วเป็นจำนวนมาก คุณหมอก็ได้ยกตัวอย่างความพยายามด้านการอนุรักษ์และการฟื้นฟูที่เห็นผล ชวนให้ชื่นใจอยู่บ้าง คือ กรณีการคืนนกกระเรียนไทยสู่ท้องนา ซึ่งคุณหมอเล่าว่า ที่จริงนกกระเรียนไทยสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่มีความพยายามขององค์การสวนสัตว์ฯ ที่นำนกกระเรียนจากกัมพูชาและลาวมาเพาะพันธุ์ แล้วนำไปปล่อยในธรรมชาติที่จังหวัดบุรีรัมย์ จนนกที่เพาะพันธุ์นั้นสามารถมีลูกสืบสายพันธุ์ได้

เมื่อมาถึงช่วงท้ายของบันทึกเล่มที่ 15 คุณหมอโชว์รูปที่วาดจากจินตนาการ เป็นรูปเรียกว่า “รวมดาว” ก็ว่าได้ ในรูปนั้นประกอบด้วยนกและสัตว์มีค่าของไทยซึ่งล้วนแต่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งนกกระเรียนไทย นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และสมัน

“ผมอยากบันทึกสิ่งนี้ไว้ เพราะว่านี่คือมรดกที่ไม่สามารถส่งต่อให้ถึงลูกถึงหลานได้อีกต่อไป … การที่เราจะเติบโตขึ้นมาในโลกซึ่งไม่มีเสียงร้องของนก ไม่มีกวาง ไม่มีสัตว์ทั้งหลายรอบรอบตัว ผมว่ามันเป็นโลกซึ่งว่างเปล่า โลกที่เหงา คงจะเป็นโลกที่แร้นแค้นความงดงาม ซึ่งผมว่ามันมีความจำเป็นมาก มันคือความจำเป็นทางจิตวิญญาณของเรา ความงามของสิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเข้าใจทุกอย่างอย่างลึกซึ้ง เข้าใจเหตุผลของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ แล้วก็เข้าใจความจริงของโลกรอบตัวเรา ผมอยากให้คนอยากออกไปเรียนรู้ ไปใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ออกไปเชื่อมความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่ถูกตัดขาด ไปดูว่ามันมีของวิเศษมากมายอยู่รอบตัวเรา แต่เราอาจจะหลงลืมมันไป” นี่คือเมสเสจสำคัญของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ที่หมอหม่องสื่อสารอย่างสุภาพอ่อนน้อม ไม่ได้ตั้งตนเป็นผู้พิทักษ์ธรรมชาติที่ชี้หน้าด่าว่าใคร

ด้วยความสัตย์จริง ไม่เสแสร้ง ฉันเกิดความคิดว่า อยากไปเดินป่า ดูนก ดูต้นไม้ น่าจะเกือบ 10 ครั้งในเวลา 3 ชั่วโมงที่นั่งฟังคุณหมอเปิดภาพนก และเล่าเรื่องราวในบันทึกให้ฟัง