เปิดอกผู้บริหาร “ใบหยก” บริษัทที่จ่ายเงินเดือนในช่วงโควิด และทุกวิกฤตที่ผ่านมา

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

หลังจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทยยกระดับรุนแรงขึ้น มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลได้ยกระดับมาตรการโดยให้ปิดสถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า


มาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง เมื่อเปิดให้บริการไม่ได้ตามเดิม หรือเปิดได้แบบมีข้อจำกัด รายได้ที่ผู้ประกอบการเคยมีก็กลายเป็นไม่มี หรือมีก็น้อยลงมาก สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือ บริษัทและสถานประกอบการจำนวนมาก “ไม่จ่าย” หรือ “ลด” เงินเดือนพนักงาน-ลูกจ้าง เป็นเหตุให้ชาวต่างจังหวัดและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลหลั่งไหลกันกลับบ้านจนแน่นสถานีขนส่งและสถานีรถไฟ

ในห้วงเวลาเดียวกันนี้มีบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่งที่ประกาศว่า จะจ่ายเงินเดือน-ค่าจ้างเต็มจำนวน และสั่งห้ามพนักงาน-ลูกจ้างเดินทางออกจากกรุงเทพฯหรือจังหวัดที่พักอาศัยในปริมณฑลเด็ดขาด ถ้าฝ่าฝืนโดนไล่ออก หมดสภาพการเป็นพนักงานทันที

บริษัทที่ว่านี้ก็คือ กลุ่มใบหยก เจ้าของโรงแรม “ใบหยก 1” และ “ใบหยก 2” ที่เคยทำสถิติเป็นตึกที่สูงที่สุดในเมืองไทยทั้งสองตึก

Photo by Thierry Falise/LightRocket via Getty Images

กลุ่มใบหยกเป็นเจ้าของที่ดินในย่านกลางเมืองหลายแปลง มีโรงแรมกว่า 10 แห่ง เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร 6 แบรนด์ นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ อีก เกือบทั้งหมดอยู่ในหมวดท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงที่ไวรัสระบาด

ใบหยกมีพนักงานรวมทั้งกรุ๊ปมากกว่า 2,000 คน การที่ใบหยกประกาศว่าจะจ่ายเงินเดือนพนักงานเต็มจำนวนในภาวะวิกฤตที่บริษัทและผู้ประกอบการอีกมากมายไม่จ่ายหรือจ่ายไม่เต็ม เป็นแอ็กชั่นของภาคธุรกิจที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก

หลังจากที่เห็นข่าวดี ๆ ข่าวนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้ติดต่อขอพูดคุยกับ เบียร์-ปิยะเลิศ ใบหยก ทายาทคนโตของ พันธ์เลิศ ใบหยก ประธานกลุ่มใบหยก ซึ่งปัจจุบันปิยะเลิศดำรงตำแหน่งรองประธานกลุ่มใบหยก เป็นรองเพียงคุณพ่อเท่านั้น

ปิยะเลิศเล่าว่า เรื่องการตั้งกฎห้ามออกต่างจังหวัดนั้นในกลุ่มใบหยกคุยกันมาตั้งแต่ก่อนจะมีประกาศปิดสถานที่เสี่ยง เมื่อวันที่ 21 มีนาคมแล้วว่าจะต้องห้ามพนักงานออกต่างจังหวัด ซึ่งตัวเขาเองคิดว่าการที่คนเดินทางออกไปต่างจังหวัดเป็นการกระจายผู้ที่อาจจะเป็นพาหะแพร่เชื้อออกไปเป็นวงกว้างขึ้น เมื่อเล็งเห็นดังนั้นแล้ว เขาจึงคิดว่าจะต้องออกกฎห้ามพนักงานเดินทางออกต่างจังหวัด ซึ่งมั่นใจว่าบริษัทมีสิทธิ์ที่จะสั่งห้ามได้ เพราะยังจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวน ถือว่าอยู่ในเวลาทำงาน

ส่วนเรื่องการจ่ายเงินเดือนเต็มในสถานการณ์เช่นนี้ ปิยะเลิศบอกว่า เป็นนโยบายของใบหยกที่ทำมาตลอดทุกวิกฤตที่ผ่านมา ทั้งตอนที่โรคซาร์สระบาด และตอนที่มีการชุมนุมปิดพื้นที่ราชประสงค์ ก็จ่ายเต็มแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ใบหยกอยู่ในฝั่งธุรกิจที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน แต่เขาก็เข้าใจความจำเป็นของบริษัท-ผู้ประกอบการที่ไม่จ่าย เพราะปัญหาครั้งนี้หนักจริง ๆ

“ผมก็เข้าใจที่บางที่เขาไม่ได้จ่ายพนักงาน หรือเขาจ่ายไม่ไหวจริง ๆ บริษัทเราก็ไม่จ่ายได้เหมือนกัน แต่ว่าท่านประธานและฝ่ายบริหารก็เป็นอย่างนี้มาตลอด เราก็ช่วยพนักงานของเรา ถ้าเกิดคุณปล่อยเขาไป เขาก็จะไปไหนก็ไม่รู้ เราดูแลกันแบบเป็นครอบครัวพอสมควร ผมก็พูดตรง ๆ แมน ๆ ว่า ถ้าจ่ายให้แล้วไปไหนไม่ได้นะ ถ้าไปไล่ออก เราจ่ายคุณ แต่คุณต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ก็พยายามสอนพนักงานของเราแบบนี้”

ขณะเดียวกัน เขาก็เข้าใจคนทำงานที่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดเช่นกัน “เห็นในข่าวคนกลับบ้านกันเยอะมาก ผมคิดว่าเขาคงตกใจ เพราะถ้าทำงานไม่ได้ ไม่มีการจ่ายค่าจ้างแล้วเขาจะอยู่กรุงเทพฯไปทำไม เขากลัวปิดบ้านปิดเมืองแล้วออกไม่ได้ เขาก็รีบกลับบ้านปลอดภัยกว่า เราก็เข้าใจเขา น่าสงสาร บางคนสวมแมสก์ บางคนไม่สวม มันอาจจะติดกันได้”

ปิยะเลิศบอกว่า การจ่ายเงินเดือนและสั่งห้ามกลับบ้านต่างจังหวัดเป็นผลดีหลายอย่าง ทั้งเป็นการช่วยลดการแพร่ระบาด เป็นการเซฟพนักงานจากไวรัส และเป็นการรักษาบุคลากรเอาไว้ด้วย ถ้าหากไม่จ่ายเงินเดือน พนักงานจำนวนหนึ่งอาจจะหายไปในช่วงวิกฤตแล้วไม่กลับมาเลย หลังจากผ่านพ้นวิกฤตไปแล้วบริษัทก็ต้องหาพนักงานใหม่ และฝึกหัดกันใหม่ ฉะนั้น จ่ายเงินเดือนเพื่อรักษาพนักงานที่ทำงานเป็นและมีลอยัลตี้เอาไว้ดีกว่า

เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในช่วงนี้ ใบหยกให้พนักงานบางแผนกทำงานที่บ้าน ซึ่งมีประมาณ 30% ที่เริ่มไปแล้ว ส่วนแผนกที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานก็มีการสลับกันมาทำงาน

ถามถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสตัวร้ายตัวนี้

“กระทบ 100% เรามีหมดทุกอย่างที่เขาบอกให้ปิด กระทบหมดเลยครับ” คือคำตอบที่ทำให้เห็นภาพได้เป็นอย่างดี

รองประธานกลุ่มใบหยก เปิดเผยรายละเอียดว่า ในภาวะวิกฤตนี้รายได้หายไปประมาณ 80-90% ปกติช่วงไตรมาสแรกของปีถือว่าเป็นช่วงพีก โรงแรมจะต้องมียอดเข้าพักถึง 90% ของจำนวนห้องพักทั้งหมด แต่ตอนนี้มีหลักสิบห้องเท่านั้น ส่วนห้องอาหารบนตึกใบหยกปกติมีลูกค้าวันละ 1,000 คน แต่เมื่อเปิดไม่ได้ก็เกือบจะเป็น 0 เหลือเพียงให้บริการแขกที่เข้าพักในโรงแรมเท่านั้น ส่วนพื้นที่ให้เช่าตลาดประตูน้ำก็กระทบหนักไม่แพ้กัน ธุรกิจที่ยังพอทำรายได้อยู่ มีเพียงธุรกิจร้านอาหาร แต่ก็รายได้หายไปจากภาวะปกติ 50-60% เช่นกัน

ธุรกิจหนึ่งของตระกูลใบหยกที่ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสดีในช่วงนี้ ก็คือ แอลกอฮอล์เจลแบรนด์ “มารูอิ” ซึ่งอยู่ในหมวดสินค้าที่มีความต้องการสูงมากจนขาดตลาด แต่ปิยะเลิศบอกว่า มารูอิไม่ได้ทำกำไรอย่างที่คิด เพราะขาย 60% เท่านั้น ส่วนอีก 40% แบ่งไปบริจาคให้โรงพยาบาล การจะเพิ่มกำลังการผลิตก็ไม่สามารถทำได้ในภาวะนี้ เพราะวัตถุดิบขาด จึงทำเท่าที่ทำได้ และขายให้ครอบคลุมต้นทุนก็พอ “ไม่ค่อยจะมีกำไรครับ” เขาบอกพร้อมกับหัวเราะ

สรุปตัวเลขความเสียหายของใบหยกในไตรมาสแรกของปีนี้ ปิยะเลิศ บอกว่า ขอไม่บอกตัวเลขเต็ม ๆ แต่บอกได้ว่าหายไปหลายร้อยล้านบาทเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว

ในภาวะวิกฤตที่ยังมองไม่ออกว่าจะไปจบตรงไหน ถามว่าจะพยุงธุรกิจอย่างไร เขาตอบว่า พยายามหาวิธีที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภค อย่างเช่น ธุรกิจอาหารก็พยายามทำอะไรที่น่ากิน ให้ลูกค้าอยากสั่ง มีการออกเซตสุดคุ้มที่ราคาไม่แพง สะดวก และส่งถึงลูกค้าอย่างปลอดภัย ในส่วนของห้องอาหารโรงแรมใบหยกก็กำลังคิดจะทำดีลิเวอรี่เพื่อหารายได้มาเสริมกัน

“ก็พยายามจะหาวิธีสร้างรายได้จากสถานการณ์เหล่านี้ให้ได้บ้าง เช่น ดีลิเวอรี่ แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมรายจ่ายได้หรอก ถามว่าจะรับได้นานแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ก็จะพยายามให้ได้นานที่สุดครับ”

ถามไปถึงประธานกลุ่มใบหยก อยากรู้ว่า หัวเรือใหญ่ของใบหยกว่าอย่างไรบ้างกับสถานการณ์นี้ ปิยะเลิศบอกว่า คุณพ่อพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ พยายามคิดหาทางว่าจะประหยัดอะไรได้บ้าง และจะหาอะไรเพิ่มเติมเสริมรายได้ได้บ้าง

ส่วนเรื่องการจ่ายเงินเดือนพนักงานเต็มจำนวน จะจ่ายเต็มได้นานแค่ไหน จะแบกรับได้สักกี่เดือน คำตอบของปิยะเลิศ คือ ยังตอบไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับรายได้ที่จะทำได้ ถ้าทำรายได้ได้ดีก็จะจ่ายแบบนี้ต่อไป แต่ถ้ารายได้ไม่ดีก็ต้องมาดูอีกที ถ้าสถานการณ์ลากยาวมาก ที่สุดแล้วถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็อาจจะจ่ายครึ่งหนึ่งของอัตราเงินเดือน

“ถ้ามันยาวจนถึงสิ้นปี หรือไปจนถึงปีหน้า ผมว่ามันก็ไม่ไหวเนอะ มันไม่ใช่แค่เราที่จะตาย แต่มันกระทบทุก ๆ ทาง ทุก ๆ ธุรกิจ อย่างสายการบินก็เรียบร้อยหมดแล้ว”

ใบหยกเป็นบริษัทที่เผชิญหลายวิกฤตในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ปิยะเลิศเปรียบเทียบ 3 วิกฤตใหญ่ ๆ คือ โรคซาร์ส ม็อบราชประสงค์ และวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ว่า ใบหยกอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากทุกวิกฤตอยู่แล้ว แต่วิกฤตครั้งนี้กระทบทุกธุรกิจ และกระทบเป็นวงกว้างกว่าที่ผ่านมา ไม่ได้กระทบแค่ธุรกิจท่องเที่ยว

“อย่างตอนที่ปิดราชประสงค์มันกระทบในเมืองแถวนี้ ส่วนนอกเมืองเขาไม่กระทบ เขายังขายดี แต่ครั้งนี้โดนปิดหมดแล้ว เป็นครั้งแรกที่มีการปิดทั้งหมด มันกระทบเป็นวงกว้างมาก ๆ ถามว่าครั้งนี้กระทบมากกว่าทุกครั้งไหม เราได้รับผลกระทบทุกครั้ง ก็เลยไม่ถึงกับแพนิก แต่เราพยายามหาทางแก้ไขมากกว่า ตอนนี้ก็ยังโชคดีกว่าตอนนั้น เพราะว่าสมัยนั้นไม่มีบริการรับส่งอาหารต่าง ๆ ตอนนี้บริการมี เหล่านี้มาช่วยแบ่งเบาวิกฤตนิดนึง”

ธุรกิจเล็กธุรกิจใหญ่ได้รับผลกระทบกันหมด ถามว่าอยากให้รัฐบาลช่วยอะไรไหม รองประธานกลุ่มใบหยก บอกว่า แน่นอนว่าภาคธุรกิจก็หวังให้รัฐช่วยบ้าง แต่สิ่งที่อยากให้ช่วยมากที่สุดในตอนนี้ คือ ช่วยคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ก่อน

“ก็อยากให้ทุกคนช่วยกันครับ หวังพึ่งรัฐอย่างเดียวก็ไม่ได้ เขาออกกฎมาแล้วก็ต้องทำตาม ส่วนภาครัฐผมอยากให้ศึกษาแนวทางของประเทศที่เขาควบคุมได้แล้ว มันมีตั้งหลายประเทศ ตอนนี้ญี่ปุ่นก็ดีขึ้น หรืออย่างเกาหลีคนเขาก็ใช้ชีวิตได้แล้ว ญี่ปุ่นนี่เขาไม่ได้ปิดเมืองนะครับ ผมไม่รู้เขาคุมยังไง แต่ว่าคนญี่ปุ่นเขาค่อนข้างระวัง เขาใส่แมสก์กันตลอดเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว”

“เดี๋ยวผมพูดมากจะกลายเป็นว่าผมด่ารัฐบาล” ปิยะเลิศบอกปิดท้ายการสนทนาตามด้วยเสียงหัวเราะ

 

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน