อดีตแข้งผี ผันชกมวย กีฬาข้ามสายพันธุ์กับเกมธุรกิจ

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

โลกกีฬายุคนี้เป็นยุคของคนที่ต้องฟิตตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่คนที่เลิกเล่นกีฬาอาชีพไปแล้วก็ตาม ที่ผ่านมา ตัวเลขวัยเกษียณสำหรับคนกีฬาส่วนใหญ่มีเลขอายุนำหน้าแค่เลข 3 ต้น ๆ เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา และเรื่องทางธุรกิจในยุคนี้จะเป็นตัวยืดตัวเลขวัยเกษียณจากเวทีแข่งออกไปในหลายกรณี

กรณีล่าสุด คือข่าวการหวนคืนวงการกีฬาของ ริโอ เฟอร์ดินานด์ อดีตกองหลังแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งประกาศหันมาชกมวยสากลอาชีพแบบจริงจังในวัย 38 ปี อดีตกองหลังทีมชาติอังกฤษต้องขอใบอนุญาตชกมวยสากลอยู่ แต่ระหว่างที่รอก็ใช้เวลาประกาศความเคลื่อนไหวล่าสุดไปพร้อมกันด้วย

ความพยายามในการกระโดดข้ามสายกีฬามาสู่กีฬาต่อสู้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยที่ริโอก้าวเดินอย่างโดดเดี่ยว แต่มี “ผู้สนับสนุน” เป็นบริษัทรับพนันถูกกฎหมายชื่อดังเข้ามาหนุนหลัง พร้อมทำแคมเปญให้ แน่นอนว่าการซ้อมมวยไม่สามารถซ้อมอย่างสมบูรณ์ด้วยตัวนักกีฬาคนเดียวได้ ต้องทำควบคู่ไปกับทีมงานที่จะคอยดูแลแนะนำการฝึกซ้อม โดยเฉพาะสำหรับอดีตนักฟุตบอลซึ่งแขวนสตั๊ดแล้วและไม่มีพื้นฐานอย่างจริงจัง

เฟอร์ดินานด์ เป็นอดีตนักกีฬาที่ยังดูแลร่างกายหลังเลิกเล่นแล้ว ทำให้ยังสามารถรับความท้าทายใหม่ได้ไม่ยากนักในแง่ศักยภาพภายนอก แต่สำหรับการขัดเกลาทักษะมวยสากลอาชีพใหม่น่าจะมีเส้นทางอีกยาว

ริโอ เฟอร์ดินานด์ เปิดเผยเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้ว่า เป็นความท้าทายใหม่ที่เข้ามาหาโดยบริษัทรับพนันถูกกฎหมายนี่เอง บริบทของวลีนี้ทำให้ตีความหมายได้ค่อนข้างชัดเจน ความเคลื่อนไหวนี้เป็นกึ่งแคมเปญทางธุรกิจด้วยส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือเป็นโอกาสหาความท้าทายใหม่ของอดีตนักเตะระดับโลก

อดีตปราการหลังปิศาจแดงเล่าชีวิตหลังยุติอาชีพค้าแข้งว่า เขาต้องพยายามปล่อยใจให้โล่งและรับมือกับการสูญเสียภรรยาจากโรคมะเร็งในปีเดียวกับที่เขาเลิกเล่น ซึ่งการออกกำลังกายและรักษาสภาพร่างกายไว้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยด้านจิตใจไม่ให้ติดอยู่กับเรื่องในอดีต

นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังของการพลิกผันสายกีฬาในกรณีของริโอ เฟอร์ดินานด์ เห็นได้ว่า “ภารกิจ” นี้คือรูปแบบความสัมพันธ์ที่ได้แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน 3 ฝ่าย

นักธุรกิจ, นักกีฬา และผู้ชม ขณะที่ผลลัพธ์ของการข้ามสายพันธุ์ทางกีฬาของดาราดังในวงการจะสำเร็จหรือไม่ นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ความเป็นไปได้ที่นักฟุตบอลระดับแชมป์สโมสรยุโรปจะได้แชมป์มวยในอังกฤษอาจเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ ก่อนหน้านี้ เคยมี เคอร์ติส วู้ดเฮาส์ อดีตกองกลาง

เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักมวยต่อ ด้วยดีกรีแชมป์บริติช ไลต์เวลเตอร์เวต โดย เคอร์ติส

ยังอวยพรให้เฟอร์ดินานด์ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายด้วย ส่วนหนึ่งของทวีตอวยพรจากเคอร์ติส ระบุว่า “ใครจะมาบอกว่าคุณจะทำได้หรือไม่ได้กัน แต่ละคนก็มีชีวิตของตัวเองน่า”

วลีของเคอร์ติสไม่หนีจากความเป็นจริงนัก เพราะก่อนหน้าเคอร์ติสจะประสบความสำเร็จในวงการมวยควบคู่กับประวัติการเป็นนักเตะอาชีพ นักกีฬาหลายคนก็เคยทดลองกีฬาต่างสายพันธุ์ ที่สำคัญมีคนประสบความสำเร็จเมื่อเปลี่ยนชนิดกีฬาแข่งด้วย

ซอนนี่ บิล วิลเลี่ยมส์ นักรักบี้ทีมชาตินิวซีแลนด์ เป็นอีกคนที่อาศัยความแข็งแกร่งของร่างกายในกีฬาสองชนิด คือรักบี้ และมวยสากล โดยสามารถประสบความสำเร็จทั้ง 2 ชนิด มีสถิติชนะรวด 6 ไฟต์ในการชกอาชีพ และชกชิงแชมป์ชนะจนได้ชูเข็มขัดดับเบิลยูบีเอ รุ่นเฮฟวี่เวต เมื่อปี 2013 เรียกได้ว่าเป็นซูเปอร์สตาร์ 2 สถาบัน

ย้อนกลับไปยุค 50 มีชื่อ เดนิส คอมป์ตัน นักคริกเก็ต ทีมชาติอังกฤษ เท่านั้นไม่พอยังเป็นนักเตะของสโมสรอาร์เซนอล ในลอนดอนนานเกือบ 14 ปี และเป็นหนึ่งในทีมชุดแชมป์เอฟเอคัพเมื่อปี 1950

ถ้าเป็นยุคปัจจุบัน ไมเคิล จอร์แดน ตำนานนักยัดห่วง เคยสลับมาเล่นเบสบอลกับลีกระดับล่างในทีมเบอร์มิงแฮม บารอนส์ แม้จะไม่ถึงกับประสบความสำเร็จ แต่ถือว่าได้ทำตามความฝันและยังช่วยเหลือทีมด้วยการลงทุนซื้อรถบัสเดินทางให้อีกด้วย และนักกีฬาที่แฟนลูกหนังรู้จักอีกคนอย่าง เจอร์ซี่ย์ ดูเด็ค ผู้รักษาประตูลิเวอร์พูล ฮีโร่จากอิสตันบูลเมื่อปี 2005 ก็หันมาแข่งรถในทัวร์นาเมนต์คาสตรอล คัพ

การเปลี่ยนแปลงสายกีฬาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ถึงกับยากเกินความเป็นไปได้ บางประเภทสามารถประยุกต์ทักษะต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ ขณะที่ยุคนี้คือโลกของธุรกิจ การผสมผสานหยิบจับส่วนผสมที่ลงตัว ทั้งนักกีฬา ผู้ชม และนักลงทุน มาร่วมมือกัน ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร แต่ปรากฏการณ์ล่าสุดคือ ภารกิจที่น่าสนใจในแง่การตลาดจนถึงความท้าทายขีดจำกัดด้านความเป็นเลิศทางกีฬาด้วย