คุยกับ ผอ.รพ.รามาธิบดี ดูการทำงานของโรงพยาบาลระดับประเทศในช่วงต่อสู้โควิด

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

โรงพยาบาลเป็นสถานที่สำคัญในความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ณ เวลานี้ ด้วยความจำเป็นในสถานการณ์ที่โรคระบาดโควิด-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุใหม่ 2019 รุกคืบเข้ามาใกล้ตัวคนทั่วทุกระดับในสังคม ซึ่งหากติดเชื้อขึ้นมาเมื่อไหร่ เราทุกคนล้วนจำเป็นต้องพึ่งพาโรงพยาบาล

เมื่อไวรัสแพร่ระบาดกว้างขึ้น มีผู้ติดเชื้อกระจายไปทั่วประเทศ (พูดถึงเฉพาะในไทย) บุคคลกลุ่มเสี่ยงและผู้ต้องสงสัยที่จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจก็เพิ่มขึ้น โรงพยาบาลก็ต้องทำงานหนักขึ้นจากปกติที่หนักอยู่แล้ว

การตรวจหาผู้ติดเชื้อ และดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด การดูแลรักษาผู้ป่วยอื่น ๆ และการป้องกันไม่ให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่แพร่เชื้อในเวลาเดียวกัน เป็นโจทย์ที่ทุกโรงพยาบาลต้องทำให้ได้ในเวลานี้ ซึ่งนั่นคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับสถานที่ที่คนจำเป็นต้องไปรวมกันวันละหลายพันคน

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” อยากรู้ว่าโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่มีจำนวนคนไข้เยอะ ๆ มีเคสรักษายาก ๆ มีผู้เข้าตรวจโควิดจำนวนมาก และยังมีการรับผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาด้วย เขาทำงานอย่างไรในสถานการณ์ยาก ๆ และมีเงื่อนไขเยอะแบบนี้ เท่าที่เห็นคือทุกโรงพยาบาลประกาศเลื่อนนัดผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วนออกไปก่อน แต่ในรายละเอียด โรงพยาบาลต่าง ๆ มีแผนปฏิบัติงานอย่างไรให้ตอบโจทย์ได้หมด นั่นคือสิ่งที่เราอยากพาไปหาคำตอบ

หนึ่งในโรงพยาบาลใหญ่ระดับประเทศที่เราเห็นว่ามีบทบาทในสถานการณ์ที่ไทยต่อสู้โควิด-19 มาตั้งแต่แรก ๆ ก็คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งแล็บของที่นี่มีเคสเข้ามาตรวจโควิดมากที่สุด อีกทั้งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยโควิดอยู่หลักร้อยคน เราจึงได้ติดต่อขอพูดคุยกับ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายดูแลสุขภาพ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอาจารย์หมอได้ให้ข้อมูลอย่างละเอียด เห็นภาพ ไม่ใช่เพียงตอบความสงสัยของเรา แต่น่าจะเป็นประโยชน์ เป็นแนวทางหรือตัวอย่างให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ได้ด้วย

Q : โรงพยาบาลรามาธิบดีดูแลผู้ป่วยอยู่ปีละกี่ราย

ปกติเรามีคนไข้ที่เข้ามาตรวจทั้งปีนับเป็นจำนวนครั้ง ประมาณ 2,000,000 ครั้ง เป็นผู้ป่วยในที่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาลประมาณ 50,000 รายต่อปี

Q : มีบุคลากรทางการแพทย์กี่คน แยกเป็นแพทย์ พยาบาลกี่คน อัตราส่วนแพทย์ต่อคนไข้เป็นอย่างไร

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มี 2 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่พญาไท กับโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่บางพลี โดยรวมมีบุคลากรทั้งหมด 10,000 คน เป็นแพทย์ประมาณ 1,000 คน แยกเป็น อาจารย์แพทย์ประมาณ 500-600 คน นอกจากนั้นเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ที่กำลังฝึกอบรมอีกประมาณ 400-500 คน พยาบาลประมาณ 3,000 คน นอกจากนั้นมีนักเรียนแพทย์ปริญญาตรี ปีละประมาณ 200 คน นักเรียนพยาบาลปีละ 250 คน จะคิดอัตราส่วนหมอต่อคนไข้ มันเทียบกับโรงพยาบาลทั่วไปไม่ได้ เพราะเราเป็นสถาบันการอบรมแพทย์ ไม่เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป

Q : มีผู้เข้ามาตรวจโควิด-19 เฉลี่ยวันละกี่ราย

ช่วงแรกที่ยังไม่มีประกาศเคอร์ฟิว มีผู้มาตรวจวันละ 100-200 กว่าคน ส่วนหลังเคอร์ฟิวลดลงเป็นราว 100 คนต่อวัน เพราะว่าตอนยังไม่เคอร์ฟิว เรารับตรวจ 24 ชั่วโมง จำนวนที่ว่านี้นับเฉพาะคนไข้ที่เดินทางมาตรวจเอง ส่วนที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ส่งตัวอย่างมาตรวจแบ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผ่านมาตรวจไปแล้วประมาณ 30,000 เคส จัดว่าเป็นแล็บอันดับต้น ๆ ที่มีเคสเข้ามาตรวจมากที่สุด เรารู้ว่ามันเป็นภาระหน้าที่ เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่เราก็ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เราพยายามตรวจให้ได้มาก แต่หลังเคอร์ฟิว เราเปิดบริการถึงแค่ 18.00 น. เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องกลับให้ทันเวลาเคอร์ฟิว

Q : มีกำลังรับตรวจได้ทั้งหมดวันละประมาณกี่ราย

ขึ้นอยู่กับจำนวนคนไข้ที่จะมา โรงพยาบาลต้องจัดคนให้เพียงพอสอดคล้องกับจำนวนคนไข้ ถ้าคนไข้มาเยอะ เราก็ต้องเปิดให้ตรวจได้ทั้งหมด เราต้องยืดหยุ่น

Q : รับผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาแล้วรวมทั้งหมดกี่คน

นับสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม รวมทั้งหมด 141 คน แต่ไม่ได้นอนที่รามาธิบดีทั้งหมด มีรายสองรายที่ขอไปนอนที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนหนึ่งหายกลับบ้านแล้ว ส่วนที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล มีทั้งที่รามาธิบดี พญาไท และที่รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ บางพลี เราแบ่งเป็น 2 ส่วน เนื่องจากรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์เป็นพื้นที่ก่อสร้างใหม่ โครงสร้างอาคารและหลาย ๆ อย่างดีกว่าที่รามาฯ การรักษาผู้ป่วยโรคนี้ต้องการห้องความดันลบ ขณะเดียวกันก็ต้องมีพื้นที่จุดบริการที่ปลอดภัย เพราะฉะนั้น เราจึงใช้พื้นที่ที่สร้างใหม่ ส่วนที่รามาฯ พญาไท อาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารรูปแบบเก่า หลายอย่างไม่เหมาะสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ แต่ทั้งสองโรงพยาบาลก็ดูแลผู้ป่วยด้วยกัน ขั้นตอนการวินิจฉัยส่วนมากอยู่ที่รามาฯ เมื่อวินิจฉัยยืนยันแล้วว่าเป็นโควิดก็จะส่งไปรักษาที่รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

Q : ในช่วงโควิด-19 ระบาด รามาฯมีแผนพิเศษ หรือมีการปรับอะไรไปแล้วบ้าง

มันต้องสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด เมื่อช่วงตอนระบาดต้น ๆ เราเพียงแต่เฝ้าระวัง ให้บุคลากรของเราซักถาม วัดไข้ ดูอาการทางเดินหายใจ และพยายามสื่อสารให้คนไข้แจ้งข้อมูลตามความจริง แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น เราก็ต้องมีมาตรการที่ขยับขึ้น ยกตัวอย่าง ปกติโรงพยาบาลรามาฯมีคนไข้มาตรวจวันละ 5,000-7,000 คน รวมญาติแล้วเป็น 10,000 คน เพราะฉะนั้นเราต้องปรับลดจำนวนผู้ที่มาโรงพยาบาล โดยเลื่อนนัดคนไข้เก่าให้นานขึ้น ถ้ายาขาดเราก็ส่งทางไปรษณีย์ แต่ถ้าคนไหนที่ยังไม่แน่ใจ เราก็โทรศัพท์ไปซักถาม หรือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็น telemedicine ทำให้เหลือคนไข้ที่ต้องมาโรงพยาบาลเท่าที่จำเป็น

อันนั้นในมุมการดูแลคนไข้ ในอีกมุมอันหนึ่งคือ ทรัพยากร ตอนนี้หลาย ๆ อย่างที่เป็นอาวุธป้องกันเราขาด ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากาก N95 ชุดต่าง ๆ เราก็ต้องสงวนไว้ใช้ในกรณีที่จำเป็น เพราะฉะนั้น เราก็ขอรักษาเฉพาะคนไข้มะเร็ง และคนไข้เร่งด่วนก่อน ส่วนโรคที่ชะลอได้ เราก็ขอชะลอไว้ก่อน เพราะว่าถ้าทุกคนยังมาเหมือนเดิม คนก็จะแน่นโรงพยาบาล คนไข้ก็จะมีความเสี่ยงที่จะติดโรค และเราต้องใช้ทรัพยากรเยอะ จุดประสงค์ของเรามันมีสองอันประกอบกัน คือ อันที่หนึ่ง เราอยากให้คนไข้ปลอดภัย อันที่สอง เป็นการสงวนทรัพยากรเอาไว้ใช้ในวันข้างหน้า เพราะงานนี้ไม่ได้จบภายในวันเดียว

นอกจากนั้นมีอีกประเด็นหนึ่ง คือ เราขอตรวจโควิดในผู้ป่วยที่จะเข้ารับผ่าตัดที่ต้องดมยาสลบทุกราย เพื่อให้ทุกคนมั่นใจทั้งบุคลากรและผู้ป่วยคนอื่นที่ต้องใช้ห้องผ่าตัดเดียวกัน และนอนในหอผู้ป่วยห้องเดียวกัน

นอกจากลดจำนวนคนไข้ที่มาโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย ขณะเดียวกันเราได้เพิ่มศักยภาพรองรับผู้ป่วยโควิดที่เป็นผู้ป่วยระดับวิกฤต โดยการปรับหอผู้ป่วยให้เป็นห้องความดันลบเพิ่มเติม ที่รามาฯเพิ่ม 1 หอ จำนวน 12 เตียง ที่รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ เราปรับอีก 3 หอ จุคนไข้วิกฤตได้อีก 40 เตียง ตอนนี้หอผู้ป่วยวิกฤตของเรา ใช้ไปแล้วประมาณ 8 เตียง เราต้องปรับเพื่อรองรับผู้ป่วย หากกรณีที่การระบาดลุกลามและมีผู้ป่วยวิกฤตมากขึ้น จากที่มีการคาดการณ์ว่าใน 1 หรือ 2 เดือนข้างหน้า จะมีคนไข้วิกฤตที่ต้องการห้องไอซียูเพิ่มขึ้น ประมาณ 100-150 คน เพราะฉะนั้นก็มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนแพทย์ ซึ่งรามาธิบดีก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะขยายศักยภาพปรับสร้างหอผู้ป่วยวิกฤตเพิ่ม ตอนนี้อยู่ในกระบวนการปรับสร้าง ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน

Q : โรคที่ไม่เร่งด่วน แต่ระยะเวลามีผลต่อความรุนแรงของโรคอย่างเช่น มะเร็ง ทำอย่างไร

การพิจารณาของเรามี 2 เงื่อนไข หนึ่ง คือ มะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งอะไรต้องรักษาทันที แต่นอกเหนือจากมะเร็ง เป็นเงื่อนไขที่ 2 คือ ต้องพิจารณาว่าเร่งด่วนหรือไม่ กรณีเป็นโรคมะเร็งหรือโรคเร่งด่วนต้องรักษาในเวลาที่สมควร แถมยังมีให้ความมั่นใจในกรณีที่คุณดมยาสลบ คุณสบายใจได้ว่าอุปกรณ์ทั้งหลายถูกฆ่าเชื้อ และไม่ได้ใช้ร่วมกับคนที่เป็นผู้ป่วยโควิด เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เราไม่ห่วง เพราะมีเครื่องฆ่าเชื้อ แต่คนไม่สามารถนำไปฆ่าเชื้อได้ เพราะฉะนั้น เราก็พยายามทำบุคลากรของเราให้คลีนที่สุด ทำให้คนของเราไม่สุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อ หรือนำเชื้อจากคนไข้คนหนึ่งไปสู่คนไข้คนถัดไป

Q : การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ต้องใช้แพทย์ด้านไหนบ้าง

ส่วนใหญ่เป็นหมออายุรแพทย์ ประกอบด้วย หมอโรคติดเชื้อ หมอระบบทางเดินหายใจ ขึ้นอยู่กับรู้ว่าเป็นแล้วหรือยัง พอรู้ว่าเป็นแน่นอนแล้ว หมอโรคติดเชื้อจะเป็นผู้รักษานำ ต้องมีโปรโตคอลการให้ยา การดูแล และเนื่องด้วยโรคนี้ คนไข้มักจะมีโรคเก่าอื่น ๆ ติดตัวมา อย่างโรคถุงลมโป่งพอง เบาหวาน โรคไต เพราะฉะนั้น แพทย์โรคเหล่านี้ก็จะต้องเข้ามาดูเป็นทีม ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีโรคอะไรติดตัวมาบ้าง ต้องใช้หมอเป็นชุด ส่วนพยาบาลก็แล้วแต่ระยะโรค ถ้าระยะเบาก็แบบหนึ่ง ถ้าระยะหนักก็แบบหนึ่ง

ในการดูแลรักษาคนไข้ เรามีมาตรการหลายอันนะครับ ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าคนไข้ระยะน้อย เราก็ลดการสัมผัส โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เราให้หมอเปิด Skype ติดต่อกับผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยดูแลตัวเอง วัดไข้ วัดออกซิเจนเอง ส่วนหมอก็ดูผ่านหน้าจอ คุยกันตามเวลาที่นัดหมาย เป็นการป้องกันและลดความเสี่ยง หรืออย่างกรณีคนไข้ที่มาตรวจที่คลินิกไข้หวัด เราก็มีเครื่องไม้เครื่องมือป้องกัน และอีกอันหนึ่งที่บริษัทเอสซีจีสนับสนุนก็คือ ห้องที่ใช้ในการตรวจเชื้อโควิดอย่างปลอดภัย มีการแยกห้องความดันลบ และแยกห้องผ่านกระจกใส หมอยื่นมือเทียมเข้าไป หมอไม่ต้องสัมผัสคนไข้ ทำให้โอกาสติดเชื้อเกือบเป็น 0% ขณะเดียวกันคนไข้คนต่อไปที่ต้องใช้ห้องนั้นก็สบายใจ เพราะว่ามียูวีฆ่าเชื้อ บุคลากรของเราก็ปลอดภัย ผู้ป่วยก็มั่นใจมากขึ้นว่าไม่มีเชื้อจากคนแรกหลงเหลือไว้

Q : สำหรับผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาลในช่วงนี้ มีการดูแลที่เข้มงวดขึ้นกว่าปกติอย่างไร

คนไข้ใน เราขอลดการเยี่ยม และลดของเยี่ยม ให้เลี่ยงการนำของเยี่ยมมา เพราะเราไม่รู้ว่าของนั้นสะอาดแค่ไหน ส่วนตอนที่เขารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล สำหรับตัวคนไข้ เราก็พยายามเข้มงวดเรื่องผู้ป่วยเตียงข้าง ๆ

ในกรณีคนไข้ที่เข้าข่ายสงสัยว่าจะเป็นโควิด เรามีห้องเฉพาะ เพื่อที่เชื้อจะได้ไม่ปนไปที่คนอื่น ๆ ห้องเฉพาะนั้นต้องเป็นห้องความดันลบ รวมทั้งเราปรับหอผู้ป่วยของเราหลายที่ได้เป็นห้องความดันลบ เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ จะได้ไม่ปนกับคนไข้ทั่วไป เจ้าหน้าที่เราก็จะได้ปลอดภัยไม่เป็นคนที่นำเชื้อโรคไปยังคนไข้คนอื่น ๆ

Q : มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลเพิ่มเติมจากที่แนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับคนทั่วไปหรือไม่

ก็คงคล้าย ๆ กันครับ แต่ว่าจะต้องระมัดระวังมาก ๆ เลย เพราะว่าภูมิคุ้มกันของคนป่วยไม่มากเท่าคนทั่วไป เพราะฉะนั้น การล้างมือ การกิน หรือคำแนะนำหลาย ๆ อย่าง ต้องปฏิบัติอย่างมีวินัย เข้มงวด การไปอยู่กับคนเยอะ ๆ อย่างการต่อคิวก็ต้องพยายามหลบ ๆ ซึ่งทางโรงพยาบาลก็พยายามนำเทคโนโลยีมาช่วย อย่าง Rama App ให้มีการเลื่อนนัด การจัดคิว ลดการรอคอย ลดความจอแจ ผมว่าประเด็นสำคัญ คือ ถ้าทุกคนตระหนักและร่วมมือทำ เราจะชนะมันได้แน่นอน แต่ส่วนใหญ่ คือ คนไม่ตระหนัก ไม่รู้ และไม่ร่วม มันก็เลยเป็นที่มาของการติดเชื้อเป็นหย่อม ๆ

Q : โรงพยาบาลมีความยากลำบากในการปฏิบัติงาน หรือขาดอะไรที่อยากให้ประชาชนร่วมมือ และช่วยเหลือหรือเปล่า

มาตรการ social distancing ผมอยากให้ทุกคนทำทั้งต่อหน้าและลับหลัง เพราะว่ามันจะช่วยเราได้เยอะ ส่วนเรื่องยาอะไรทั้งหลายมันมีข้อจำกัด เพราะฉะนั้น เราต้องร่วมมือกัน และอย่าไปตีตรา อย่าไปรังเกียจคนที่เขาติดเชื้อ เดี๋ยวเขาก็หายกลับมาเป็นปกติ ส่วนคนที่เป็นก็ไม่ต้องปิด ไม่ต้องอาย การเปิดเผยมันเป็นประโยชน์ การเปิดเผยกับบุคลากรทางการแพทย์ และเปิดเผยกับคนที่ทำงาน คนใกล้ชิด มันไม่น่าเกลียดเลย แต่กลับดีต่อตัวเองและคนรอบข้าง ทุกคนจะได้ระวังตัว ถ้าทุกคนช่วยกัน เราจะผ่านมันไปได้ ส่วนภาพใหญ่เดี๋ยวรัฐบาลก็คงแก้ไข

Q : หน้ากาก อุปกรณ์ต่าง ๆ ตอนนี้ยังขาดอยู่ไหม

ต้องใช้คำว่าดีขึ้น เพราะมันเป็นความร่วมมือหลายส่วน ยกตัวอย่าง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม หรือรัฐบาล พยายามช่วยให้โรงงานสามารถมีสายการผลิตได้ดีขึ้น กรมการค้าภายในก็ปลดข้อจำกัดอะไรบางอย่าง ขณะเดียวกันคนใช้ก็ควบคุมกันด้วย โรงพยาบาลเราก็ควบคุมภายในของเรา ทุกคนเห็นคุณค่าของมันแล้วก็ช่วยกัน มันก็ดีขึ้น ภาวะขาดหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ถือว่าดีขึ้น แต่วันข้างหน้าจะเป็นยังไงก็อยู่ที่ตัวแปรตรงนั้น ถ้าโรคมันทรง ๆ เท่านี้ เราก็สบายใจ แต่ถ้ามันระบาดไปเยอะมาก มันก็จะไม่พอ

ประเด็นช่วงหลังอยู่ที่อุปกรณ์ที่แพทย์ต้องใช้ป้องกันตัวในการดูแลผู้ป่วยหนัก เช่น หน้ากาก N95 และชุดเสื้อกาวน์ที่มีหลายระดับ ไปจนถึงชุดที่เหมือนมนุษย์ต่างดาว อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นประเด็นสำคัญ เพราะว่าคนไข้ 100 คน จะมี 20 คนเป็นคนไข้ที่อาการหนัก ซึ่งใน 20 คนนั้นจะมี 5 คน เป็นคนไข้ที่ต้องอยู่ในไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งเวลาใส่ท่อหายใจ การกระจายของโรคมันจะเปลี่ยนไปจากเดิม ฉะนั้นอุปกรณ์พวกนี้สำคัญที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์กล้า และมั่นใจในการเข้าไปดูแลผู้ป่วย สถานการณ์ตอนนี้เป็นกันทั่วโลก จำนวนที่ผลิตได้มันก็เลยไม่พอต่อความต้องการใช้ ในไทยอาจจะมีโรงงานอยู่บ้าง แต่ก็ไม่พอใช้ นั่นคือข้อจำกัด ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข หรือคนที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะครับ ก็มีการนัดประชุมกันเป็นระยะ ๆ รวมทั้งหาวิธีทางเลือกอื่นมาช่วย ยกตัวอย่าง เช่น ใช้ซ้ำได้ไหม จะฆ่าเชื้ออย่างไร อย่างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ท่านรัฐมนตรีก็มีการเรียกประชุมคนที่เกี่ยวข้องด้านการวิจัยว่าจะผลิตทดแทนได้ไหม มันก็มีนวัตกรรมหลาย ๆ อันที่เป็นทางเลือก อย่างเช่น ใช้เครื่องยูวีอบฆ่าเชื้อ และหน้ากาก N95 ให้ใช้ซ้ำได้ 3-4 ครั้ง หรือพยายามทำหน้ากากรุ่นใหม่ ซึ่งมีความสามารถเทียบเท่า N95 หรือผลิตเสื้อผ้า ซึ่งมีมาตรฐานใกล้เคียงกับของเดิมที่ใช้อยู่ ถึงแม้จะไม่ได้สำเร็จในวันนี้ แต่ก็อยู่ในความพยายามของกลุ่มทีมทำงาน

Q : ในความเห็นของอาจารย์ โรคระบาดครั้งนี้เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดของการแพทย์ และการสาธารณสุขไทยหรือไม่ เคยมีครั้งไหนที่ทำงานหนักกว่านี้ไหม

ผมว่าเป็นของโลกเลยครับ เพราะว่ามันเป็นเชื้อที่ระบาดไว ถ้าเราเทียบกับเชื้ออื่น ๆ ที่เคยมี และในอนาคตโรคอุบัติใหม่มันมาอีกแน่ครับ ถ้าเรานับย้อนไป ซาร์ส แล้วก็ไข้หวัด 2009 แล้วก็อีโบล่า แล้วก็เมอร์ส มันจะมาอยู่อย่างนี้ตลอด เพราะฉะนั้น ดีที่สุดก็คือการนำบทเรียนแต่ละครั้งมาดู แต่ด้วยความที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ตัวนี้มันเป็นตัวใหม่ มันก็เลยยากด้วยหลายเหตุผล มันแพร่ระบาดไว และยังไม่มีใครรู้พฤติกรรมของมันทั้งหมด เรายังไม่รู้ว่าคนที่หายแล้วมีภูมิคุ้มกันอยู่ในตัวที่เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อซ้ำหรือเปล่า ไวรัสบางตัวเมื่อเป็นแล้ว คนจะมีภูมิต้านไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ แต่บางตัวก็มีภูมิแค่บอกว่าเคยติดเชื้อแล้ว แต่ไม่ป้องกันการติดเชื้อซ้ำ เรายังไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนการสร้างวัคซีนก็ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย แต่ต้องขอบคุณเหล่านักวิจัยที่พยายามศึกษาวิจัย

Q : จากที่เห็นว่าโรคมันร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ เราคาดการณ์ได้ใช่ไหมว่าโรคระบาดใหม่ที่จะมาในอนาคตมันจะร้ายแรงกว่านี้อีก

มันก็เป็นไปได้นะ เพราะว่าเชื้อโรคตัวที่กระจอก ๆ มันก็จะตายไปในธรรมชาติ มันก็จะเหลือแต่ตัวที่เก่ง ๆ มันก็เหมือนกับการดื้อยาแหละครับ คือในทุก ๆ นาที มันคงมีเชื้ออะไรเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แต่ถ้ามันไม่แข็งแกร่ง มันก็ตายไป

Q : ในมุมมองของอาจารย์ โรคระบาดครั้งนี้จะให้บทเรียนอะไรแก่เราบ้าง

ผมว่ามันมีหลายอย่างนะ อย่างพฤติกรรมการกินที่แปลกแหวกแนวก็คงต้องระวังมากขึ้น มันก็เป็นข้อเตือนใจเรา ต้องกลับไปที่การกินอาหารสุก อย่างที่ 2 ก็คือการรับรู้ได้เร็ว ต้องมีใครเป่านกหวีด อันที่ 3 คือ มาตรการการจัดการต้องอาศัยวิชาการและความร่วมมือ พอฝ่ายวิชาการมีข้อมูลรู้พฤติกรรมของมันแล้วก็อยู่ที่ความร่วมมือ การเคอร์ฟิวจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าทุกคนยังไปรวมตัวกันอยู่ในบ้าน ผมเข้าใจว่ารัฐบาลคงดูพฤติกรรมของประชาชนแล้วว่าไม่ไหว จึงต้องมีการประกาศเคอร์ฟิว จริง ๆ มันไม่จำเป็นต้องมีเคอร์ฟิวเลย ถ้าทุกคนร่วมมือกัน

Q : การปรับตัวของโรงพยาบาลในช่วงนี้ มันจะช่วยพัฒนา Telemedicine ของเมืองไทยไหม

ใช่ครับ ผมว่าอันนี้มันเป็นข้อดีของวิกฤต ถ้าเราไม่มีเหตุวิกฤตอย่างนี้ ทุกอย่างมันก็คงพัฒนาแบบไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ มันไม่มีอะไรมาบังคับให้เราต้องทำ พอเกิดเหตุอย่างนี้มันบังคับให้เราต้องทำ คนไข้ก็ยินยอมพร้อมใจ โรงพยาบาลก็เหมือนกับการทำธุรกิจทั่วไป ถ้าลูกค้าไม่เอาด้วยก็ทำไปอย่างงั้นแหละ แต่ในวิกฤตอย่างนี้พอเราทำ ต่างคนต่างเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน มันก็จะช่วยกันพัฒนา

Q : มีมิติไหนอีกไหมที่อาจารย์มองว่าวิกฤตครั้งนี้มันบังคับให้เราได้พัฒนาอะไรบางอย่าง

ผมคิดว่าสิ่งที่ดีในวิกฤตครั้งนี้ คือ คนเราดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น หลายปีที่ผ่านมาเราพยายามกระตุ้นคนของเราให้ล้างมือ และพยายามชวนคนไข้ด้วย แต่ครั้งนี้ไม่ต้องมีแคมเปญอะไรเลย ทุกคนก็ล้างมือ ซึ่งเราดีใจมาก ขออย่างเดียวอย่าลืมมัน หลังจากผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ เราก็ต้องดูแลตัวเองต่อไป

Q : มีอะไรฝากหรือแนะนำเพิ่มเติมไหม


แนะนำเพิ่มเติมคงไม่บังอาจ แต่ผมว่าเราต้องช่วยกันแล้วมองว่ามันเป็นโอกาสที่เราจะได้คิดนวัตกรรม และอยากบอกว่า อย่าเสพข่าวจนเกินพอดี บางคนเสพข่าวจนเป็นการทำร้ายตัวเอง อีกอันหนึ่งก็คือคนที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ก็อยากฝากไว้ว่ามันไม่ควร