จริงหรือไม่ที่ ไวรัสโคโรน่า กำลังเยียวยาสิ่งแวดล้อมโลก

(Photo by STR / AFP) / China OUT

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

แน่นอนว่าการที่ไวรัสแพร่ระบาดคร่าชีวิตคนนับแสนนี้ไม่ใช่เรื่องดี แต่ภายใต้เรื่องราวที่ไม่ดีนี้ เราได้เห็นการนำเสนอข้อมูลจากหลายองค์กรและสื่อมวลชนว่า การที่ไวรัสระบาดก็มีผลกระทบในทางที่ดีอยู่บ้าง นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายในช่วงเวลานี้ เช่น การเดินทางที่ลดน้อยลง โดยเฉพาะการเดินทางข้ามประเทศโดยเครื่องบินที่เที่ยวบินลดน้อยลงมาก ๆ

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลและสิ่งที่สังเกตเห็นได้ภายในเวลาเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา ว่า การหยุดกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ส่งผลดีอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แล้วสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไรหลังโรคระบาดสิ้นสุดลง และชวนคิดว่าจริง ๆ แล้วเราจะเรียกผลที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติว่าเป็น “ผลดี” ได้เต็มปากจริงไหมในเมื่อมันสร้างผลเสียแก่มนุษยชาติมากมายขนาดนี้

ท้องฟ้าสดใส มลพิษทางอากาศลดลง

ในประเทศจีน ต้นทางของการแพร่ระบาดและเป็นประเทศแรกที่มีการสั่งปิดประเทศ มีข้อมูลจากกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีน ระบุว่า ค่าเฉลี่ยจำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศดีในประเทศเพิ่มขึ้น 21.5% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน

สอดคล้องกับภาพถ่ายดาวเทียมจากองค์การนาซ่า (NASA) และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ที่แสดงให้เห็นถึงปริมาณการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์จากยานพาหนะ โรงงานไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมลดลงอย่างมหาศาลตามหัวเมืองใหญ่ของจีน ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ หมอกควันพิษที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าตามโรงไฟฟ้าเพื่อการอุตสาหกรรมแทบจะหายไปหมดสิ้น

“นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นปริมาณการปล่อยก๊าซลดลงอย่างมหาศาลและเป็นวงกว้างขนาดนี้จากเหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียว” เฟย หลิว (Fei Liu) นักวิจัยด้านคุณภาพอากาศแห่งศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของนาซ่ากล่าว

สำนักข่าวเดอะการ์เดี้ยน แสดงข้อมูลแง่มุมเดียวกันนี้ในรายงาน “Coronavirus pandemic leading to huge drop in air pollution” ที่แสดงให้เห็นว่า ตามหัวเมืองใหญ่ในหลายประเทศ ทั้งกรุงโซลในประเทศเกาหลีใต้ เมืองมิลาน ในประเทศอิตาลี และกรุงลอนดอนในสหราชอาณาจักร ก็มีการลดลงของปริมาณการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์นี้ ซึ่งส่งผลต่อสภาพอากาศอย่างมีนัยสำคัญ

อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีคำสั่งล็อกดาวน์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับมลพิษลดลงอย่างเห็นได้ชัด ชัดจนว่าชาวอินเดียสามารถมองเห็นยอดเขาหิมาลัยจากระยะทาง 200 กิโลเมตรได้เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า มาตรการการปิดเมืองที่หลายประเทศทั่วโลกใช้เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพอากาศของโลก

มาร์แชลล์ เบิร์ก (Marshall Burke) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้คำนวณว่า คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นในจีนอาจช่วยชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบได้ราว 4,000 คน และผู้สูงอายุเกิน 70 ปีได้อีกราว 73,000 คน

“ชัดเจนว่า ไม่ถูกต้องที่จะสรุปว่า การแพร่ระบาดของไวรัสนี้เป็นเรื่องดีต่อสุขภาพ แต่ตัวเลขที่ได้จากการคำนวณนี้อาจเตือนใจถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” เบิร์กแสดงความเห็นในบล็อกส่วนตัว

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงในรอบ 10 กว่าปี

การลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการที่คนลดการเดินทาง นอกจากทำให้ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เป็นหนึ่งในสารตั้งต้นของฝุ่น PM 2.5 ลดลงแล้ว ยังช่วยให้ก๊าซอื่น ๆ ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ฯลฯ ที่เรียกรวม ๆ กันว่า ก๊าซเรือนกระจกลดลงอีกด้วย

ศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (Centre for Research on Energy and Clean Air หรือ CREA) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์-1 มีนาคมที่ผ่านมาประเทศจีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงถึง 25% ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซได้มากถึง 200 ล้านตัน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการปล่อยก๊าซของสหราชอาณาจักรทั้งปี

“จากมาตรการในจีนที่ได้ผลเพียงชั่วข้ามคืน ปริมาณที่ลดลงอย่างมหาศาลนี้มากกว่าครั้งไหน ๆ ที่ฉันเคยเห็น”
ลอริ มิลลิเวอร์ตา (Lauri Myllyvirta) หัวหน้านักวิเคราะห์ข้อมูลที่ศูนย์วิจัยกล่าว

ในอีกหลาย ๆ ประเทศที่มีการปิดเมืองหรือลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ก็ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน เช่น เหล่าประเทศในยุโรปที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซจากการขนส่งเพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการการปิดเมืองในช่วงนี้ได้ส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซลดลง

ศ.โครีนน์ เลอ เกอรี (Corinne Le Quere) จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) แสดงความเห็นว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าการแพร่ระบาดจะยังคงอยู่ไปอีกนานแค่ไหน และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวไปอย่างไร แต่เราจะได้เห็นบางอย่างในปริมาณการปล่อยก๊าซทั่วโลกในปีนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง คือ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008-2009 แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้ถ่านหินและพลังงานฟอสซิลก็มีสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ซึ่งที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก

อากาศจะกลับไปแย่ไหม เมื่อสถานการณ์สิ้นสุด

น่าสนใจว่าการที่มลพิษทางอากาศและปริมาณก๊าซเรือนกระจกในหลายทวีปทั่วโลกลดลง อันมีผลมาจากความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้จะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวหรือไม่

ในรายงานของ BBC เรื่อง “Will Covid-19 have a lasting impact on the environment ?” คิมเบอร์ลี นิโคลาส (Kimberly Nicholas) นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อความยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) ประเทศสวีเดน ชี้ว่า สิ่งแรกที่ต้องพิจารณา คือ สาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซลดลง ตัวอย่างเช่น การขนส่ง ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 23% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ซึ่งปริมาณการปล่อยก๊าซจากส่วนนี้ลดลงในระยะสั้น อันเป็นผลมาจากมาตรการด้านสุขภาพ เช่น การให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน การลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ซึ่งการขับขี่รถยนต์และการบินเป็นคีย์หลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 72% และ 11% ตามลำดับ

ส่วนประเด็นที่ว่า เมื่อการระบาดสิ้นสุดลงโลกกลับสู่ภาวะปกติ สภาพอากาศจะเป็นอย่างไร

คิมเบอร์ลี แสดงความเห็นว่า ในแง่การเดินทางในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาด ถือเป็นประโยชน์ต่อสภาพอากาศและปริมาณก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว กิจกรรมใด ๆ ที่เกิดขึ้นหลังโรคระบาดจบลงก็จะไม่ได้มาหักล้างกับปริมาณการปล่อยก๊าซที่ลดลงไปแล้วก่อนหน้านี้ เธอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า คงไม่มีใครเดินทางไป-กลับที่ทำงานวันละสองรอบเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ทำงานอยู่ที่บ้าน

แต่สำหรับการเดินทางอื่น ๆ เธอแสดงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ 2 ทาง ทางแรก คือ คนที่กักตัวอยู่บ้านในช่วงไวรัสระบาดเริ่มเห็นคุณค่าของการใช้เวลาอยู่ร่วมกับครอบครัว และให้น้ำหนักกับแกนหลักที่สำคัญจริง ๆ ในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในครอบครัว เพื่อน และสังคม ซึ่งหากเป็นแบบนี้ คือช่วงเวลาที่กักตัวส่งผลทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมในอนาคต อยู่บ้านมากขึ้น เดินทางน้อยลง ก็จะลดการปล่อยก๊าซได้ในอนาคต

ส่วนอีกทางหนึ่ง คือ ผู้คนหยุดการเดินทางระยะไกลเอาไว้ชั่วคราวตามความเป็นไปของสถานการณ์ แต่เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ เที่ยวบินต่าง ๆ กลับมาเปิดให้บริการเหมือนก่อนเกิดการแพร่ระบาด คนกลับมาใช้บริการแบบเดิม ถ้าเป็นทางที่สองนี้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะกลับมาสูงขึ้นตามเดิม

นอกเหนือจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อาจสามารถควบคุมได้ในระดับการใช้ชีวิตของคนในสังคมแล้ว ภาครัฐบาลทั่วโลกก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมหลังจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดยุติลง

ศ.โครีนน์ จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย แนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “รัฐบาลทั่วโลกควรคิดอย่างรอบคอบถึงวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพยายามไม่ยึดติดอยู่กับการใช้พลังงานฟอสซิลอีกต่อไป”

เรื่องขยะแย่ลง และผลกระทบที่ต้องทบทวน

สำนักข่าวเดอะเวิร์จ (The Verge) ลงบทความ “The COVID-19 pandemic is generating tons of medical waste” ระบุว่า ในเมืองอู่ฮั่น ทางการต้องสร้างโรงขยะสำหรับของเสียทางการแพทย์ ซึ่งขยะทางการแพทย์มีปริมาณมากถึง 240 ตันต่อวันในช่วงพีกของการแพร่ระบาด

ในประเทศไทยเองถึงแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าหลาย ๆ ประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งก็มีส่วนเพิ่มปริมาณขยะติดเชื้อไม่น้อย

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยปริมาณการจัดเก็บขยะติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาจัดเก็บขยะติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 1.82 ตัน หรือเพิ่มขึ้นราว 4.4% นอกจากขยะทางการแพทย์และของเสียอันตรายแล้ว การปิดร้านค้าและบริการทุกอย่าง รวมถึงการสนับสนุนการทำงานจากบ้าน ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาสั่งซื้ออาหารผ่านบริการดีลิเวอรี่ต่าง ๆ นั้นก็มาพร้อมกับปัญหาขยะที่มากขึ้น

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เรื่อง “โควิด-19 ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น” ว่า ถึงแม้ว่าปริมาณขยะในภาพรวมน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งกล่องพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติก และหลอดดูด เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน ส่งผลให้การใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มมากขึ้นหลายเท่า

ความคิดที่ว่าช่วงที่ไวรัสระบาดทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักหลาย ๆ ด้าน ถึงแม้จะชัดเจนว่าสภาพอากาศดีขึ้นก็ตาม

อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน (Inger Anderson) ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เห็นแย้งต่อความคิดที่ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผลที่มองเห็นได้ในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ล้วนเป็นสิ่งชั่วคราว เพราะมันเกิดขึ้นพร้อมกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างน่าอนาถ พร้อมกับความทุกข์ยากของมนุษย์ อีกทั้งยังไม่ควรถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการแพร่ระบาดนี้เพิ่มปริมาณขยะทางการแพทย์และของเสียอันตราย