๑๐๐ ปี ธงช้าง สู่ ธงไตรรงค์

“เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย” พลันสิ้นเสียงเพลงชาติไทยท่ามกลาง “ธงไตรรงค์” 5 แถบบนยอดเสา สีแดง หมายถึง ชาติ สีขาว ศาสนา และสีน้ำเงิน คือ พระมหากษัตริย์ ที่โบกสะบัดมาจนครบ 100 ปีในวันที่ 28 กันยายนที่จะถึงนี้

ย้อนหลังกลับไปในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงให้ตราพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 กำหนดลักษณะธงชาติสยามใหม่เป็น “ธงรูปสี่เหลี่ยมรี ขนาดกว้าง 2 ส่วนยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 1 ใน 3 ของความกว้างของธงอยู่กลาง แถบสีขาวกว้าง

1 ใน 6 ของความกว้างของธงข้างละแถบ แล้วมีแถบแดงกว้างเท่ากับแถบขาวประกอบข้างนอกอีกข้างละแถบและพระราชทานนามว่า ธงไตรรงค์”

โดยกำหนดให้ใช้แทน “ธงช้างเผือกกลางธงพื้นแดง” ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (การค้นพบของพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย ปรากฏหลักฐานในหนังสือผังธงโลก MUSGRAVESROYAL NAVAL AND MERCHANT FLAGS OF ALL NATIONS AND CODES OF SIGNALS จากที่เคยเชื่อกันว่า ธงช้างเผือกกลางพื้นแดงเริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4)

จากที่ก่อนหน้านั้นประเทศสยามได้ใช้ธงพื้นแดงตลอดทั้งผืนอย่างน้อยมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่อ้างอิงมาจากจดหมายเหตุฝรั่งเศสที่ว่า เรือฝรั่งเศส (โลเวอตูร์) เดินทางมาถึงสันดอนปากอ่าวสยาม และมีธรรมเนียม 2 ฝ่ายยิงสลุตรับ

โดยเรือฝรั่งเศสชักธงฝรั่งเศส แต่ป้อมบางกอกไม่รู้ธรรมเนียม ประกอบกับฝ่ายสยามไม่มีธงชาติมาก่อน จึงคว้าเอาธงชาติฮอลันดา (ศัตรูฝรั่งเศสในขณะนั้น) ชักขึ้นสู่ยอดเสา เรือฝรั่งเศสตกใจชักธงลงและไม่ยอมยิงสลุตจนกว่าฝ่ายสยามจะเปลี่ยนธง สุดท้ายทหารประจำป้อมบางกอกจึงใช้ผ้าสีแดงชักขึ้นสู่ยอดเสา กลายมาเป็นเกร็ดเริ่มแรกของธงชาติสยามที่เล่าต่อ ๆ กันมา

จนกระทั่งมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สยามก็ยังคงใช้ “ธงพื้นแดง” ชักขึ้นทั้งในเรือราษฎร์และเรือหลวง และเพื่อให้เห็นถึงความแตกต่าง รัชกาลที่ 1 จึงมีพระบรมราชโองการให้นำรูป “จักรสีขาว” ติดไว้กลางธงพื้นแดง อันเนื่องจากจักรเป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรี จึงถูกกำหนดให้ชักธงพื้นแดงมีรูปจักรสีขาวตรงกลางในเรือหลวง ขณะที่เรือราษฎรทั่วไปยังคงใช้ธงพื้นแดงเหมือนเดิม

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีมากถึง 3 เชือก จึงโปรดให้นำรูปช้างเผือกมาไว้กลางวงจักร และใช้ต่อมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สยามถูกบังคับให้เปิดประเทศ มีการค้าขายอย่างเสรีภายใต้สนธิสัญญาบาวริ่ง (Bowring Treaty) ในปี 2398 ธงพื้นแดงที่ใช้ประจำเรือสยามในการค้าขายกับต่างประเทศจึงถูกร้องว่า ยากแก่การสังเกตเห็น และซ้ำหรือคล้ายกับธงประเทศอื่น

ดังนั้น ร.4 จึงโปรดให้เอารูปจักรออก คงเหลือไว้แต่เพียงช้างเผือกยืนอยู่ตรงกลางพื้นธงแดงแทน ในขณะที่หลักฐานใหม่ปรากฏว่า มีธงช้างเผือกถูกใช้มาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 2 ควบคู่มากับธงพื้นแดงรูปจักรและช้างเผือกตรงกลางด้วย

จนล่วงเข้ามาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สยามเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ขอบเขตของประเทศสยามปรากฏชัดเจนขึ้นจากการทำแผนที่ พร้อม ๆ กับดำเนินการปฏิรูปการปกครองรวมไปถึงธงด้วย โดยมีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยธงออกมาหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่าง

ธงสยาม ร.ศ. 110 พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก 116 และพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก 118 ระบุธงชาติสยามจะต้องมีลักษณะเป็นธงพื้นแดง ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกหันหน้าเข้าเสาทั้งสิ้น จากที่ปรากฏในสิ่งพิมพ์ต่างประเทศในช่วงนั้น ฝรั่งวาดรูปธงสยามมีทั้งช้างเผือกหันหน้าเข้าเสาและหันหลังเข้าเสาก็มี

อย่างไรก็ตาม ธงช้างเผือกกลางพื้นแดง ได้ถูกใช้ล่วงมาจนถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลังจากที่สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งขณะนั้นสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกอยู่ ประกอบกับมี “เกร็ด” เล่าความโดยจมื่นอมรดนุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ว่า ในคราวเสด็จประพาสเมืองอุทัยธานี ราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ

รีบร้อนติดธงช้างกลับหัวกลายเป็นช้างเผือกนอนหงายเอาขาชี้ฟ้า สร้างความสะเทือนใจกับรัชกาลที่ 6 มาก

หลังเสด็จกลับจากเมืองอุทัยธานีทำให้ ร.6 มีพระราชดำริจะเปลี่ยนแปลงธงชาติสยามขึ้นเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นจากการสะเพร่าติดธงช้างกลับหัว และแก้ปัญหาความยากลำบากที่ราษฎรจะต้องเที่ยวหา

ธงผ้าแดงที่พิมพ์รูปช้างนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีการคิดประดิษฐ์ธงชาติขึ้นมาใหม่ แรกเริ่มใช้ “ธงแดงขาว 5 ริ้ว” ชักขึ้นเป็นการทดลองที่สนามเสือป่าอยู่หลายวัน จนปรากฏความเห็นของฝรั่งที่ใช้นามแฝงว่า

“อะแคว์ริส” ใน น.ส.พ.กรุงเทพเดลิเมล์ฉบับภาษาอังกฤษวันที่ 15 สิงหาคม 2460 ทำนอง ธงแดงขาว 5 ริ้ว

ยังไม่สง่างามเพียงพอ สมควรเพิ่มริ้วตรงกลางเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีโปรดของพระมหากษัตริย์เข้ามาด้วย

ปรากฏความเห็นของ “อะแคว์ริส” เป็นที่พอพระทัยของรัชกาลที่ 6 ประกอบกับสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้รับสั่งว่า ถ้าจะเปลี่ยนแบบธงชาติก็จะได้เป็นเครื่องระลึกถึงและเป็นเกียรติยศการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของทหารสยามด้วย


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติธงฉบับใหม่ขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2460 และนับแต่นั้นเป็นต้นมา “ธงไตรรงค์” ก็ได้ถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาจนครบ 100 ปีในปัจจุบัน