ย้อนมองสงครามเชื้อโรคในประวัติศาสตร์โลก-ปัจจุบัน

Photo by MOD / AFP

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

จนถึงตอนนี้ แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์หรือหลักฐานที่แน่ชัดว่าต้นกำเนิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้มาจากที่ไหนกันแน่ แต่ทั้งองค์การอนามัยโลกและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสันนิษฐานไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้นตอของเชื้อไวรัสชนิดนี้มีที่มาจากสัตว์ ก่อนติดต่อมาสู่มนุษย์ในประเทศจีนเมื่อปลายปีที่ผานมา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามาจากตลาดขายสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่น

อย่างไรก็ดี ตลอดช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดนี้ มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างและทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ ทั้งทฤษฎีที่ว่าไวรัสโคโรน่าตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผลิตอาวุธชีวภาพของรัฐบาลจีน หรือทฤษฎีที่ว่ากองทัพสหรัฐเป็นผู้นำเชื้อไวรัสเข้ามาในอู่ฮั่น ฯลฯ ซึ่งจากทฤษฎีต่าง ๆ ที่บอกว่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่คืออาวุธชีวภาพก็ชวนให้นึกอยากรู้ว่า ที่ผ่านมา ในประวัติศาสตร์เคยมีการใช้ไวรัสหรือเชื้อโรคเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามกันอย่างไรบ้าง

Photo by EFFI SHARIR / YEDIOTH / AFP

การใช้อาวุธชีวภาพในประวัติศาสตร์

ในหนังสือ A Short History of Biological Warfare : From Pre-History to the 21st Century ของนักโบราณคดีชื่อ ดับบลิว. เซธ คารัส (W. Seth Carus) เชื่อว่ามีการใช้อาวุธชีวภาพมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งเพื่อการตกปลา ล่าสัตว์ รวมถึงการสงคราม มีบันทึกโบราณรายงานว่า ชาวไซเธียน (The Scythians) ฆ่างูพิษและปล่อยให้เน่า ในขณะเดียวกันก็นำเลือดของมนุษย์มาใส่ไว้ในภาชนะเล็ก ๆ ทิ้งไว้จนแห้ง แล้วจึงนำของเหลวจากงูพิษที่เน่ามาผสมกับตะกอนเลือดนั้น แล้วนำไปเคลือบที่ปลายลูกธนูเพื่อใช้ในการสู้รบ

ส่วนในยุคโบราณ (500 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ. 1000) ยังคงไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดว่ามีการใช้อาวุธชีวภาพหรือไม่ เพราะนอกจากค้นพบการปนเปื้อนของปลายลูกธนูอาบยาพิษของชาวไซเธียนแล้ว ในพื้นอารยธรรมแถบเมดิเตอร์เรเนียน แถบหุบเขาแม่น้ำไทกริสยูเฟรทีส แถบชมพูทวีป จีน หรือที่อื่นนั้นไม่พบเลย ซึ่งอาจตีความได้ว่าการใช้ยาพิษไม่เป็นที่ยอมรับในสมัยนั้น

จนถึงยุคกลาง ในปี ค.ศ. 1346 ในพงศาวดารของเมืองเจนัว (Genoese) ประเทศอิตาลี ที่บันทึกโดย กาเบรียล เดอ”มุสซี (Gabriele de”Mussi) บันทึกไว้ว่า ในขณะที่กองทัพมองโกลปิดล้อมเมืองแคฟฟา (Caffa) ในอิตาลี มองโกลกลับต้องสูญเสียกำลังทหารจากการแพร่ระบาดของกาฬโรคจนต้องถอยทัพ แต่พวกเขาไม่ถอยเปล่า ทหารมองโกลนำศพที่เสียชีวิตจากโรคระบาดมัดรวมกันและนำใส่เครื่องยิงหิน (Catapult) ยิงใส่เข้าไปในเมืองจนเกิดการแพร่ระบาดไปทั่ว เป็นเหตุให้ผู้คนอพยพหนีตายกลายเป็นเมืองร้าง ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่ามีผู้รอดชีวิตนำเชื้อกาฬโรคติดไปด้วยเกิดเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วยุโรปที่เรียกว่ากาฬมรณะ (The Black Death) แต่ภายหลังมีข้อพิสูจน์ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่สาเหตุหลักของการแพร่ระบาด

อีกหนึ่งในหลายเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่มีการบันทึกไว้คือ ช่วงปลายยุคกลาง ในปี 1763 สมัยแห่งการรุกรานชนพื้นเมืองอเมริกัน กองกำลังอังกฤษถูกปิดล้อมที่ป้อมพิตต์ (Fort Pitt) ทางกองทัพจึงถอนกำลัง และได้มีการส่งอาหารและสิ่งของให้แก่บรรดาหัวหน้าชนเผ่าอินเดียนแดง หนึ่งในนั้นคือผ้าห่มของผู้ป่วยโรคฝีดาษ ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดในชนเผ่าอินเดียนแดงไปทั่ว

อาวุธชีวภาพในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงปี 1914-1918 มีหลักฐานว่ามีการใช้อาวุธชีวภาพ จากบทความวิจัย “Biological warfare and bioterrorism : a historical review” บนเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Center for Biotechnology Information หรือ NCBI) ระบุว่า ประเทศเยอรมนีพยายามใช้อาวุธชีวภาพที่หลากหลาย ทั้งการส่งปศุสัตว์ที่มีเชื้อแบคทีเรีย เช่น แอนแทรกซ์ (Anthrax) และแกลนเดอร์ส (Glanders) ซึ่งเป็นโรคระบาดในม้าที่สามารถติดต่อถึงคนได้ไปยังสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ การใช้เชื้ออหิวาต์ที่ก่อให้เกิดอหิวาตกโรคในอิตาลี และการใช้กาฬโรคโจมตีกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในประเทศรัสเซีย

ในเดือนมิถุนายน 1925 ทั่วโลกเห็นถึงความอันตรายของการใช้อาวุธชีวภาพ จึงทำข้อตกลงร่วมกันในพิธีสารเมืองเจนีวา (Geneva Protocol) เพื่อกำกับการใช้งานอาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูงอย่างอาวุธชีวภาพในสงคราม อย่างไรก็ตาม พิธีสารเมืองเจนีวาไม่ได้มีการกำหนดการตรวจสอบหรือข้อบังคับให้ปฏิบัติตาม ทำให้เป็นข้อตกลงที่ไม่ค่อยเป็นผลนัก

อาวุธชีวภาพในสงครามโลกครั้งที่ 2

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี 1932 หลายประเทศเริ่มจริงจังกับการค้นคว้าและพัฒนาอาวุธชีวภาพ ซึ่งจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในนั้น ญี่ปุ่นจัดตั้งหน่วยงานทางทหารเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาอาวุธชีวภาพภายใต้หน่วย 731 (Unit 731) ที่ตั้งอยู่ในเขตผิงฝาง (Pingfang) ในดินแดนแมนจูเรียทางตอนเหนือของประเทศจีนซึ่งในตอนนั้นถูกยึดและปกครองโดยรัฐหุ่นเชิดของจักรวรรดิญี่ปุ่น มีนักวิทยาศาสตร์ร่วมวิจัยและพัฒนาอาวุธชีวภาพในหน่วยถึงกว่า 3,000 คน

เชื้อโรคที่จักรวรรดิญี่ปุ่นศึกษาในตอนนั้นคือเชื้อแอนแทรกซ์ เชื้อไนซีเรียเมนิงไจทิดิส (Neisseria Meningitidis) เชื้ออหิวาต์ เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และกาฬโรค ซึ่งในระหว่างดำเนินการ มีนักโทษเสียชีวิตจากการทดลองถึงกว่า 10,000 ราย ซึ่งกว่า 3,000 รายในนั้นเป็นเชลยสงครามจากเกาหลี จีน มองโกเลีย สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย

นอกจากนั้น ทีมวิจัยของกองทัพภายใต้หน่วย 731 ยังได้พัฒนากาฬโรคให้กลายเป็นอาวุธชีวภาพ โดยให้หมัดทดลองกินเลือดจากหนูที่มีเชื้อ และทิ้งระเบิดชีวภาพเหล่านี้ใส่ประเทศจีนหลายต่อหลายครั้งโดยหวังผลให้เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งการแพร่ระบาดจากระเบิดชีวภาพของจักรวรรดิญี่ปุ่นครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดในปี 1942 ที่เมืองฉางเต๋อ มีรายงานผู้เสียชีวิต 10,000 ราย ซึ่ง 1,700 รายในนั้นคือทหารในกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเอง

ไม่ใช่แค่จักรวรรดิญี่ปุ่นเท่านั้น ทั้งเยอรมนี แคนาดา อังกฤษ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ล้วนมีโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธชีวภาพของตัวเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสิ้น

Photo by PASCAL GUYOT / AFP

เปลี่ยนจากการสงครามเป็นการก่อการร้ายทางชีวภาพ

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960s นานาชาติกังวลและตระหนักถึงความอันตรายของอาวุธชีวภาพ ทั้งในแง่ของการคุกคามธรรมชาติ ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากการไม่มีการควบคุมดูแลการใช้งาน รวมทั้งเห็นว่าพิธีสารเมืองเจนีวาปี 1925 ไม่มีประสิทธิภาพ หลายประเทศจึงทำข้อตกลงร่วมกันใหม่ เกิดเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามพัฒนา การผลิต การสั่งสมอาวุธแบคทีเรีย (อาวุธชีวภาพ) และอาวุธที่เป็นพิษ ในงานประชุมว่าด้วยเรื่องอาวุธชีวภาพ (Biological Weapons Convention หรือ BWC) ในปี 1972 มีการร่วมลงนามถึง 141 ประเทศ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าในการสงครามจะไม่มีการใช้อาวุธชีวภาพอีกต่อไป แต่อาวุธชีวภาพกลับถูกนำมาใช้ในการก่อการร้ายอีกหลายครั้ง ในบทความ “Biological Weapons in History” บนเว็บไซต์สารานุกรมบริแทนนิกา (Encyclopedia Britannica) ยกตัวอย่างเหตุการณ์การก่อการร้ายโดยใช้อาวุธชีวภาพเอาไว้หลายเหตุการณ์ ดังนี้

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980s เมื่อ ภควัน ศรี ราชนีช (Bhagwan Shri Rajneesh) ที่ภายหลังรู้จักกันในนามโอโช (Osho) และสาวกย้ายมาตั้งรกรากในเขตวาสโก (Wasco County) รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มสาวกราชนีช (The Rajneeshies) พยายามที่จะแทรกแซงการเมืองในเมืองใกล้เคียงอย่างแอนทิโลป (Antelope) โดยการเปลี่ยนชื่อเมืองให้กลายเป็นราชนีชปุราม (Rajneeshpuram) รวมถึงพยายามขยายอำนาจไปทั่วเขตด้วยวิธีการต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการทดลองปล่อยเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) ตามร้านขายของชำ ร้านอาหาร และแหล่งน้ำในเมืองดัลเลส (The Dalles) ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 751 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990s ลัทธิโอมชินริเกียว (Aum Shinrikyo) พยายามใช้อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมีโจมตีญี่ปุ่นหลายครั้ง ครั้งที่เป็นที่พูดถึงที่สุดคือในปี 1995 สมาชิกในลัทธิใช้แก๊สซาริน (Sarin Gas) ซึ่งเป็นของเหลวไร้สี ไร้กลิ่น มีฤทธิ์รุนแรง ส่งผลต่อระบบประสาทโจมตีระบบสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียว ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 5,500 ราย เสียชีวิต 13 ราย

เหตุการณ์ล่าสุดคือในปี 2001 มีจดหมายส่งถึงนักการเมืองและบุคคลสำคัญในสหรัฐอเมริกา ซึ่งภายในจดหมายได้บรรจุเชื้อแอนแทรกซ์เอาไว้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และต้องเข้าโรงพยาบาลอีก 22 ราย ภายหลังสำนักงานสอบสวนกลางหรือ FBI สามารถปิดคดีได้ โดยทราบว่าผู้ก่อเหตุคือนักจุลชีววิทยาที่ทำงานด้านการป้องกันอาวุธชีวภาพในกองทัพสหรัฐ ซึ่งเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในปี 2008 หลังจากมีชื่อตกเป็นผู้ต้องสงสัย