5 ไฮไลต์ พระบรมมหาราชวัง ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ตลอดกาล

ถ้าเราเสิร์ชหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในประเทศไทย “พระบรมมหาราชวัง” หรือ “Grand Palace” คือคำที่เราจะพบในอันดับต้น ๆ คาดว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวกรุงเทพมหานคร น่าจะมากกว่าร้อยละ 60 ที่จะต้องไปเยือน ถ่ายรูป และเช็กอินที่พระบรมมหาราชวังแห่งนี้

ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากที่พระบรมมหาราชวังปิดการเข้าชมมาราว 2 เดือน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักพระราชวังได้เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมพระบรมมหาราชวังได้อีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหนาตาเหมือนที่เคย แต่ก็ได้รับความสนใจจากชาวไทยเข้าชมกันเป็นจำนวนมาก ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มข้น ทั้งการล้างมือก่อนผ่านประตู การเดินผ่านประตูที่ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และต้องยืนบนพรมที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อ

ภายหลังกำแพงสีขาวที่เรามองจากด้านนอกเห็นแต่หลังคา ยอดเจดีย์และปราสาทนั้น มีอะไรให้ดูให้ชมบ้าง ทำไมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากมายนัก “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” อยากพาไปดูว่า นอกจากวัดพระแก้วที่คนมักจะนึกถึงอยู่แล้ว ในพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีอะไรเป็นไฮไลต์บ้าง แต่ก่อนจะพาไปดูไฮไลต์ เราขอให้ข้อมูลเบื้องต้นกันสักนิด

พระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2325 โดยโปรดเกล้าฯให้ พระยาธรรมาธิกรณ์ และพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองในการก่อสร้าง เมื่อแรกสร้างมีเนื้อที่ 132 ไร่ ต่อมารัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่าเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งเป็นที่ประทับสำหรับพระมเหสี พระราชเทวี เจ้าจอม และเจ้านายฝ่ายใน มีความคับแคบ จึงโปรดเกล้าฯให้ขยายเนื้อที่ด้านทิศใต้ออกไปทางถนนท้ายวัง อีก 20 ไร่ 2 งาน พระบรมมหาราชวังจึงมีเนื้อที่รวม 152 ไร่ 2 งาน มาจนถึงปัจจุบัน

พื้นที่ภายในพระบรมมหาราชวังแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งเขตพระราชฐานชั้นกลางเป็นชั้นที่เราได้เห็นมากที่สุดในข่าวและในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีต่าง ๆ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งสำคัญในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ

ทีนี้มาดูกันว่ามีไฮไลต์อะไรบ้างในพระบรมมหาราชวังที่เราสามารถเข้าชมหรือชมจากด้านนอกอาคารได้ ส่วนพระที่นั่งและพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าชมได้ เราจะไม่ได้นำมากล่าวถึงในที่นี้

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นพระอารามที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวัง เป็นวัดสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี

ภายในวัดพระแก้วมีไฮไลต์หลายจุดที่เข้าไปแล้วไม่ควรพลาด ทั้งพระระเบียงและจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ พระอุโบสถศิลปะอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป หอพระนาก หอพระมณเฑียรธรรม หอพระคันธารราษฎร์

หมู่พระมหามณเฑียร

หมู่พระมหามณเฑียรเป็นหมู่พระที่นั่งประกอบด้วยพระที่นั่งและหอติดต่อกัน 7 องค์ คือ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หอพระสุราลัยพิมาน หอพระธาตุมณเฑียร พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ (พระปรัศว์ขวา) พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล (พระปรัศว์ซ้าย)

ในอดีตหมู่พระมหามณเฑียรมีความสำคัญมาก เพราะเป็นทั้งพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่เสด็จออกขุนนางเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นมณฑลพิธีประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเฉลิมพระราชมณเฑียร

ถ้าดูจากภาพมุมสูง เราจะเห็นความสลับซับซ้อนของหมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งสร้างเชื่อมต่อกัน แต่น่าเสียดายที่เราเห็นภาพระดับสายตาจากด้านหน้าและด้านข้างเท่านั้น

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นพระที่นั่งผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก ประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 องค์เรียงกันจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน

รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้นายสถาปนิกชาวอังกฤษชื่อ จอนห์ คลูนิช ทำหน้าที่เป็นนายช่างออกแบบ โดยสร้างตามแบบอย่างศิลปกรรมตะวันตกมีหลังคาทรงโดม ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้น แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กราบบังคมทูลว่า ควรยกยอดพระที่นั่งเป็นแบบปราสาท รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างองค์พระที่นั่งเป็นแบบตะวันตก ส่วนเครื่องยอดให้ยกเป็นยอดปราสาทตามแบบสถาปัตยกรรมไทย

หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ รัชกาลที่ 5 ทรงใช้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นที่ประทับ และเสด็จออกให้คณะทูตานุทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นและอักษรสาส์นตราตั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงใช้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นที่พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ สำหรับพระราชอาคันตุกะที่เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ประกอบด้วยพระที่นั่ง 2 องค์เชื่อมต่อกัน พระราชทานนามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งพิมานรัตยา ในส่วนของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ถอดแบบมาจากพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา เป็นพระที่นั่งทรงจตุรมุข มุขด้านทิศเหนือมีมุขเด็จยื่นออกมา หลังคาลดหลั่น 4 ชั้น

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใช้เป็นพระที่นั่งสำหรับตั้งพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 9 ยังใช้ประกอบพระราชพิธีฉัตรมงคลด้วย พระที่นั่งองค์นี้ คนไทยยุคปัจจุบันคงจะมีความผูกพันมากกว่าพระที่นั่งองค์อื่น เนื่องจากเป็นที่ตั้งพระโกศพระบรมศพรัชกาลที่ 9 ซึ่งประชาชนจากทั่วทุกสารทิศได้เข้าไปกราบสักการะพระบรมศพนั่นเอง

พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หนึ่งไฮไลต์ที่อยากแนะนำให้เข้าไปชมก็คือ พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นอาคาร 2 ชั้นอยู่ตรงข้ามกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ที่พิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระบรมมหาราชวัง และวัดพระแก้ว หลาย ๆ ชิ้นคือชิ้นส่วนที่ถอดออกมาจากการบูรณะซ่อมแซมพระบรมมหาราชวัง แล้วนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์นี้ บอกได้เลยว่าที่นี่เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่อลังการที่สุดแล้วในประเทศไทย น่าเสียดายที่เราไม่สามารถเก็บภาพมาให้ชมได้ เพราะพิพิธภัณฑ์มีข้อกำหนดว่า ห้ามถ่ายภาพ

นอกจากโบราณวัตถุแล้ว ตัวอาคารก็สวยงาม อาคารหลังนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมทีใช้เป็นโรงกษาปณ์ผลิตเงินตราใช้ในประเทศ ปัจจุบันภายนอกได้รับการบูรณะให้ดูใหม่ แต่เดินเข้าไปภายในแล้วจะร้องว้าว เพราะเป็นอาคารเก่าที่เผยให้เห็นความงามและความเก่าแก่ในเวลาเดียวกัน