50 ปีวาระ Pride เดือนแห่งความหลากหลาย (ทางเพศ) ในยุคที่ท้าทายอีกแบบ

Photo by Josh Edelson / AFP

ธนพงศ์ พุทธิวนิช : เรื่อง

สัญลักษณ์แถบหรือธงสีรุ้งที่มาพร้อมกับขบวนแห่งสีสันได้ผ่านตาบ่อยครั้งในช่วงกลางปีตลอดหลายปีที่ผ่านมา คงพอจะทำให้คนหลายรุ่นคุ้นเคยกับห้วงเวลาซึ่งเรียกกันว่า Pride Month ในเดือนมิถุนายนมากขึ้น ความหมายของช่วงเวลาที่หากแปลกันแบบตรงตัวว่า “ความภาคภูมิใจ” นี้ สื่อถึงตัวตนที่เป็น “ตัวของตัวเอง” ในแง่ “ความหลากหลายทางเพศ” หรือ LGBTQ (lesbian, gay, bisexual, transgender และ queer) บางทีใช้ว่า LGBTQIA (รวมกับ intersex และ asexual) อันเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวกันมานานหลายทศวรรษแล้วนั่นเอง

เดือนมิถุนายน 2020 มีความพิเศษ เพราะเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของธรรมเนียมรำลึกช่วงเดือน LGBTQ Pride ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีแง่มุมน่าสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงทุกปี

Photo by JOE KLAMAR / AFP

Pride Month มีความเป็นมาแรกเริ่มจากการเคลื่อนไหวที่ก่อตัวขึ้นในปี ค.ศ. 1970 เพื่อรำลึกเหตุการณ์ “จลาจลที่สโตนวอลล์” (Stonewall Uprising) ในแมนฮัตตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปีก่อนหน้านั้นคือในปี ค.ศ. 1969

จลาจลเมื่อ 1969 เกิดที่ “สโตนวอลล์ อินน์” บาร์ในโซนคนรักเพศเดียวกันในนิวยอร์ก เมื่อเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจและปะทะกัน รายงานข่าวเผยว่า มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติด้วยความรุนแรงทำให้ผู้คนในบาร์แถบโซนนั้นไม่พอใจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อย่างมาก

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนเกิดกิจกรรมที่เรียกว่า Pride ขึ้นเรื่อยมาจนกลายเป็นธรรมเนียม

ภายหลัง Pride Month เริ่มกลายเป็นกิจกรรมเชิงเฉลิมฉลองอิสรภาพในการเป็นตัวของตัวเองของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศผสมไปด้วย

วาระ 50 ปี Pride Month ในปีนี้มาพร้อมกับสถานการณ์การลุกฮือขึ้นของประชาชนในสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและความเท่าเทียมในสังคม

ชนวนที่ทำให้ประชาชนทั่วสหรัฐออกมาเดินขบวนเรียกร้องมาจากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวจับกุม แล้วถูกตำรวจใช้เข่ากดที่คอขณะนอนราบกับพื้น น่าเศร้าที่จอร์จเสียชีวิตในเวลาต่อมา ภาพเหตุการณ์ขณะจับกุมถูกส่งต่อผ่านสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นกระแสที่ปลุกผู้คนให้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรม ไม่ใช่แค่ในสหรัฐ แต่ยังกระจายไปในอีกหลายประเทศ

Pride Month หลายปีหลังมักมาพร้อมภาพสีสันจากการเดินขบวนในบรรยากาศสนุกสนานครื้นเครง แต่เมื่อถึงห้วงเวลาของปีนี้ บรรยากาศอยู่ท่ามกลางหัวข้อประเด็นทางสังคมอื่น ๆ ที่เข้มข้นเต็มไปด้วยความท้าทาย ที่สำคัญคือบรรยากาศของผู้คนซึ่งออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในสังคมก็มีบางส่วนที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

วิวัฒนาการการเคลื่อนไหว บทบาทหลายแง่มุมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่จะเป็นเช่นไร “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” พาสำรวจบริบทต่าง ๆ ในวาระ 50 ปี Pride Month เส้นทางที่ผ่านมา และที่กำลังจะก้าวไปนั้น พวกเขาเผชิญกับอะไรกันบ้าง

Photo by Robyn Beck / AFP


เสียงของคน (ที่ถูกมองว่าเป็น) ส่วนน้อยท่ามกลางโรคระบาด

เมื่อเดือนมิถุนายนดันมาตรงกับการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมความเท่าเทียมของกลุ่มที่เคลื่อนไหวโดยใช้แนวคิดนำว่า “Black Lives Matter” มีรายงานที่น่าสนใจว่า กลุ่มชุมชน LGBTQ จับมือกับการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเชื้อชาติด้วย

การเดินขบวนในหลายเมืองของสหรัฐ ปรากฏการเคลื่อนไหวที่จัดโดยสมาชิกจากชุมชน LGBTQ และสมาชิกกลุ่มชุมชนหน่วยย่อยแบบจำเพาะเจาะจง อาทิ กลุ่มคนผิวดำที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจัดกิจกรรมให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเดินขบวนสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมของคนผิวดำในสังคมเมืองใหญ่

ไม่เพียงเท่านี้ จังหวะของเดือนมิถุนายน 2020 ยังมาพร้อมกับโรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบหลายร้อยปีด้วย ดังนั้น การเดินขบวนในวาระ Pride จึงถูกระงับไปแล้วหลายกลุ่มโดยเฉพาะในลอสแองเจลิส กระทั่งสถานการณ์เรื่องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติทวีความรุนแรงมากขึ้น บางกลุ่มประกาศว่าจะออกมาเคลื่อนไหวประสานกับกลุ่ม Black Lives Matter แต่กิจกรรมนี้กลับถูกนักกิจกรรมในชุมชน LGBTQ วิจารณ์ในหลายด้าน

“ความขัดแย้ง” ท่ามกลางการร่วมมือกัน

แอชลี มารี เพรสตัน (Ashlee Marie Preston) ผู้เคยเป็นสมาชิกผู้นำกลุ่ม LA Pride อัดคลิปเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงว่า เท่าที่ตัวเธอรับรู้ในฐานะผู้นำชุมชน เธอไม่มีข้อมูลว่า กลุ่ม LA Pride จับมือร่วมกับกลุ่ม Black Lives Matter และเธอเป็นห่วงว่า การใช้ชื่อ Black Lives Matter ในการร่วมเคลื่อนไหว แม้ว่าจะเป็นไปด้วยเจตนาดี แต่ก็อาจทำให้ “สาร” ของการเคลื่อนไหวฝั่ง Pride ไม่ชัดเจน เธอยังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า อยากให้กลุ่ม Pride ติดต่อสนับสนุนกิจกรรมของ Black Lives Matter ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่แล้ว มากกว่าพยายามเข้าไปร่วมแชร์ซีนและหาโอกาสสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ

หากขยายความเพิ่มจากเนื้อหาที่เธอพูด เพรสตันเชื่อว่า มีความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า กลุ่ม LGBTQ กับ Black Lives Matter วางตำแหน่งตัวเองอยู่กันคนละโลกแต่ข้อเท็จจริงแล้ว เธอชี้ว่า Black Lives Matter มีผู้หญิงในกลุ่มชุมชน LGBTQ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และการแทรกบทบาทของ LGBTQ เข้าไปในการเคลื่อนไหวของ Black Lives Matter ก็ควรทำอย่างมีรูปแบบที่ดีกว่านี้

Photo by JEWEL SAMAD / AFP


ประเด็นที่กลุ่ม Pride ตระหนักในการเคลื่อนไหวอีกประการคือ บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องนี้ถือเป็นศูนย์กลางประเด็นการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ขณะที่ในมุมมองของ LGBTQ บางกลุ่มก็ไม่เห็นด้วยที่ชุมชนในภาพรวมเรียกร้องให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาทำงานร่วมกันในการเดินขบวน

ในทางตรงกันข้าม กลุ่ม LGBTQ ส่วนหนึ่งมองว่า การสนับสนุน Black Lives Matter ไม่เพียงต้องทิ้งระยะห่างกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ควรเพิ่มข้อเรียกร้องว่า ต้องลดงบฯสนับสนุนตำรวจแล้วนำเงินไปให้ทุนกับชุมชน และดำเนินคดีกับตำรวจที่กระทำรุนแรงต่อคนผิวดำ

“กิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม” กับมุมมองทางการตลาด

ดังที่กล่าวถึงเส้นทางความเป็นมาแรกเริ่มของห้วงเดือน Pride สำหรับกลุ่ม LGBTQ เดิมทีคือเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลเมื่อ 1969 ต่อมาเริ่มมีบรรยากาศครื้นเครง ผสมกับโทนกิจกรรมแบบเฉลิมฉลอง และเป็นอีเวนต์กึ่งชวนให้เกิดการรวมตัวระหว่างกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในกระแสหลักยังมองว่าอยู่นอกกรอบมุมมองเชิงมาตรฐานทางสังคมอยู่

เมื่อเวลาผ่านไป กิจกรรมนี้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังมีกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 1,500 งานรอบโลก แน่นอนว่า ผู้คนที่เข้ามาร่วมงานจำนวนมหาศาลถูกมองว่าเป็นเป้าหมายสำหรับทำการตลาด หรืออย่างน้อยบรรดาธุรกิจใหญ่น้อยก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อจุดประสงค์เชิงธุรกิจทั้งทางตรงและอ้อม

ต้องยอมรับว่ากลุ่ม LGBTQ ในทางการตลาดแล้วเป็นเป้าหมายสำหรับหลายแบรนด์ กิจกรรมสำคัญประจำปีคือหนึ่งในโอกาสที่จะแสดงตัวสนับสนุนกลุ่มคนในชุมชนนี้ แน่นอนว่า ภาพบรรยากาศและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์มักมีสื่อประชาสัมพันธ์ที่แบรนด์ผู้ผลิตสินค้านำเสนอเข้ามาในพื้นที่ หรืออาจปรากฏในรูปแบบการสนับสนุนกิจกรรม ไปจนถึงการวางสินค้าในพื้นที่ที่เห็นว่าพอทำได้เลยทีเดียว

Photo by Agustin PAULLIER / AFP

เมื่อครั้งครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ที่สโตนวอลล์ นิวยอร์กเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม World Pride ในปี 2019 รายงานข่าวจากเอ็นบีซี เผยว่า ยอดจองโรงแรมเดือนมิถุนายนเต็มทั้งเดือน แม้ว่าจะไม่มีตัวเลขเม็ดเงินที่หมุนเวียนในช่วงเวลานั้นอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่ากิจกรรมครั้งนั้นสร้างรายได้ให้ธุรกิจท้องถิ่นหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

น่าเสียดายที่วาระ 50 ปีของ Pride Month อยู่ในบรรยากาศโรคระบาดครั้งรุนแรง แบรนด์ต่าง ๆ จึงเริ่มหันหน้าเข้ามาแพลตฟอร์มเสมือนจริงแทนที่การสื่อสารในพื้นที่โดยตรง แม้ว่าจะเป็นความยากลำบากในสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นความท้าทายอีกรูปแบบสำหรับทั้งผู้จัดและแบรนด์ในการนำเสนอกิจกรรมในโลกเสมือนจริง ซึ่งล้วนต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์อีกขั้นหนึ่งเพื่อผสมผสาน “สาร” ของตัวเองเข้าไปให้บรรลุวัตถุประสงค์

ประเด็นทางการตลาด สำหรับแบรนด์ที่ทำเชิงพาณิชย์ต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะที่ผ่านมาเคยมีเสียงวิจารณ์เรื่องกิจกรรมช่วงหลัง ซึ่งกลายเป็นว่า เต็มไปด้วยสปอนเซอร์กลบสารที่ต้องการสื่อถึงสิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ นั่นย่อมให้ผลลบแทนที่จะให้ผลลัพธ์เชิงบวกตามเป้าหมายการตลาด

“การเคลื่อนไหว” ท่ามกลางมุมมองจากภายนอก

ต้องยอมรับว่า หลายปีที่ผ่านมานี้ สังคมทั่วไปเริ่มเข้าใจและยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทั้งในแง่ปัจเจกไปจนถึงระดับนโยบายภาครัฐ หลายประเทศปรับกฎหมายให้รองรับกับวิถีของคนกลุ่มนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่มีมุมมองเชิงลบต่อความหลากหลายทางเพศอยู่ ที่สำคัญคือบางรายก็เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้วย

เดือนมิถุนายนที่เป็นช่วง Pride พอดี เจ.เค. โรว์ลิ่ง (J.K. Rowling) นักเขียนหญิงเจ้าของผลงาน “แฮร์รี่ พอตเตอร์” (Harry Potter) ถูกวิจารณ์ว่าการแสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ของเธอสื่อถึงมุมมองเชิงลบต่อผู้หญิงข้ามเพศ (transgender) ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก นักเขียนหญิงชื่อดังเคยตกเป็นข่าวเรื่องความคิดเห็นเชิงลบที่มีต่อความหลากหลายทางเพศมาก่อน ซึ่งเธอได้ออกมาอธิบายว่า เธอรู้จักและเห็นใจผู้หญิงข้ามเพศเสมอมา

Photo by Josh Edelson / AFP

การถกเถียงโต้ตอบระหว่างนักเขียนดังกับผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังดำเนินต่อไป แต่ไม่ว่าจะด้วยการสื่อสารที่ผิดพลาด หรือมาจากทัศนคติของตัวนักเขียนชื่อดังเอง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของประเด็นนี้อย่างยิ่ง ในอีกทางหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีคนมากมายที่มีมุมมองเชิงลบต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่

ระยะเวลา 50 ปีของวาระ Pride มาบรรจบในปี 2020 ที่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขามากนัก เส้นทางข้างหน้าของกลุ่มคงหลีกหนีไม่พ้นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างทั้งความเข้าใจ สิทธิความเท่าเทียมตั้งแต่ระดับปัจเจกไปถึงระดับโครงสร้างทางสังคมหลายระดับ และแน่นอนว่า มันย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะโต้เถียงกับกลุ่มผู้เห็นต่าง

50 ปีแห่งเดือน Pride มาพร้อมกับความท้าทายในการรับมือสถานการณ์ตามยุคสมัย และในยุคต่อไปก็ย่อมมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้าไม่ต่างกัน