แชร์วิถีสีเขียว คนละเล็กละน้อย เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

Photo by CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

เราเพิ่งผ่านวันสำคัญ ๆ ที่ชวนให้ตระหนักและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมา 2 วันใกล้ ๆ กัน คือ วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ในวันที่ 5 มิถุนายน และวันมหาสมุทรโลก (World Oceans Day) ในวันที่ 8 มิถุนายนมาแบบเงียบ ๆ ด้วยสถานการณ์ที่มีประเด็นปัญหาอื่นที่เข้มข้นและเร่งด่วนมากกว่า ทั้งประเด็นปัญหาเรื่องโรคระบาด ปัญหาทางสังคม การเมือง ความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แม้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนก็เป็นประเด็นที่จะปล่อยเอาไว้ให้ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ไม่ได้เช่นกัน

วันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) นำเสนอธีม ความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน พร้อมกับข้อความรณรงค์ว่า Time for nature สื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคืนลมหายใจให้ธรรมชาติ หลังจากที่ธรรมชาติเป็นผู้ให้แก่เรามาตลอด

แน่ละว่า การจะอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน จะให้ดีและได้ผลมากกว่าก็ต้องมาจากนโยบายภาพใหญ่ โดยอาศัยการประสานงานและการผลักดันขององค์กรใหญ่ ๆ ระดับนานาชาติ ซึ่งก็มีความพยายามทำกันอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาก็คือการเคลื่อนไหวในภาพใหญ่มักจะช้า แล้วถ้าในภาพใหญ่ยังไม่มีนโยบายและ action อะไรในระดับย่อย ๆ รายบุคคลเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร นั่นก็เป็นโจทย์หนึ่งที่สำคัญ ซึ่งทุกคนสามารถหาคำตอบและลงมือทำได้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น

ในการเสวนา “Thailand 2020s and Beyond : Building a Sustainable Society” จัดโดยสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา มีตัวอย่างที่น่าสนใจจากบุคคลในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้ทำตัวเองเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ เพื่อที่จะเติบโตไปเป็นต้นไม้ที่เติมสีเขียวให้แก่โลกของเรา

Photo by YASUYOSHI CHIBA / AFP

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ใช้ไม้ปลูกและไม้ถูกกฎหมาย

จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรม ดีสวัสดิ์ จำกัด บริษัทผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งถือเป็นตัวแทนจากภาคเอกชนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมที่ใช้ไม้ถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ทำลายป่า แต่ตัวเขายืนยันว่าไม้เป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะมนุษย์เราสามารถปลูกต้นไม้ได้ และสามารถใช้ประโยชน์จากไม้ได้ทั้งหมด ไม่เหลือเป็นขยะเลย ถ้าเทียบกับการใช้คอนกรีตที่ต้องระเบิดภูเขาเพื่อให้ได้มาและก่อมลพิษทางอากาศด้วย

เขาแชร์ว่าแนวทางที่กลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์กำลังทำอยู่คือ เริ่มต้นจากการใช้ไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ โดยสมาคมธุรกิจไม้ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาให้สมาชิกถือหุ้นไม่เกิน 5% แล้วบริษัทนี้ไปส่งเสริมการปลูกป่าและซื้อไม้กลับมาใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งการปลูกป่าที่บริษัทลงไปส่งเสริมนั้นออกแบบให้มีไม้สำหรับใช้งานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ส่วนในภาคการผลิตก็ทำเรื่อง ecodesign คือออกแบบสินค้าให้ไม่มีส่วนเหลือใช้เหลือทิ้งในโรงงาน ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเศษไม้

“เราเคยนำเข้าเศษไม้แล้วใช้ให้หมดทั้งลอตเลย พยายามจะทำให้เป็น zero waste ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมไม้ผมถือว่าไม่ยาก เพราะไม่ว่าจะเหลือเยอะแค่ไหนสุดท้ายแล้วไม้มันก็เป็นพลังงานชีวมวลได้”

จิรวัฒน์บอกอีกว่า ในอนาคตไม้จะเป็นวัสดุทดแทนวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ได้ เช่น ในปัจจุบันที่สหรัฐอเมริกาส่งเสริมการสร้างบ้านไม้ และที่แคนาดามีการสร้างอาคารไม้สูงถึง 16 ชั้นอย่างถูกกฎหมาย ส่วนเมืองไทยต้องแก้กฎหมายให้สร้างตึกสูงโดยใช้ไม้ได้ก่อน เหมือนที่ตอนนี้หลายประเทศเปลี่ยนกฎหมายเรื่องการก่อสร้างตึกสูงให้ใช้ไม้ 100% ได้เรียบร้อยแล้ว

Photo by JODY AMIET / AFP

เปลี่ยนกองขยะเป็นสวนผัก สร้างอาหารและการมีส่วนร่วม

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร จาก “ใจบ้าน สตูดิโอ” ผู้ร่วมก่อตั้งคณะก่อการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เปลี่ยนที่ดินในเมืองเชียงใหม่ที่เคยเป็นที่ทิ้งขยะกองโตมานาน 20 ปี ให้เป็นสวนผักสีเขียว สร้างอาหารให้ชาวเมือง และสร้างงาน สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน คือหนึ่งคนที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ดี ๆ

จุดเริ่มต้นของสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ มาจากการที่ศุภวุฒิได้เห็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เขาเห็นครัวเรือนในชุมชนเริ่มปลูกผักกินเองริมคลองแม่ข่า และได้เห็นการกักตุนอาหาร การขนส่งอาหารขาดช่วง ทำให้เขารู้สึกว่าเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้น เขาจึงคิดว่าควรจะใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว เขามองไปที่การใช้พื้นที่รกร้างในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของคนในเมือง เขาและคณะจึงเดินหน้าคุยกับทางราชการ เอกชน และชุมชน จนสามารถนำที่ดิน 3 ไร่นี้มาทำสวนผักได้

ศุภวุฒิมองว่า สวนผักนี้ไม่เพียงให้ผลผลิต แต่ยังเป็นที่สร้างงาน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นพื้นที่สีเขียวของเมือง และเป็นพื้นที่รองรับวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

“แน่นอนว่าเราต้องการนโยบายจากส่วนกลาง ผมรู้สึกว่ามันมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติจริง แต่โครงการนี้มันเกิดขึ้นได้ด้วยพลังของคนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่เพิกเฉยต่อเมืองและผู้คนที่อยู่ในเมือง จากพื้นที่กองขยะ เริ่มมีรูปรอยของพื้นที่ผลิตอาหาร เป็นพื้นที่สีเขียวที่ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหาร และเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติในเมือง เป็นปอดแห่งใหม่ของเมืองในอนาคต ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจและมันสามารถนำไปทำที่อื่นได้ด้วยโมเดลแบบเดียวกัน”

“อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่ามันสำคัญมาก ๆ ก็คือ มันสร้างรูปธรรมการจัดการที่ดินสาธารณะที่เรารู้สึกว่าภาครัฐก็มีนโยบาย ประชาชนก็อยากจะร่วมมือกันปลดล็อกตัวใหญ่ คือ กฎหมายที่เราไม่สามารถนำที่ดินที่สาธารณะในเมืองมาทำได้ ต้องขออนุญาตหลายภาคส่วน สุดท้ายถ้าเราทำได้ ผมคิดว่าพื้นที่สวนผักมันจะเป็นพื้นที่ทางสังคมที่สร้างความเข้มแข็ง ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวยหรือคนจน จะมีอาชีพอะไร แต่คุณมาทำอาหารด้วยกัน มาแบ่งปันกันในสังคม”

Photo by ROMEO GACAD / AFP

 

เริ่มจากตัวเอง เขียวเท่าที่จะเขียวได้

คณาธิป สุนทรรักษ์ หรือครูลูกกอล์ฟ ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดังผู้ร่วมก่อตั้งโปรเจ็กต์ Little Big Green เป็นตัวแทนของปัจเจกบุคคลที่มองว่า ด้วยความที่โลกเรามีปัญหาเรื่องอื่น ๆ เยอะ จึงทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็น issue สำคัญ แต่เขาคิดว่า “ถ้าใครไม่ทำก็ไม่เป็นไร ฉันจะทำ”

ครูลูกกอล์ฟเล่าว่า ตัวเขาเริ่มต้นจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเลิกใช้หลอดพลาสติก เลิกใช้แก้วพลาสติก พกแก้ว พกปิ่นโต แล้วแชลเลนจ์ตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสีเขียวเข้มขึ้น แต่เขาคิดว่าทำคนเดียวไม่ไหวจึงร่วมกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่มีไลฟ์สไตล์สีเขียวเหมือนกันทำโปรเจ็กต์ Little Big Green ขึ้นมาเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสร้างคอมมิวนิตี้เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์สีเขียว ภายใต้คอนเซ็ปต์ “As green as you can” หมายถึงการมีไลฟ์สไตล์สีเขียวเท่าที่คุณจะเขียวได้ เขียวได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น แล้วก็ค่อยพัฒนาไปเรื่อย ๆ

“เวลาเราคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมมันจะมีคนที่ไม่เก็ต เช่น พ่อและแม่ของลูกกอล์ฟ แม่ใช้หลอดพลาสติกดูดโอเลี้ยงอยู่ แล้วเราบอกว่าแม่อย่าใช้หลอด เดี๋ยวน้องวาฬตาย แม่ไม่เข้าใจไม่มีความเชื่อมโยงว่าเขากินโอเลี้ยงอยู่ที่บ้านแล้วจะทำให้วาฬตายได้ยังไง เราก็ต้องใช้เวลา ให้ม้าเริ่มเป็นสีเขียวเล็ก ๆ เหมือนที่เราเคยเป็น”

ลูกกอล์ฟแสดงความเห็นอีกว่า เขาไม่กังวลกับเจเนอเรชั่นเด็ก เพราะถ้าเด็กได้รับการศึกษาเรื่องนี้ เขาก็จะเกิดความตระหนักได้ไม่ยาก ยกตัวอย่าง ลูกสาวของผู้ร่วมก่อตั้ง Little Big Green อายุเพียง 4 ขวบ เวลาไปร้านสะดวกซื้อน้องบอกแม่ว่าอย่ารับถุงพลาสติก

“เด็กเขาอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะสำหรับเขาโลกมันยังมีความหวัง โลกใบนี้มันยังคุ้มค่าที่จะอยู่ แต่เราจะได้ยินคำพูดจากผู้ใหญ่เยอะมากว่า เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว …หยุดเลย เพราะก่อนที่คุณจะจากไปคุณจะเป็นภาระ”

 

ลงมือทำ และสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยให้การศึกษา

อเล็กซ์ เรนเดล กรรมการผู้จัดการ Environmental Education Center (EEC Thailand) ที่เพิ่งรับตำแหน่งทูตสันถวไมตรี โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) หมาด ๆ เป็นตัวอย่างคนที่ทำเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจังมาหลายปี และพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยการให้การศึกษา ชวนเด็กเข้าร่วมกิจกรรมให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และเผยแพร่ข้อมูล กิจกรรมต่าง ๆ ผ่านบัญชีโซเชียลมีเดีย

นักแสดงหนุ่มหัวใจสีเขียวบอกว่า หลังจากที่ตัวเองสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็ได้ก่อตั้งโครงการ EEC ขึ้นมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว วิชั่นแรกของโครงการนี้คือ ต้องการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ การให้การศึกษาคนที่ภายในเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด ส่วนที่มุ่งเป้าไปที่เด็กเพราะเห็นว่าเด็กมี learning ability จึงสอนง่ายกว่าสอนผู้ใหญ่ และนอกจากนั้น EEC ยังได้ทำโครงการ “กอดป่ากอดทะเล” เพื่อผลิตนักสิ่งแวดล้อมคืนสู่สังคมด้วย

“สิ่งที่ยากที่สุดคือ ตอบคำถามที่ว่า ถ้าฉันไม่ได้รักป่า ไม่ได้รักต้นไม้ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับฉัน บางคนเขาไม่เก็ต แต่พอเราทำงานกับด้านสิ่งแวดล้อม เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่ประเด็นแค่สำหรับคนรักป่ารักต้นไม้อย่างเดียว แต่ทุกอย่างมันคือการสร้างความยั่งยืนต่อทรัพยากรของเรา ที่สุดท้ายแล้วถ้าสิ่งแวดล้อมมีปัญหา มันอาจจะหมุนเวียนกลับมาทำร้ายมนุษย์เอง”

“พอเรามาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมจริง ๆ เราจะรู้ว่ามันไม่ได้แก้กันง่าย ๆ และหลาย ๆ ปัญหามันเป็นปัญหาที่ถูกสร้างมาสเต็ป 1 สเต็ป 2 มาจนถึงปี 2020 มันอาจจะอยู่สเต็ปที่ 1,000 แล้วก็ได้ การที่จะไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น จุดเริ่มต้นคือการให้การศึกษาคนรุ่นต่อไป และผู้นำที่จะลุกขึ้นมาตัดสินใจสิ่งที่ผลลัพธ์มันจะส่งผลกระทบให้กับบ้าน สังคม และทรัพยากรของเรา”

ณ ตอนนี้ EEC มีแผนกิจกรรมมากมายที่จะทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการที่นักแสดงคนดังจะใช้ความมีชื่อเสียงของตัวเองเผยแพร่ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเอง อย่างที่เขาบอกว่า “เราโชคดีขนาดไหนที่เราได้มาอยู่ตรงจุดนี้ ก็อยากจะใช้ประโยชน์ตรงนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ”