New Trend New Normal สนุกกับเกมปั่น Virtual ไม่กลัวโควิด-ไม่กลัวฝน !

สมปรารถนา คล้ายวิเชียร : เรื่อง

ท่ามกลางวิกฤตอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ เช่นเดียวกับที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็ไม่สามารถใช้ชีวิต “ปกติ” ได้ในแทบทุกเรื่อง

ดูเหมือนแวดวงกิจกรรมการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา “จักรยาน” จะได้รับผลกระทบเชิงลบไม่รุนแรงมากนัก ที่สำคัญ ในวิกฤตนี้กลับกลายเป็นโอกาสที่บรรดานักปั่นจำนวนไม่น้อย ค้นพบตัวเลือกใหม่ในการ “ออกกำลังกาย” “ซ้อม” ไปจนถึงการ “เล่น” จักรยานในรูปแบบใหม่ ที่กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

เพราะในวันที่นักปั่นผู้รักการออกกำลังด้วยการควบจักรยานออกไปตามท้องถนน หรือจับกลุ่มรวมก๊วนกันไปปั่นตามสถานที่ต่าง ๆ ถูกคำสั่ง “ล็อกดาวน์” จนไม่สามารถขยับตัวออกไปทำกิจกรรมโปรดได้นานนับเดือน

เช่นเดียวกับตัวเลือกอื่น เช่น การเปลี่ยนไปปั่นจักรยานในฟิตเนสที่ต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน

ทางเลือกสุดท้ายนั่นคือ นำจักรยานคันโปรด ติดตั้งเข้ากับอุปกรณ์เทรนเนอร์ (ตัวจับยึดจักรยานเพื่อใช้ปั่นออกกำลัง) แล้วก็เริ่มต้นปั่นอยู่ในบ้าน หรือห้องพักของตัวเอง

ก่อนที่จะพบว่า การปั่นจักรยานอยู่กับที่บนเทรนเนอร์ ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป หากเชื่อมต่อระบบการปั่นเข้ากับแอปพลิเคชั่นที่สนับสนุน โลกของการปั่นแบบใหม่ที่สนุกสนาน พร้อมกับความท้าทายใหม่ ๆ รอให้เข้าไปสัมผัส และค้นพบเรื่องดี ๆ ที่คาดไม่ถึงมาก่อน

และนั่นกลายเป็น new normal ที่เกิดขึ้นในแวดวงจักรยาน สร้างปรากฏการณ์ที่สวนทางกับอีกหลาย ๆ กิจกรรมสุขภาพ

ทั้งยังเป็นพฤติกรรมใหม่ของนักปั่นจักรยาน ที่ได้ซ้อม ได้สนุก ในทุกเวลา ทุกสภาพอากาศ

หลายคนสร้างโปรแกรม หรือตารางการปั่น ได้หลากหลายรูปแบบในช่วงที่ติดแหง็กอยู่ที่บ้าน

เช่น วันจันทร์ ปั่นซ้อมคนเดียวแบบชิล ๆ รอบเซ็นทรัลปาร์กในนิวยอร์ก

วันอังคาร นัดเวลากับเพื่อนร่วมก๊วนมาปั่นพร้อมกันผ่านระบบออนไลน์ ในเส้นทางรอบกรุงลอนดอน

วันพุธ ร่วมลงแข่งขันในรายการแบบ virtual หรือชวนกันไปพิชิตยอดเขาแอลป์ ให้สะใจไปเลย ฯลฯ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสนุก ที่นอกจากจะช่วยให้หายเบื่อในช่วงเผชิญหน้าโควิด-19 แล้ว ยังทำให้หลาย ๆ คนเสพติดการปั่นบนโลกเสมือนจริง อย่างยากที่จะถอนตัวได้เลยทีเดียว

เกมปั่นแบบ virtual เล่นยังไง

แน่นอนว่า ก่อนอื่นเลย 1.ต้องมีจักรยาน และสามารถใช้จักรยานคันเดิมที่ใช้ปั่นตามปกติ หรือบางคนอาจเลือกซื้อจักรยานที่ราคาไม่แพงมากนักไว้สำหรับการนี้โดยเฉพาะ (ส่วนรถคันโปรด ราคาแพง ก็เอาไว้ใช้ออกสนามจริง)

2.ต้องมีอุปกรณ์เทรนเนอร์ ซึ่งมีหลายแบบไม่ว่าจะเป็น เทรนเนอร์แบบลูกกลิ้ง (นำจักรยานขึ้นไปปั่น โดยต้องทรงตัวเหมือนการปั่นจริง) เทรนเนอร์แบบมีดุมจับล้อหลัง (นั่ง/ยืนปั่นได้อย่างมั่นคง)

แต่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ เทรนเนอร์แบบสวมแทนล้อหลัง (ไม่ต้องกังวลว่า ยางล้อหลังจะสึกหรอมากเกินไป หรือปั่นนาน ร้อนจัดจนยางเสียหาย แถมยังมีความเที่ยงตรงในการใช้แรงปั่นได้เสมือนจริง)

ปัจจุบันมีเทรนเนอร์สำหรับปั่นจักรยานที่เรียกกันว่า “สมาร์ทเทรนเนอร์” ที่เมื่อมีการออกแรงปั่น เจ้าเครื่องเทรนเนอร์ก็จะส่งสัญญาณ (บลูทูท, WiFi, Ant+) เพื่อทำงานร่วมกับ 3.อุปกรณ์สื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ, แท็บเลต หรือคอมพิวเตอร์/โน้ตบุ๊ก

และ 4.แอปพลิเคชั่น Zwift หรือแอปพลิเคชั่นในลักษณะคล้ายกัน (ต้องดาวน์โหลดแอปสมัครเข้าใช้งาน และเสียค่าใช้จ่ายรายเดือน)

เมื่อมีครบทั้ง 4 องค์ประกอบที่ว่าแล้วก็สามารถเริ่มต้นใช้งาน ซ้อมปั่นได้เลย โดยเมื่อเปิดแอปพลิเคชั่น Zwift เริ่มปั่น เราจะเห็นตัวเราเอง อยู่บนเส้นทาง (ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะไปปั่นในจุดใด เมืองใดในโลกนี้ก็ได้)

ขณะเดียวกัน เราก็จะเห็นผู้คนที่เชื่อมต่อเข้ามาและกำลังปั่นแบบ virtual อยู่เส้นทางเดียวกับเรา สามารถปั่นตามกันไป ปั่นแซง หรือถูกแซงได้ตลอดเวลา

และเพื่อเพิ่มความสนุก เราสามารถนัดเพื่อนร่วมก๊วนเข้ามาปั่นพร้อมกัน โดยนัดหมายล่วงหน้า เช่น วันอังคาร เวลา 19.00 น. จะเริ่มปั่นด้วยกันในเส้นทางรอบกรุงลอนดอน ระยะทาง 35 กิโลเมตร

ข้อแนะนำสำคัญ คือ หากเราเลือกใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “สมาร์ทเทรนเนอร์” จะช่วยจำลองการปั่นให้สมจริงได้มากที่สุด เช่น ในช่วงที่ต้องไต่ขึ้นเขา ความชันระดับ 7%, 9% , 14% เทรนเนอร์จะปรับเพิ่มความหนืด/หนัก มากขึ้น ๆ เหมือนเรากำลังไต่เขาจริง ๆ (ซึ่งเราต้องเพิ่มแรงหรือปรับใช้เกียร์ในลักษณะเดียวกับการปั่นจริง ๆ)

ขณะที่เทรนเนอร์แบบลูกกลิ้ง หรือแบบธรรมดา (ไม่ใช่สมาร์ทเทรนเนอร์) จะไม่สามารถทำได้

และเพื่อเพิ่มอรรถรสความสนุก สามารถนำภาพการแสดงผลในอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเลต ขึ้นบนจอทีวีขนาดใหญ่ภายในบ้านได้อีกด้วย

เกมปั่นแบบ Virtual ดียังไง สนุกตรงไหน

1.เล่นได้ทุกเวลาเท่าที่สะดวก นั่นคือมีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็เล่นได้เมื่อนั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะต้องตื่นแต่เช้า หรือเสร็จงานตอนค่ำ/ดึกแล้ว จะปั่นไม่ได้ หรือไปไม่ทันตามนัดกับพรรคพวก

2.ไม่กลัวแดด ไม่กลัวฝน ไม่กลัวโควิด นักปั่นสาวก็หมดปัญหาเรื่องแดดแรง ผิวเสีย เช่นเดียวกับข้อจำกัดของสภาพอากาศ ฝนตก หิมะโปรย หนาว/ร้อนมากเกินไป แล้วก็ไม่กลัวที่จะต้องไปรับความเสี่ยงในการรับเชื้อจากผู้อื่นอีกด้วย

3.เล่นคนเดียวก็ได้ เล่นพร้อมกับเพื่อนก็ได้ เล่นกับเพื่อนที่อยู่คนละจังหวัด หรืออยู่คนละประเทศ รวมถึงถ้าอยากแข่งขันกับใครก็ได้ในโลกนี้

4.เลือกสถานที่ที่อยากปั่น จะพิชิตกี่ภูเขา เอาตามที่สะดวก ในโปรแกรมจะสามารถตั้งค่าเพื่อเลือกสถานที่ในการปั่น ระดับความยาก ระยะทางที่ต้องการ จะเป็นรอบเมืองใหญ่ที่คุ้นเคย หรือเส้นทางที่ธรรมชาติสวยงาม เส้นทางไต่เขาที่มียอดสูงชัน ท้าทายสมรรถนะของตัวเองที่ว่ามีแรงพอสำหรับการพิชิตหรือไม่

5.มีความท้าทายหลายรูปแบบ ทั้งแข่งขันกับตัวเอง แข่งขันกับคนอื่น ที่สำคัญคือจะแสดงผลการปั่นอย่างละเอียด เช่น อัตราการเต้นของหัวใจว่าสูง/ต่ำ (อยู่ในโซนที่เหมาะสม หรือจะเป็นอันตรายสำหรับการออกกำลังกายหรือไม่) ขนาดไหน ในแต่ละช่วงเวลา, รอบขาที่ใช้ในการปั่น, ระยะทาง, ความเร็ว ตลอดจนพลังงานที่ใช้ในการปั่น (แสดงผลเป็นจำนวนวัตต์ เช่น ขณะนี้ปั่นโดยใช้พลังงาน 220 วัตต์ รวมตลอดทั้งการปั่นใช้พลังงานเฉลี่ยที่ 180 วัตต์ เป็นต้น)

6.มีสีสันความสนุกในแบบเดียวกับการเล่นเกมทั่วไป ผู้เล่นสามารถสะสมแต้ม เก็บเลเวล เก็บไอเท็มในเกมได้ ไม่ต่างจากการเล่นเกม เช่น ปั่นได้ครบระยะทางที่กำหนด สามารถเลือกชุดที่ใส่, หมวก, แว่นตา, ล้อจักรยาน ฯลฯ หรือหากปั่นพิชิตภูเขาได้จำนวนครั้ง ก็จะได้สติ๊กเกอร์แสดงสถานะที่โดดเด่นกว่าคนอื่น เป็นต้น

7.ยิ่งเล่นยิ่งพัฒนา สนุกในโลกเสมือนจริง และแข็งแรงมากขึ้น พัฒนาฝีมือในการปั่นอย่างเห็นได้ชัดจากข้อดีและความสนุกในการปั่นจักรยานแบบ virtual ดังกล่าว ไม่น่าแปลกใจที่จำนวนผู้เล่นคนไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กลายเป็นเทรนด์ที่มีกระแสตอบรับดีเยี่ยม กระทั่งเกิดชุมชนคนชื่นชอบการปั่นแบบ virtual ตามมาอย่างคึกคัก

มีภาพสะท้อนเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะจากกิจกรรมของสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทย ที่จัดให้นักปั่นทีมชาติเข้าร่วมการแข่งขันแบบ virtual ผ่านแอปพลิเคชั่น Zwift พร้อมทั้ง Live บนเฟซบุ๊กให้ชมกันอย่างสนุกสนาน

เช่นเดียวกับที่บริษัท โปรไบค์ จำกัด ได้จัดกิจกรรมออนไลน์ชวนให้มาร่วมกันปั่นแบบ virtual กับโปรแกรม Zwift มีการให้ความรู้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Zwift Club Thailand (จำนวนสมาชิกมากกว่า 3,600 คน) นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมชวนกันร่วมปั่นทุกวันอาทิตย์ หรือ Probike Ride On ซึ่งในบางครั้งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมปั่นแบบ virtual พร้อม ๆ กันกว่า 200 คน

กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่มาพร้อมกับวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ โดยมีเงื่อนไขจากวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่ง

พร้อมกับเปิดโลก เปิดมุมมองใหม่ ให้กับกิจกรรมการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน ซึ่งในอดีตการใช้เทรนเนอร์ ปั่น/ซ้อมด้วยตัวเองภายในบ้านไม่เคยได้รับความสนใจ หรือถูกค้นพบว่า มีความสนุก และมีประโยชน์มากขนาดนี้มาก่อน

และแม้ว่าเมื่อวิกฤตโควิดจะคลี่คลายมากขึ้น แต่เทรนด์ใหม่ วิถีใหม่ ในโลกจักรยานที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะไม่ถอยย้อนกลับไปเป็นแบบเดิมอีกอย่างแน่นอน

“โปรไบค์” มั่นใจ กระแสนี้ดี 2 เด้ง

ในมุมมองของ สร้างสรรค์ ประชาอนุวงศ์ ผู้บริหารบริษัท โปรไบค์ จำกัด ผู้นำเข้าจักรยานรายใหญ่ของไทย เชื่อว่ากระแสตอบรับที่ดีของการปั่นจักรยานแบบ virtual จะเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อวงการจักรยาน ตลอดจนนักปั่นคนไทย

เขามองว่าเทรนด์ของการปั่นจักรยานในช่วงเกิดโควิด-19 แบบ new normal นั้น อาจไม่ได้เป็น new normal เสียทีเดียวสำหรับคนบางกลุ่มที่มีการใช้อยู่แล้ว แต่ถือว่าโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ช่วยเร่งปฏิกิริยา ช่วยกระตุ้นให้คนกลุ่มใหญ่หันมาสนใจการปั่นจักรยานอยู่บ้านด้วยเทรนเนอร์ และเร่งตัดสินใจลงทุนซื้อเร็วขึ้น

โดยเฉพาะเทรนเนอร์ที่เป็น “สมาร์ทเทรนเนอร์” ที่ช่วยให้การปั่นสนุกสมจริง โดยจะปรับความหนืดอัตโนมัติตามความชันของเส้นทาง ทำให้เขาได้ออกกำลังกาย ได้เตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการออกปั่นบนถนนจริง เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ

และที่สำคัญ มี application online แบบ real time อย่าง “Zwift” ที่ช่วยสรรหาเส้นทางปั่นดี ๆ มาให้เลือกปั่น เราสามารถนัดเพื่อน ๆ หรือกลุ่มมารวมกันปั่น สามารถ chat พูดคุยกันได้บนออนไลน์ เป็น virtual life/เป็นโลกเสมือนบนเกมออนไลน์ มีรางวัลที่เพิ่มแรงจูงใจในการปั่นเพิ่มระยะทางขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ที่สำคัญ คือ “ทุกคนบรรลุเป้าหมายสุขภาพดีขึ้น” พร้อมความเพลิดเพลิน ท้าทาย

พอมี community ใหม่นี้เกิดขึ้นบนออนไลน์ ก็เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจตัววัดประสิทธิผลใหม่ ๆ ที่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย เช่น “วัตต์”, FTP หรือการใช้ zone การเต้นหัวใจมากำกับ …ผลคือ นักปั่นในยุคโควิด-19 อาจเป็นนักปั่นเชิงกลยุทธ์ ที่เข้าใจหลักการการออกกำลังกายมากขึ้น/เวลาออกปั่นจริงก็จะมีพัฒนาการการปั่นที่ก้าวกระโดด

สุดท้ายเชื่อว่า คนส่วนใหญ่อาจจะยังชอบที่จะปั่นจักรยานบนเส้นทางจริงมากกว่า แต่ต้องถือว่าสถานการณ์โควิด-19 ช่วยสร้างเงื่อนไขบริบทใหม่ให้กับช่วงระยะเวลาหนึ่งของสังคม ทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้มีโอกาสทดลองสิ่งใหม่ ๆ ได้ทำความเข้าใจตัววัดใหม่ ๆ ที่จะช่วยย่นเวลาแห่งคุณภาพของการออกกำลังกายให้ได้อย่างคุ้มค่า

นี่กระมังที่จะเป็น new normal สำหรับคนกลุ่มนี้ และอาจส่งผลไปถึงกลุ่มคนที่ถูกบอกต่อ ที่จะได้แนวทางใหม่เพื่อสร้างประสิทธิผลของการออกกำลังกายอย่างวัดค่าได้