วุ่นทั้งลีก เอ็นเอฟแอล เมื่อทรัมป์จวกผู้เล่นประท้วงเชิงสัญลักษณ์

บรรดาเหตุร้อนแรงในวงการกีฬาโลกในเดือนกันยายน ไม่มีเรื่องไหนอุณหภูมิระอุเท่ากับปรากฏการณ์ที่เกิดในศึกอเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล ซึ่งมีผู้เล่นนับร้อยรายร่วมประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการปฏิเสธยืนเคารพเพลงชาติในสนามแข่ง และกลายเป็นคู่ปะทะกับโดนัลด์ ทรัมป์ หลังประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเข้ามาวิจารณ์การกระทำของผู้เล่นในลีก

ก่อนเหตุการณ์เดินทางมาถึงจุดเดือดในช่วงปลายเดือนกันยายน จุดเริ่มต้นของการประท้วงเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งโคลิน เคเปอร์นิค ควอร์เตอร์แบ็ก ของทีมซาน

ฟรานซิสโก โฟร์ตี้นายเออร์ส ไม่ได้ยืนเคารพเพลงชาติเป็นการแสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ในสหรัฐอเมริกา

เคเปอร์นิค เริ่มต้นจากนั่งบนม้านั่งระหว่างเพลงชาติบรรเลง หลังนั่งทั้งเกมที่ไม่ได้ลงเล่น และเกมที่ลงเล่น เคเปอร์นิคจึงเริ่มประท้วงด้วยการนั่งคุกเข่าข้างหนึ่ง ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นวิธีแสดงออกที่สามารถส่งสารเรื่องการเรียกร้องความเท่าเทียมโดยไม่ละเมิดกลุ่มคนที่ทำงานเสียสละเพื่อชาติ

เรื่องราวดำเนินต่อเนื่องนับปี มีผู้เล่นหลายคนแสดงออกโดยปฏิเสธยืนเคารพเพลงชาติจนถึงปี 2017 ร่วมร้อยคนแล้ว ระหว่างนั้นมีผู้เล่นเอ็นเอฟแอลที่ได้รับการปฏิบัติแบบไม่เป็นธรรมด้วยตัวเอง เหตุการณ์ไต่ระดับมาสู่จุดปะทุเดือดเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาร่วมวงวิจารณ์การแสดงออกของผู้เล่นศึกคนชนคน

โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความคิดเห็นว่า ลีกควรไล่ผู้เล่นเอ็นเอฟแอลชันเข่าระหว่างเพลงชาติบรรเลง หลังการร่วมวงวิจารณ์ของทรัมป์ ยิ่งทำให้ผู้เล่นเอ็นเอฟแอลเข้าร่วมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อประท้วงการปฏิบัติแบบไม่เท่าเทียม แถมด้วยการประท้วงความคิดเห็นของทรัมป์พ่วงไปด้วย

แถลงการณ์จากคณะกรรมการลีกพูดถึงความคิดเห็นของทรัมป์ว่า เป็นการสร้างความแตกแยก และแสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพต่อผู้เล่นและลีก ไล่ไปจนถึงความล้มเหลวที่ไม่สามารถมองเห็นความหวังดีที่สโมสรและผู้เล่นในลีกแสดงออกเพื่อชุมชน

ที่ผ่านมา ลีกส่งเสริมให้ผู้เล่นยืนเคารพเพลงชาติ แต่แถลงการณ์เมื่อปีที่แล้วระบุว่า “ไม่ได้บังคับ” เช่นกัน ท่าทีของเอ็นเอฟแอลต่อปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างให้อิสระในการแสดงออกพอสมควร

ความคิดเห็นของทรัมป์ คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดกระแสต่าง ๆ ในระดับคลื่นมรสุมนอกเกมที่สะเทือนวงการอเมริกันเกมส์ จากการชันเข่าของเคเปอร์นิค พัฒนาไปสู่การแสดงออกอื่น ๆ

ทีมดัลลาส คาวบอยส์ ที่ถูกขนานนามว่าเป็นทีมที่มีความ “เป็นอเมริกัน” มาพร้อมเจอร์รี่ โจนส์ เจ้าของทีมซึ่งเคยบริจาคเงินก้อนโตให้ทรัมป์ ในท่านั่งชันเข่าโดยคล้องแขนต่อกัน “ก่อน” ที่เพลงเริ่มบรรเลง จากนั้นค่อยลุกขึ้นยืนโดยที่แขนยังคล้องร้อยกันอยู่เพื่อเคารพเพลงชาติ ขณะที่บางทีมเลือกจะอยู่ในห้องแต่งตัวระหว่างที่เพลงชาติถูกร้องบรรเลง ผู้เล่นบางคนเลือกนั่งบนม้านั่ง บางคนคุกเข่า บางคนชูกำปั้น

เกือบ 32 ทีมในลีกออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน แต่ในแถลงการณ์แทบไม่มีความคิดเห็นจากเจ้าของทีม ที่ผ่านมา นักธุรกิจเข้าใจดีว่ากีฬามหาชนกับการเมืองเข้ากันได้ยาก แต่บางคนยังสนับสนุนทีมและผู้เล่นให้แสดงออก

ผลจากการปะทุครั้งนี้ลุกลามใหญ่โต ศิลปินวงการดนตรีเข้ามาร่วมแสดงออกด้วยการคุกเข่าในสายงานของตัวเอง เหล่าสปอนเซอร์ดังของลีกอย่างอันเดอร์ อาร์เมอร์ ทวีตหนุนหลังนักกีฬาแต่ไม่นานก็ลบทวีตไปแล้วทวีตสารที่เบาลงว่าหนุนหลังธงชาติ เสรีภาพในการแสดงออกของนักกีฬา และความเป็นหนึ่งเดียวในหมู่อเมริกัน โดยก่อนหน้านี้แบรนด์อันเดอร์ อาร์เมอร์ โดนวิจารณ์ว่าเอียงเข้าฝั่งทรัมป์

ขณะที่ไนกี้ ค่อนข้างยืนฝั่งตรงข้ามทรัมป์มาตั้งแต่ต้นปี ครั้งนี้ก็แถลงหนุนหลังเสรีภาพการแสดงออกของผู้เล่น ทรงที่ออกมาของไนกี้ ดูจะสื่อสารจุดยืนได้ชัดกว่าแบรนด์คู่แข่ง

ภาวะฝุ่นตลบในวงการอเมริกันฟุตบอลไม่ได้กระทบบรรยากาศเกมแข่งเท่านั้น แต่ในแง่ธุรกิจก็มีผลเช่นกัน ข้อความที่ทรัมป์เรียกร้องให้ผู้ชมวอล์กเอาต์ หรือเลิกชมการแข่ง ส่งผลกระทบต่อเกมที่มีสปอนเซอร์ลงทุนมหาศาลเพื่อโฆษณาธุรกิจตัวเอง

เช่นเดียวกับการเล่นเกมการเมืองของทรัมป์ ที่มักมีท่าทีให้บริษัทเลือกข้างแบบเจาะจงหรือไม่ก็เสี่ยงโดนวิจารณ์ไป แต่สถานการณ์นี้คือสิ่งที่แบรนด์ไม่ต้องการมากที่สุด การเข้าไปติดใจกลางข้อพิพาททางสังคมที่ไม่ว่าจะแสดงออกอย่างไรก็เสี่ยงเสียก้อนเค้กหากก้าวเอียงไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งเลย

หากเหตุการณ์ไม่มีวี่แววคลี่คลาย และยังขยายตัวออกไป ธุรกิจหรือแบรนด์ต่าง ๆ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบในวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ศึกเอ็นเอฟแอลเป็นหนึ่งในเวทีแข่งที่มีแบรนด์ดังระดับโลกเป็นผู้สนับสนุน ความเสียหายจากเรตติ้งย่อมส่งผลกระทบเชิงลบต่อการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งจ้างงานคนในประเทศนับล้านราย

เวลานี้อาจยังไม่รู้ว่าใครจะเสียอะไร มากเท่าไหร่บ้างจากเกมนี้ ตัวละครสำคัญก็ไม่ได้อยู่ที่เคเปอร์นิค แต่ไปอยู่ที่ตัวแปรที่เป็นโจ๊กเกอร์อย่างทรัมป์เสียแล้ว โดยที่ความน่ากลัวในเกมนี้คือ ไม่มีใครรู้ว่าประธานาธิบดีคนนี้จะเดินหมากทางไหนต่อ