มองสถานการณ์โลกและไทย เราอยู่ใกล้หรือไกลจากการระบาดระลอกสอง

บีทีเอส กทม
Mladen ANTONOV / AFP
 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

เราได้ยินคำว่า “การระบาดระลอกสอง” กันมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยคลี่คลายลง มีอุบัติการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยจนถึงไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเลยต่อเนื่องมากกว่าหนึ่งเดือน พบเพียงผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศซึ่งกักตัวอยู่ในสถานกักกันโรคแห่งรัฐ หรือ state quarantine

ต้องยอมรับว่าคำว่า “การระบาดระลอกสอง” ที่ภาครัฐ โดยเฉพาะ “ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019” หรือ ศบค.พร่ำบอกอยู่ทุกวันนั้นสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน มีคนจำนวนไม่น้อยที่กลัวว่าการระบาดระลอกสองจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเหมือนระลอกแรกยิ่งไปกว่านั้น มีคนกลัวไปถึงขั้นว่า การระบาดระลอกสองจะทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากกว่าระลอกแรก อย่างกรณีไข้หวัดใหญ่สเปนในอดีต

จริง ๆ แล้วการระบาดระลอกสองของโควิด-19 จะรุนแรงกว่าระลอกแรกหรือเปล่า คงไม่มีใครบอกล่วงหน้าได้ แต่เราสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์ได้จากการดูเคสของประเทศต่าง ๆ ที่เกิดการระบาดระลอกสองไปแล้ว

แต่ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นสาระของเรื่อง เรามาพูดถึงนิยามคำว่า “การระบาดระลอกสอง” ก่อนว่า แค่ไหนจึงจะเรียกว่าการระบาดระลอกสอง

คำว่า “ระลอกสอง” หรือ “second wave” ในบริบทของการเกิดโรคระบาดนั้นไม่ได้มีนิยามหรือเกณฑ์วัดชัดเจนว่าต้องระบาดมากน้อยแค่ไหน แต่เราจะเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้นหากเรานำตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันมาแสดงในรูปแบบกราฟ ซึ่งเราจะเห็นภาพเป็นคลื่นชัดเจน และพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า “การระบาดระลอกสอง” คือ การที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องมาแล้วระยะหนึ่ง

ณ เวลานี้สถานการณ์ประเทศไทยเป็นอย่างไร สถานการณ์ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นอย่างไร เราอยู่ใกล้หรือไกลกับคำว่า “การระบาดระลอกสอง” สถานการณ์โลกจะส่งผลต่อไทยอย่างไร และในที่สุดแล้ว หากต้องเกิดการระบาดระลอกสองขึ้นจริง เราจะทำอย่างไรให้เกิดแบบเสียหายน้อยที่สุด “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้สรุปคำตอบจากการวิเคราะห์ข้อมูลโดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้วิเคราะห์สถานการณ์และข้อมูลเหล่านี้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมาทาง Mahidol Channel

สถานการณ์โลก หลายประเทศระบาดระลอกสองไปแล้ว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นำตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต 12 วันย้อนหลัง (วันที่ 16 กรกฎาคมย้อนไปถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2563) มาแสดงให้เห็นว่า ภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลก 12 วันดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 200,000 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,000,000 ราย ภายในเวลาเพียง 4-5 วันเท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์เมื่อ 2 เดือนก่อนที่ใช้เวลาราว 10 วันจึงจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 1,000,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเร็ว แต่จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วง 12 วันดังกล่าว เฉลี่ยวันละประมาณ 5,000 ราย ซึ่งการที่จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นไม่มากในขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเร็วนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศต่าง ๆ รับมือ ปรับตัว และดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดี

สถานการณ์การระบาดทั่วโลก ในหลายประเทศยังอยู่ในการระบาดระลอกแรก ยังไม่สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดน้อยลงได้ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งข้อมูล 12 วันย้อนหลัง (วันที่ 16 กรกฎาคมย้อนไปถึงวันที่ 5 กรกฎาคม) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันอยู่ในช่วงระหว่าง 46,000-73,000 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ในช่วง 250-960 ราย ประเทศบราซิล ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันอยู่ในช่วงระหว่าง 20,000-46,000 ราย เสียชีวิตอยู่ในช่วง 600-1,300 ราย สหราชอาณาจักร อยู่ในช่วงที่ใกล้จะควบคุมการระบาดระลอกแรกได้ กราฟเริ่มลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าเลข 3 หลักได้ โดยในช่วง 12 วันดังกล่าว มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันอยู่ในช่วงระหว่าง 350-1,250 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันอยู่ระหว่าง 10-160 ราย

ส่วนกรณีประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดระลอกแรกได้แล้วเกิดการระบาดระลอกที่สองขึ้นอีก ก็อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงต่ำแล้วในช่วงวันที่ 13 พฤษภาคม-25 มิถุนายน แต่เกิดการระบาดระลอกสองขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา อีกประเทศหนึ่งคือเกาหลีใต้ที่เคยควบคุมสถานการณ์ได้ดีมากในช่วงแรก ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างรวดเร็ว จนเรียกว่าจบการระบาดระลอกแรกไปแล้วในช่วงเดือนเมษายน-ปลายเดือนพฤษภาคม ก่อนจะมีเคสใหม่ระลอกที่สอง แต่ทั้งนี้ จากกรณีของหลายประเทศที่เกิดการระบาดระลอกสอง ยังไม่พบการระบาดที่รุนแรงมากกว่าหรือเทียบเท่ากับการระบาดระลอกแรก

ไทยอยู่ในช่วงคลื่นสงบ แต่ยังต้องระวังต่อไป

ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยเรา จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดน้อยลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนและคลื่นค่อนข้างสงบในเดือนพฤษภาคม ข้อมูลย้อนหลัง 12 วัน (วันที่ 16 กรกฎาคมย้อนไปถึงวันที่ 5 กรกฎาคม) มีผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันในช่วงระหว่าง 0-14 ราย รวมทั้ง 12 วันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 52 ราย ซึ่งทั้งหมดติดเชื้อมาจากต่างประเทศ รวมแล้วมีผู้ป่วยสะสม 3,236 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตใน 12 วันดังกล่าว ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 58 ราย

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา บอกว่า ไทยเราผ่านการแพร่ระบาดระลอกที่หนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม การจัดการกับเชื้อโรคที่แพร่ระบาดได้ง่ายอย่างไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้นจะต้องระวังไม่ให้พลาดแม้แต่นิดเดียว

ทั่วโลกยังระบาด เหมือนไฟไหม้บ้านที่อาจลามไทย

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์เปรียบเทียบสถานการณ์ของไทยและทั่วโลกให้เห็นภาพว่า ประเทศไทยเหมือนห้องหนึ่งห้องในบ้านหลังใหญ่ ซึ่งบ้านก็คือทั้งโลก สถานการณ์ตอนนี้หลายประเทศยังระบาดหนัก เหมือนไฟกำลังไหม้บ้านอยู่ ดังนั้น ไทยจึงต้องระวังให้ดี ไม่ให้ไฟที่กำลังลุกโชนในห้องอื่น ๆ ไหม้ลามเข้ามาในห้องของไทย

“วันนี้เรายังไม่ค่อยมีผู้ป่วยใหม่ เรามีกลไกควบคุมป้องกันภายในของเราเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือตอนนี้ทั่วโลกกำลังเต็มไปด้วยไฟ หลายประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น และควันที่เกิดขึ้นจากการที่ไฟไหม้ในห้องต่าง ๆ มีโอกาสจะรั่ว
ผ่านหน้าต่างผ่านประตูเข้ามาในห้องของเรา สิ่งที่สำคัญคือประตูหน้าต่างเหล่านี้ต้องอย่าเปิดโดยเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันอาจจะมีรูรั่วอื่น ๆ ที่ควันหรือไฟจะผ่านเล็ดลอดเข้ามา ถ้าคนไทยเราช่วยกันสอดส่อง ทันทีที่มีควันมีไฟรั่ว
เข้ามาแล้วเราช่วยกันปิด ช่วยกันค้นหาและจัดการ ขณะเดียวกัน ภายในของเราก็ดูแลสุขภาพของเราให้พร้อมที่จะรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เราก็มีโอกาสที่จะทำให้บ้านของเรายังคงเป็นสีเขียวโดยไม่มีสีแดง จนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งเปรียบเสมือนสิ่งที่มาดับไฟที่อยู่รอบตัวเรา”

รูปแบบการระบาดระลอกสอง

การระบาดระลอกสองนั้น มีรูปแบบการระบาดที่คาดการณ์ 3 รูปแบบ ได้แก่

1.รูปแบบ Slow Burn คือ การระบาดระลอกสองที่ระบาดช้า ๆ มีผู้ติดเชื้อเพียงเล็กน้อยแล้วก็ลดลง ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่จะยังดำเนินการได้ จะมีการคุมเข้มเฉพาะในธุรกิจที่พบการแพร่ระบาด ประชาชนทำกิจกรรมนอกบ้านได้มาก อัตราการเสียชีวิตต่ำ และระบบการดูแลสุขภาพดำเนินการได้ดี มีงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

2.รูปแบบ Peak and Valleys คือ การระบาดระลอกสอง มีช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูง (แต่ไม่สูงเท่าระลอกแรก) สลับกับต่ำ เป็นคลื่นขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนยอดเขาและหุบเขา ถ้าเกิดการระบาดรูปแบบนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช้า ใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพค่อนข้างสูงถึงสูงมาก และเสี่ยงกับอัตราการเสียชีวิตที่สูง

3.รูปแบบ Fall Peak คือ การระบาดระลอกสองที่จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงมากกว่าระลอกแรก ซึ่งถ้าเกิดการระบาดระลอกสองในรูปแบบนี้จะส่งผลกระทบมากต่อเศรษฐกิจ ใช้งบประมาณในการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงมาก และเสี่ยงกับอัตราการเสียชีวิตที่สูง

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

จากความเป็นไปได้ 3 รูปแบบนี้ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์แสดงความเห็นว่า หากประเทศไทยต้องเกิดการระบาดระลอกสองก็อยากให้เกิดขึ้นในรูปแบบ Slow Burn ที่ไม่สร้างความเสียหายมาก ซึ่งการจะทำให้ประเทศไทยเสียหายไม่มากนั้นต้องอาศัยความร่วมมือกัน โดยการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างทางสังคม หมั่นล้างมือ และเช็กอิน-เช็กเอาต์ “ไทยชนะ” หรือเขียนลงทะเบียนเมื่อเข้าใช้บริการสถานที่ต่าง ๆ

“ตอนนี้รัฐบาลใช้งบประมาณไปเยอะมากในเรื่องโควิด-19 เราคงไม่มีงบประมาณมากพอที่จะปล่อยให้เศรษฐกิจเราแย่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ผมก็ฝากไว้ให้รักษาระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อย ๆ ใส่หน้ากาก และการใช้ไทยชนะ”

วัคซีน ภูมิต้านทาน การกลายพันธุ์ ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนการรับมือ

นอกจากนั้น คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนและภูมิคุ้มกันว่า ตอนนี้วัคซีนผ่านการทดลองในสัตว์แล้ว แต่ตามหลักการ กว่าจะมาถึงการใช้ในมนุษย์นั้นต้องใช้เวลา อย่างเร็วที่จะได้ใช้ก็คือหลังไตรมาสแรกของปี 2564 หรืออาจจะต้องรอถึงกลางปี 2564

ส่วนเรื่องภูมิคุ้มกันนั้นเพิ่งมีรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ออกมาจาก King’s College ในสหราชอาณาจักร ว่าการศึกษาในผู้ป่วย 63 รายที่รักษาหายแล้วมี 60 รายที่เกิดภูมิคุ้มกันในระดับที่น่าจะป้องกันเชื้อโรคได้ แต่เมื่อติดตามต่อไปกลับพบว่าภูมิคุ้มกันของคนกลุ่มนี้ลดลงต่ำกว่าระดับที่จะป้องกันเชื้อโรคได้ และในบางคนภูมิคุ้มกันหายไป จึงมีการตั้งสมมุติฐานว่า ตามหลักการที่ว่า เมื่อมีคนติดเชื้อจำนวนมากแล้วจะเกิด “ภูมิคุ้มกันชุมชน” หรือ “herd immunity” นั้น ในความเป็นจริงอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้

สุดท้าย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ให้ข้อมูลเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า มีการกลายพันธุ์แล้วอย่างน้อย 6 สายพันธุ์ แต่ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า การกลายพันธุ์ทำให้ความรุนแรงของโรคมากขึ้นหรือน้อยลง และยังไม่มีหลักฐานว่าการกลายพันธุ์จะมีผลกระทบต่อวัคซีนที่กำลังพัฒนาอยู่หรือไม่

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และโรคโควิด-19 เป็นเหมือนจักรวาลที่ยังมีความลับรอการค้นหาอยู่อีกมากมาย สำหรับคำถามหลักเกี่ยวกับการระบาดระลอกสองที่เรากำลังระวังกันอยู่และมีคำถามว่าจะเกิดขึ้นรุนแรงน่ากลัวหรือไม่ หากดูจากหลายประเทศที่เกิดการระบาดระลอกสองขึ้นแล้วก็พบว่าไม่มีประเทศไหนที่การระบาดระลอกสองรุนแรงกว่าระลอกแรก เพราะทุกประเทศได้เรียนรู้จากการระบาดระลอกแรกไปแล้ว ทำให้สามารถป้องกันและรับมือได้ดี ดังนั้นก็น่าจะพอตอบคำถามได้ว่า การระบาดระลอกสองไม่ได้น่ากลัวหรือน่าตื่นตระหนกไปกว่าระลอกแรก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรชะล่าใจ ไม่ควรประมาทกว่าการระบาดระลอกแรกเช่นกัน