สำรวจวิถีคนชายขอบ นักโทษ ชนพื้นเมือง คนไร้บ้าน อยู่กันอย่างไรในยุคโควิด

Photo by ISABEL INFANTES / AFP
ธนพงศ์ พุทธิวนิช : เรื่อง

สถานการณ์โรคระบาดหลายประเทศยังน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นในแถบยุโรป อเมริกา และละตินอเมริกา มาตรการที่แต่ละประเทศใช้อาจแตกต่างกันไปบ้าง สิ่งที่เรายังเห็นกันเสมอในหน้าสื่อ คือ สภาพวิถีชีวิตของคนทั่วไป ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากผลกระทบของมาตรการต่าง ๆ บางครั้งเราอาจลืมไปว่า นอกเหนือจากคนที่ใช้ชีวิตในสังคมยุคใหม่ทำมาหากิน ลงทุนบางอย่างเพื่อหาผลกำไรมาหล่อเลี้ยงชีวิตต่อไป โลกเรายังมี “มนุษย์” หลายกลุ่มที่ไม่ได้ดำเนินชีวิตลักษณะมนุษย์ยุคทุนนิยม

คำถามที่น่าสนใจ คือ วิถีชีวิตของคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่ม “คนชายขอบ” ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ “คนชายขอบ” ซึ่งแต่เดิมก็มีวิถีชีวิตอันยากลำบากอยู่แล้ว พวกเขาจะมีความเป็นอยู่อย่างไร

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจวิถีชีวิตของคนชายขอบในสังคม และต้องชี้แจงก่อนว่า ในที่นี้คือการสำรวจข้อมูลวิถีชีวิตที่อยู่นอกเรดาร์ “คนทั่วไป” โดยไม่ได้เป็นการตอกย้ำหรือบ่งชี้ว่าพวกเขาไปอยู่ในสภาพแบบนั้นด้วยเหตุผลใด มองโดยปราศจากบริบทเรื่องชาติกำเนิด ประวัติพฤติกรรม ไปจนถึงปัจจัยอื่น ๆ กล่าวได้ว่าเป็นการมองจากฐานเรื่องสถานภาพแบบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

สภาพอันน่าเหลือเชื่อของนักโทษในเรือนจำ

หลายคนอาจจำได้ว่า ช่วงที่ไทยเริ่มตื่นตัวกับเคสโควิด-19 ที่ปรากฏต่อเนื่องในช่วงต้นปี รายงานข่าวเรื่องผู้ต้องขังติดเชื้อก็ตามมาด้วย การมีผู้ป่วยในสถานที่ปิดและมีพื้นที่จำกัดเป็นความเสี่ยงอย่างมาก จนนำมาสู่มาตรการที่เข้มงวดหลายอย่างจนเรือนจำทั่วประเทศปลอดโควิด-19 ได้ สภาพชีวิตนักโทษในเรือนจำที่ควบคุมดูแลอย่างเหมาะสมในยุคโควิด-19 อย่างน้อยยังพอรับได้ตามมาตรฐานปกติ

สภาพเหล่านี้ไม่ใช่สำหรับเรือนจำในประเทศที่อัตราอาชญากรรมน่าเป็นห่วงอย่างโคลอมเบีย รายงานพิเศษของ Vice สื่อชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา-แคนาดา ทำให้ทั่วโลกตกตะลึงกับสภาพเรือนจำที่ควบคุมเข้มงวดในเมืองคอมบิตา (Combita)

ความปั่นป่วนของเรือนจำเริ่มเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักโทษรวมตัวประท้วงเรื่องสภาพสุขอนามัยและความแออัด ซึ่งมีปัจจัยเบื้องหลังที่ผลักดันคือสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยที่เวลานั้นเริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อการประท้วงเรียกร้องกลายสภาพเป็นจลาจล ผู้คุมและนักโทษบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 80 ราย มีนักโทษเสียชีวิต 23 รายภายหลังการจลาจล สภาพเรือนจำความเข้มงวดสูงเหมือนถูกปล่อยลอยแพโดยรัฐ นักโทษในเรือนจำกลายเป็นผู้ควบคุมดูแลกันเอง แต่ไม่ใช่ในเชิงบวก พวกเขาขาดปัจจัยดำรงชีพพื้นฐานจากรัฐ น้ำและอาหารเริ่มร่อยหรอ สิ่งที่พุ่งสูงสวนทางกันคือเหตุความรุนแรงภายในเรือนจำ

คำถามที่ชวนสงสัย คือ แล้วสื่อรู้ข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างไร กรณีนี้เป็น “บอริส” (Boris) นักโทษชาวโคลอมเบียที่เคยใช้ชีวิตในลอนดอนเป็นผู้บันทึกภาพ และส่งต่อมาให้ผู้สื่อข่าวของ Vice ในลอนดอน นำออกมาตีแผ่สู่สายตาทั่วโลก

Photo by Mark RALSTON / AFP

ก่อนหน้าโควิด-19 สภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการปรับปรุงอย่างเหมาะสม เมื่อมาเจอสถานการณ์โรคระบาดซ้ำเติม สัญชาตญาณอันเป็นธรรมชาติที่สุดของสิ่งมีชีวิตทั่วไปในการเอาตัวรอดก็ตอบสนองขึ้นมา จนกลายมาเป็นสภาพเรือนจำที่โลกยุคใหม่แทบไม่เคยพบเห็นมาก่อนกับเรือนจำที่ควบคุมโดยนักโทษกันเอง

สภาพนักโทษคุมกันเองฟังดูแล้วเป็นเหมือนการปกครองกันเองที่น่าจะดีกว่าถูกคนอื่นมาจัดระเบียบคุมไม่ห่าง อย่างไรก็ตาม สภาพนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเชิงบวก หากพิจารณาจากคำบอกเล่าของบอริส เขาเล่าว่า สภาพการปกครองอันล้มเหลว รัฐไม่เหลียวแล ทำให้นักโทษบางกลุ่มฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากสภาพนี้ก่อสงครามตีกันเอง

นักโทษคดีร้ายแรงกลุ่มหนึ่งถูกนักโทษด้วยกันเองขังไว้ในห้องขัง เพราะนักโทษจำนวนหนึ่งกังวลว่ากลุ่มนี้จะออกมาสร้างความวุ่นวายในเรือนจำ อุปกรณ์ที่ติดตั้งในเรือนจำเพื่อเสริมการรักษาความปลอดภัยและป้องกันการหลบหนีก็ถูกดัดแปลงมาเป็นอาวุธ เช่น ลูกกรงก็ถูกหักมาเหลาให้ปลายแหลมคมสำหรับเป็นอาวุธป้องกันตัว

ไม่เพียงแค่สงครามภายในกลุ่มนักโทษ ภัยร้ายซึ่งคุกคามชีวิตที่อยู่บนเส้นด้ายอยู่แล้วอีกประการก็คือโรคระบาด สถานการณ์จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เรือนจำปรากฏผู้คุมเดินทางเข้า-ออกไปมาจากข้างนอกเพิ่มความเสี่ยงนำเชื้อเข้ามาแพร่กระจายในเรือนจำ ส่วนนักโทษในเรือนจำเองก็แทบไม่มีน้ำสำหรับล้างมือ

แม้ว่าเรื่องราวนี้จะฟังดูแล้วเหมือนโครงเรื่องภาพยนตร์หรือซีรีส์สักเรื่อง แต่ต้องย้ำอีกครั้งว่า ข้อมูลที่รายงานจากสื่อนี้ไม่ใช่พลอตเรื่องแต่งหรือบทภาพยนตร์ มีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอยืนยันตัวตน และวันเวลาของสถานการณ์ที่กล่าวอ้าง

มีรายงานว่ารัฐบาลโคลอมเบีย ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการปล่อยตัวนักโทษกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงวัย สตรีตั้งครรภ์ และอีกหลายลักษณะ แต่มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับข้อหาที่กระทำผิดราว 60 ข้อหา และหากไปดูลิสต์
ข้อยกเว้นแล้ว นักโทษที่รับโทษในเรือนจำส่วนใหญ่ยังไม่เข้าเกณฑ์ถูกปล่อยตัว (ชั่วคราว) เสียด้วยซ้ำ

ถ้ามองจากมุมมองยุคใหม่แล้ว มนุษย์ที่แม้แต่จะอยู่ในสถานะถูกลงทัณฑ์กักกันในพื้นที่จำกัดก็ควรมีสิทธิได้รับการดูแลจากรัฐด้วยซ้ำ น่าเสียดายที่ข้อมูลจาก “บอริส” เงียบหายไปนับตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

Photo by Mark RALSTON / AFP

ชนพื้นเมืองติดเชื้อมากกว่า 70,000 ราย

ในหลายประเทศยังคงปรากฏกลุ่มทางชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง หรือแม้แต่ชนเผ่าในแถบแอฟริกาบางจุด ยังอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับจุดที่มีการระบาดของโควิด-19 คนกลุ่มนี้เองเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความกังวลแง่ผลกระทบที่จะส่งผลต่อกลุ่มชนพื้นเมืองโดยเฉพาะกรณีของชาวอเมริกัน

สภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มชนพื้นเมืองหรือกลุ่มทางชาติพันธุ์ในหลายประเทศค่อนข้างยากลำบากมาแต่เดิม ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในฐานะยากจน และเป็นกลุ่มเปราะบาง เมื่อมองจากโครงสร้างระดับบนสุดว่า พวกเขาปราศจากตัวแทนทางการเมืองอย่างจริงจัง อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้เท่ากับคนเมืองยุคใหม่

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีรายงานว่า ผู้มีเชื้อสายเกี่ยวข้องกับชนเผ่านาวาโฮ (Navajo) ติดเชื้อไวรัสไป 8,243 เคส เสียชีวิต 402 ราย สำหรับภาพรวมแล้ว องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2020 ว่า พบชนพื้นเมืองติดเชื้อมากกว่า 70,000 ราย มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 2,000 ราย

ในขณะที่กลุ่มชนพื้นเมืองในแต่ละท้องที่ต้องหามาตรการมากำกับดูแลกันเอง บางกลุ่มตั้งจุดตรวจขึ้นมาตรวจเช็กแล้วป้องกันคนนอก ซึ่งอาจเป็นพาหะนำความเสี่ยงมาสู่ชุมชนเข้ามาในพื้นที่ อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ การร่วมมือกันระหว่างกลุ่ม ในเมื่อภาครัฐแทบไม่มีเวลามาดูเท่าใด

ในขณะเดียวกัน วิถีชีวิตดั้งเดิมของชนพื้นเมืองบางกลุ่มอาจไม่ได้ดูสอดคล้องกับวิถีใหม่ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมมากนัก ยกตัวอย่างธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัวนาวาโฮที่มักพบว่า นิยมสร้างบ้านอาศัยแบบครอบครัวขนาดใหญ่

รวมคนหลายรุ่นภายใต้หลังคาเดียวกัน นั่นก็ส่งผลต่อเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือจะเป็นปัญหาทางสุขอนามัยที่ใหญ่กว่านั้นอย่างเรื่องสุขอนามัย อาหาร การเข้าถึงระบบสาธารณสุข และที่สำคัญ คือ เรื่องงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ถึงจะมีเป็นก้อนโต แต่มักติดขัดปัญหา เช่น เรื่องเชิงกระบวนการหรือระเบียบ ทำให้แจกจ่ายล่าช้าก็มีในบราซิล ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกก็ประสบปัญหาเรื่องการดูแลคนพื้นเมือง โดยเฉพาะในแถบพื้นที่ห่างไกล สื่อบางแห่งถึงกับรายงานว่า พื้นที่บางจุดในแถบอเมซอนเริ่มเกิดการแพร่ระบาดอันสืบเนื่องมาจากคนนอกพื้นที่ คนงานเหมืองแบบผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่อนามัยจากรัฐบาล เป็นกลุ่มคนที่เข้าไปสัมผัสชนพื้นเมืองและมีแนวโน้มเป็นพาหะนำเชื้อไปติดชนพื้นเมือง เคสที่ว่านี้อาจสะท้อนมาสู่กรณีคำสั่งศาลบราซิลให้เคลื่อนย้ายคนขุดทองแบบผิดกฎหมายนับหมื่นรายออกจากพื้นที่อนุรักษ์ในอเมซอน เพื่อปกป้องชนเผ่า Yanomami จากไวรัส

ปรากฏการณ์การเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองกับคนจากภายนอกซึ่งนำพาโรคระบาดเข้ามา ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกรณีไวรัสโควิด-19 ประวัติศาสตร์โลกบ่งชี้ว่า การตั้งรกรากของชาวตะวันตกก็มักนำโรคระบาดเข้ามาด้วย นั่นจึงนำมาสู่มาตรการเท่าที่ทำได้ในเวลาอันยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นแนวทางจากรัฐหรือการปรับวิถีชีวิตของพื้นเมืองเอง

Photo by Glyn KIRK / AFP

คนไร้บ้านได้รับการเหลียวแลมากกว่าผู้เปราะบางกลุ่มอื่น

ในบรรดากลุ่มคนที่เดิมทีเคยถูกเมินจากรัฐบางประเทศไม่แตกต่างจากกลุ่มข้างต้น เมื่อมาถึงสถานการณ์โควิด-19 น่าสนใจทีเดียวว่า ทำไมคนไร้บ้านบางพื้นที่ถึงได้รับความดูแลจากรัฐบาล หรืออาจเป็นเพราะว่าตำแหน่งแห่งหนของพวกเขาอยู่ในจุดที่ “เห็นได้ชัด” มากกว่าหรือไม่ ? หรือเป็นเพราะมาตรการกักตัวทำให้คนส่วนใหญ่ใช้พื้นที่สาธารณะน้อยจนมีพื้นที่ให้พวกเขามากขึ้น ? หรืออาจเป็นมุมมองของรัฐบาลที่เริ่มมองภาพกว้างมากขึ้น ?

ในที่นี้คงยังไม่อาจให้คำตอบแบบชี้ชัด สิ่งที่พอจะบอกเล่าได้คือ ข้อมูลจากรายงานที่รวบรวมมาได้แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเริ่มต้นจนถึงช่วงกลาง ๆ ของการระบาด รัฐบาลในยุโรปและอเมริกามีมาตรการรองรับคนไร้บ้าน

คนไร้บ้านในซานดิเอโก เมืองใหญ่อันดับ 2 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีที่พักในซานดิเอโก คอนเวนชั่น ฮอลล์ ศูนย์การประชุมในเวลานี้มีคนไร้บ้านมากกว่า 1,300 ราย พักอาศัยในบริเวณนั้น ภายใต้การจัดการของหน่วยงานของรัฐบาลในท้องถิ่น เช่นกันกับในเมืองซานโฮเซ่ที่จัดเตรียมโรงยิมให้เป็นที่พักของคนไร้บ้าน

ขณะที่ในสหราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่และองค์กรการกุศลก็มาจับมือกันจัดสรรห้องพักในโรงแรมของลอนดอนได้ราว 300 เตียง เพื่อช่วยให้คนไร้บ้านได้ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อหรืออาจติดเชื้อและกลายเป็นพาหะแพร่กระจายต่อในวงกว้าง (ยังมีที่พักในสถานที่อื่นนอกจากโรงแรม)

Photo by Ezequiel BECERRA / AFP

เมื่อมาดูสถิติจากการสำรวจของฝ่ายทางการพบว่า เมื่อปี 2019 มีคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียวบนท้องถนนราว 28,000 คน กระจายตัวอยู่ในแต่ละท้องที่ ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจะมีที่พักให้พวกเขาทั้งหมดไหม และสำหรับคนที่มีเตียงแล้วจะพักได้นานแค่ไหน จากการสำรวจของบีบีซีเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนพบว่า บางรายก็เริ่มกลับมาอาศัยที่สาธารณะเป็นที่นอนอีกครั้งแล้ว

แต่รายงานข่าวระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันให้จัดที่พักให้เพียงพอสำหรับคนไร้บ้าน ขณะที่การใช้ชีวิตของบางรายอาจยากลำบากกว่าเดิม บางคนที่มีสุนัขเป็นเพื่อนคู่ชีพก็ต้องพลัดพรากกันไป เมื่อมีหน่วยงานมาช่วยรับเลี้ยงไปเมื่อเจ้าของได้ที่พัก

บริบทของกลุ่มคนที่เคยถูกทางการหรือคนบางกลุ่มในสังคมเดียวกันมองข้ามไปท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบากแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน บางครั้งก็ช่วยให้เห็นธาตุแท้ของคนมากขึ้น ในอีกแง่หนึ่งก็สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนชายขอบซึ่งเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเราทุกคน


และยังสะท้อนว่า คนเราไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนในสังคม ก็ย่อมมีความต้องการขั้นพื้นฐานไม่ต่างกัน คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค