“ดนตรี” ในฐานะ “อุปกรณ์ทางการเมือง” ยุคการเคลื่อนไหวสมัยใหม่

 ธนพงศ์ พุทธิวนิช : เรื่อง

“การเมืองมีอยู่ทุกที่” แค่ประโยคนี้ก็เป็นข้อถกเถียงตั้งแต่ในหมู่ประชาชนไปจนถึงกลุ่มวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศกันแล้ว คำว่า “ทุกที่” ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง แต่อย่างน้อยองค์ประกอบของ “การเมือง” นั้นมีเรื่อง “ดนตรี” ปรากฏอยู่อย่างใกล้ชิดกว่าที่หลายคนคาด

หากมองในภาพกว้าง กิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นจากฟากไหน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนมี “ดนตรี” ปรากฏอยู่เสมอไม่มากก็น้อย หรือจะเรียกได้ว่า ดนตรี (และวัฒนธรรมอีกหลายชนิด) เป็น “อุปกรณ์” ที่สำคัญในทางการเมือง ในสภาวะการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 ดนตรีก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งในนั้นเช่นที่เคยเป็นมา

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจ “ดนตรี” ในฐานะ “อุปกรณ์” ในกิจกรรมทางการเมืองซึ่งคนจำนวนไม่น้อยมักมองข้าม “อุปกรณ์” นี้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว พลังของเสียงดนตรีนั้นส่งอิทธิพลมากกว่าที่คิด

เส้นทางบทบาท “ดนตรี” ในแง่การเมือง

ดนตรีเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์อย่างยาวนาน การสืบค้นว่า ดนตรีหรือบทเพลงที่เป็นผลงานชิ้นแรก ซึ่งถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเมืองแทบเป็นไปได้ยาก หรือหากมีข้อมูลก็ไม่อาจยืนยันได้อย่างชัดเจน

บทเพลงเก่าแก่ที่เกี่ยวกับการเมืองหลายชิ้นมีประวัติเลือนรางไปมาก และมักพบข้อมูลกล่าวถึงที่มาที่ไปหลากหลาย แต่การอ้างอิงเหล่านี้ไม่สามารถหาแหล่งข้อมูลยืนยันแบบสมบูรณ์ กรณีเพลงเก่าแก่ “La Cucaracha” หรือที่รู้จักกันแถบตะวันตกว่า “เพลงแมลงสาบ” พอจะเป็นตัวอย่างได้ดี

เพลงนี้มีฉบับที่แพร่หลายในเม็กซิโก (จนถึงยุโรปและแถบละติน) เนื้อเพลงฉบับที่คุ้นหูกันมักถูกมองว่า สื่อถึงการต่อว่าจอมเผด็จการเม็กซิโกนาม Victoriano Huerta ประธานาธิบดีเม็กซิโกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เขาเป็นผู้ล้มประธานาธิบดี Francisco Madero เมื่อปี 1913 แต่บ้างก็บอกว่า เนื้อเพลงที่ปรากฏในท่วงทำนองเดียวกัน สื่อถึง Pancho Villa หัวหน้ากองกำลังปฏิวัติในยุคไล่เลี่ยกัน โดยเพลง La Cucaracha ยังถูกใช้ในการเคลื่อนไหวของกองกำลังปฏิวัติในเวลานั้นด้วย

ดนตรีไม่ได้เป็นเพียง “อุปกรณ์” ในการสื่อสารเชิงวัฒนธรรมสำหรับฝั่งมวลชนเพื่อขับเคลื่อนในกิจกรรมต่าง ๆ แต่ในอีกด้าน “ดนตรี” ก็เป็นอุปกรณ์สำหรับฟากรัฐในการปลูกฝังแนวคิดตามเป้าหมายของตัวเองเช่นกัน อาทิ ในยามสงคราม ดนตรีและสื่อต่าง ๆ เป็นสื่อกลางในการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมของคนในชาติด้วย

ในช่วงที่ฮิตเลอร์เรืองอำนาจ นาซีเยอรมันยังใช้เพลงคลาสสิกเป็นหนึ่งในการโฆษณาชวนเชื่อด้วย โดยใช้ผลงานของนักประพันธ์ชื่อดังอย่าง ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) เป็นเครื่องปลุกใจ คีตกวีผู้นี้ผลิตผลงานแสดงออกถึงความเกลียดชังชาวยิวไว้ จนงานของเขามีสถานะเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ในอิสราเอลในเวลาต่อมา

ในฝั่งอเมริกา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่วัฒนธรรมดนตรีหลายชนิดพัฒนาขึ้นท่ามกลางบริบททางสังคมอันหลากหลาย ดนตรีหลายชนิดปรากฏเนื้อหาการเคลื่อนไหวทั้งในยุคสงครามกลางเมือง ไปจนถึงเนื้อหาเกี่ยวกับทาส ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาทางโครงสร้างและทางวัฒนธรรมที่ฝังรากมานาน บทเพลงที่ปรากฏ อาทิ เพลง Free America ที่ใส่เนื้อร้องปลุกใจลงในทำนองเพลงมาร์ชชื่อ The British Grenadiers จากช่วงศตวรรษที่ 17 มาจนถึงเพลงยุคต้นศตวรรษที่ 20 อันเป็นช่วงที่เทคโนโลยีเริ่มก้าวหน้าขึ้น

เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉม ดนตรีการเมืองเพิ่มหลากหลาย

เมื่อเทคโนโลยีการอัดเสียง และอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ พัฒนามากขึ้น เครื่องดนตรีและการสร้างสรรค์ดนตรีจึงเริ่มกระจายตัวมากขึ้น ในยุค 1930s เครื่องเสียงและวิทยุแพร่หลาย เมื่อมีช่องทาง “ดนตรี” จึงกลายเป็นสารที่ส่งผ่านช่องทางนั้น

ท่ามกลางยุคแรกเริ่มของวัฒนธรรมร่วมสมัย (พอจะเรียกว่าดนตรีพ็อปยุคแรก ๆ) ถูกนำมาใช้ในแง่การสื่อสารเชิงขับเคลื่อนการรวมตัวชุมนุม บทเพลง “Strange Fruit” ของ บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) เมื่อปี 1939 อันมีเนื้อหาเชิงเปรียบเปรยถึงการถูกกระทำของคนผิวดำ ถูกสื่อสายดนตรีขนามนามว่า เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเชิงการเคลื่อนไหวทางสังคม กระจายมาสู่ผู้ฟังวงกว้างทั่วไปเป็นชิ้นแรก ๆ โดยมีทำนองเนิบช้า เมโลดี้หม่น ๆ เป็นพื้นรองเบื้องหลังให้ผู้ฟังติดตามเนื้อร้อง

ในช่วงทศวรรษ 1940s หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดนตรีโฟล์กแบบอเมริกันเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จนถึงช่วงยุค 60s ช่วงเวลานั้นมีบทเพลงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม สิทธิมนุษยชน หรือเกี่ยวกับสงคราม ปรากฏขึ้นมากมาย ศิลปินอย่าง พีต ซีเกอร์ (Pete Seeger), บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan), ปีเตอร์ พอล แอนด์ แมรี่ (Peter, Paul and Mary) ล้วนมีผลงานโฟล์กที่ไพเราะ เนื้อหาจับใจ สื่อสารเชิงเปรียบเปรยแบบมีชั้นเชิง เป็นที่รู้จักจนวันนี้

ขณะเดียวกันการพัฒนาเครื่องสร้างเสียงสังเคราะห์และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่นำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องดนตรีสากล สุ้มเสียงดนตรีใหม่ ๆ ก็เริ่มปรากฏ ดนตรีดิสโก (disco) ร็อก (rock) ไปจนถึงพังก์ร็อก (punk rock) ล้วนมีศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับการเมือง ไม่ใช่แค่ศิลปินแนวโฟล์ก

อุปกรณ์สร้างเสียงสังเคราะห์ยังมีอิทธิพลมากในเวลาต่อมาในศตวรรษที่ 21 เมื่อความนิยมของดนตรีร่วมสมัยอย่างโฟล์ก, ร็อก, ดิสโก้ เริ่มลดลง แนวดนตรีที่เริ่มขึ้นมาได้รับความนิยมคือ ฮิปฮอป และการร้องแบบแรป บทเพลงชนิดนี้ไม่เพียงพุ่งทะยานในชาร์ตจัดอันดับดนตรีในแง่วัฒนธรรมร่วมสมัย ด้วยลักษณะของดนตรีที่มีจุดเด่นเรื่องการแรปร่ายคำคล้องจอง เนื้อหาในบทเพลงแบบฮิปฮอปไม่ได้แรปเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความทุกข์ยากของคนแอฟริกัน-อเมริกันในเมือง เนื้อหาเหล่านี้ย่อมปรากฏเรื่องทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่แพ้รูปแบบเพลงชนิดอื่น

การใช้ “ดนตรี” ในกิจกรรมการเมืองศตวรรษที่ 21

เมื่อเทคโนโลยีทำให้รูปแบบของดนตรีพัฒนาได้ รูปแบบของการเมือง ไปจนถึงเครื่องมือ-อุปกรณ์ในทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จากเหตุการณ์ในหน้าสื่อ คนทั่วไปย่อมเห็นว่า ฝั่งมวลชนผู้ถูกปกครองยังต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องเป็นส่วนใหญ่ (แทบไม่ต่างจากเดิม) การใช้ “ดนตรี” เป็นสื่อกลางเรียกร้องสิ่งที่ต้องการยังมีเช่นเดิม

ในฝั่งนักการเมืองก็ใช้เพลงเป็นอุปกรณ์ส่งสารเช่นกัน แต่ในยุคที่เทคโนโลยีเอื้อให้ทุกคนเข้าถึงงานเพลงอย่างง่ายดาย นักการเมืองสามารถเข้าถึงเพลงแล้วหยิบมาใช้ในแคมเปญหาเสียงของตัวเองอย่างง่ายดาย

แม้จะเข้าถึงง่าย แต่เรื่องที่ตามมากลับไม่ง่ายเช่นนั้น ศิลปินบางรายที่เห็นต่างกับนักการเมืองเหล่านั้นจึงไม่สบายใจที่เห็นนักการเมืองเหล่านั้นนำเพลงของตัวเองไปใช้ อย่างเช่นกรณีของนีล ยัง (Neil Young) นักร้อง-นักแต่งเพลง
แนวโฟล์กรุ่นใหญ่ของวงการ ฟ้อง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) โดยยกเรื่องกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ กล่าวหาทรัมป์เปิดเพลง “Rockin’ in the Free World” อันมีเนื้อหาต่อต้านความอยุติธรรม และความไม่เท่าเทียมของเขา ในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง โดยไม่ได้รับอนุญาตหลายครั้ง นับตั้งแต่ 3 ปีก่อน จนมาถึงแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งใหม่รอบล่าสุดก็ยังใช้อยู่

หากนึกย้อนไปถึงคำพูดที่ว่า “การเมืองมีอยู่ทุกที่” กรณีนี้เป็นอีกหนึ่งเคสที่พอจะสะท้อนภาพได้บ้างไม่มากก็น้อย “ดนตรี” (หรือวัฒนธรรมประเภทอื่น) ถูก “การเมือง” ดูดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอยู่ดี ไม่ว่าจะด้วยความจงใจ หรือไม่จงใจก็ตาม

รูปแบบ “ดนตรี” เคลื่อนไปตามยุคสมัย

ในประเทศไทย คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับ “เพลงการเมือง” จากบทเพลงประเภท “เพลงเพื่อชีวิต” ซึ่งอันที่จริง การเรียกชนิดของเพลงลักษณะนี้ เรียกจาก “เนื้อหา” แต่หากมองถึงลักษณะตัวดนตรี ส่วนใหญ่แล้ว เพลงเพื่อชีวิตมักมีดนตรีในกลุ่มโฟล์ก หรือร็อก ดนตรีที่มักเปิดในการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของฝั่งพลเรือนก็เป็นกลุ่มนี้

เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาถึงทศวรรษหลังนี้ รูปแบบของดนตรีก็เปลี่ยนไป มีเสียงสังเคราะห์และสีสันมากกว่าเดิม ลักษณะของเครื่องมือในการผลิตดนตรีก็เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับผู้ผลิตดนตรี (ที่เกี่ยวกับการเมือง/สังคม) กลายเป็นคนเจน “มิลเลนเนียลส์” ไปจนถึงรุ่นเจน Z ดนตรีของพวกเขาเต็มไปด้วยเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ท่ามกลางอิทธิพลจากดนตรีตะวันตกซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเช่นกัน ดนตรีที่ได้รับความนิยมติดชาร์ตกระแสหลักก็แพร่กระจายมาสู่ภูมิภาคอื่นด้วย

ผลผลิตที่ออกมาคือ เพลงเกี่ยวกับการเมืองโดยคนยุคใหม่ หาใช่ดนตรีโฟล์กอีกต่อไป เพลงการเมือง หรือเพลงสะท้อนสังคมมีสุ้มเสียงต่างจากนั้นอย่างสิ้นเชิง บทกวีที่สละสลวยกับทำนองเพลงเสนาะหูด้วยเสียงกีตาร์ แปรเปลี่ยนเป็นกลองอิเล็กทรอนิกส์ บทกวีที่แฝงความนัยกินใจลึกซึ้ง ต้องอาศัยการตีความ มาสู่การร่ายคำคล้องจองแบบแรป สื่อสารความหมายแบบตรงไปตรงมา ดังเช่นที่ดนตรีฮิปฮอปและแรปยุคแรกจากกลุ่มคนแอฟริกัน-อเมริกัน มีเนื้อหาระบายสภาพวิถีชีวิตอันเต็มไปด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ แบบตรงไปตรงมา

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ประเทศกูมี-บางกอก เลกาซี

บทเพลงทางการเมืองซึ่งตกเป็นหัวข้อพูดถึงในไทยและต่างประเทศอย่างกว้างขวางในรอบ 2-3 ปีมานี้ หนีไม่พ้นเพลง “ประเทศกูมี” เพลงของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เพียงกระจายจากสื่อในสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ยังขยายวงไปสู่เพลงที่ใช้ในกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองด้วย

ผลงานนี้คือภาพสะท้อนเสี้ยวหนึ่งว่าด้วยพัฒนาการดนตรีในทางการเมืองยุคใหม่ได้ดี เพลงนี้มีองค์ประกอบดังที่กล่าวข้างต้น ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แทนที่เครื่องดนตรีอคูสติก การแรปคำคล้องจองแบบตรงไปตรงมาแทนที่ร้องบทกวีสละสลวยและต้องตีความ

ภายหลังจาก “ประเทศกูมี” เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ศิลปินแนวฮิปฮอป ขาแรปรุ่นใหม่ก็เริ่มทยอยผลิตงานต่าง ๆ หรืองานที่มีอยู่แต่เดิมก่อนหน้านี้ก็เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น เพลงล่าสุดที่ถูกพูดถึง คือ “Bangkok Legacy” (บางกอก เลกาซี) ของ “ยังโอม” (YOUNGOHM) แรปเปอร์วัยรุ่นที่เกิดจากกิจกรรมแรปแบตเทิลที่เผยแพร่กันในชุมชนออนไลน์ ประสบความสำเร็จจากซิงเกิลที่ติดหู สร้างฐานแฟนเพลงรุ่นใหม่เป็นกลุ่มก้อน เมื่อมาถึงอัลบั้มใหม่ “ยังโอม” เลือกใส่เพลงที่มีเนื้อหาวิจารณ์สังคมการเมืองแบบตรงไปตรงมาอย่างเผ็ดร้อน


เมื่อไล่เรียงพัฒนาการวัฒนธรรมดนตรีในบริบททางการเมืองมาจนถึงจุดนี้ โดยรวมแล้วจะพบว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ปรากฏขึ้นต่อเนื่องมีอุปกรณ์สื่อสารหลายชนิด ดนตรีย่อมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบในการเคลื่อนไหว และแทบแยกออกจากกันได้ยากยิ่ง มันเป็นทั้งสาร เป็นทั้งอุปกรณ์ และเครื่องมือสำคัญ ไม่ใช่แค่สำหรับประชาชน แต่สำหรับคนทุกกลุ่ม