นักวิจัย ม.เคมบริดจ์ ค้นพบหนอนผีเสื้อที่สามารถกินและย่อยถุงพลาสติกได้

บีบีซีรายงานว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ค้นพบว่าหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่งที่กินขี้ผึ้ง สามารถกินและย่อยพลาสติกได้ ทำให้คาดว่านี่จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยลดมลพิษจากพลาสติกได้

ซึ่งการทดลองในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่าหนอนของผีเสื้อชนิด Galleria mellonella ดังกล่าวสามารถสลายพันธะทางเคมีของพลาสติก ในวิธีเดียวกันกับที่ใช้ย่อยขี้ผึ้ง

ทั้งนี้ ในแต่ละปีโลกของเราใช้พลาสติกที่เป็นโพลีเอทิลีนถึง 80 ล้านตัน ซึ่งนำไปผลิตเป็นถุงพลาสติก ถุงใส่อาหาร และอื่นๆ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายร้อยปีถึงจะย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม เจ้าหนอนผีเสื้อเหล่านี้สามารถกินถุงพลาสติก 1 ถุง ได้หมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมงเท่านั้น

ดร.เปาโล บอมเบลลี นักชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า หนอนผีเสื้อดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องทำการศึกษาต่อไปว่าพวกมันมีกระบวนการในการย่อยพลาสติกได้อย่างไร เพื่อที่จะนำเทคนิคนั้นมาใช้ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกของเรา


ทั้งนี้ ดร.บอมเบลลี และ เฟเดอริกา เบอร์ทอคชินี ผู้ร่วมวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติสเปน ได้จดสิทธิบัตรการค้นพบดังกล่าวแล้ว และกำลังเร่งศึกษากระบวนการเคมีที่เป็นความลับของการย่อยสลายพลาสติกนี้ ซึ่งพวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นจุลินทรีย์ที่อยู่ในตัวของหนอนผีเสื้อชนิดดังกล่าว ที่สามารถย่อยพลาสติกได้ ซึ่งถ้าหากสามารถหากระบวนการทางเคมีได้อย่างแน่ชัด ก็จะนำไปสู่การค้นพบวิธีการจัดการขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมต่อไป