20 ปี Almost Famous ภาพยนตร์ที่เป็นกระจกสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อ

 ธนพงศ์ พุทธิวนิช : เรื่อง

เดือนกันยายนมักมีเหตุการณ์มากมายถูกบันทึกในความทรงจำ และช่วงที่หัวข้อเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ “สื่อมวลชน” เป็นประเด็นในปี 2020 พอดี จังหวะนี้ประจวบเหมาะกับวาระครบรอบ 20 ปี ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกบันเทิงสายดนตรี อันเชื่อมโยงกับบทบาทหน้าที่ของสื่อ อย่างเรื่อง Almost Famous

Almost Famous หรือชื่อภาษาไทยว่า “อีกนิด…ก็ดังแล้ว” เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเด็กหนุ่มวัยทีนที่ชื่นชอบดนตรีร็อก และได้รับมอบหมายให้ร่วมเดินสายไปกับคณะดนตรีร็อกดาวรุ่งในยุคต้น 70s เพื่อเก็บข้อมูลมาเขียนบทความส่งนิตยสารวัฒนธรรมร่วมสมัยชื่อดังในยุคนั้น คือ Rolling Stone (โรลลิ่ง สโตน) หนังเข้าฉายในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 2000

แม้ในช่วงเข้าฉายจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในแง่รายได้โดยรวม แต่ในแง่เสียงวิจารณ์ หนังได้รับเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ 4 สาขา และได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม เมื่อเวลาผ่านไปนานวัน ตัวหนังกลับได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอีกหนึ่งผลงานในความทรงจำของวงการดนตรีและสื่อมวลชนสายวัฒนธรรมร่วมสมัยมาจนถึงวันนี้


ประเด็นที่น่าสนใจจนต้องหยิบมาเขียนในวาระครบ 20 ปีของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ พลอตเรื่องที่ดัดแปลงมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของ แคเมรอน โครว์ (Cameron Crowe) ผู้กำกับที่เคยสัมภาษณ์วงดนตรีอเมริกันบลูส์-ร็อกชื่อดังแห่งยุค ในขณะที่เขาอายุเพียง 16 ปี ซึ่งประสบการณ์ระหว่างทำงานสมัยนั้นสามารถสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ไม่ใช่แค่การทำงานเกี่ยวกับสื่อมวลชนเท่านั้น

ในวาระครบ 20 ปีภาพยนตร์ที่ส่งอิทธิพลและอยู่ในความทรงจำแวดวงวัฒนธรรมร่วมสมัยและสื่อมวลชน “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนมองภูมิหลังของภาพยนตร์ โดยเฉพาะแง่การทำงานของสื่อซึ่งในปัจจุบันก็ยังถูกพูดถึงกันอยู่ในแทบทุกสังคม

เรื่องจริงเกี่ยวกับการทำงานของสื่อ

หนัง Almost Famous เล่าเรื่องของ วิลเลี่ยม มิลเลอร์ (William Miller) ตัวละครสมมติ ซึ่งเป็นเด็กวัยทีนผู้อยากเป็นสื่อสายดนตรีร็อก วิลเลี่ยมเขียนงานส่งให้สื่อสิ่งพิมพ์ในท้องถิ่นมาบ้าง กระทั่งได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการของนิตยสารวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เก่าแก่ในสหรัฐ อย่าง Rolling Stone ให้เดินสายไปพร้อมกับวง Stillwater (สติลวอเทอร์) วงดนตรีสมมติในหนัง (โลกความเป็นจริงก็มีวงชื่อเดียวกันนี้ด้วย) เพื่อเขียนงานส่งมาให้ตีพิมพ์

รายละเอียดในเรื่องผสมผสานระหว่างข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ของแคเมรอน โครว์ กับตัวละครสมมติ กล่าวคือมีทั้งตัวละครที่ใช้ชื่อจริงและมีตัวตนอยู่จริง เช่น เลสเตอร์ แบงส์ (Lester Bangs) นักข่าวสายดนตรีร็อก และเบ็น ฟง ตอร์เรส (Ben Fong-Torres) บรรณาธิการนิตยสาร Rolling Stone กับตัวละครที่มีตัวตนจริงแต่ในหนังใช้ชื่อสมมติอย่าง วิลเลียม มิลเลอร์ ในเรื่องก็คือตัวละครภาพแทนตัวตนจริงของแคเมรอน โครว์ และเพนนี่ เลน (Penny Lane) แฟนเพลงสาวในเรื่องก็เป็นตัวละครสมมติซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก “แฟนเพลงร็อก” ตัวจริงอย่างพาเมล่า เดส บาร์เรส (Pamela Des Barres)

แก่นโครงเรื่องว่าด้วยนักเขียนวัย 16 ปีที่ติดตามวงร็อกเพื่อนำข้อมูลมาเขียนงานส่งให้สื่อสิ่งพิมพ์คือเรื่องราวที่ดัดแปลงมาจากประสบการณ์จริงของโครว์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ติดตามวง The Allman Brothers Band (ดิ อัลล์แมน บราเธอร์ส แบนด์) ระหว่างการเดินสายขึ้นโชว์เป็นเวลา 10 วัน เมื่อปี 1973

โครว์ มีโอกาสสัมผัสเบื้องหลังเวที การใช้ชีวิตของสมาชิกคนสำคัญในวง ไปจนถึงสัมภาษณ์เจาะลึกสมาชิกวง งานเขียนของโครว์ถูกนำมาขึ้นหน้าปกนิตยสารระดับประเทศจริงในขณะที่โครว์ ผู้เขียนมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น

การเดินสายไปกับวง The Allman Brothers Band คือแก่นของโครงเรื่องสำคัญ ซึ่งถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นั่นเอง หากอ่านถึงตรงนี้ ประเด็นแรกต้องกล่าวถึงและอาจเป็นคำถามที่ผู้อ่านสงสัยก็คือ การทำงานแบบ “สื่อ” โดยนักเขียนอายุเพียง 16 ปี ในลักษณะงานเขียนเชิงลึกขนาดนี้ให้ผลลัพธ์เป็นเช่นไร ทั้งแง่ความน่าเชื่อถือของข้อมูล คุณภาพของชิ้นงาน ไปจนถึงประสบการณ์ในการปฏิสัมพันธ์กับแหล่งข่าววงในซึ่งเป็นที่รู้ดีว่า มักปฏิบัติกับคนที่เป็นสื่อผู้มาใกล้ชิดอย่างดี เพื่อช่วยให้ “เรื่องราว” ถูกถ่ายทอดออกมาตามที่พวกเขา (แหล่งข่าว) อยากให้เป็น

ข้อมูลจากกรณีนี้ไม่เพียงแค่เป็นปมสำคัญที่ทำให้โครว์หยิบประสบการณ์ของเขามาสร้างหนังเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงสื่อที่ยังทำงานแบบเชิงลึกอย่างแท้จริง ใช้เวลาฝังตัวอยู่กับแหล่งข่าว และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเก็บข้อมูลวงในให้ได้มากที่สุด แต่การทำงานลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

อุปสรรคของการทำงานสื่อแบบเชิงลึก

แคเมรอน โครว์ เล่าถึงประสบการณ์การทำงานสื่อครั้งสำคัญเมื่อตอนอายุ 16 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขาตึงเครียดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตว่า เกิดขึ้นระหว่างงานเดินสายร่วมกับวง The Allman Brothers Band นั่นเอง ช่วงเวลานั้น วงอเมริกันบลูส์-ร็อกอยู่ในช่วงขาขึ้น ประสบความสำเร็จจากอัลบั้ม Brothers and Sisters ช่วงนั้นวงปฏิเสธการพูดถึงเรื่องที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของสมาชิกคนสำคัญ 2 ราย คือ ดูเอน อัลล์แมน (Duane Allman) มือกีตาร์ฝีมือจัดจ้านที่สุดอีกคนในแวดวงอเมริกันบลูส์-ร็อก และเบอร์รี่ โอ๊กลีย์ (Berry Oakley) มือเบสที่เสียชีวิตต่อจากดูเอน

ที่สำคัญคือ วงนี้มีความหลังไม่ดีนักเกี่ยวกับงานเขียนที่ Rolling Stone เคยตีพิมพ์ช่วงไล่เลี่ยกับเวลาที่ดูเอน อัลล์แมน เสียชีวิต นิตยสารชื่อดังเคยเผยแพร่บทความซึ่งเอ่ยถึงพฤติกรรมไม่ค่อยดีของวง และดิกคีย์ เบ็ตต์ส (Dickey Betts) หนึ่งสมาชิกวงมองว่า งานเขียนชิ้นนั้นยังล้อสำเนียงใต้ของวงด้วย คนเขียนยังใช้โอกาสที่วงชวนให้มาร่วมเดินสายด้วย แต่กลับไปถอดความสิ่งที่พวกเขาพูดแบบไม่เหมาะสม

สุดท้ายแล้ว เบ็ตต์สเล่าว่า เขาต้องพูดกับสมาชิกวงให้อนุญาตให้โครว์มาร่วมเดินสายไปกับวง เนื่องจากเบ็ตต์สเคยให้สัมภาษณ์กับโครว์ สมัยที่นักเขียนหนุ่มเขียนงานส่งให้ Creem Magazine (ครีม แมกาซีน) นิตยสารดนตรีร็อกอีกหัวในสหรัฐ

แคเมรอน โครว์ ที่มาจาก Rolling Stone เป็นเด็กหนุ่มที่เอาชนะใจสมาชิกได้ในที่สุด ระหว่างที่ทำงานฝังตัวกับวงช่วงเดินสายทัวร์ เขาสัมภาษณ์สมาชิกวงไปเรื่อย ๆ กระทั่งเหลือเพียงเกร็กก์ อัลล์แมน (Gregg Allman) ที่ยังไม่ได้สัมภาษณ์

“ราโชมอน” ฉบับแคเมรอน โครว์

คืนสุดท้ายของการร่วมเดินสาย โครว์ได้โอกาสสัมภาษณ์เกร็กก์ ในโรงแรมที่ซานฟรานซิสโก คืนนั้นโครว์สัมภาษณ์กับเกร็กก์แบบยาวเหยียด สมาชิกวงคนสำคัญเล่าสิ่งที่ไม่คิดว่าจะถูกเล่าให้สื่อมวลชนรายใดมาก่อน อย่างเช่น ความรู้สึกโดดเดี่ยวในชีวิต ความรู้สึกคิดถึงพี่ชาย “ดูเอน” และเบื้องลึกของวัตถุประสงค์ที่เลือกเส้นทางดนตรี

โครว์เก็บเทปบันทึกเสียงเอาไว้อย่างดี เขาจะเดินทางกลับบ้านในวันรุ่งขึ้นเพื่อเริ่มเขียนงาน แต่หลังจบโชว์คืนนั้น เกร็กก์ให้ทีมงานโทรศัพท์เรียกโครว์ ขึ้นไปที่ห้องเดิมซึ่งเคยสัมภาษณ์ โดยให้เอาเทปบันทึกเสียงและบัตรประจำตัวติดไปด้วย

นักเขียนหนุ่มขึ้นไปบนห้องและพบสภาพเกร็กก์ นั่งตัวเปียกเหมือนเหงื่อแตกท่วมตัวมา ผมยาวของเขาแทบแนบติดไปกับหนังศีรษะ เกร็กก์ตั้งคำถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าโครว์ไม่ใช่ตำรวจแฝงตัวมา ไม่ได้ถูกเอฟบีไอส่งมาเพื่อหาข้อมูล และขอดูบัตรประจำตัวของโครว์ ซึ่งทำให้เกร็กก์ไม่พอใจที่โครว์ไม่บอกเรื่องอายุแบบตรงไปตรงมา ทั้งที่การให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ เกร็กก์เพิ่งเล่าเรื่องพี่ชายเคยแอบดึงเขาเข้าบาร์ขณะที่อายุไล่เลี่ยกับโครว์ กล่าวได้ว่า แหล่งข่าวคนสำคัญของนักเขียนหวาดระแวงและคิดว่าตัวเองเล่าให้สื่อฟังเยอะเกินไปแล้ว

โครว์ปล่อยเทปบันทึกเสียงสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ไว้กับเกร็กก์ อัลล์แมน และเดินทางกลับมาแบบผิดหวัง เรียกได้ว่าเขารู้สึกว่าเสียข้อมูลสำคัญไป และงานนี้จะส่งผลต่ออาชีพในอนาคต อย่างไรก็ตาม โครว์เล่าว่าช่างภาพที่ไปกับโครว์ เดินทางต่อไปกับเกร็กก์ และเป็นช่างภาพที่ได้เทปกลับมาส่งมันกลับมาให้โครว์ เขาเล่าต่อมาว่า เกร็กก์ก็จำไม่ได้ว่าเก็บเทปนี้ไว้ทำไม นักเขียนหนุ่มได้เทปกลับมาพร้อมโน้ตขอโทษจากแหล่งข่าวด้วย

อันที่จริงแล้ว เรื่องราวที่เกิดถูกสมาชิกในวงเล่าแตกต่างกันออกไป ขณะที่ฝ่ายคณะ Allman เล่าภายหลังว่า พวกเขาแค่หยอกล้อโครว์เท่านั้น และเก็บเทปไว้ไม่กี่ชั่วโมง จากนั้นก็คืนเทปให้ก่อนที่โครว์จะเดินทางจากไป ส่วนเบ็ตต์ส (อีกหนึ่งสมาชิกวง) เล่าว่า เป็นเขาที่นำเทปกลับไปให้โครว์ด้วยซ้ำ

ไม่ว่าจะเป็นใครที่นำเทปกลับมาให้ แต่โครว์ลังเลที่จะบอกเรื่องนี้กับ บก.นิตยสาร และเขาส่งต้นฉบับที่มีโควตคำให้สัมภาษณ์แบบทั่วไป แทนที่จะมีเนื้อหาอันเข้มข้นตึงเครียดของเกร็กก์ จน บก.ถามกลับมาว่า “ไม่มีอะไรมากกว่านี้เลยเหรอ ? มันน่าจะมีเรื่องเกิดขึ้นมากกว่านี้นะ” แต่โครว์ไม่ได้บอกเรื่องนี้กับนิตยสาร

ถึงจะไม่ได้บอกกับ บก.โดยตรง แต่เขาได้ข้อมูลเชิงลึกแบบที่ไม่มีใครได้ ขณะที่งานของเขาได้รับเลือกให้ขึ้นปก Rolling Stone เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ งานของเขายังเป็นวัตถุดิบสำคัญซึ่งนำมาสู่แรงบันดาลใจสร้างบทภาพยนตร์ Almost Famous ที่อยู่ในความทรงจำของคนรุ่นหลัง

กระจกสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ

ประเด็นสำคัญนี้เป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญในแวดวงสื่อ จะเห็นได้ว่าการทำงานของสื่อในยุคนั้นยังนิยมการทำงานแบบเชิงลึก ส่งนักเขียนไปฝังตัวเก็บข้อมูลอย่างจริงจังในระยะเวลาหนึ่งโดยได้รับความยินยอมจากแหล่งข่าว ผู้ที่ได้ข้อมูลเชิงลึกย่อมสามารถนำมาเป็นจุดดึงดูดให้เนื้อหาของตัวเองได้รับความสนใจจากผู้อ่าน

การทำงานของสื่อยุคก่อนที่ผลิตชิ้นงานในเชิงลึกอย่างแท้จริงนั้น แม้กรณีตัวอย่างจะเป็นสายดนตรี แต่ต้องยอมรับว่าเพดานมาตรฐานสูงสุดของสื่อที่ต้องการนำเสนอ “ข้อเท็จจริง” ให้ได้มากที่สุด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปถึงจุดนั้นได้ หากเดินในเส้นทางกระบวนการทำงานแบบตรงไปตรงมา ยากจะปฏิเสธเรื่องความสัมพันธ์กับแหล่งข่าว ทัศนคติส่วนตัวของผู้ถ่ายทอดข้อมูล ไปจนถึงการทำงานลักษณะนี้ต้องใช้งบฯ และมักพบอุปสรรคเสมอ การยึดอุปกรณ์บันทึกข้อมูลในลักษณะนี้หายากมาก และในยุคปัจจุบันย่อมทำได้ยากเช่นกัน อุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นระบบดิจิทัลที่บันทึกเป็นไฟล์แทบทั้งสิ้นแล้ว

ในทางกลับกัน ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนเองก็ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่อดีต ถึงแม้โครว์จะเป็นนักเขียนอิสระที่เคยผ่านงานกับสื่อมาก่อน แต่ตัวเลขอายุที่ยังอยู่ในวัยทีน หมายถึงปัจจัยชี้วัด “ประสบการณ์” ในสายตาของแหล่งข่าวนั้น อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวพิสูจน์ว่าอายุเป็นแค่ตัวเลข เมื่อผลงานที่ออกมาได้รับการยอมรับจากวงการเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่ข้อมูลแบบที่เรียกกันว่า “ราโชมอน” (ตามชื่อภาพยนตร์ของอากิระ คุโรซาว่า) คือแต่ละคนต่างเล่าเรื่องในมุมของตัวเอง เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่ผู้กรองสารอย่างสื่อและผู้รับสารต้องใช้วิจารณญาณเลือกพิจารณาข้อเท็จจริงด้วย

เมื่อหันกลับมามองในสมัยปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้อาจพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก น้อยครั้งที่สื่อจะทำงานเชิงลึกแบบเป็นระบบอย่างจริงจัง เพราะใช้งบฯสูง ยังมีส่วนน้อยที่ยังรักษามาตรฐานลักษณะนี้ไว้ได้ แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านั้นยังคงมีที่ทางในโลกสื่อมวลชนอยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรงในแวดวงสื่อมวลชน และการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายต่อการทำหน้าที่สื่อแทบทุกมุมโลก