วิกฤตในระบบสถาบันการศึกษา (ต่างแดน) ภัยที่ฝังตัวมานาน?

 ธนพงศ์ พุทธิวนิช : เรื่อง

สถาบันการศึกษาเป็นสิ่งที่แทบทุกประเทศให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ กระนั้น แหล่งอบรมบ่มเพาะทางวิชาความรู้ก็ยังเป็นดังวลีที่ว่า “ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบ” ไปเสียหมด ทุกสิ่งล้วนมีปัญหาของมันเอง แต่ที่น่ากลัวคือ ปัญหาเหล่านี้ปรากฏใต้เงาความมืด ยากจะมองเห็นหากไม่มองลงลึกอย่างจริงจัง

ยังไม่ทันไร คงมีเสียงหนึ่งที่กระซิบลอยเข้ามาว่า มองไปรอบโลก ใช่ว่าระบบการศึกษาจะมีแต่ปัญหา กรณีศึกษาที่เป็นตัวอย่างของระบบการศึกษาซึ่งประสบความสำเร็จก็มีปรากฏเช่นกัน และถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางเสมอมา มุมนี้ย่อมเป็นข้อเท็จจริงเช่นกัน

ถ้ามองในมุมกว้างกว่านั้น สิ่งที่ปรากฏในระบบการศึกษาโดยภาพรวมมีแง่มุมที่น่ากังวลและสะท้อนถึงปัญหาที่ฝังรากลึกมานานในหลายประเทศไม่น้อยไปกว่ากรณีที่ประสบความสำเร็จ แม้แต่ในประเทศมหาอำนาจเองก็มีงานศึกษาที่บ่งชี้ถึงเรื่องน่ากังวลภายในสถาบันการศึกษาด้วย

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจปัญหาในระบบสถาบันการศึกษาที่ปรากฏในสังคมหลายประเทศ ซึ่งล้วนสะท้อนถึงทิศทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเวลาอันใกล้

คอร์รัปชั่น

ต้องยอมรับว่าข่าวคราวเชิงลบเกี่ยวกับการศึกษามักปรากฏในสายตาคนทั่วไปอยู่บ่อยครั้งไม่แพ้หมวดหมู่อื่น ๆ สิ่งที่คนมักได้ยินกันบ่อยก็คือแง่มุม “คอร์รัปชั่น” นั่นเอง ไม่ว่าจะเกิดในเอเชียเอง หรือข้ามไปฝั่งตะวันตกอย่างทวีปยุโรป ประเทศมหาอำนาจมีข่าวลักษณะนี้ปรากฏให้เห็นเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ถี่เท่าภูมิภาคอื่น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มักจะมีข้อมูลเชิงลึกที่น่าตื่นตระหนกพอสมควร

กรณีที่เพิ่งปรากฏและเป็นที่สนใจไม่น้อยคือ การศึกษาของ ศาสตราจารย์แพต ธอมป์สัน (Pat Thompson) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม ก่อนหน้านี้ เธอมีชื่อเสียงจากการทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์, ศิลปะ และการศึกษา ขณะที่ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เธอเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องระบบการศึกษาแบบเงียบ ๆ อยู่หลังม่าน เป็นข้อมูลที่เธอนิยามว่า คือ “การคอร์รัปชั่นในระบบโรงเรียน”

แพต ธอมป์สัน รวบรวมกรณีศึกษาจากการเก็บข้อมูลเชิงลึก 3,800 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเคสที่เกิดในอังกฤษ และมีประเทศอื่นผสมบ้างจำนวนหนึ่ง รายงานการศึกษาของเธอถูกรวบรวมเป็นหนังสือ “School Scandals : Blowing the whistle on the corruption of our education system” หรือ “เรื่องอื้อฉาวของโรงเรียน : เปิดโปงการคอร์รัปชั่นในระบบการศึกษาของเรา” กรณีตัวอย่างจากการเก็บข้อมูลของเธอสะท้อนปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก, ทุจริต และฉ้อโกง พบเคสพฤติกรรมครูปลอมแปลงผลการทดสอบ ปรากฏกรณีการเบิกรับเงินโบนัสที่ดูมีแนวโน้มผิดกฎหมาย ไปจนถึงการใช้งบประมาณ “ปฏิรูป” เชิงโครงสร้างของระบบโรงเรียนในอังกฤษ ที่เรียกกันว่า “free school”

“free school” ในอังกฤษ คือ โรงเรียนที่จัดตั้งโดยผู้ปกครอง ครู หรือกลุ่มองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรการกุศล หรือบริษัทห้างร้านใด แต่พวกเขาได้รับเงินทุนโดยตรงจากรัฐบาล โรงเรียนเหล่านี้มักถูกบริหารโดยองค์กรหรือบริษัทที่ไม่หวังผลกำไร โดยกลุ่มผู้บริหารนี้ก็มักถูกตั้งขึ้นโดยผู้จัดตั้งโรงเรียน โรงเรียนมักมีสถานะเป็นสถาบันการศึกษาอิสระ

การศึกษาในโรงเรียนกลุ่มนี้ในช่วงแรกเริ่มจะแตกต่างจากโรงเรียนที่กำกับโดยหน่วยงานส่วนท้องถิ่นของรัฐบาล หมายความว่า free school จะถูกยกเว้นจากการสอนตามหลักสูตรแห่งชาติ อีกทั้งยังมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการควบคุมอัตราค่าตอบแทนของครูผู้สอน ไปจนถึงสามารถปรับเปลี่ยนเวลาเปิดและปิดภาคเรียนได้

ระบบการศึกษาแบบนี้ปรากฏขึ้นในอีกหลายแห่ง อาทิ สหรัฐอเมริกา และสวีเดน ซึ่งแต่ละประเทศต่างมีระเบียบการจัดตั้งแตกต่างกันไป ในสหรัฐ และสวีเดน เปิดให้กลุ่มที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไรสามารถจัดตั้งโรงเรียนได้โดยได้รับทุนจากรัฐ แต่ก็เป็นอิสระจากการควบคุมดูแลของรัฐ (ในสหรัฐเรียกว่า “charter school”)

กลับมาที่ปมปัญหาของระบบ free school ในอังกฤษ ผลการศึกษาของแพตพบปัญหามากมาย ตัวอย่างหนึ่งที่เธอยกมาคือ บอสของสถาบันการเรียนรู้สั่งให้ครูกระทำพฤติกรรมลักษณะทุจริตในการทดสอบ เพื่อยกระดับผลการประเมินโรงเรียน

ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ระบบการศึกษาในอังกฤษยังเผชิญกับปัญหาที่เป็นข้อถกเถียงที่กว้างขวางอีกประการ อย่างเรื่องดึงนักเรียนออกจากโรงเรียนแบบไม่เป็นทางการ หรือไม่ได้มีผลแบบถาวร ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เหตุผลในการทำแบบนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวนักเรียน แต่เพื่อประโยชน์ของโรงเรียน ในอังกฤษเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “off-rolling” พฤติกรรมแบบนี้อาศัยช่องว่างของกฎหมายที่บัญญัติสิทธิ์ให้ผู้ปกครองสามารถตัดสินใจว่าจะให้บุตรรับการศึกษาภายในบ้านของตัวเองได้

การตัดสินใจเช่นนี้มีเหตุผลเบื้องหลังหลายประการ แต่เหตุผลที่มีนัยสำคัญซึ่งถูกนำมาวิเคราะห์ปัญหา คือ การดึงนักเรียนออกจากโรงเรียนเพื่อหวังผลประเมินคุณภาพของโรงเรียน กล่าวคือ เนื่องจากระบบการศึกษาของอังกฤษมีระเบียบการประเมินคุณภาพที่เข้มข้นระดับหนึ่ง หากผลการศึกษาของนักเรียนออกมาไม่ค่อยสวยเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญเชิงสถิติย่อมส่งผลต่อผลประเมินด้วย ดังนั้น การชักจูงให้ดึงนักเรียนที่มีผลการเรียนไม่ค่อยสวยนักออกจากโรงเรียนแบบชั่วคราวจึงเป็นทางออกหนึ่ง หรืออีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องปัญหาทางการเงินของสถาบันที่อาจเพิ่มแรงกดดันให้โรงเรียนก็มีด้วย

รัฐบาลอังกฤษย้ำจุดยืนชัดเจนว่า การนำนักเรียนออกจากโรงเรียนด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือจากพฤติกรรมของตัวนักเรียนเองเป็นการกระทำที่รับไม่ได้ และพยายามกลับมาทบทวนมาตรการประเมินโรงเรียนในหัวข้อเรื่องผลกระทบจากผลการเรียนของนักเรียนที่ไม่ดีนักจะกระทบการประเมินโรงเรียนด้วย

ในกรณีนี้ นักวิชาการที่เก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระบบการศึกษามองว่า ฝ่ายบริหารของประเทศควรจัดตั้งคณะกรรมการอิสระจากสาธารณะเพื่อศึกษาความต้องการที่แท้จริงของประชาชนว่าพวกเขาต้องการระบบการศึกษาแบบไหนที่เหมาะสมที่สุดอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นอนาคตของประเทศในมุมมองของพวกเขาเองมากกว่า แต่ในระยะสั้นแล้ว งบประมาณที่จะมาพัฒนาสถาบันการศึกษาในกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้งบฯจริง ๆ กลับถูกนำไปใช้กับการเปลี่ยนแปลงระบบใหญ่หรือในเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบมาถึงการเรียนการสอนในห้องเรียนและไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนอันเป็นหัวใจสำคัญของระบบการศึกษามากเท่าที่ควร

ความรุนแรง/การล่วงละเมิด

จากปัญหาระดับกว้างที่สุด ขยับแคบลงมาที่ปัญหาในห้องเรียนที่เรียกได้ว่าพบเห็นกันบ่อย เป็นเรื่องรุนแรงใกล้ตัวท่ามกลางความสัมพันธ์ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าสำคัญอันดับต้น ๆ ในระบบการศึกษาก็ว่าได้ นั่นคือปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน

อันที่จริงแล้ว ในภาพกว้างระดับสังคมต้องบอกว่า “ความรุนแรง” ปรากฏขึ้นเสมอตั้งแต่ในบ้านจนถึงที่ทำงาน และในสถานที่ซึ่งไม่ควรเกิดที่สุดอย่างโรงเรียนก็เป็นอีกจุดที่เกิดคดีใช้ความรุนแรงและล่วงละเมิดอย่างน่าเศร้า โดยที่คดีล่วงละเมิดต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบจำกัดวงกับประเทศกำลังพัฒนา ในสถาบันระดับมหาวิทยาลัยแถวหน้าของโลกก็ปรากฏบุคลากรที่มีพฤติกรรมแบบนี้แฝงอยู่เสมอ

กรณีที่เป็นเรื่องอื้อฉาวในอังกฤษ คือ อดีตนักวิชาการที่สอนในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) ดร.ปีเตอร์ ฮัตชินสัน (Dr.Peter Hutchinson) ซึ่งเคยทำงานสอนวิชาภาษายุคกลางและยุคโมเดิร์น เขาถูกร้องเรียน
ถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมทางเพศต่อนักเรียนนับสิบครั้งในช่วงปี 2014 และ 2015 อีกทั้งย้อนกลับไปในช่วงปี 2005 ก็มีข้อร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมไม่เหมาะสมทางเพศหลายกรณีเช่นกัน

นักวิชาการรายนี้ถูกสอบสวนภายในองค์กรและโดนแบนจากการสอน “อย่างถาวร” โดยมหาวิทยาลัยเก่าแก่และมีชื่อเสียงระดับโลกเมื่อปี 2017 อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2019 ปรากฏข่าวว่า เขาถูกบรรจุกลับไปอีกครั้งอย่างน่าแปลกใจ และยังมอบสถานะ “กิตติคุณ” ภายหลังเขาเกษียณอีกต่างหาก

รายงานข่าวจากสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า มหาวิทยาลัยอาจถูกนักวิชาการรายนี้ขู่จะดำเนินการทางกฎหมายโดยยกเรื่องการปฏิบัติและกระบวนการอันไม่เป็นธรรมมาใช้

ในเอเชียเองก็ปรากฏข่าวความรุนแรงและการล่วงละเมิดบ่อยครั้ง ล่าสุดคือช่วงเดือนกันยายน 2020 มีรายงานว่า ศาลในจีนตัดสินลงโทษ “ประหารชีวิต” ครูที่มีพฤติกรรมวางยาพิษนักเรียน 25 ราย โดยหนึ่งในเหยื่อมีผู้เสียชีวิตด้วย 1 ราย คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2019 ซึ่งถือเป็นคดีสะเทือนขวัญไปทั่วโลก

กรณีตัวอย่างเหล่านี้ย่อมทำให้เห็นว่า ระบบและตัวบุคคลเป็นปัจจัยที่มาพร้อมกันเสมอ ไม่อาจมองสิ่งเหล่านี้แบบแยกออกจากกัน

“Home School”

ท่ามกลางปัญหามากมายในระบบการศึกษา ทางเลือกหนึ่งที่มักหยิบยกมาถกเถียงกันเสมอก็คือ การเรียนการสอนโดยครอบครัวเป็นผู้จัดการดูแลการศึกษาให้กับเด็กเอง หลายประเทศมีกฎหมายและระเบียบรองรับรูปแบบการศึกษาทางเลือกแบบนี้แล้ว

มากไปกว่านั้น ระบบการศึกษาทางเลือกยังพัฒนาไปสู่รูปแบบผสมระหว่างการศึกษาที่โรงเรียนผสมผสานกับครอบครัวที่บ้านเอง เช่น เรียนในโรงเรียน 2-3 วัน ที่เหลือเรียนกับครอบครัวที่บ้าน หรือสถานที่ที่เหมาะสมอื่น ๆ ได้

กระแสนี้อาจอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ปกครองที่มีแนวคิดอีกแบบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ระบบการศึกษานี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์เมื่อเกิดโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19

“เดอะ การ์เดียน” สื่อชื่อดังของอังกฤษรายงานว่า ในช่วงปิดล็อกเมือง ผู้ปกครองบางรายอาจพบว่าการเรียนแบบ home school มีอุปสรรคและเริ่มประสบปัญหาระหว่างทางในหลากหลายด้าน สถิติจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน 2020 พบว่า สัดส่วนสตรี 1 ใน 3 ราย และชาย 1 ใน 5 ราย จะร้องเรียนถึงปัญหาเกี่ยวกับการเรียนแบบ home school

ในอีกด้านหนึ่ง พ่อแม่บางรายที่พักลูกของพวกเขาจากระบบการศึกษาในโรงเรียนกลับพบว่า ในช่วงล็อกดาวน์ การเรียนแบบนี้ช่วยเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีทางเลือกอื่นอีกนอกเหนือจากกิจวัตรที่จำเจ และได้ลองใช้ชีวิตอีกแบบซึ่งรู้สึกผ่อนคลายกว่าเดิม บางรายให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาเริ่มหันมาพิจารณาทางเลือกนี้ในระยะยาว และยอมรับว่า พวกเขาไม่เคยคิดว่าจะต้องพิจารณาทางเลือกนี้มาก่อนด้วยซ้ำ

ไม่ว่าทางเลือกจะเป็นแบบไหนก็ตาม ปัจจัยที่เป็นหัวใจหลักของการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาเสมอมาคือ ประเด็นเรื่อง “เม็ดเงิน” ที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับการศึกษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูก

ระบบการศึกษาคงเป็นเช่นเดียวกับสิ่งอื่น ๆ ในโลกใบนี้ ที่ไม่อาจมีคำตอบหรือเป็นผลิตภัณฑ์แบบสำเร็จรูป ลักษณะเดียวที่สามารถตอบโจทย์ได้สำหรับทุกคน ดังจะเห็นจากตัวอย่างแล้วว่า ทุกแห่ง ทุกระดับ ล้วนเผชิญโจทย์ของตัวเอง คำตอบของคำถามนั้นอาจไม่เหมือนกันก็ได้

ไอเดียหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเริ่มต้นกระบวนการหาคำตอบอาจลองจากมุมมองของแพต ธอมป์สัน ที่มองว่า เริ่มจากคุยกันก่อนว่า “เรา” คิดเห็นเรื่องระบบการเรียนการสอน (ในโรงเรียนหรือไม่ก็ตาม) ควรเป็นอย่างไรในยุคสมัยนี้ อีกประการที่น่าคิดคือ ให้ผู้คนที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกันสามารถมีโอกาสเข้าถึงได้ทางเลือกที่ตัวเองเห็นว่าเหมาะสมได้ไม่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือ “ระบบ” และ “คน” ควรถูกให้น้ำหนักความสำคัญควบคู่กันเสมอ