เส้นทางความฮอต Among Us เกมกระแสรองที่มีผู้เล่นวันละ 60 ล้านคน

 ธนพงศ์ พุทธิวนิช : เรื่อง

ถ้าเกมเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทหนึ่ง ณ เวลานี้ไม่มีเกมไหนที่มาแรงเท่ากับเกม AMONG US อีกแล้ว สำหรับคนที่สัมผัสโลกไซเบอร์ในช่วงเดือนกันยายนจนถึงตุลาคม 2020 น่าจะต้องเห็นภาพแคแร็กเตอร์สมมติจากเกมนี้ผ่านตากันบ้าง

ความนิยมนี้ไม่ได้วัดจากแค่ประสบการณ์ส่วนบุคคลเท่านั้น ในเชิงสถิติยังมีรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศหลายแห่งเปิดเผยว่า เกมออนไลน์ยอดฮิตนี้มีผู้เล่นมากกว่า 60 ล้านรายต่อวัน และเคยทำสถิติมีผู้เล่นอยู่ในระบบพร้อมกันถึง 3.8 ล้านคน เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน

หากย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น AMONG US ไม่ห่างไกลจากสถานะ “ร้าง” ปราศจากผู้เล่นมากเท่าใดนัก คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับชาวไซเบอร์ในโลกออนไลน์ จนทำให้เกมนี้ฮิตติดลมบนแบบทะลุเพดานขนาดนี้

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจปรากฏการณ์เกมที่ฮิตไปทั่วโลกอย่างเหลือเชื่อ ท่ามกลางสถานการณ์พิเศษอย่างที่เราทราบกันว่า แทบทุกพื้นที่ทั่วโลกต่างรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19

กำเนิด AMONG US เกมที่ผู้พัฒนาไม่ได้พบหน้ากัน

ก่อนจะทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์อันน่าเหลือเชื่อ คงต้องมารู้จักจุดเริ่มต้นที่ทำให้เจ้าผลิตภัณฑ์แหวกแนวนี้คลอดออกมากันก่อน เกมนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์ของสตูดิโอ InnerSloth สตูดิโอพัฒนาเกมอันมีฐานที่มั่นในรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

อันที่จริง เกมนี้ไม่ได้อยู่ในสถานะ “ใหม่ถอดด้าม” มันถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว ซึ่งข้อมูลนี้ยิ่งทำให้น่าค้นหาเข้าไปอีกว่า เหตุใดมันถึงเพิ่งมาได้รับความนิยมแบบพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากสตูดิโอผู้พัฒนาเกมนี้อ้างว่า จนถึงปัจจุบันเกมมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 100 ล้านครั้งแล้ว และสถิติผู้เล่นก็มหาศาลดังที่กล่าวข้างต้น

หากย้อนกลับไปในช่วงที่เกมเพิ่งคลอดออกมา รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศระบุว่า มีผู้เล่นเข้าเล่นเกมพร้อมกันราว 30 คนเท่านั้น ชุมชนของเกมนี้ไม่ได้ใหญ่โตมากมาย สถานการณ์นี้ไม่ได้แปลกประหลาดมากนัก สำหรับเกมที่พัฒนาจากกลุ่มผู้สร้างที่ไม่ได้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการใด ๆ

เกมนี้มีลักษณะเป็น “ปาร์ตี้เกม” ผู้เล่นเข้าร่วมเกมแบบออนไลน์ เกมเล่นเป็นรอบ โดยในแต่ละรอบจะมีผู้เล่น 4 ถึง 10 คน เข้ามาอยู่ในพื้นที่สมมติในอวกาศ ผู้เล่นส่วนใหญ่จะรับบทเป็น “บุคคลทั่วไป” หรือในเกมเรียกว่า “crewmates” แต่จะมีผู้เล่นอีก 1 ถึง 3 คนที่ถูกสุ่มให้รับบทเป็น “ผู้แฝงตัวมา” หรือในเกมเรียกว่า “impostor”

“ผู้แฝงตัวมา” มีหน้าที่ทำลายยาน หรือฐานที่มั่นในอวกาศ

ตามแต่ละฉากที่เลือก และ (แอบ) ฆ่า “ผู้เล่นทั่วไป” ที่เป็นผู้โดยสารในยานให้หมด ส่วนคนที่เป็น “ผู้เล่นทั่วไป” จะได้รับมอบหมายหน้าที่ให้บำรุงรักษาสถานที่เอาไว้ และเอาตัวรอดจาก “ผู้แฝงตัวมา”

เมื่อมีผู้พบศพ ผู้เล่นทุกคนจะต้องลงคะแนนว่าใครเป็นผู้แฝงตัวมา เพื่อกำจัดผู้ต้องสงสัยออกไปจากฉาก ก่อนที่ผู้แฝงตัวจะกำจัดผู้เล่นทั่วไปจนหมด (ผู้เล่นที่โดนฆ่าแล้ว จะกลายเป็น “วิญญาณ” ล่องลอยไปมาตามฉาก มองเห็นพฤติกรรมผู้เล่นที่เหลือได้ แต่ไม่มีบทบาทใด ๆ จนกว่าจะจบรอบ)

เกมนี้ไม่ได้มีรายละเอียดซับซ้อนยากต่อการเล่นหรือทำความเข้าใจ ขณะที่ภาพในเกมก็ออกเป็นการ์ตูนย้อนยุคเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องกติกาในเกมต่างหากที่ทำให้เกิดความตึงเครียดที่เร้าอารมณ์ สนุกสนาน และบางครั้งก็อาจจุดอารมณ์เดือดของผู้เล่นได้เช่นกัน เมื่อพวกเขาเข้าสู่ขั้นตอนการโหวตผู้ต้องสงสัยให้ออกจากยานไป ขั้นตอนนี้ทำให้เกิดความชุลมุนแบบสนุกสนานกับเพื่อน ๆ ที่รู้จัก หรือบางทีอาจเกิดการหักหลังกันระหว่างเพื่อนที่ต้องโกหกคนรู้จักกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของเกม

สตูดิโอผู้พัฒนาเกมนี้ใช้ระบบวางทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยวางบุคลากรทีมละ 3 คน แต่ละคนอาจไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน อาศัยการทำงานจากต่างสถานที่แบบยุคใหม่ และหนึ่งในผู้พัฒนาเกม AMONG US คือ ฟอเรสต์ วิลลาร์ด (Forest Willard) เขาทวีตข้อความเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2020 เผยให้เห็นกราฟจำนวนผู้เล่นรายวันที่พุ่งสูงขึ้นแบบเหลือเชื่อตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2020 (ทั้งที่เกมออกมาตั้งแต่ 2018)

ทะยานติดกระแสโดยอิทธิพลของนักแคสต์เกม

ชาร์ตที่วิลลาร์ดเผยแพร่ออกมาทำให้เห็นว่า ช่วงที่กระแสเริ่มต้นได้รับความนิยมอย่างผิดหูผิดตาเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ผู้เล่นส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้งานผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ จากนั้นก็กระจายไปสู่หน้าจอของเหล่านักแคสต์เกมใน Twitch และ YouTube เมื่อมีนักสร้างคอนเทนต์นำเกมนี้มาเล่นปรากฏสู่สายตาแฟน ๆ หมู่มาก เกมนี้จึงแพร่ไปสู่สื่อสังคมออนไลน์กระแสหลัก และกลายเป็นอีกหนึ่งกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ฮือฮามากที่สุดในปี 2020 ก็ว่าได้

ความนิยมที่เกิดขึ้นนี้ทำให้วิลลาร์ด และนักพัฒนาเกมในสังกัดต่างแย้มว่า พวกเขาพักแผนสร้างเกมภาค 2 หันมาปรับปรุงและพัฒนาเกมแรกก่อน โดยมีเป้าหมายอันดับแรกคือการอัพเกรดเซิร์ฟเวอร์ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นหลังเกมออกมาเกือบ 2 ปี การเติบโตของผู้เล่นทำให้พบปัญหาเชิงเทคนิคขึ้นในเกมแบบที่ไม่เคยเจอ แน่นอนว่าหลังจากเกมออกมาก็ไม่เคยมีผู้เล่นมากขนาดนี้ ปัจจุบันเกมนี้กลายเป็นเกมที่ติดอันดับเกมซึ่งมีผู้ชมมากที่สุดใน Twitch ด้วย

AMONG US วางขายในบริการ Steam ในระบบออนไลน์ ในราคา 3.99 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในระบบ iOS และ Android สามารถดาวน์โหลดฟรี เกมสามารถเล่นร่วมกันในแพลตฟอร์มใดก็ตามข้างต้น ในอนาคตยังไม่ชัดเจนว่าจะมีแพลตฟอร์มอื่นเพิ่มเติมเข้ามาด้วยหรือไม่

คำถามที่น่าคิดคือ ไฉนเกมจากผู้ผลิตกลุ่มเล็ก ๆ และออกมาตั้งแต่ปี 2018 ถึงกลายเป็นเกมที่ฮิตสุดในโลกในเวลานี้ ไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์สังคมอื่น ๆ อาทิ ผลกระทบจากโควิด-19 มีส่วนผลักดันเกมนี้หรือไม่ นักเขียนบางรายเชื่อว่า การเว้นระยะห่างทางสังคม การล็อกดาวน์ที่ทำให้คนในชุมชนมีปฏิสังสรรค์กันน้อยลง เกมคืออีกหนึ่งเครื่องมือในการสื่อสารสัมพันธ์กันในเหตุการณ์ไม่ปกติ

ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการจุดระเบิดของเกมส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มาจากเหล่าเกมเมอร์คนดังเริ่มแคสต์เกมนี้ในแพลตฟอร์มดัง ๆ มีชื่อนักสตรีมเกมอย่าง Sodapoppin หรือ SR_Kaif ใน Twitch แต่ยังมีวงในบางส่วนที่ให้ข้อมูลเชิงพื้นที่แบบเจาะจงมากขึ้น

Amy Liu ศิลปินหญิงที่ทำงานในเกมนี้ทวีตข้อความว่า เกมนี้เริ่มได้รับความนิยมในหมู่นักเล่นชาวเกาหลีและบราซิลเลียน สำหรับเกาหลีเป็นที่รู้กันดีว่า ดินแดนแห่งนี้เป็นตลาดใหญ่อีกแห่งของวงการเกม มีฐานแฟนติดตามเกมกันเหนียวแน่นมานานแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับสืบค้นกันต่อไป

หลังฉากการคืนชีพของ AMONG US

วิลลาร์ดเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อเกมออกมา ทีมงานเคยยอมแพ้กับเกมนี้มาหลายครั้งแล้ว จากที่แรกเริ่มพวกเขาเปิดให้เล่นแบบเฉพาะผู้เล่นในโซนละแวกพื้นที่เดียวกันก่อน แต่แล้ววิลลาร์ดกลับมาตัดสินใจหวนมาพัฒนาเกมให้เป็นเกมออนไลน์ แม้ว่าจะได้เสียงตอบรับที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดโด่งดังมากมาย

พวกเขาคิดว่า งานเกี่ยวกับเกมนี้จบลงแล้ว และกำลังจะก้าวไปทำงานกับเกมอื่นต่อ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังมีอะไรให้กลับมาเพิ่มเติมรายละเอียดตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ใส่แผนที่ฉากใหม่ ใส่หน้าที่ให้ผู้เล่นในเกมใหม่ เพิ่มฟีเจอร์ตัวเลือกต่าง ๆ เข้าไป

ทุกครั้งที่ผู้พัฒนาคิดว่างานจบแล้ว ยังมีฐานแฟนที่ติดตามและต้องการสิ่งอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก พวกเขาไม่ต้องการทำให้กลุ่มแฟนผิดหวัง และรู้สึกว่าเป็นกลุ่มผู้เล่นนี่เองที่ทำให้พวกเขามีไฟลุกขึ้นมาพัฒนาเพิ่มเติม ถึงความกระตือรือร้นลักษณะนี้จะเป็นตัวกระตุ้นทีมงานอย่างดี แต่ระบบการทำงานแบบทีมละ 3 คน บางครั้งก็ดูจะหนักหนาสำหรับการเร่งทำงานให้ทันต่อความต้องการด้วย

เมื่อมีนักแคสต์เกมจากเกาหลีนำเกมนี้ไปเล่น และเกมมีฐานผู้เล่นเพิ่มเข้ามาอีกหลักพัน พวกเขามีงานต้องเร่งปรับปรุงผลิตภัณฑ์ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ให้ช่วงขาขึ้นเกิดสะดุด กระทั่งในช่วงปลายปี 2019 เป็นต้นมา จนถึงเดือนสิงหาคม 2020 เกมนี้คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์อันเหลือเชื่อของตลาดเกม ที่คงต้องจารึกในความทรงจำของคนยุคโควิด-19

แม้จะไม่มีข้อมูลรายได้แบบเป็นทางการที่สตูดิโอผู้พัฒนารับเข้ากระเป๋าในช่วงพีกสุดเท่าที่มีมา แต่อย่างน้อยคงพอคาดเดาได้จากยอดจำนวนผู้เล่นในระบบ Steam ซึ่งเคยแตะสถิติที่ 388,385 คน อย่างน้อยรายได้ที่มาจากการขายเกมใน Steam อยู่หลักล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท และเป็นเกมที่ถูกเล่นมากที่สุดอันดับ 3 และเกมที่มีผู้ชมมากที่สุดอันดับแรกใน Twitch


ผลลัพธ์ที่ได้จนถึงวันนี้ เปิดประตูไปสู่โอกาสอีกมากมายให้ผู้ผลิตและผู้พัฒนาเกม อันที่จริงแล้ว เกมลักษณะแบบปาร์ตี้เกม ปกปิดตัวตนของผู้เล่น เคยมีอยู่ในตลาดมาก่อนแล้ว แต่สำหรับเวลานี้ AMONG US เป็นอีกหนึ่งเกมซึ่งมาถูกที่ ถูกเวลา และเมื่อมีโอกาสก็ตัดสินใจตามความรัก ความรับผิดชอบของตัวเองต่อผลิตภัณฑ์ อันเป็นการใช้โอกาสได้เหมาะสม ควบคู่ไปกับอีกหนึ่งบทเรียนว่าในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีต้นทุนมากน้อยเพียงใด ล้วนมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ หาก “ไม่ยอมแพ้” แบบถูกที่ ถูกเวลา และเหมาะสมกับสถานการณ์