การซื้อ “เพจเฟซบุ๊ก” ทางลัดอีคอมเมิร์ซ Win-Win ทั้งคนซื้อและคนขาย

 ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง

ในปัจจุบันที่ผู้คนใช้เวลาไปกับการใช้งานเฟซบุ๊กวันละหลาย ๆ ชั่วโมง รวมถึงการซื้อของและขายของในเฟซบุ๊ก มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมานั่นก็คือ การซื้อ-ขายเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีราคาตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลายหมื่น ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตามเพจนั้น ๆ

จากปรากฏการณ์ที่น่าสนใจนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” อยากชวนศึกษาการเกิดขึ้นมาของการซื้อ-ขายแฟนเพจ ซึ่งทำให้เราเห็นว่าโอกาสและความพยายามในการสร้างโอกาสทางธุรกิจในโลกออนไลน์นั้นมีอยู่หลายรูปแบบ

ผู้บริโภคอยู่ในโลกออนไลน์ ผู้ขายจึงต้องขายทางออนไลน์

การติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้งานทั่วไป ในโลกธุรกิจการมีแพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อใช้ในการเสนอสินค้าและบริการ ก็ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น จากรายงานของ Digital Thailand ประจำปี 2020 ระบุว่า เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันดับ 1 ที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด สูงถึง 50 ล้านคนจากประชากรทั้งประเทศที่มีประมาณ 70 ล้านคน ดังนั้น เฟซบุ๊ก แฟนเพจ (Facebook Fanpage) จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ไม่ว่าธุรกิจประเภทใดก็ต้องมี

การขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ถือเป็นวิธีการทำธุรกิจที่เติบโตอย่างมากและยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้คนต่างปรับเปลี่ยนวิธีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อลดการสัมผัสกับบุคคลอื่น ทำให้ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเช่นเดียวกัน โดยการหันมาทำการตลาดทางออนไลน์มากขึ้น เพิ่มโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด และต้องมีช่องทางการขายทางออนไลน์เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้นด้วย

ข้อมูลเมื่อต้นปี 2563 โดยการแถลงข่าวของ นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไพรซ์ซ่า (Priceza) จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (e-Commerce) ระบุว่า ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมาตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต 3% ของมูลค่าค้าปลีกทั่วประเทศ คาดการณ์ว่ามีมูลค่าการตลาดราว 163,300 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลของพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า เฟซบุ๊กครองส่วนแบ่งการตลาดสื่อสังคมออนไลน์ใหญ่ที่สุดที่ 42% รองลงมาคือ ไลน์ 34%, อินสตาแกรม 19% และทวิตเตอร์ 5%

เมื่อการหาผู้ติดตามเป็นเรื่องยาก การสร้างเพจขายจึงเกิด

เมื่อเฟซบุ๊กกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้ประกอบการจึงมีช่องทางสื่อสารการขายและช่องทางขายในเฟซบุ๊ก ซึ่งต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด การซื้อโฆษณาและการบูสต์โพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อโปรโมตร้านค้าออนไลน์จึงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ประกอบการที่ต้องการให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กได้เห็นโพสต์โปรโมต หรือโพสต์ขายสินค้าของตัวเอง หากไม่ซื้อโฆษณาก็ต้องยอมรับว่าโอกาสที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กจะเห็นสินค้าและบริการของตนเองในจำนวนจำกัด เนื่องจากทางเฟซบุ๊กได้มีการปรับอัลกอริทึมซึ่งทำให้การแสดงโพสต์เกี่ยวกับสินค้าเห็นได้น้อยลง อีกทั้งการซื้อโฆษณาช่วยให้เจาะกลุ่มผู้ซื้อได้ตรงตามเป้าหมายด้วย

ปัญหาและความยากสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังจะเริ่มทำแฟนเพจของตัวเอง คือ การจะทำให้เพจที่สร้างขึ้นมาใหม่มีผู้ติดตามจำนวนมากนั้นไม่ง่าย ส่วนการจะซื้อโฆษณาในทุกโพสต์ของการขายสินค้า อาจทำให้โพสต์นั้น ๆ มีจำนวนคนที่ถูกใจประมาณหนึ่ง แต่คนที่กดถูกใจโพสต์อาจจะไม่ได้กดถูกใจหรือกดติดตามแฟนเพจ ดังนั้น การซื้อโฆษณาหรือการบูสต์โพสต์จึงไม่อาจให้ผลลัพธ์ในระยะยาว

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างและจัดการเฟซบุ๊กแฟนเพจจึงเป็นการทำอย่างไรให้เพจนั้นมีผู้กดถูกใจ (like) และผู้กดติดตาม (follow) จำนวนมาก ซึ่งจำนวนผู้กดถูกใจและจำนวนผู้ติดตามก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่เราจะไม่พูดลงรายละเอียดในที่นี้ เราจะพูดถึงเพียงความสำคัญของการมีจำนวนผู้ที่ถูกใจกับจำนวนผู้ติดตามว่าจำนวนนี้มีความสำคัญอย่างไร

จำนวนผู้ถูกใจหรือยอดไลก์และจำนวนผู้กดติดตามแสดงให้เห็นว่า แฟนเพจหรือเพจนั้น ๆ มีผู้สนใจมากเท่าไหร่ และแสดงถึงความนิยมในตัวเพจ เพจมียอดคนกดไลก์เยอะย่อมทำให้มีผู้เห็นโพสต์เยอะตามสัดส่วนผู้ติดตาม อีกทั้งยังทำให้เพจดูน่าเชื่อถือ และลูกค้ามีความมั่นใจที่จะสั่งซื้อสินค้า

เมื่อจำนวนผู้กดไลก์และติดตามเพจนั้นมีผลสำคัญต่อการทำธุรกิจ หรือการใช้เพจเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม แต่การจะมีผู้ติดตามจำนวนมากนั้นทำได้ไม่ง่ายสำหรับหลาย ๆ คน ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสามารถสร้างเพจให้ประสบความสำเร็จ มีผู้ติดตามจำนวนมากได้โดยไม่ยาก จึงเกิดเป็นธุรกิจหรือช่องทางทำเงินอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมานั่นก็คือ การซื้อ-ขายแฟนเพจที่มีทั้งจำนวนผู้กดถูกใจและผู้กดติดตามในจำนวนที่สัมพันธ์หรือเท่า ๆ กัน

การซื้อ-ขายเพจ ทางลัดที่ตอบโจทย์ในยุคอีคอมเมิร์ซ

การขายแฟนเพจสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1.การขายโดยเจ้าของเพจที่ไม่ได้ตั้งใจทำเพจเพื่อขาย คือ เจ้าของเพจที่เปิดมานานแล้วเพื่อใช้งานตามวัตถุประสงค์ของตัวเอง อาจจะเป็นเพจเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ เว็บบล็อกส่วนตัว บันเทิง ท่องเที่ยว ฯลฯ เมื่อไม่จำเป็นหรือไม่ต้องการใช้งานแล้ว ด้วยเหตุผลใดก็ตาม เจ้าของเพจเล็งเห็นมูลค่าของเพจจากจำนวนผู้กดติดตามจึงนำเพจนั้นมาขาย 2.การสร้างแฟนเพจขึ้นมาใหม่สำหรับขายโดยเฉพาะ ลักษณะนี้จะเป็นการมุ่งเป้าทางการทำธุรกิจโดยตรง คือ ผู้ที่มีความสามารถในการสร้างเพจให้มีผู้ติดตามจำนวนมากจะเปิดเพจใหม่ขึ้นมาแล้วบริหารจัดการเพจนั้นจนมีผู้ติดตามจำนวนที่ต้องการแล้วจึงประกาศขายเพจ ซึ่งลักษณะที่ 2 นี้พบมากกว่าการขายเพจในลักษณะแรก

ช่องทางการขายเพจมีทั้งการประกาศขายเองผ่านเพจนั้น และการฝากขายในเพจที่ทำหน้าที่เป็นตลาดกลางรับฝากซื้อ-ขาย เช่น “กฤษ แฟนเพจ”, “Fanpage dd by admin เจษ”, “ขายเพจเฟซบุ๊ก บัญชีเฟซบุ๊ก & รับจัดหาแฟนเพจ-GUN4K Online Shop” และ “Thai seo market ศูนย์รวมบริการออนไลน์ [ ซื้อ/ขาย ]” ซึ่งผู้ฝากขายเพจจะต้องจ่ายค่าฝากขายตามที่แต่ละแหล่งกำหนด

สำหรับราคาการซื้อ-ขายเพจนั้นผู้ขายจะตั้งราคาอิงตามจำนวนผู้กดไลก์ ซึ่งเพจที่ขายจะมีจำนวนผู้กดไลก์และจำนวนผู้กดติดตามไม่ต่างกันเท่าใดนัก

จากการสำรวจราคาโดยประมาณ พบว่าในการซื้อขายเริ่มต้นที่ 1,000-2,000 ไลก์ ราคาประมาณ 1,000-2,000 บาท, จำนวน 2,000-5,000 ไลก์ ราคาประมาณ 2,000-3,000 บาท, จำนวน 5,000-10,000 ไลก์ ราคาประมาณ 3,500-4,000 บาท, จำนวน 10,000-15,000 ไลก์ ราคาประมาณ 5,000-6,000 บาท, จำนวน 15,000-20,000 ไลก์ ราคาประมาณ 6,000-15,000 บาท, จำนวน 20,000-50,000 ไลก์ ราคาประมาณ 15,000-17,000 บาท และจำนวน 100,000 ไลก์ ราคาประมาณ 30,000-35,000 บาท

แฟนเพจในลักษณะนี้จะเรียกว่าแฟนเพจสำเร็จรูปก็คงไม่ผิด เมื่อตัดสินใจซื้อ-ขายกันแล้วทางผู้ขายก็จะแก้ไขข้อมูลของเพจให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อที่จะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์นั้น ๆ และบริการดูแลหลังการขายอื่น ๆ

ในกรณีที่สร้างแฟนเพจขึ้นมาขายโดยเฉพาะ การสร้างจำนวนผู้กดถูกใจและกดติดตามอาจจะมีเทคนิคแตกต่างกันออกไป แต่วิธีที่นิยมใช้มากที่สุด คือ การว่าจ้างผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กประเภทบุคคล (Facebook profile) ให้กดถูกใจและติดตามเพจที่สร้างขึ้นมา ซึ่งจะมีการกำหนดไว้ว่าในหนึ่งวันจะต้องกดถูกใจเพจทั้งหมดกี่เพจ

ธุรกิจที่คาดว่าจะมีการซื้อแฟนเพจมากที่สุดเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าแฟชั่น เพราะจากการสำรวจในปี 2019 ของทาง Priceza เว็บไซต์สำหรับเปรียบเทียบราคาสินค้าของประเทศไทยพบว่า 5 อันดับสินค้าที่มียอดขายดีในออนไลน์ ได้แก่ 1.สินค้าแฟชั่น เสื้อผ้าผู้หญิง กระเป๋า รองเท้า คิดเป็น 24% 2.สินค้าสุขภาพและความงาม ในกลุ่มของอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว คิดเป็น 19% 3.สินค้าเกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน คิดเป็น 14% 4.สินค้าประเภทกีฬา สัตว์เลี้ยง และของสะสม คิดเป็น 9% 5.สินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี แก็ดเจตต่าง ๆ คิดเป็น 8%

ข้อดี VS ข้อเสีย การซื้อเพจ

การซื้อแฟนเพจสำเร็จรูปมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเมื่อแฟนเพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมากตั้งแต่แรกในการที่จะลงขายสินค้าจึงเป็นเรื่องง่ายที่คนจำนวนมากจะเห็นสินค้าและบริการต่าง ๆ อีกทั้งแฟนเพจดูน่าเชื่อถือ สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะมีแฟนเพจเป็นของตัวเองแต่ไม่ถนัดในเรื่องของเทคโนโลยี การซื้อแฟนเพจจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์

ส่วนข้อเสีย คือ ผู้กดถูกใจแฟนเพจที่ซื้อมาอาจจะไม่ใช่กลุ่มที่สนใจในผลิตภัณฑ์และบริการ ไปจนถึงคอนเทนต์ของเพจนั้น ดังนั้น จำนวนผู้กดไลก์กดติดตามเพจจึงอาจไม่มีผลต่อการขายสินค้าและบริการของผู้ที่ซื้อเพจไปใช้ จึงมีความยากอยู่อีกระดับหนึ่งที่ผู้ดูแลจัดการเพจจะรักษาจำนวนผู้ติดตามเอาไว้ให้ได้ และสามารถนำเสนอคอนเทนต์ให้ผู้ติดตามที่ไม่ตรงกลุ่มที่สนใจสินค้าและบริการนั้นหันมาสนใจให้ได้

ในเรื่องการนำเสนอคอนเทนต์ให้ดึงดูดความสนใจผู้ติดตามเพจ นอกจากการโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอ อีกวิธีที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ การแพร่ภาพสด (live) เพราะจะมีการแจ้งเตือนผู้ที่กดถูกใจแฟนเพจให้เข้ามาชม ซึ่งสำหรับผู้ติดตามก็จะได้เห็นสินค้าในหลายมุมมอง และสามารถโต้ตอบกับผู้ขายได้ทันทีหากมีข้อสงสัย ถือเป็นอีกวิธีนำเสนอสินค้าที่สามารถเพิ่มลูกค้าได้

หากจะมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อแฟนเพจไปต่อยอดธุรกิจอีคอมเมิร์ซของตนเองก็คือ ควรตรวจสอบว่าผู้ขายรายไหนสามารถเชื่อถือได้ หากเป็นการซื้อแฟนเพจที่ขายในราคาค่อนข้างสูง ควรที่จะขอตรวจสอบเอกสารของผู้ขายก่อนเสมอ และต้องตรวจสอบว่ายอดกดถูกใจนั้นเกิดจากบัญชีผู้ใช้งานที่มีตัวตนจริง ๆ ไม่ใช่การปั๊มไลก์โดยบัญชีเฟซบุ๊กปลอม เพราะเฟซบุ๊กมีระบบตรวจสอบบัญชีปลอม หากตรวจสอบพบว่าเพจนั้นซื้อไลก์จากบัญชีเฟซบุ๊กปลอม เฟซบุ๊กจะมีการลงโทษถึงขั้นแบนและอาจปิดเพจได้