One Platform ความท้าทายครั้งใหม่ของ “ธนพล ศิริธนชัย” บนเก้าอี้ซีอีโอ เฟรเซอร์ส ประเทศไทย

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ในโปรไฟล์ของ ธนพล ศิริธนชัย สิ่งที่ปรากฏอยู่คู่กับชื่อเขาเสมอคือความสำเร็จในการพาโกลเด้นแลนด์ หรือบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ฟื้นจากขาดทุนเป็นกำไรและเติบโตหลายเท่าตัวในเวลาเพียงสองสามปี จนดูเหมือนกับว่านั่นคงจะเป็นผลงานที่น่าประทับใจและน่าจดจำที่สุดของเขาหรือเปล่า

คนอื่นอาจจะมองอย่างนั้น แต่ถ้าถามเจ้าตัว คำตอบคือ “ไม่ใช่”

ธนพล ศิริธนชัย ที่เพิ่งได้รับมอบตำแหน่งและภารกิจใหม่จาก TCC Group ให้เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาบอกว่า ความสำเร็จทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นรายได้หรือกำไร ไม่ใช่สิ่งที่เขาให้ความสำคัญที่สุดและไม่ใช่สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำงานของเขา แม้ว่านั่นเป็นภารกิจและเป้าหมายหลักของนักบริหารมืออาชีพทุกคน

แล้วอะไรล่ะที่ธนพลให้ความสำคัญและคิดว่าท้าทายที่สุด คำตอบอยู่ในย่อหน้าต่อ ๆ ไปจากนี้ ซึ่ง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยและค้นความคิดของธนพล ศิริธนชัย ผ่าน 4 คอนเซ็ปต์หลัก คือ สิ่งที่เป็นความท้าทายที่สุด สิ่งที่ประทับใจที่สุด สิ่งที่ยังไม่พอใจ และสิ่งที่เขาหวัง

สิ่งที่ท้าทายที่สุด : One Platform หลอมรวมคนเข้าด้วยกัน

โกลเด้นแลนด์ถูกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย เป็นการรวม 3 ธุรกิจเข้าเป็นแพลตฟอร์มเดียว ประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย (residential) อสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม (commercial) และอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม (industrial) เป็นแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรเจ้าแรกในประเทศไทย

นั่นนำมาสู่ความท้าทายในการทำงานของ ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

การที่มีพนักงานจำนวนกว่า 1,500 คน จาก 3 ธุรกิจ มาอยู่ร่วมกันในบริษัทเดียว ซึ่งคนจากต่างธุรกิจก็มีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน ธนพลมองว่าโจทย์หลักที่ท้าทายตัวเขามากก็คือ การหลอมรวมคนเหล่านี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ยังไม่นับว่าจำนวนพนักงานที่มากขึ้น องค์กรที่ใหญ่ขึ้น การบริหารก็ต้องต่างออกไปจากบริษัทเดิมที่เล็กกว่าอยู่แล้ว

ธนพลเปรียบเทียบการรวม 3 ธุรกิจเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มเดียวว่าเหมือนกันกับการใช้ชีวิต คือ เรามีเพียงชีวิตและร่างกายเดียว ไม่สามารถแยกร่างได้ ขณะที่มีกิจกรรม มีชีวิตหลายด้านที่ต้องทำ ทั้งงาน ครอบครัว เพื่อนฝูง และกิจกรรมเพื่อตัวเอง แล้วจะทำอย่างไรให้ไปด้วยกันได้

“มันคือ one life platform หมายความว่า เราจะแยกเรื่อง work กับเรื่อง life ไม่ได้ เราพูดกันเยอะเรื่องการจะจัด work-life balance อย่างไร ผมมองว่าจริง ๆ มันอาจจะเป็นเรื่องของ one platform ถ้าเรามองชีวิตเราเป็นแกนเป็นแพลตฟอร์มเดียว เราไม่สามารถจะแยกร่างได้ แล้วเราจะใช้มันอย่างไรให้มันสมดุล ทำอย่างไรที่จะสามารถมีแพลตฟอร์มอันเดียว แต่มีหลายธุรกิจ มีหลาย activity ได้ มันจำเป็นไหมที่จะต้องแบ่งว่าฉันจะทำธุรกิจนี้ ฉันจะทำเวลานี้ ฉันจะทำอย่างนั้น ผมว่ามันเบลนด์เข้าด้วยกันเป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน”

“ผมคิดว่าไม่มีหรอกว่างานนี้ส่วนตัว งานนี้งานบริษัท ผมคิดว่ามันอาจจะไปด้วยกัน และเรื่องเวลาการทำงานต้องยืดหยุ่น ไม่ได้ฟิกซ์ว่าต้องเข้า 8 โมง เลิก 5 โมงเย็น บริษัทเดี๋ยวนี้ไปถึงขั้น work from home แล้ว เพราะฉะนั้น คุณสามารถที่จะเบลนด์อินได้ ตอนนี้โทรศัพท์ ไลน์เราติดต่อได้ตลอด มันก็เลยทำงานกับทำกิจกรรมอื่นไปด้วยกันได้ อย่างธุรกิจบ้าน โครงการเปิดเสาร์-อาทิตย์ เราต้องไปดูโครงการ พนักงานฝ่ายขาย พนักงานโครงการก็ต้องทำงาน แล้วไม่มีใครเลี้ยงลูกจะทำอย่างไร ก็สามารถพาลูก พาภรรยาหรือสามีไปที่โครงการได้”

สิ่งที่ประทับใจที่สุด : บริษัทเติบโตและพนักงานมีความสุข

ความสำเร็จในอดีต กับผลงานการพาโกลเด้นแลนด์พลิกฟื้นทำกำไร และบริษัทเติบโต 10 เท่า สำหรับธนพลนี่เป็นความสำเร็จที่เขามองว่า “มันเป็นความสำเร็จที่ตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น ตอบแทนให้บริษัท ซึ่งสำหรับผมมันไม่ได้เป็นความสำคัญหรือความประทับใจอันดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ การที่ทุกคนช่วยกันทำแล้วเราทำได้”

“ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นความสำเร็จหรือว่าสิ่งที่ประทับใจไม่ใช่ยอดขาย ไม่ใช่ว่าเราโตจาก 1,500 ล้าน เป็น 15,000 ล้าน เรามีแอสเสตเพิ่มจาก 8,000 ล้าน เป็น 50,000 ล้าน แต่ผมคิดว่าเป็นการเติบโตที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่า บริษัทเรามี environment ที่ทำให้คนทำงานมีความสุข” นั่นคือเรื่องที่ธนพลให้ความสำคัญและประทับใจเหนือสิ่งอื่นใด

ธนพลบอกว่า โกลเด้นแลนด์เริ่มจากคนแค่ 80 คน สิ่งที่ประทับใจคือมองย้อนกลับไปแล้ว คนเก่า ๆ กว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ยังอยู่ในบริษัท

“นั่นแสดงว่าเขารู้สึกดี รู้สึกว่าเราสามารถจะเดินไปด้วยกันได้ การวัดผลสำเร็จมันแล้วแต่คนจะให้คุณค่ากับอะไร ถ้าคนข้างนอกอาจจะมองว่าสำเร็จจากยอดขาย สำเร็จจากราคาหุ้น แต่ถ้าสำเร็จด้วยความพอใจของเรา มันอยู่ที่ว่าคุณตั้งเป้าความพอใจเอาไว้แค่ไหน ถ้าสำหรับผม ผมให้ความสำคัญกับการที่ลูกน้องแฮปปี้ มีคนเดินกลับมาบอกเราว่าเราสร้างสถานที่ทำงานหรือบริษัทที่มีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี เขาทำงานแล้วแฮปปี้ นั่นคือสิ่งที่ผมประทับใจ”

แล้วจะทำอย่างไรให้ที่ทำงานมีสิ่งแวดล้อมที่พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ธนพลบอกว่า ต้องกลับมาถามว่าอะไรที่ทำให้อยากอยู่ในที่ทำงาน อะไรที่ทำให้อยากไปทำงาน นอกจากตัวงานที่พนักงานรู้สึกชอบ รู้สึกรักแล้ว การได้ทำสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทำงานรู้สึกภาคภูมิใจและมีความสุข อีกส่วนสำคัญคือสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในการทำงาน การมีสถานที่ทำงานที่ดี ไม่ทรุดโทรมซอมซ่อ มีสวัสดิการที่ดี เพื่อนร่วมงานน่ารัก มีน้ำใจ ช่วยกันทำงาน ไม่มีการเมืองเลื่อยขาเก้าอี้กัน เหล่านี้คือส่วนประกอบของสถานที่ทำงานที่อยู่แล้วมีความสุข

“นั่นคือสิ่งที่ต้องสร้างผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่นที่ผ่านมาผมชวนพนักงานไปวิ่ง และไปนั่งสมาธิ เราต้องทำหลายเรื่องครับ มันต้องใช้เวลาและเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เราต้องสร้าง”

เขาบอกอีกว่า การจะทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขก็ย้อนกลับไปสู่ประเด็น one platform ที่ว่า โจทย์สำคัญคือจะหลอมรวมคนที่มาจากต่างบริษัท ต่างธุรกิจอย่างไร

“พอรวมกันเป็นแพลตฟอร์มใหม่ คนก็ใหม่ ต่อให้เราทำสำเร็จจากโกลเด้นแลนด์มาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้เหมือนเดิม สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณจะปรับตัวได้แค่ไหน จะยึดติดกับชื่อเก่าหรือเปล่า ผมคิดว่าชื่อก็ส่วนชื่อ แต่ที่สำคัญคือคุณยังได้ทำงานที่คุณรักหรือเปล่า ชื่อมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้ ผมบอกทีมว่า เราเปลี่ยนแค่เสื้อ ข้างนอกเราเปลี่ยน แต่ข้างในเราจะเปลี่ยนหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่ท้าทาย เรามีทีมอีกทีมหนึ่งเข้ามา ไม่ใช่ว่าเขาจะคิดเหมือนเรา ธุรกิจแต่ละอันมันไม่เหมือนกัน คนที่มาก็ไม่เหมือนกัน เราทำ one platform แล้วเราจะหลอมยังไง ไม่ใช่ว่าขยำรวมกันแล้วบอกว่าเสร็จแล้วนะ เราก็ต้องดูต่อไป”

สิ่งที่ยังไม่พอใจ : บางครั้งใจร้อน พูดเร็ว ไม่ได้ระวัง

สิ่งที่เป็นความท้าทาย และสิ่งที่ประทับใจ ธนพลตอบได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องคิด แต่พอถามถึงสิ่งที่ยังไม่พอใจ สิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จ คันทรี่ซีอีโอแห่งเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คิดพักใหญ่กว่าจะตอบว่า

“ไม่แน่ใจเหมือนกัน มันยังไม่มีแบบตรง ๆ อาจจะมีที่ว่าผมหงุดหงิดที่ตัวเองใจร้อนหรือพูดเร็ว แล้วมาเสียใจทีหลัง หรือว่าเราไม่ได้ระวัง เวลามันมีหลายเรื่องเร่ง ๆ เข้ามา เราก็ด่า ๆ ซึ่งจริง ๆ ผมไม่เคยด่าเลยนะ แต่ลูกน้องคิดว่าด่า ก็อาจจะมีเรื่องเหล่านั้น หลัง ๆ ผมไม่ได้คาดหวัง เพราะเวลาคาดหวังมากก็จะผิดหวัง”

เราถามว่า “การพลาดเป้าในแง่ตัวเลขเป็นเรื่องใหญ่ไหม”

ธนพลตอบว่า “เคยพลาดเป้าในแง่ยอดขายแต่ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ มันอาจจะฟังดูเหมือน ideal ว่าถ้าเราทำเต็มที่แล้วก็ต้องไม่เสียใจ สมมุติว่าเราทำเต็มที่แล้วโควิดมา ก็มันไม่ได้ตามเป้าเพราะโควิดแล้วจะไปลงโทษพนักงานยังไง มันไม่ได้เป็นความผิดของใคร มันต้องแยกแยะ แต่บางคนได้ตามเป้าแล้วอาจจะผิดก็ได้ เพราะว่าใช้วิธีที่ผิด คุณไปให้ส่วนลดลูกค้า คุณไปหลอกให้ลูกค้าโอนบ้านที่ยังไม่เสร็จ ไปสร้างเงินทอน อันนี้อาจจะผิด ผมชอบทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก สมมุติคุณใช้เงินก่อสร้างบานปลายไป 10 ล้าน 20 ล้าน เงินเยอะแต่ก็เป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ เช่น ทำงานไม่เรียบร้อย ไปหลอกลูกค้า หรือลูกค้าเครดิตไม่ผ่านแล้วคุณไม่คืนเงินจองให้ลูกค้า เงินหมื่นกว่าบาท พันกว่าบาท แต่ต้องคืน”

สิ่งที่หวัง : ทุกคนสมานฉันท์ มุ่งไปจุดหมายเดียวกัน

ถามว่ายังมีความหวังหรือความคาดหวังอะไรไหม ในเมื่อบอกว่าช่วงหลัง ๆ ไม่ค่อยคาดหวังอะไรแล้ว แม่ทัพใหญ่แห่งเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้
ประเทศไทย ตอบว่า

“มีความหวัง แต่ไม่คาดหวัง ความหวังก็คือ ทำอย่างไรที่เราจะสามารถทำให้คนทั้ง 3 แอสเสตคลาส ทุกคนสามารถมุ่งไปในทิศทางเดียวกันได้ ลงเรือลำเดียวกัน ทำงานในหน้าที่ แล้วมุ่งไปยังจุดหมายเดียวกันได้ มันยังมีมรสุมอีกตั้งเยอะ เราไม่รู้โควิดจะจบเมื่อไหร่ หรือเรื่องการเมือง มีคนบอกว่าอีกสองสามปีถึงจะฟื้น แล้วเราจะไปอย่างไร ความหวังก็คือ เราสมานฉันท์ ทำงานไปด้วยกันได้ ดีที่สุด”

บวกกับอีกเป้าหมายในระยะใกล้ที่เขาได้กล่าวในการแถลงข่าวไปแล้วคือ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ตั้งเป้าผลประกอบการปี 2564 ไว้ว่าจะรักษาระดับรายได้ไว้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท แม้จะต้องเผชิญความท้าทายมากมายทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบจากโควิด-19 และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทย