10 บุคคลในข่าวแห่งปี 2020 ผู้สั่นสะเทือนสังคมไทยหลากหลายแง่มุม

ทุก ๆ ปีในช่วงปลายปีเราจะเห็นหลายสถาบันและสื่อระดับโลกหลายสำนักเปิดเผยรายชื่อการจัดอันดับบุคคลแห่งปี โดยเน้นไปที่บุคคลทรงอิทธิพลระดับโลก ปีนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ก็เลยอยากเลือกบุคคลแห่งปีของประเทศไทยเราบ้าง

เราได้ย้อนทบทวนข่าวและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี แล้วเลือกบุคคลในข่าวแห่งปี 2020 จากหลากหลายวงการ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นนักแสดงวัยรุ่น หรือเป็นชาวบ้านธรรมดาก็ตาม การที่พวกเขาปรากฏเป็นข่าวใหญ่กินระยะเวลาประมาณหนึ่ง หรือบางคนก็ต่อเนื่องนานทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นข่าวสร้างคน หรือคนเป็นฝ่ายสร้างข่าว นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเขาเหล่านี้คือคนที่มีอิทธิพลในสังคมไทย และได้สั่นสะเทือนสังคมไทยไปแล้วในแง่ใดแง่หนึ่ง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา : นายกรัฐมนตรีในวิกฤตรอบด้าน

ด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลที่อยู่ในข่าวสม่ำเสมอต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา และปี 2020 นี้ก็ยังเป็นอีกปีที่พลเอกประยุทธ์อยู่ในข่าวหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการบริหารประเทศในภาวะเผชิญโรคระบาด และด้านการเมืองที่มีการชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯลาออกอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีวี่แววว่าท่านจะลงให้กับข้อเรียกร้องไหน นอกจากนั้นยังมีคดีพักในบ้านพักทหาร ซึ่งในที่สุดศาลก็ตัดสินว่า “ไม่ผิด”

เพราะอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งของท่าน ทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตำแหน่งผู้อำนวยการ ศบค. ฯลฯ ทุกการสั่งการ ทุกคำพูด ทุกการกระทำล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งประชากรไทย ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ไปจนถึงนักท่องเที่ยว รวมไปถึงคนไทยในต่างประเทศ ไม่ว่าท่านจะพูดอะไร ทำอะไร จึงต้องถูกนำเสนอเป็นข่าวและล้วนได้รับความสนใจทั้งนั้น

อนุทิน ชาญวีรกูล : ตั้งเป้าผลักดันกัญชาแต่ต้องมารับมือโรคระบาด

เป็นเพราะโรคโควิด-19 ที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อในเมืองไทยเมื่อต้นปี ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปกติไม่ค่อยมีข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจนัก กลายเป็นกระทรวงหลักที่ครองพื้นที่ข่าวต่อเนื่องทั้งปี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บริหารกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรง จึงเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในข่าวร้อน ๆ นี้อย่างต่อเนื่อง

ถึงช่วงท้ายปลายปี ข่าวของรัฐมนตรีอนุทินกลับมาพีกอีกครั้ง เมื่อโควิดกลับมาระบาดระลอก 2 ที่ จ.สมุทรสาคร เป็นเหตุให้ชาวเน็ตขุดย้อนถึงคำพูดของนายอนุทินที่ให้สัมภาษณ์นักข่าวเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมว่า “เวลานี้ความพร้อมของเรามีเต็มที่ อย่างไรก็สามารถควบคุมได้ อีก 6 เดือนก็มีวัคซีนออกมา จึงขอให้มั่นใจ ไม่จำเป็นต้องปิดจังหวัด เพราะโควิดกระจอก ถ้าเราเข้าใจและมีอาวุธพร้อม สามารถรับมือได้” ประชาชนจำนวนมากจึงไม่พอใจ และเกิดกระแส #ถอดถอนอนุทิน ในโลกออนไลน์

ภาวะวิกฤตโรคระบาดที่ซัดเข้ามาแบบไม่ได้ตั้งตัว ทำให้รัฐมนตรีอนุทินถูกล้อเลียนว่า ตั้งใจแค่มาขายกัญชา แต่ต้องมาเจอโรคระบาดระดับโลก

บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. : ฮีโร่ตัวจริงในการสู้โควิด

ทันทีที่โรคระบาดย่างกรายเข้ามาในประเทศไทย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้และรับมือกับสถานการณ์ตั้งแต่แรกมาจนถึงตอนนี้ก็คือ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำงานกันอย่างแข็งขัน รวมไปถึง บุคลากรสาธารณสุข และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ปฏิบัติการเชิงรุก ตรวจคัดกรองบุคคลที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงที่ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อนำเชื้อไปแพร่สู่คนในชุมชนตามต่างจังหวัดมากนัก

ปฏิบัติการเชิงรุกของ อสม.ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วยว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ช่วยดูแลประชาชนถึงในครัวเรือน ทำให้การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อเข้าสู่ระบบรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย และองค์กรด้านสาธารณสุขระดับโลกได้รายงานให้คนทั่วโลกรับทราบ แสดงถึงศักยภาพด้านสาธารณสุข และเป็นตัวอย่างให้กับหลายประเทศเพื่อใช้เป็นแนวทางการควบคุมโรคได้อีกด้วย

Photo by AFP

อานนท์ นำภา : ทนายความผู้แง้มเพดานการพูดเรื่องกษัตริย์

อานนท์ นำภา หรือ “ทนายอานนท์” มีชื่อเสียงในแวดวงกิจกรรมการเมืองและสิทธิมนุษยชนมาหลายปี ในฐานะทนายความที่ช่วยว่าความให้นักกิจกรรมและผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ปีนี้นับตั้งแต่สวมชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์กล่าวปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม เขาก็ไม่ได้เป็นแค่ทนายความอีกต่อไป บทบาทใหม่ของอานนท์คือเป็นแกนนำ “ราษฎร 2563” ที่ผู้ชุมนุมต่างเฝ้ารอการปราศรัยของเขา และเนื่องจากบทบาทแกนนำการชุมนุมนี่เอง ทำให้เขาได้รับหมายเรียก หมายจับ มาแล้วนับไม่ถ้วน เข้าไปนอนในเรือนจำมาแล้วด้วย ล่าสุด นายอานนท์ นำภา และพวก ได้รับหมายเรียกคดี ม.112 อีกครั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นับถึงตอนนี้เขาได้รับหมายเรียก ม.112 แล้ว 7 คดี

รุ้ง-ปนัสยา : 1 ใน 100 ผู้หญิงทรงอิทธิพลระดับโลก

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นเวทีการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม เธออ่านข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า “พังเพดาน” ต่อจากที่ทนายอานนท์ได้ “แง้มเพดาน” ไว้ หลังจากนั้นมา รุ้งก็เป็นแกนนำที่มวลชนเฝ้ารอการปราศรัย เธอรับหน้าที่สำคัญในการชุมนุมหลายครั้ง เช่น การอ่านจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นต่อสำนักพระราชวัง ในเช้าวันที่ 20 กันยายน

วันที่ 15 ตุลาคม รุ้งถูกจับกุมแล้วถูกนำตัวไปขังในเรือนจำ ระหว่างนั้น รายการ Dateline ทางสถานีโทรทัศน์ SBS ของออสเตรเลีย ได้นำสารคดีที่บันทึกเรื่องราวของเธอในห้วงเวลาสำคัญเผยแพร่ไปทั่วโลก ในช่วงปลายปีที่มีการจัดอันดับต่าง ๆ รุ้ง ปนัสยา ได้รับเลือกจากสำนักข่าว BBC ให้ติดในลิสต์ “100 Women” หรือ 100 ผู้หญิงทรงอิทธิพลประจำปี 2020 แต่ในอีกทางหนึ่ง รุ้งก็ได้รับหมายเรียก ม.112 แล้วหลายคดีเช่นกันกับแกนนำคนอื่น

รุ้งเคยบอกกับ BBC Thai ว่า ทุกการเคลื่อนไหวของเธอ ไม่ว่าจะเรียกร้องประเด็นอะไรก็ตาม สิ่งที่พูดล้วนอยู่บนพื้นฐานเดียวคือ อยากให้คนทุกคนเท่ากัน

ปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีคลัง 27 วัน

ชื่อ “ปรีดี ดาวฉาย” เป็นข่าวใหญ่สุด ๆ ในช่วงต้นเดือนกันยายน เมื่ออดีตผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยผู้นี้ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 กันยายน (มีผลในวันที่ 2 กันยายน) นับรวมเวลาบนเก้าอี้ “ขุนคลัง” เพียง 27 วันเท่านั้น

การลาออกอย่างกะทันหันนี้สร้างความงุนงงสงสัยแก่คนทั่วประเทศว่า “เกิดอะไรขึ้น” แม้นายปรีดีให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องสุขภาพ แต่มีกระแสข่าวคาดเดาว่าเหตุผลที่แท้จริงน่าจะไม่ใช่เรื่องสุขภาพ อาจจะมีปัญหาในการทำงานที่คนนอกไม่ทราบ แต่ข่าวก็ค่อย ๆ ซาไป โดยมีข่าวตัวเต็งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่มาค่อย ๆ กลบข่าวนั้นไป

หากไม่นับเรื่องการค้นหาว่าเหตุผลที่แท้จริงของการลาออกคืออะไร การที่เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่างอยู่นานเป็นเดือนกว่าจะได้ รมว.คนใหม่ ก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์สุดแปลก และสะท้อนสถานการณ์ของรัฐบาลได้ในระดับหนึ่ง

ลุงพล : จากผู้ต้องสงสัย สู่คนดังงานชุกระดับไอดอล

“ลุงพล” นายไชย์พล วิภา เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมน้องชมพู่ เหตุเกิดที่บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะต่างก็อยากรู้ว่าฆาตกรเป็นใครกันแน่ เมื่อข่าวได้รับความสนใจมาก รายการข่าวของสถานีโทรทัศน์บางช่องจึงยิ่งเพิ่มเวลาออกอากาศ และส่งทีมข่าวลงพื้นที่เกาะติดจนแทบเป็นเรียลิตี้ตามติดชีวิตลุงพล

คนติดตามข่าวจำนวนมากคิดว่าลุงพลไม่น่าจะเป็นฆาตกร จึงมีการให้กำลังใจลุงพลที่โดนกล่าวหา เกิดเป็นกระแสลุงพลฟีเวอร์ ลุงพลกลายเป็นคนดังมีแฟนคลับ ได้รับเชิญไปออกอีเวนต์ ได้มีผลงานเพลงของตัวเอง ได้ร่วมร้องเพลงกับนักร้องชื่อดัง จินตหรา พูลลาภ และมีเพลงของคนอื่นที่แต่งเนื้อร้องเกี่ยวกับลุงพลและป้าแต๋น (ภรรยาลุงพล) ด้วย

เศรษฐา ทวีสิน : นักธุรกิจผู้ใช้ทวิตเตอร์คอมเมนต์รัฐบาล

ท่ามกลางปัญหาโรคระบาดและปัญหาเศรษฐกิจ เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ เป็นนักธุรกิจระดับประเทศคนแรกที่ออกมาแสดงความเห็นต่อการบริหารประเทศ และสถานการณ์ทางการเมือง โดยช่องทางที่เขาเลือกใช้คือ ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มที่คนรุ่นใหม่นิยมกัน นอกจากนั้นยังมีการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเนื้อหาในจดหมายเป็นข้อเสนอแนะ 11 ข้อ ที่อยากให้รัฐบาลทำเพื่อพาประเทศฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังร้อนแรง ทุกทวีตที่ผู้บริหารคนนี้แสดงความเห็นทางการเมืองและการบริหารประเทศล้วนได้รับการรีทวีตหลักพันหลักหมื่น และถูกนำเสนอเป็นข่าวฮือฮา ถ้าจะเลือกวาทะเด็ดสุดก็คงเป็นการทวีตเมื่อวันที่ 25 กันยายน เพียง 1 วันหลังมีการประชุมรัฐสภาพิจารณาญัตติเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาทวีตว่า “38 ล้านคนเลือก ส.ส. 500 คน … 10 คนเลือก ส.ว. 250 คน …สิทธิ์ของคน 38 ล้านคนน้อยกว่า 10 คนผู้คัดเลือก ส.ว. กี่เท่า ? 250 ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกฯอีกด้วย ความเท่าเทียมอยู่ตรงไหน ?”

ไบร์ท-วชิรวิชญ์ : ต้นเรื่องสงครามชาวเน็ตและ “พันธมิตรชานม”

ถ้าบอกเพียงว่า ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี เป็นนักแสดงวัยรุ่นที่แจ้งเกิดได้อย่างโดดเด่นและโด่งดังมาก ก็คงฟังดูธรรมดาเกินไปที่จะบอกว่าเขาคือหนึ่งในบุคคลแห่งปี แน่นอนว่าเขามีอิทธิพลต่อสังคมมากกว่านั้น เพราะเขาเป็นที่มาของปรากฏการณ์สงครามออนไลน์ระหว่างชาวเน็ตไทยกับชาวเน็ตจีน จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “พันธมิตรชานม” หรือ “Milk Tea Alliance”

เรื่องมีอยู่ว่า ไบร์ทมีแฟน ๆ ชาวจีนจำนวนมากติดตามบัญชีโซเชียลมีเดียของเขา แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อแฟนชาวจีนไม่พอใจที่เห็นไบร์ทเรียกไต้หวันและฮ่องกงว่า “ประเทศ” เกิดเป็นดราม่าใหญ่โต นำมาสู่การปะทะฝีปากกับชาวเน็ตไทยหลากหลายประเด็น โดยสมรภูมิหลักอยู่ในทวิตเตอร์ จากเริ่มต้นที่มีเพียงชาวเน็ตจีนกับชาวเน็ตไทยปะทะกัน ต่อมามีชาวเน็ตไต้หวัน และชาวเน็ตฮ่องกงเข้าร่วมอยู่ฝั่งไทยด้วย ด้วยความที่ไต้หวันเป็นต้นกำเนิดชานม และไทยกับฮ่องกงก็นิยมดื่มชานม จึงเรียกปรากฏการณ์การผนึกกำลังครั้งนี้ว่า “Milk Tea Alliance”

แรงงานต่างชาติ : ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

เพียง 12 วันก่อนวันสิ้นปี 2020 ไทยตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ในวันเดียว 500 กว่าคน และตรวจพบเพิ่มขึ้นในวันต่อ ๆ มา ซึ่งผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานต่างชาติที่มาทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมง เป็นข่าวร้ายอีกครั้งของไทย

หากไม่นับเรื่องการพบผู้ติดเชื้อโควิดที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการควบคุมโรคระบาดในครั้งนี้ แล้วมองลงไปในมิติทางเศรษฐกิจเราจะเห็นว่า แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านคือบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนหลายอุตสาหกรรมของไทย เช่น อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ถ้าย้อนกลับไปอ่านข่าวช่วงต้นปีที่ประเทศไทยพบการติดเชื้อก่อนประเทศเพื่อนบ้าน และมีการล็อกดาวน์ แรงงานต่างชาติจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ และนโยบายปิดชายแดนห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาในช่วงนั้นส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจจำนวนมาก จนถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี ภาคเอกชนทนปัญหาขาดแคลนแรงงานไม่ไหวจึงยื่นต่อกระทรวงแรงงานขอเร่งนำเข้าแรงงาน

ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญ หรือพูดได้ว่ามีอิทธิพลต่อไทยในมิติทางเศรษฐกิจอย่างมาก และแล้วเรื่องสุขภาพอนามัยและมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควรก็ส่งผลกระทบต่อไทยในที่สุด