บันทึกข่าวใหญ่ 2020 ปีสาหัสที่กำลังผ่านไป แต่ปัญหาหลายอย่างยังอยู่

Photo by AFP

ปี 2020 เป็นปีที่หนักหนาสาหัสมาก ๆ ปีหนึ่ง อาจจะมากที่สุดในช่วงชีวิตของคนบางรุ่น ตั้งแต่เดือนแรกจนถึงเดือนสุดท้ายของปี มีเหตุการณ์ใหญ่ที่เป็นข่าวใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็น “ข่าวร้าย” โลกของเราโดนโควิด-19 จู่โจมอย่างยากจะรับมือ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” สรุปข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นใน 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นการทบทวนและบันทึกเอาไว้ว่า เราผ่านอะไรกันมาบ้าง และเป็นการเตือนว่า ถึงแม้ปีร้าย ๆ นี้กำลังจะผ่านไป แต่ก็ใช่ว่าเราจะโล่งใจได้ เพราะหลายปัญหาที่ยังจัดการไม่ได้ก็จะยังคงอยู่กับเราต่อไปในปีหน้าที่กำลังมาถึง ซึ่งเราต้องสตรองให้มากขึ้น เพื่อรับมือกับปีที่ยังไม่มีอะไรแน่นอน

PHOTO by AFP

มกราคม : วิกฤตไฟป่าออสเตรเลีย

เริ่มต้นปีด้วยข่าวน่าสลด วิกฤตการณ์ไฟป่าในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งกินเวลายาวนานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของปี 2019 เริ่มจากในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ก่อนจะลุกลามไปยังรัฐอื่น ๆ และรุนแรงขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2020

เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ควันไฟที่ลอยขึ้นสู่อากาศได้พัดเอาพายุฝนไปยังพื้นที่อื่นด้วย เกิดเป็นฟ้าผ่าโดยที่ไม่มีฝนตก หรือที่เรียกว่าฟ้าผ่าแห้ง ทำให้ไฟป่าขยายวงกว้างกินพื้นที่มากกว่า 6 รัฐ หรือมากกว่า 30 ล้านไร่ มีผู้เสียชีวิตจำนวน 28 ราย สัตว์ป่าล้มตายเป็นจำนวนมาก และบ้านเรือนเสียหายนับพันหลังคาเรือน ก่อนจะมีฝนตกหนักช่วยให้บรรเทาลง

วิกฤตการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียทำให้หลายประเทศตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น รวมถึงไทยก็มีการพูดคุยประเด็นปัญหาไฟป่ากันมากขึ้น

กุมภาพันธ์ : เหตุการณ์กราดยิงโคราช

เริ่มปีใหม่มาได้ไม่ทันไร พอเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ก็เกิดเหตุที่สร้างความสะเทือนใจคนไทยเป็นอย่างมาก นั่นคือเหตุกราดยิงโคราช

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา เกิดความเครียดและแค้นที่ทวงเงินค่านายหน้าซื้อขายที่ดินจากแม่ยายของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ตามที่ตกลงกันไว้ เขาจึงยิงผู้บังคับบัญชาและแม่ยาย ก่อนจะเข้าไปปล้นอาวุธในคลังพร้อมกราดยิงเจ้าหน้าที่ แล้วขับรถหลบหนีไป ซึ่งระหว่างทางเขากราดยิงประชาชนทั่วได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

จากนั้นผู้ก่อเหตุเข้าไปในศูนย์การค้า Terminal 21 โคราช กราดยิงและจับตัวประชาชนเป็นตัวประกัน เจ้าหน้าที่เข้าล้อมบริเวณที่เกิดเหตุและมีการต่อสู้ปะทะกันจนถึงช่วงสายของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยการวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุ เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 31 ราย และบาดเจ็บกว่า 50 คน

มีนาคม : ซูเปอร์สเปรดเดอร์ทำโควิด-19 ระบาดในไทย

มีนาคมเป็นเดือนที่กำแพงแตก หลังจากที่คนไทยเริ่มรู้จักและตระหนักกับโรคโควิด-19 ในเดือนมกราคม เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย เป็นชาวจีนที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น ก่อนจะพบชาวไทยติดเชื้อในวันที่ 31 มกราคม ซึ่งเป็นคนขับแท็กซี่ที่รับผู้โดยสารชาวจีนไปส่งที่โรงพยาบาล

นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อโควิค-19 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศต่าง ๆ เตือนประชาชนให้ระวังโรคระบาดชนิดนี้ และประชาชนก็เริ่มระมัดระวังกันพอสมควรแล้ว จนมาถึงเดือนมีนาคมเกิดการแพร่ระบาดที่เรียกว่าเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ จากเคสสนามมวยลุมพินี พบผู้ที่เข้าชมมวยติดเชื้อกว่า 84 ราย และแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ทำให้เดือนมีนาคมมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยสะสมกว่า 1 พันราย

เมษายน : ล็อกดาวน์ ปิดกิจการ คนแห่กลับบ้าน

เดือนเมษายนปีนี้เป็นเมษามหาโหดที่ไม่มีเทศกาลสงกรานต์ สืบเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมากในเดือนมีนาคม รัฐบาลไทยจึงจัดการกับสถานการณ์อย่างเข้มข้นขึ้น โดยเริ่มจากประกาศปิดสถานที่เสี่ยงแพร่เชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ตามมาด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 3 เมษายน

การประกาศปิดสถานที่เสี่ยงส่งผลให้พนักงานและลูกจ้างในธุรกิจเหล่านั้น รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระที่พึ่งพาธุรกิจเหล่านั้นต้องว่างงานเป็นจำนวนมาก

เมื่อขาดรายได้ ประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจึงเดินทางกลับบ้าน การที่มีคนจากกรุงเทพฯและปริมณฑลเดินทางออกต่างจังหวัด สร้างความวิตกกังวลว่าจะมีการนำเชื้อไปแพร่กระจายทั่วประเทศ บุคลากรด้านสาธารณสุขและหน่วยงานปกครองจึงต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อยับยั้งการระบาด

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าบีบให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการหลายมาตรการ และต่อมารัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำเงินมาเยียวยาเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทสินเชื่อต่าง ๆ ก็ได้เยียวยาพักหนี้ให้ลูกค้าตามนโยบายของภาครัฐ

Photo by AFP

พฤษภาคม : “การบินไทย” โคม่า … รอด ไม่รอด ?

เดือนพฤษภาคมที่ยังอยู่ในบรรยากาศ work from home และระวังโควิด อีกข่าวใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของคนในสังคมก็คือ อนาคตของ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติที่ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องหลายปี และในสถานการณ์ที่โควิดทำให้อุตสาหกรรมการบินหยุดชะงัก การบินไทยที่เหมือนคนป่วยหนักมานานจึงถึงขั้นโคม่า

สถานการณ์ของการบินไทยทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเราควรมีสายการบินแห่งชาติต่อไปหรือไม่ รัฐบาลควรช่วยเหลือ หรือปล่อยให้ล้มละลายไป

วันที่ 19 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้คำสั่งศาลล้มละลาย และต่อมากระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 51% ลดสัดส่วนหุ้นเหลือ 48% ทำให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่กระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่

กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะต้องใช้เวลาหลายปี และจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

Photo by AFP

มิถุนายน : Black Lives Matter ปลุกกระแสต้านการเหยียดผิว

ช่วงกลางปีโควิดเข้าตีสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่ชาวอเมริกันจำนวนมากยังออกมาประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนผิวสี และมีการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ด้วย #BlackLivesMatter

การเคลื่อนไหวนี้มีเหตุมาจากการที่ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีถูกร้านค้าแห่งหนึ่งแจ้งจับข้อหาใช้แบงก์ปลอมซื้อของในเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ระหว่างการควบคุมตัว ตำรวจใช้ความรุนแรงจนทำให้ฟลอยด์เสียชีวิต ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากเขาไม่ใช่คนผิวสี เหตุการณ์แบบนี้คงไม่เกิดขึ้น

การเสียชีวิตของฟลอยด์ทำให้ชาวเมืองมินนิอาโปลิสหลายร้อยคนออกมารวมตัวประท้วง และเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายพันคน การประท้วงเริ่มรุนแรงจนกลายเป็นจลาจล เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าปราบ แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

กระแส BlackLivesMatter ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในไทยก็มีคนร่วมกระแส #BlackLivesMatter กับเขาด้วย เป็นที่น่าสนใจว่านี่อาจจะเป็นกระแสที่ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความเท่าเทียมหรือไม่

กรกฎาคม : “เยาวชนปลดแอก” จุดกระแสชุมนุมไล่รัฐบาล

ท่ามกลางการรณรงค์ให้เว้นระยะห่างทางสังคมต่อไป แต่ความอึดอัดคับข้องใจกับสภาพสังคม การเมือง และปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มเยาวชนไม่ทนได้อีกต่อไป จึงทำให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ขึ้น

ก่อนหน้านั้น การชุมนุมดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี และหยุดไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด และกลับมาชุมนุมอีกครั้งเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ กระทั่งเกิดเป็นการนัดชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” เป็นแกนนำ และมีผู้ร่วมชุมนุมหลายพันคน นับว่าเป็นการชุมนุมครั้งที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 6 ปี

การชุมนุมของเยาวชนปลดแอกมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยุบสภา 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมยื่นคำขาดว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีการตอบรับจะรวมตัวอีกครั้ง จากนั้นก็ไม่มีการตอบรับจากรัฐบาล จึงมีการนัดชุมนุมอีกหลายครั้ง และจุดกระแสให้เกิดการชุมนุมในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ

สิงหาคม : “แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ” เรียกร้องปฏิรูปสถาบัน

การชุมนุมที่ถูกจุดติดโดย “เยาวชนปลดแอก” ถูกยกระดับขึ้นในเดือนสิงหาคม โดยเวที “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”

เวทีนี้เป็นเวทีที่พูดประเด็นแหลมคมที่สังคมไทยไม่เคยกล้าพูดในที่สาธารณะมาก่อน แกนนำได้เสนอ “ยุทธศาสตร์ล้มกระดานเผด็จการ” ซึ่งประกอบด้วย ข้อเรียกร้องใหญ่ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้นายกรัฐมนตรี และกลุ่มเครือข่ายลาออกทั้งหมด 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต้องร่างใหม่ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตามแนวทาง 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

การชุมนุมครั้งนี้สร้างความกังวลใจให้หลายฝ่าย ในขณะเดียวกันก็เป็นการชุมนุมที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง เป็นการเปิดประเด็นสนทนาถกเถียงที่เปลี่ยนสังคมไทยไปอย่างมากมาย รวมถึงยกระดับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนด้วย

กันยายน : รัฐมนตรีคลังลาออกหลังรับตำแหน่ง 27 วัน

ข่าวใหญ่รับต้นเดือนกันยายนที่สร้างความงุนงงให้คนทั้งประเทศก็คือ นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 6 สิงหาคม และเข้าเฝ้าฯเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 กันยายน นับเวลาเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 27 วันเท่านั้น

นายปรีดีให้เหตุผลเรื่องสุขภาพ แต่สังคมมีข้อสงสัยว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร เกิดความขัดแย้งในรัฐบาลหรือไม่ หรือไปเจอปัญหาอะไรที่รัฐบาลซุกไว้ คาดเดากันไปต่าง ๆ นานา พร้อม ๆ กับเก็งกันว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่

ณ เวลานั้น ภาคเอกชนต่างเร่งให้รัฐบาลรีบสรรหารัฐมนตรีคนใหม่ให้ได้ในเร็ววัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น แต่ก็ใช้เวลากว่าเดือนจึงได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ นั่นก็คือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ที่มีประสบการณ์ร่วมงานในรัฐบาลนี้มาแล้ว

Photo by REUTERS

ตุลาคม : สลายการชุมนุมแยกปทุมวัน

เดือนตุลาคมเหมือนเป็นอาถรรพ์เดือนเดือดสำหรับการชุมนุม ในเดือนตุลาคม 2020 ก็เช่นกับหลาย ๆ ปีในอดีต

นับตั้งแต่มีการชุมนุมใหญ่เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ก็มีการชุมนุมในรูปแบบแฟลชม็อบเรื่อยมา และในเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่ระดับการชุมนุมร้อนแรงขึ้นมาก

การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนตัวไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล และได้ตั้งใจปักหลักค้างคืนเป็นครั้งแรก แต่ช่วงดึกวันนั้น เนื่องด้วยทางการระดมเจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก แกนนำเป็นห่วงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมจึงประกาศสลายการชุมนุม ล้มเลิกความตั้งใจจะค้างคืน แต่เวลาประมาณ 04.00 น. วันที่ 15 ตุลาคม ซึ่งประชาชนส่วนมากออกจากพื้นที่แล้ว รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจับแกนนำหลายคน

ประกาศดังกล่าวไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุมหวาดกลัว ช่วงบ่ายของวันที่ 16 ตุลาคม ผู้ชุมนุมกว่าพันคนได้ชุมนุมอีกครั้งที่บริเวณแยกปทุมวัน วันนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายกองร้อยเข้าควบคุมสถานการณ์ มีการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสีและแก๊สน้ำตาฉีดใส่ผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 6 คน และมีผู้ถูกจับไปดำเนินคดีกว่า 100 คน

แม้ทางตำรวจกล่าวว่าการสลายการชุมนุมครั้งนี้เป็นไปตามหลักสากล แต่หลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศต่างประณามการกระทำครั้งนี้ อย่างเช่น UN ได้แสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อการสลายการชุมนุมในไทยและการตั้งข้อหาหนักกับผู้ประท้วงที่ชุมนุมกันอย่างสันติ อีกทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่ละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน

Photo by AFP

พฤศจิกายน : เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

มาถึงเดือนพฤศจิกายน ข่าวใหญ่ที่ทั่วโลกสนใจก็คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐไม่เพียงเป็นการชี้ชะตาสหรัฐ แต่ยังชี้ชะตาทั่วโลก เพราะจะมีผลต่อนโยบายที่สหรัฐดำเนินกับต่างประเทศ ดังนั้น การชิงตำแหน่งระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน กับโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต จึงถูกจับตามองจากทั่วโลก

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า โจ ไบเดน ได้เป็นผู้นำคนใหม่ของพญาอินทรี ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2021 ที่กำลังมาถึง

การเลือกตั้งสหรัฐมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก สหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยสินค้าส่งออกที่ไทยส่งไปยังสหรัฐคิดเป็น 14.7% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เมื่อไบเดนรับตำแหน่ง จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากไบเดนให้ความสำคัญเรื่องการสร้างสัมพันธ์ทางการค้ากับทั่วโลก จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ไทยจะเจรจาขอให้คงสิทธิ GSP

ธันวาคม : เลือกตั้งท้องถิ่น-โควิดระลอกใหม่

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี นอกจากนับถอยหลังสู่ปีใหม่แล้ว ประเทศไทยก็อยู่ในบรรยากาศนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ซึ่งเป็นข่าวน่ายินดีที่เรามีการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

การเลือกตั้งเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 20 ธันวาคม ในวันเดียวกันนั้นกลับมีข่าวร้ายว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดอีกระลอกเป็นจำนวนเกือบ 600 คนที่จังหวัดสมุทรสาคร

สำหรับผลการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศปรากฏว่า กลุ่มการเมืองใหม่ที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถชิงที่นั่งในสภาท้องถิ่นได้ เพราะกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นยังคงรักษาฐานเสียงไว้เป็นอย่างดี

ส่วนกรณีการพบผู้ติดเชื้อที่สมุทรสาครก็ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจอีกครั้ง ตอนนี้พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดต่าง ๆ แล้วราว 30 จังหวัด

ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเฉลิมฉลองปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ หลาย ๆ กิจกรรมที่เตรียมการจัดงานไว้จึงจำต้องยกเลิก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19


หากจะสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งปีแบบสั้น ๆ คงต้องบอกว่า ปี 2020 ไม่มีความปรานีกับเราเลย และสำหรับ 2021 ก็ยังเดาไม่ได้ว่าจะดีขึ้นกว่านี้หรือไม่