1 ปีผ่านไป นี่คือ 19 ข้อเกี่ยวกับ COVID-19 ที่แพทย์-นักวิจัยค้นพบ และเราควรรู้

Photo by AFP
รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ผ่านวันขึ้นปีใหม่มายังไม่พ้น 1 เดือน น่าจะพูดได้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่นับว่าครบรอบ 1 ปีที่เรารู้จักกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ก่อนจะมีชื่อเรียกโรคที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “โควิด-19”

หากนับครบรอบ 1 ปีตามประกาศอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็คือครบ 1 ปีไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม เพราะ WHO ประกาศพบไวรัสและโรคระบาดใหม่ชนิดนี้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 แต่สำหรับประเทศไทย เราครบรอบ 1 ปีในวันที่ 12 มกราคม เนื่องจากไทยประกาศว่า พบติดเชื้อรายแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ซึ่งผู้ติดเชื้อคนนั้นเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และเราเริ่มตื่นตัวอยากรู้จักโรคนี้กันในครึ่งหลังของเดือนมกราคม เมื่อสถานการณ์ในจีนรุนแรงมากขึ้น

ในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์-สาธารณสุขทั่วโลกทำงานอย่างแข็งขัน เช่นกันกับนักวิจัยที่เร่งศึกษาวิจัยเพื่อจะรู้จักไวรัสและโรคนี้มากขึ้น เพื่อไปสู่การหาโซลูชั่นในการต่อสู้กับโรคระบาดที่เพิ่งอุบัติใหม่

มีข้อเสนอแนะ ข้อค้นพบมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา บ้างก็เป็นเรื่องทางเทคนิคเชิงลึกมาก ๆ บ้างก็เป็นข้อมูลที่คนทั่วไปอย่างเรา ๆ ควรรู้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงสรุปข้อมูลและข้อค้นพบเกี่ยวกับโควิดทั้งเก่าและใหม่ที่เราควรจะรู้ออกมาเป็น 19 ข้อ (ให้พ้องกับชื่อโรคโควิด-19) ดังต่อไปนี้

1.โควิด-19 (COVID-19) หรือชื่อไทยแบบเต็ม ๆ ว่า “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019” เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ถูกตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า SARS-CoV-2

2.ไวรัสโคโรน่ามีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่พบการติดเชื้อในมนุษย์ครั้งนี้ (ตั้งแต่ปลายปี 2019) เป็นสายพันธุ์ที่ 7 ที่พบการติดเชื้อในมนุษย์ ซึ่งยังไม่เคยพบว่ามีมนุษย์ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์นี้มาก่อนหน้านั้น จึงเรียกกันเบื้องต้นว่า “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” (Novel Coronavirus 2019)

3.องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่อไวรัสและโรคอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 โดยตัวไวรัสได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “SARS-CoV-2” ชื่อสามัญยังคงเรียก Novel Coronavirus 2019 (ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019) ส่วนชื่อโรคคือ Coronavirus Disease 2019 เรียกชื่อย่อว่า COVID-19 ในภาษาไทยเรียกชื่อโรคว่า “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019” เขียนแบบย่อตามชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “โควิด-19”

4.ไวรัสและโรคนี้แพร่จากคนสู่คนผ่านทางฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งจากจมูกและปาก ซึ่งออกมาเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ซึ่งละอองเหล่านี้ค่อนข้างหนัก ฟุ้งไปไม่ได้ไกล และตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว คนที่อยู่ใกล้ผู้ติดเชื้ออาจจะรับเอาฝอยละอองและสารคัดหลั่งขณะที่พุ่งออกจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ หรืออาจจะรับจากที่สารคัดหลั่งหรือฝอยละอองเปื้อนอยู่ตามพื้นผิวต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่ไม่ปรากฏอาการป่วยก็สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้

Photo by REUTERS

5.ในช่วงแรก ๆ มีข้อมูลว่า ไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายมนุษย์ได้ไม่นาน คืออยู่บนพื้นผิวเรียบ ๆ ได้มากที่สุด 48 ชั่วโมง แต่เมื่อศึกษาไปเรื่อย ๆ มีการศึกษาทดลองในประเทศออสเตรเลียพบว่า ไวรัสตัวนี้สามารถอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้นานกว่านั้น หากสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย บนพื้นผิวเรียบ เช่น หน้าจอโทรศัพท์ พลาสติก สเตนเลสสตีล ธนบัตร ไวรัสจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 28 วัน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ วัตถุพื้นผิวเหล่านี้ต้องอยู่ในอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส และอยู่ในที่มืด

อย่างที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ระยะเวลาการมีชีวิตของเชื้อไวรัสขึ้นอยู่กับพื้นผิว อุณหภูมิ และความมืด-ความสว่าง ถ้าสว่างมาก อุณหภูมิสูงมาก ไวรัสก็จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ในสภาพแวดล้อมที่เราใช้ชีวิตกันปกติที่มีแสงสว่าง ไวรัสจึงไม่สามารถอยู่ได้นานเหมือนในการทดลอง แต่ก็น่าคิดว่าในกรณีที่มีไวรัสปนเปื้อนบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งนั้น ไวรัสจะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน

6.ในสถานที่ปิด สถานที่ที่ไม่มีการถ่ายเทหมุนเวียนอากาศ การพูดเสียงดัง การหายใจแรง ๆ การร้องเพลงหรือกรีดร้อง จะแพร่กระจายไวรัสมากกว่าพฤติกรรมระดับปกติ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ไนต์คลับ ผับ บาร์ ยิม ฟิตเนส เป็นสถานที่เสี่ยง ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าการพูดคุยกันเงียบ ๆ กลางแจ้งจะไม่แพร่เชื้อ แต่ก็มีโอกาสน้อยกว่าการอยู่ในสถานที่ปิดและตะโกนคุยกันเสียงดัง

7.อาการของโรคโควิดคือ มีไข้ ไอ ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อหรือร่างกาย สูญเสียการรับรสกลิ่นและ/หรือรสชาติ เจ็บคอ คัดจมูก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ส่วนอาการในระดับรุนแรง คือ อาการปอดอักเสบ ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละคนอาจไม่ได้มีครบทุกอาการ และผู้ติดเชื้อ
จำนวนมากก็ไม่มีอาการเลย

8.หลังจากผ่านมาหลายเดือน นักวิจัยค้นพบว่า อาการที่เกิดจากโควิด-19 นั้นมีอาการที่น่ากลัวกว่าอาการปอดอักเสบ แพทย์ในอังกฤษสังเกตพบว่า ไวรัสตัวนี้กระตุ้นให้เกิดการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือด เป็นเหตุให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง และเส้นเลือดในปอดอุดตัน

9.ผลการทำ MRI หัวใจผู้ป่วยในประเทศเยอรมนีพบว่า การที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายพยายามตอบสนองหรือต่อสู้ไวรัสส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการอักเสบ และสามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลงได้ แม้แต่หนุ่มสาวที่มีการติดเชื้อเพียงเล็กน้อยก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในอนาคต ผู้ป่วยบางคนมีอาการเจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นแรงกว่าปกติ เมื่อฟื้นตัวจากการติดเชื้อ แม้แต่นักกีฬาที่ร่างกายแข็งแรงก็มีอาการนี้ด้วย

10.การสูญเสียประสาทรับกลิ่นและ/หรือรสชาติ เป็นหนึ่งในอาการของโควิด-19 ที่พบในอัตราส่วนที่สูง แต่ที่น่ากลัวกว่านั้น นักวิจัยค้นพบอีกว่า โควิด-19 อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายสูญเสียประสาทรับกลิ่นไปตลอดชีวิต

Photo by REUTERS

11.ในอิตาลีพบเคสโควิดส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนปลายในผู้ป่วย 3 รายที่ไม่มีประวัติป่วยระบบประสาทส่วนปลายมาก่อน โดยแพทย์พบว่าผู้ป่วย 3 รายนี้มีอาการ Myasthenia Gravis ซึ่งเป็นโรคภูมิต้านทานตนเองผิดปกติ ส่งผลให้การสื่อสารระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเกิดความผิดพลาด แพทย์ผู้สังเกตอาการบางท่านเสนอว่า อาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่เซลล์ประสาทติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 แต่ก็เป็นไปได้ที่อาจเกิดจากกลไกการแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมามากกว่าปกติ

12.การศึกษาของคณะนักวิจัยนำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดค้นพบว่า ยาสเตียรอยด์ช่วยรักษาผู้ป่วยบางรายได้ โดยเวลาและระยะการติดเชื้อเป็นตัวแปรสำคัญ คือ เมื่อร่างกายของผู้ป่วยเข้าสู่ระยะอักเสบ สเตียรอยด์จะทำหน้าที่ช่วยรักษาอาการอักเสบ

13.ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วอาจจะยังมีผลตรวจเป็นบวกหรือตรวจพบเชื้อได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขายังอยู่ในภาวะที่จะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น มีข้อมูลชัดเจนแล้วว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่รุนแรงหรือไม่ซับซ้อนจะหลั่งไวรัสที่ยังมีชีวิตซึ่งสามารถแพร่สู่ผู้อื่นได้ในระยะเวลาเพียง 10 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการป่วย แต่ผู้ป่วยหนักหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีระยะเวลาแพร่เชื้อนานขึ้น

14.โดยทั่วไปผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง จะอาการดีขึ้นและหายป่วยในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่อาการรุนแรงจะใช้เวลา 3-6 สัปดาห์ในการฟื้นตัว แต่พบผู้ป่วยกลุ่มที่ 3 ที่ติดเชื้อและมีอาการป่วยเรื้อรังนานเป็นเวลาราว 2-3 เดือน โดยมีทั้งที่อาการรุนแรงและไม่รุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “Long-haulers” แพทย์และนักวิจัยยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเหตุใด พวกเขาจึงติดเชื้อนานกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป และยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรต่อไปกับผู้ป่วยกลุ่มนี้

Photo by REUTERS

15.พบการกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 แล้วหลายสายพันธุ์ย่อยในหลายประเทศ ซึ่งไวรัสกลายพันธุ์ที่ทางการแพทย์กำลังกังวลอย่างมาก คือ การกลายพันธุ์ที่พบในประเทศอังกฤษ ซึ่งถูกเรียกว่า “B.1.1.7” หรือ “VUI-202012/01” สิ่งที่นักวิจัยค้นพบเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้คือ รหัสพันธุกรรมของมันต่างจากสายพันธุ์เดิม 17 รายการ และมันแพร่ระบาดง่ายกว่าไวรัส SARS-CoV-2 เวอร์ชั่นเดิมถึง 70% มีข้อมูลว่าในกรุงลอนดอน พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยนี้เป็นจำนวน 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดในเดือนธันวาคม

16.ผู้ป่วยโควิดที่หายแล้วสามารถติดเชื้อซ้ำได้ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นการติดเชื้อแบบ “one-and-done” ที่ติดเชื้อครั้งเดียวแล้วจะเกิดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต สำหรับไวรัส SARS-CoV-2 ก็เช่นกัน มีการพบผู้ติดเชื้อซ้ำแล้วในหลายประเทศ ล่าสุดที่มีข่าวคือ บราซิล

17.ผู้ที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเชื้อแล้ว ไม่ว่าจะโดยวัคซีนหรือเป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย เพราะภูมิคุ้มกันไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ซึ่งนักวิจัยยังหาคำตอบไม่ได้แน่ชัดว่า ผู้ที่ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันแล้ว ภูมิคุ้มกันนั้นจะอยู่ได้นานแค่ไหน มีการเปิดเผยผลการศึกษาในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ว่าภูมิคุ้มกันอาจทำงานอยู่เพียง 6 เดือนเท่านั้น และเมื่อภูมิคุ้มกันเสื่อมลง คนคนนั้นก็อาจจะติดเชื้อได้

18.วัคซีนที่พัฒนากันอยู่และเริ่มทยอยออกใช้ในตอนนี้สามารถใช้ต้านไวรัสกลายพันธุ์ได้ แต่ในอนาคตหากไวรัสกลายพันธุ์มากขึ้นหรือพัฒนาตัวเองไปมากจนรหัสพันธุกรรมแตกต่างจากเดิมมาก วัคซีนอาจใช้ไม่ได้ผล

19.ผ่านมา 1 ปี ยังไม่มีวิธีและยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงสำหรับโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาแพทย์รักษาและประคับประคองตามอาการ ซึ่งก็สามารถรักษาผู้ป่วยหายแล้วจำนวนมาก แต่สำหรับผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วก็ยังไม่สามารถสบายใจได้เต็มร้อย มีผลการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจิตของผู้ป่วย ในช่วงเวลา 14-90 วันหลังจากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด ผลการศึกษาพบว่า 20% ของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตเวช โรคสมองเสื่อม มีความวิตกกังวล หรือนอนไม่หลับ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :


https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/question-and-answers-hub/q-a-detail/coronavirus-disease-covid-19
https://www.theguardian.com/society/2020/sep/16/what-we-actually-know-about-covid-19
https://www.statnews.com/2020/08/17/what-we-now-know-about-covid19-and-what-questions-remain-to-be-answered/
https://www.yalemedicine.org/news/2019-novel-coronavirus
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/134783
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/
https://www.bbc.com/news/health-55388846
https://www.nytimes.com/2021/01/02/health/coronavirus-smell-taste.html
https://people.com/health/study-finds-link-to-mental-health-problems-after-contracting-coronavirus/